ชีวิตที่พอเพียง 3345. Transformative learning ในชีวิตจริง ครั้งแล้วครั้งเล่า ของ Tara Westover



หนังสือ Educated. A Memoir   หนังสือยอดนิยมอันดับ ๑ ของ นสพ. New York Times    และ Amazon จัดให้เป็น หนึ่งใน ๒๐ หนังสือดีที่สุดของปี 2018    เขียนโดย Tara Westover  ซึ่งเป็นคนที่ไม่เคยเข้าโรงเรียน   แต่เรียนจบปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย เคมบริดจ์ เล่าเรื่อง transformation ครั้งแล้วครั้งเล่าในชีวิต  

เธอเป็นลูกสาวคนสุดท้องในพี่น้อง ๗ คน ของคนในลัทธิ มอร์มอน ในรัฐไอดาโฮ  สหรัฐอเมริกา   ที่พ่อเป็นมอร์มอนที่เคร่งจัด   ไม่ส่งลูกเข้าโรงเรียน  ไม่ยอมรับกติกาที่กำหนดโดยรัฐ   ไม่ยอมรับการแพทย์สมัยใหม่   หลีกเลี่ยงการถูกแปดเปื้อนจากทุนนิยม    เลี้ยงลูกสาวเพื่อให้เป็นภรรยาและแม่บ้าน      

ลูกชายคนแล้วคนเล่า ของพ่อแม่คู่นี้ ออกจากบ้านไปเข้าเรียนมหาวิทยาลัย     และสนับสนุนน้องสาว คือทาร่า ให้หาทางออกจากบ้านไปเรียนมหาวิทยาลัย    แม่สนับสนุน แต่พ่อไม่เห็นด้วย     แต่ทาร่าก็ไปจนได้    โดยต้องการเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย Brigham Young ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของลัทธิ มอร์มอน อยู่ในรัฐUtah 

แต่มหาวิทยาลัยจะรับ ต่อเมื่อมีผลสอบ ACT ได้คะแนนอย่างต่ำ ๒๗     ผลสอบครั้งแรกเธอได้เพียง ๒๒    สอบครั้งที่สองจึงได้ ๒๘   และมหาวิทยาลัยรับเข้าเรียน    โดยเธอต้องทำงานสารพัด เพื่อหาเงินมาจ่ายค่าเล่าเรียน และค่าใช้จ่ายส่วนตัว     การเตรียมตัวสอบนี้เธอเรียนเองทั้งสิ้น ด้วยคำแนะนำของพี่ชาย    ไม่เคยไปกวดวิชาที่ใดๆ  

Transformation ครั้งแรกในชีวิต เกิดขึ้นเมื่ออายุ ๑๑   และหางานรับเลี้ยงเด็กชั่วคราว ที่เรียกว่า baby sitter    ทำให้เธอได้รู้จักโลกภายนอกบ้านเป็นครั้งแรก    และได้รับคำแนะนำจากแม่ของเด็กคนหนึ่งที่เธอไปเลี้ยง ให้เข้าเรียนเต้นรำ     ซึ่งเมื่อพ่อรู้เข้าก็สั่งห้าม    ว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม    แต่โรงเรียนเต้นรำก็นำไปสู่การเรียนร้องเพลง (เขาเรียก  voice lesson)    หลังจากฝึกอยู่ไม่นาน เธอก็เป็นนักร้องเพลงในโบสถ์ในหมู่บ้าน    และต่อมาได้แสดงละครเพลงที่โรงละครท้องถิ่น    โดยคนในครอบครัว รวมทั้งพ่อ ภูมิใจมาก

Transformation ต่อมาในปี ค.ศ. 2000   ที่ก่อนถึงวันที่ ๑ มกราคม พ่อหวาดกลัว Y2K bug มาก    แต่เมื่อเวลานั้นมาถึงกลับไม่มีอะไรเกิดขึ้นต่อคอมพิวเตอร์    ทำให้ทาร่ารู้ว่า พ่อไม่ได้คิดถูกเสมอไป  

Transformation ด้านความคิด/ความไม่เชื่อถือ ยาแผนปัจจุบัน    ที่เธอถูกฝังใจโดยพ่อและแม่     เกิดขึ้นหลังเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เธอปวดหูมาก    กินยาสมุนไพรของแม่ไม่หาย    เพื่อนแนะนำให้กินยา ibuprofen    ซึ่งตอนแรกเธอปฏิเสธ เพราะถูกล้างสมองมาแต่เล็กว่า ยาแผนปัจจุบันมีพิษร้าย    แต่เมื่อปวดจนทนไม่ไหว เธอจึงกิน    และพบว่าภายใน ๒๐ นาทีอาการปวดหายเป็นปลิดทิ้ง   

ตอนอยู่ที่มหาวิทยาลัย เธอป่วยค่อนข้างมาก    เพื่อนร่อมห้องพักช่วยพาไปหาหมอ     เป็นการไปหาหมอเป็นครั้งแรกในชีวิต    ทำให้เธอฉุกใจว่า การไปหาหมอเป็นสิ่งที่เธอกลัวมาตลอดชีวิต    เป็นความกลัวที่อยู่บนฐานของความหลงผิด

แม้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว ทาร่า ก็ยังติดต่อกับโบสถ์ใกล้บ้าน    ช่วงหนึ่งเธอฟันผุและปวดฟันอย่างแรง     หลวงพ่อให้เงินสำหรับไปรักษากับทันตแพทย์    และแนะนำให้หาความช่วยเหลือทางการเงิน    ทำให้เธอเกิด transformation ด้านการรับความช่วยเหลือจากผู้อื่น    ซึ่งเมื่ออายุ ๑๙ เธอก็มีสิทธิ์กู้เงินเพื่อการศึกษา     ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น  

รายวิชาจิตวิทยา ๑๐๑ ช่วยให้เธอเข้าใจว่า พ่อเป็นโรคจิต ชนิด bipolar   จากการทำความรู้จักอาการ ซึมเศร้า (depress),    คลั่ง (mania),    หวาดระแวง (paranoid),   สุขเกินจริง (euphoria),   หลงผิด (delusion)    นำไปสู่การตัดสินใจ หลุดจากการกำกับควบคุมของพ่อ   

ความเป็นคนขยัน ใฝ่รู้ใฝ่เรียน ของทาร่า เตะตาอาจารย์    วันหนึ่งอาจารย์คนหนึ่งถามเธอว่า รู้จัก เคมบริดจ์ ไหม (หมายถึงมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ที่อังกฤษ)    คำตอบคือไม่    อาจารย์แนะนำให้เธอสมัครรับทุนนักเรียนแลกเปลี่ยนของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และเธอก็สอบได้    ไปเรียนที่ King’s College    ซึ่งเปิดหูเปิดตาสารพัดด้านแก่เธอ 

เตะตาอาจารย์อีกแล้ว    ที่เคมบริดจ์ อาจารย์ท่านหนึ่งบอกเธอว่า ข้อเขียน essay ของเธอยอดเยี่ยม   ในชีวิตของอาจารย์ได้เห็นผลงานที่ดีกว่านี้เพียงสองสามชิ้นเท่านั้น    และจะช่วยแนะนำให้เธอเข้าเรียนปริญญาเอกที่ไหนก็ได้ ที่เธออยากข้าเรียน  หลังเรียนจบปริญญาตรี    นำไปสู่การได้ทุนเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย เคมบริดจ์    คราวนี้ที่ Trinity College    สร้างชื่อเสียงแก่ครอบครัวเธอในท้องถิ่น    เธอเป็นบัณฑิตจาก BYU คนที่สาม ที่ได้รับทุน Gates Cambridge Scholarship   

ระหว่างเรียนปริญญาเอกที่ เคมบริดจ์    เธอได้ทุนไปทำวิจัยที่มหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด    พ่อแม่ดีใจมาก และยกโขยงไปเยี่ยมเธอที่ ฮาร์วาร์ด    ในระหว่างนี้ความวุ่นวายที่บ้านจากสติไม่ดีของพ่อและพี่ชาย ทำให้เธอไม่มีสมาธิต่อการเรียน    แต่ในที่สุดก็ฟันฝ่ามาได้ และเรียนจบปริญญาเอกในที่สุด 

ผมตีความว่า เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้    สะท้อน transformative learning ในชีวิตจริง

วิจารณ์ พานิช

๑๕ ธ.ค. ๖๑


หมายเลขบันทึก: 659318เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2019 18:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มกราคม 2019 18:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท