นักวิจัยรุ่นใหม่



วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๑ ผมไปร่วมประชุม โครงการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่ผ่าน Multi Mentoring System  กลุ่ม MMS 8 – สาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรม    ดำเนินการโดยเมธีวิจัยอาวุโส ดร. วันัย พงศ์ศรีเพียร

เป็นโอกาสเปิดหูเปิดตาคนแก่    ให้เข้าใจสภาพของวงการวิจัยในปัจจุบัน    โปรดสังเกตว่า กลุ่ม MMS 1 – 7 เป็นสาขาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี    แต่ผมไม่เคยได้รับเชิญเข้าร่วม    กลับได้รับเชิญเข้าร่วมในสาขาที่ผมไม่ค่อยรู้เรื่อง  

การประชุมวันนี้ เป็นการนำเสนอความก้าวหน้าของโครงการวิจัยประเภทนักวิจัยรุ่นใหม่ ทำวิจัยคนเดียว    โดยมี mentor ประจำโครงการอยู่แล้ว  และไม่ได้มาร่วมประชุมครั้งนี้    ที่ทำงานวิจัยมาแล้วเกือบ ๑ -  ๒ ปี    จำนวน ๑๖ โครงการ    แต่ผมอยู่ร่วมถึง ๑๔.๓๐ น. ได้ฟังและให้ความเห็นเพียง ๙ โครงการเท่านั้น  

ประเด็นที่ต้องปรับปรุงที่พบบ่อยมากคือชื่อเรื่องไม่ตรงกับประเด็นที่ต้องการวิจัย    ซึ่งหมายความว่า ประเด็นนี้หลุดการพิจารณาของทั้งกลไกของ สกว.  และของ mentor ประจำโครงการ   

ประเด็นที่ สกว. น่าจับทำมากคือ บางโครงการจับโจทย์ที่เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมากต่อการพัฒนาประเทศ สู่ประเทศไทย ๔.๐    แต่นักวิจัยใหม่จับมาทำวิจัยเพียงประเด็นย่อย    เช่นเรื่อง  “การวิเคราะห์ศักยภาพการเชื่อมต่อเชิงพื้นที่ของเมืองประวัติศาสตร์พิมาย เพื่อการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในแหล่งมรดกวัฒนธรรม”    ที่เป็นการวิจัยเชิงการจัดการพื้นที่ภาพใหญ่  และการจัดการการคมนาคมเพื่อความสะดวกของนักท่องเที่ยว ผมมองว่าเมืองเก่าพิมายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ  รวมทั้งเรากำลังเสนอให้เป็นมรดกโลก UNESCO    จึงควรมีชุดวิจัยหลากหลายด้านเพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวนี้    และพัฒนาให้ได้รับยกย่องเป็นมรดกโลกให้ได้    โดยน่าจะหาทางร่วมมือกับกัมพูชา  เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมกับนครวัด    โดยที่พิมายเก่ากว่านครวัด    การวิจัยบอกความเชื่อมโยงกันทางโบราณคดี นอกจากมีคุณค่าทางวิชาการ ยังมีคุณค่าทางการท่องเที่ยวด้วย  

นักวิจัยคือ ดร. จาตุรงค์ โพคะรัตน์ศิริ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และผังเมือง  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์    ได้ศึกษาหาข้อมูลหรือประมวลความรู้มาอย่างดี    และได้ข้อมูลว่า ทางจังหวัดและกรมศิลปากรได้พยายามพัฒนาบริเวณเมืองเก่าพิมาย    แต่เกิดความขัดแย้งเรื้อรังกับคนในชุมชน    ทำให้ผมเสนอว่า   สกว. ควรพัฒนาโจทย์วิจัยแบบครบด้าน ในการพัฒนาเมืองเก่าพิมายเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเป็นมรดกโลก    ทำเป็นชุดโครงการวิจัย มีการจัดการให้โครงการย่อยเชื่อมโยงกัน    โดยในโครงการวิจัยย่อย ต้องมีการทำวิจัยชุมชนโดยรอบด้วย    ใช้หลักการของการวิจัยท้องถิ่นของ สกว. เองเข้ามาประสาน   และมีคณะกรรมการกำกับเทศของชุดโครงการ    และน่าจะทำวิจัยข้ามประเทศ    เพื่อหาโอกาสร่วมมือกับกัมพูชา สร้างเส้นทางท่องเที่ยวเมืองโบราณร่อมกัน    โดยที่จุดดึงดูดคือนครวัดกับพิมาย  

โครงการ “การบริหารค่าตอบแทนจูงใจเพื่อผลการปฏิบัติงานของอาจารย์ต่างช่วงอายุในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในประเทศไทย” โดย ดร. วรรณวิชนี ถนอมชาติ   คณะการจัดการและการท่องเที่ยว  มหาวิทยาลัยบูรพา     ก็น่าสนใจ    แต่ชื่อโครงการไม่ตรงกับเป้าหมายของงานวิจัย    เพราะจริงๆ แล้ว นักวิจัยต้องการศึกษาแรงจูงใจทุกประเภท    ไม่ใช่เพียงเรื่องค่าตอบแทน     เรื่องชื่อไม่ตรงนี้ปรากฏขึ้นเมื่อผมบอกว่า     เมื่อห้าสิบปีมาแล้ว ตอนที่ผมเริ่มเป็นอาจารย์    แรงจูงใจในการเป็นอาจารย์ของผม ปัจจัยใหญ่ที่สุดไม่ใช่เงิน     แต่เป็นโอกาสในการสร้างตัวสร้างผลงานทางวิชาการ   

ผู้วิจัยแบ่งช่วงอายุของอาจารย์ที่ศึกษาออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ Gen Y, Gen X, และกลุ่ม Baby Boomer     ดร. วิชนีบอกว่า คำพูดของผมนั่นแหละที่เป็นแรงจูงใจที่ชัดเจนของ เบบี้บูมเมอร์ ตามข้อค้นพบในงานวิจัยของเธอ   แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยในกลุ่ม Gen Y และ Gen X ไม่คิดเช่นนั้น

ผมจะไม่เล่าลงรายละเอียดชื่อโครงการวิจัยต่อ    แต่จะขอสรุปว่า จุดอ่อนที่พบบ่อยที่สุดมี ๓ ประเด็น คือ  (๑) ชื่อเรื่องไม่ตรง  (๒) โจทย์วิจัยไม่ชัด  และ (๓) วิธีวิทยาการวิจัยไม่รัดกุม    ซึ่งที่จริงก็เป็นประเด็นปัจจัยคุณภาพของการวิจัยที่พบตามปกติ   

ทำให้ผมคิดว่า กิจกรรม MMS   ควรเริ่มเมื่อไร    ก่อนได้รับทุน หรือหลังได้รับทุนวิจัย       

วิจารณ์ พานิช

๒๘ ต.ค. ๖๑   


หมายเลขบันทึก: 658308เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2018 19:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2018 19:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

This “…จุดอ่อนที่พบบ่อยที่สุดมี ๓ ประเด็น คือ (๑) ชื่อเรื่องไม่ตรง (๒) โจทย์วิจัยไม่ชัด และ (๓) วิธีวิทยาการวิจัยไม่รัดกุม …” reminds me of Buddhist “ariya sacca’ (the 4 Noble Truth – should really be understood as the principle for problem solving). When one is not clear on ‘problem identification; one would not properly establish ‘cause’ (factors) and ‘effect’ (impacts); one would fail in finding a solution (out of several options); and one would unlikely use ‘correct ways’ to solve any problem.

Perhaps, we should look into our cultural learning and use that to go forth.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท