ชีวิตที่พอเพียง 3333. ความเหลื่อมล้ำก่อผลร้ายต่อสุขภาพคนรวย


 

เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าความยากจนก่อผลร้ายต่อสุขภาพ   มีสาเหตุที่ซับซ้อนหลายมิติ    แต่บทความชุด The Science of Inequality (1)  ที่ลงพิมพ์ในนิตยสาร Scientific American ฉบับเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๑ บอกสิ่งที่เราไม่คาดคิด   ว่า ความเหลื่อมล้ำก่อผลร้ายต่อสุขภาพคนรวยและคนชั้นกลางด้วย ไม่ใช่มีผลร้ายเฉพาะต่อคนจน   

เป็นข้อพิสูจน์ ความเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง    และโลกทั้งผองพี่น้องกัน  

บทความที่บอกว่าความเหลื่อมล้ำมีผลต่อร่างกาย (ชีววิทยา) ของคนในสังคมนั้นคือบทความเรื่อง The Health – Wealth Gap : The growing gulf between rich and poor inflicts biological damage on bodies and brains (2) เขียนโดย Robert M. Sapolsky  ศาสตราจารย์ด้าน Biological Sciences and neurology and neurological sciences   มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด     น่าอ่านมาก

สาระในบทความ ให้ข้อมูลมากมายทางด้านการเปลี่ยนแปลงของร่างกายของคนที่มีความเครียดเรื้อรังในระดับสูง    ที่ก่อผลร้ายต่อสุขภาพ

ในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำสูง ไม่เฉพาะคนจนเท่านั้นที่คุณภาพชีวิตต่ำจากความเครียด  คนรวยก็เครียดด้วย    เพราะต้องระแวดระวังตนและทรัพย์สมบัติ    จากการถูกกระทบจากสภาพสังคมที่เลวร้าย เช่นปัญหาอาชญากรรม  ปัญหาจิตใจคน  ยาเสพติด  ปัญหาเด็กรังแกกัน  

 ความเครียดเรื้อรังในระดับสูง ก่อผลกระทบต่อร่างกายในภาพใหญ่ ๓ ด้าน

  • o การอักเสบเรื้อรัง (chronic inflammation)
  • o โครโมโซมแก่เร็ว
  • o การทำหน้าที่ของสมองเสื่อมลง 

การอักเสบเรื้อรัง ไม่ว่าในรูปแบบใด ก่อการเปลี่ยนแปลงระดับโมเลกุล ทั่วร่างกาย    ก่อโรคหลอดเลือดแข็งตัวทั่วร่างกาย  และโรค อัลไซเมอร์    ส่วนหนึ่งทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนความเครียด คือ glucocorticoids ก่อความผิดปกติที่ต่อมเพศ  ระบบหัวใจและหลอดเลือด  และระบบภูมิคุ้มกัน  

ความเครียดเรื้อรังในเด็ก มีผลให้ร่างกายในวัยผู้ใหญ่ มีกลไกที่ไวต่อการเกิดการอักเสบ    ทำให้ยีนที่เกี่ยวข้องกับความเครียดทำหน้าที่เพิ่มขึ้น  สารบอกว่ามีการอักเสบมีระดับเพิ่มขึ้น เช่น C-reactive protein   และสารนี้นำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้น    ในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำสูง ทั้งเด็กในครอบครัวยากจน และเด็กในครอบครัวฐานะดี ต่างก็มีความเครียดสูง

กลไกดังกล่าวเกิดขึ้นช้าๆ ก่อผลระยะยาว    มีผลการวิจัยพบว่า หลังเศรษฐกิจตกต่ำอย่างแรง  ระดับ C-reactive protein ในเลือดคนจึงจะสูงขึ้น  

โครโมโซมแก่เร็ว   วัดความแก่ของโครโมโซมที่ความยาวของปลายโครโมโซม ส่วนที่เรียกว่า telomere    เมื่อคนเราแก่ตัวลง telomere จะสั้นลง    และมีเอ็นไซม์ telomerase คอยซ่อมแซม  

Telomere ทำหน้าที่ปกป้องความมั่นคงของโครโมโซม   เมื่อ telomere สั้นลง โครโมโซมจะถูกทำให้เกิดบาดแผลได้ง่าย   

มีการค้นพบว่า คนที่อยู่ในสภาพเครียดเรื้อรัง telomere สั้นลง    และระดับ telomerase ลดลงด้วย    เป็นหลักฐานว่าความเครียดเรื้อรังมีผลต่อร่างกายในระดับโมเลกุล   

สมองเสื่อม   มีหลักฐานมากมาย ที่บอกว่าสมองถูกกระทบจากสภาพความเครียดเรื้อรัง    เช่น เปลือกสมองส่วนหน้า (prefrontal cortex) ที่ทำหน้าที่วางแผนและตัดสินใจ ถูกกระทบจากฮอร์โมนเครียด    สมองส่วน ฮิปโปแคมปัส ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเรียนรู้และความจำ มีขนาดเล็กลง และการเรียนรู้และความจำด้อยลง    สมองส่วน amygdala ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความกลัวและความกังวล ทำหน้าที่เพิ่มขึ้น    สมองส่วน mesolimbic dopamine system ซึ่งเกี่ยวข้องกับแรงจูงใจ ถูกรบกวน   ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดสภาพจิตตก (depression) และเสพติด     

เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ที่บอกเราว่า การพัฒนาประเทศแบบมุ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยไม่คำนึงถึงการลดความเหลื่อมล้ำ    ไม่นำไปสู่สุขภาวะของผู้คนในสังคม    การมีคนจนรุนแรงอยู่ในท่ามกลางคนรวยล้น    มีผลร้ายต่อคนรวยล้นนานัปการ เฉพาะด้านสังคมและจิตวิทยาเท่านั้น   ยังมีผลด้านชีววิทยาด้วย    มีหลักฐานชัดเจนว่า คนสหรัฐอเมริกา มีสุขภาวะต่ำกว่าคนนอร์เวย์อย่างคนละขั้ว    โดยที่ประเทศทั้งสองมี จีดีพี เท่าๆ กัน    

น่าเสียดายที่ตัวเลขบอกความก้าวหน้าทางสังคมที่รัฐบาลนี้ใช้  มีเฉพาะด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย (จีดีพี)    ไม่โชว์ตัวเลขความเหลื่อมล้ำเลย    และมีหลักฐานว่า ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยเพิ่มขึ้น  

วิจารณ์ พานิช

๒๖ พ.ย. ๖๑


หมายเลขบันทึก: 658924เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2018 19:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 ธันวาคม 2018 19:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท