๗๗๐. เที่ยวงานโคบาล..สืบสานมรดกไทย


ขอบคุณ..วัฒนธรรมอำเภอเลาขวัญ..ที่ให้โอกาสโรงเรียนเล็กๆ ให้โอกาสเด็กๆได้ทบทวนบทเรียน และจดจำทักษะการแสดงพื้นบ้าน เพื่อสักวันพวกเขาจะได้มีโอกาสได้สานต่อ..หรือประยุกต์ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น..ก็อาจเป็นไปได้...

        ผมไม่ได้เที่ยวงานโคบาล..งานประจำปีของอำเภอเลาขวัญมา ๓ ปีแล้ว ปีนี้จัดเป็นครั้งที่ ๑๒..เป็นครั้งที่ยิ่งใหญ่ด้วยไฟแสงสีอลังการ..

    งานจัดตั้งแต่วันที่ ๙ – ๑๖ มกราคม ๒๕๖๒ ทางวัฒนธรรมอำเภอฯเชิญชวนโรงเรียนให้จัดการแสดงบนเวทีในช่วงหัวค่ำของวันที่ ๑๕ มกราคม..ก่อนที่จะมีกิจกรรมการประกวดธิดาโคบาล..

        ก่อนหน้านี้..ผมคิดอยู่นานเกือบสองสัปดาห์ว่าจะส่งการแสดงแบบไหน และใช้ใครเป็นผู้แสดง..ความรู้สึก..เหมือนว่าจะหมดมุขยังไงยังงั้น..

        หรืออาจเป็นเพราะตั้งหน้าตั้งตาจัดการเรียนการสอนกันอย่างเดียว จนลืมการละเล่นที่คุ้นเคยไปพักใหญ่ๆ

        พอคิดว่า..งานส่วนรวมของชุมชนท้องถิ่นแบบนี้ ยังไงก็ต้องเข้าร่วม แล้วยิ่งการแสดงของนักเรียนผิดพลาดพลั้งไปก็ไม่มีใครว่ากระไร..

        ผมตัดสินใจฝึกซ้อมอีกนิดหน่อยแล้วส่งชื่อนักเรียนชั้น ป.๖ จำนวน ๑๐ คนเพื่อเตรียมขึ้นเวทีใหญ่..ใช้ชื่อชุดการแสดงว่า..หนองผือครื้นเครง บรรเลงเพลงพื้นบ้าน....”

        งานโคบาล..เกี่ยวข้องกับวิถีเกษตรกรพอสมควร ถึงแม้จะเน้นไปในเรื่องของการเลี้ยงวัว แต่ก็ต้องเกี่ยวข้องกับการทำนา เพราะผมเห็นมีกองฟางตั้งอยู่ทั่วไปในบริเวณงาน..

        บ้านหนองผือ..เกี่ยวข้าวไปแล้ว วันที่เกี่ยวข้าวก็ร้องเพลงพื้นบ้านกันในแปลงนา นักเรียน ป.๖ ทุกคนจำบทร้องของตัวเองได้ อันนี้แหละที่จะได้ทบทวนและนำขึ้นแสดงด้านหน้าเวทีอีกครั้งหนึ่ง...

        เฉพาะเพลงเกี่ยวข้าว..มองดูแล้วว่าน้อยเกินไป..ผมสอนเพลงแหล่จังหวะสามช่า..ให้นักเรียนมาหลายวันแล้ว เนื้อร้องเกี่ยวกับการปลูกผักบ้านหนองผือ ผมถือโอกาสให้นักเรียนร้องหมู่..ต่อจากเพลงเกี่ยวข้าว..

        ก่อนจบรายการ..ก็ต้องลาท่านผู้ชม ผมก็เลยให้นักเรียนจับคู่ร้องกราบลา อวยพรคนดูด้วยเพลงฉ่อยเป็นการปิดท้าย..อย่างน้อยก็บอกได้ว่าโรงเรียนของเราก็ทำได้ จัดกิจกรรมในบทเรียนได้อย่างหลากหลาย..ไม่เก่งแต่ก็กล้าที่จะแสดงออกในทางที่ถูกที่ควร..

        คืนนี้..สังเกตพบว่า นักเรียนไม่ตื่นเต้น ครูนี่แหละตื่นเต้นกว่านักเรียน เพราะห่างเหินเวทีมานาน..คิดเสียว่า..มาเที่ยวงานโคบาล แล้วยังได้ช่วยสืบสานตำนานเพลงพื้นบ้านของไทยก็แล้วกัน...

        นำเสนอผ่านบุคลิกท่าทางและ เนื้อร้องทำนองเพลงแบบเด็กๆ ซึ่งผมเชื่อว่านี่คือหน้าที่อย่างหนึ่งของเยาวชนคนรุ่นใหม่ จะต้องให้ความสำคัญกับศิลปวัฒนธรรมการละเล่นที่เป็นมรดกอันล้ำค่าของชาติ..

        นับวัน..จะสูญหาย ผู้ใหญ่ในบ้านในเมืองก็ไม่เคยจะพูดถึง จะพบเห็นในบางส่วนของสื่อและตำราบางเล่มเท่านั้น เอาเป็นว่า..คนรุ่นใหม่เริ่มจะไม่รู้จักกันแล้วนั่นเอง..

        ขอบคุณ..วัฒนธรรมอำเภอเลาขวัญ..ที่ให้โอกาสโรงเรียนเล็กๆ ให้โอกาสเด็กๆได้ทบทวนบทเรียน และจดจำทักษะการแสดงพื้นบ้าน เพื่อสักวันพวกเขาจะได้มีโอกาสได้สานต่อ..หรือประยุกต์ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น..ก็อาจเป็นไปได้...

        ค่ำคืนของงานโคบาล..ผมกลับบ้านอย่างมีความสุข..มิใช่เพราะผมประสบความสำเร็จในด้านชื่อเสียงการแสดง..แต่สุขใจที่ให้โอกาสนักเรียนป.๖ ทุกคน ขึ้นเวทีของชุมชนท้องถิ่น..เป็นอีกหนึ่งคุณค่าของชีวิตพวกเขา..

        ผมให้นักเรียนเที่ยวงานกับผู้ปกครอง..พร้อมแจกเงินค่าขนมคนละ ๑๐๐ บาท..ส่วนผมก็ต้องรีบกลับบ้านเพื่อพักผ่อน..พรุ่งนี้ต้องตื่นแต่เช้า..เพื่อเข้าร่วมงาน “วันครู” ที่เขตพื้นที่การศึกษา..ราตรีสวัสดิ์ครับ.

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑๕  มกราคม  ๒๕๖๒


หมายเลขบันทึก: 659310เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2019 22:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มกราคม 2019 22:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท