ชีวิตที่พอเพียง 3314. ตามเสด็จจันทบุรี 1. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน


 หลังจากงดกิจกรรมพระราชทานโอกาสให้คณะกรรมการรางวัลนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ตามเสด็จไปต่างจังหวัดเสีย ๒ ปี    เนื่องจากติดงานพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙   ปีนี้กิจกรรมกลับมาดังเดิม    โดยไปจังหวัดเดียว คือจันทบุรี ระหว่างวันที่ ๒๐ - ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๑ 

รายการตามเสด็จของคณะกรรมการรางวัลนานาชาติฯ ครั้งหลังสุด ปี ๒๕๕๘  อ่านได้ ที่นี่   

เช้าวันที่ ๒๐ ตุลาคม เราไปรวมตัวกันที่อาคารใหม่ ที่อยู่ใกล้ประตูวังที่เปิดออกสู่ถนนพญาไท    ปีนี้มี รมต. สองคู่ คือ รมต. สาธารณสุข (ศ. คลินิก นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร) และคุณหมู    กับ รมช. ศึกษาฯ (ศ. คลินิก นพ. อุดม คชินทร) และคุณนิ่ม    แถมยังมีอดีตรองนายกฯ ศ. ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ และครูแอ๋ว อีกคู่หนึ่ง    แต่สองท่านหลังไปนั่งรถบัสคันที่ ๒

เวลานัดคือ พวกเราไปถึงเวลาประมาณ ๗.๓๐ น.   เสด็จขึ้นรถและรถออก ๘.๐๐ น.   แต่วันนี้รถออก ๗.๕๐ น.   แล่นไปทางอนุสาวรีย์ชัยฯ   พอเลยอนุสาวรีย์ก็เลี้ยวขวาขึ้นทางด่วน   ก่อน ๘.๐๐ น. เล็กน้อยรถก็ขึ้นไปตั้งหลักบนทางด่วนเรียบร้อย

รถบัสสองคัน เป็นรถของกองทัพบกจัดถวาย     ผมนั่งรถคันที่ ๑ แถวที่ ๗   โดยมีที่นั่งทั้งหมด ๑๐ แถว รู้สึกว่ารถคันนี้นั่งสบายสู้เมื่อ ๔ ปีที่แล้วตอนตามเสด็จไปปราจีนบุรี () ไม่ได้   

รถแล่นไปตามทางด่วนสู่มอเตอร์เวย์ หรือถนนสาย ๗    มีรถนำเปิดไฟแดงวาบๆ ๓ คัน   พอถึงทางแยกบ้านบึงก็เปลี่ยนทีมรถนำ    คราวนี้เพิ่มเป็น ๕ คัน

แวะครั้งเดียวที่ ปั๊มน้ำมันบางจาก เวลา ๙.๔๐ น. เพื่อเข้าห้องน้ำ    ครู่เดียวรถก็ออกเดินทางต่อ    ไปถึงศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน ตามพระราชดำริ  ต. คลองขุด  อ. ท่าใหม่  จ. จันทบุรี () เวลา ๑๑.๑๐ น.   เข้าห้องน้ำเสร็จก็รับประทานอาหารเที่ยงเลย    อาหารมากมายหลากหลายชนิด   ที่แปลกใหม่คือยำสาหร่ายพวงองุ่นกินกับกุ้งลวก    เป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็น และได้กินสาหร่ายพวงองุ่น

กินเสร็จ เข้าห้องน้ำ ก็เคลื่อนขบวนไปห้องบรรยายสรุป ที่อาคาร กปร.   กล่าวรายงานเป็นภาษาอังกฤษโดย ท่านเลขาธิการโครงการตามพระราชดำริ อนุชา สินธวานนท์    เล่าเรื่องราวของโครงการตามพระราชดำริ ๖ แห่งทั่วประเทศ     ตามด้วยผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน ประจวบ ลีรักษาเกียรติ รายงานกิจการของศูนย์ฯ     ที่ไม่ใช่แค่พัฒนาส่วนที่เป็นทะเลเท่านั้น   แต่ “พัฒนาตั้งแต่ยอดเขาถึงทะเล”  “ต้นทางคือป่าไม้ ปลายทางคือประมงที่ยั่งยืน”    โดยความร่วมมือของหน่วยราชการหลายหน่วย เป็น one-stop service   ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ ๙  

ฟังการบรรยายเสร็จ เดินผ่านนิทรรศการผลิตภัณฑ์ของกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับการส่งเสริม ได้แก่ กลุ่มผลิตเห็ดครบวงจร  กลุ่มแปรรูปผลไม้  กลุ่มหอยนางรมครบวงจร  กลุ่มผู้เลี้ยงและแปรรูปชันโรง  กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร   อ่าวคุ้งกระเบน  กลุ่มม่บ้านเกษตรกรบ้านท่าศาลา 

แล้วขึ้น “รถราง” แล่นผ่านชายหาดแหลมเสด็จ (ชาวบ้านเรียกชายหาดสนแถว) ซึ่งอยู่ด้านหลังของอาคารสำนักงาน    โดยรถแต่ละคันมีเจ้าหน้าที่อธิบายโดยใช้เครื่องขยายเสียง อธิบายให้แก่ผู้ที่นั่งรถคันนั้น    เจ้าหน้าที่ที่อธิบายในรถคันที่สองที่ผมนั่งอธิบายดีมาก    ส่วน ผอ. ศูนย์ ไปอธิบายในรถคันแรกที่สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ประทับพร้อมแขกต่างประเทศ   

รถแล่นผ่านส่วนงานต่างๆ และแวะจอดฟังคำอธิบายที่นิทรรศการ ปุ๋ยหมักจากดินเลนนากุ้ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำนากุ้งอย่างยั่งยืน    ไม่สร้างมลภาวะแก่ดินและสภาพแวดล้อม    แล้วแล่นต่อไป ผ่านสวนรุกขชาติชายหาดแหลมเสด็จ  พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ   ศูนย์เด็กเล็ก สิรินธร ๖   ศูนย์บริการท่องเที่ยวเกษตร  งานปศุสัตว์  ไปยังอ่าวคุ้งกระเบน    ระหว่างทางผ่านบ้านของชาวบ้าน และป้ายบอกทางไปยังรีสอร์ท  

ลงจากรถ เดินไปยังหน่วยสาธิตการเลี้ยงสัตว์น้ำภายในอ่าวคุ้งกระเบน    ชมการทดลองเลี้ยงประกะพงขาว  ปลากะพงแดง  โดยใช้อาหารสด เทียบกับอาหารสำเร็จ    เขาบอกว่ามีการคำนึงถึงปัจจัยด้านกระแสน้ำ และลมด้วย    มีการสาธิตให้อาหารปลาในกระชัง    ชมกระชังเลี้ยงเต่า และปลาฉลาม ที่ติดมากับการทำประมง    แล้วชาวบ้านเอามามอบให้ทางศูนย์เลี้ยง     ในกระชังปลาฉลาม มีปลาฉลามหัวโม่ง ที่ดุร้าย    ตัวยาว ๒ เมตร   ขนาดโตที่สุด ๓ ๑/๒ เมตร

ตามด้วยนิทรรศการธนาคารปูม้า    มีลูกปูอายุ ๑ เดือนให้เราปล่อยลงทะเลผ่านอ่างที่มีท่อลงทะเล    มีแม่ปูที่มีไข่แก่ที่ตะปิ้ง มาสาธิตการแปรงไข่ออกจากตะปิ้ง   ลงไปในน้ำทะเลที่พ่นอ็อกซิเจน    เขาบอกว่าถ้าเป็นไข่สีน้ำตาลแก่เกือบดำ ใช้เวลา ๑ วันก็ฟักเป็นตัวอ่อน (Zoea)  และปล่อยลงทะเลได้เลยหลังสามทุ่ม    ที่ปล่อยหลังสามทุ่มก็เพื่อหลีกเลี่ยงสัตว์ล่าเหยื่อ    ถ้าเป็นไข่สีเหลือง จะใช้เวลาราวๆ ๔ วันจึงจะฟักเป็นตัวอ่อน   เขาบอกว่าไม่เลี้ยงจนเป็นตัวปูเล็กๆ อย่างที่เขาเอามาให้เราปล่อย (ใช้เวลา ๑๕ วัน)    เขาบอกว่าในธรรมชาติแม่ปูจะเอาก้ามเขี่ยไข่ออกสู่น้ำทะเล    ตัวอ่อนจะไปอาศัยอยู่บริเวณน้ำตื้นที่มีหญ้าทะเล    เมื่อโตจึงออกไปหากินอยู่ในที่น้ำลึก ๑๐ - ๓๐ เมตร     

ลูกปูที่ปล่อยสู่ทะเลในอ่าว จะเคลื่อนตัวออกไปทางปากอ่าว    ออกไปจากอ่าว ไปเติบดตที่บริเวณหญ้าทะเล    แม่ปูที่เขี่ยไข่ออกแล้วจะคืนให้ชาวประมงเจ้าของ    เอาไปขายต่อไป  

ผมได้ทดลองเอาแปรงเขี่ยไข่ออกจากตะปิ้งแม่ปูด้วย   

เป็นไปตามประเพณีรับเสด็จ    ตอนท้ายจะลงด้วยบริการเครื่องดื่มและของว่าง เครื่องดื่มยอดนิยมคือมะพร้าวอ่อนแช่เย็นทั้งลูก       

จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน เราเดินทางต่อไปยังตัวจังหวัดจันทบุรี    ที่หมายแรกคืออาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล

วิจารณ์ พานิช

๒๑ ต.ค. ๖๑

1 ด้านหน้าสำนักงานศูนย์ฯ

2 ห้องเสวยและผู้ร่วมรับประทานอาหารเที่ยง

3 โปสเตอร์แสดงการพัฒนาจากยอดเขาสู่ทะเล

4 ต้นทางคือป่าไม้ ปลายทางคือประมงที่ยั่งยืน

5 นั่งรถรางเลียบชายหาดแหลมเสด็จ เห็นเขาคุ้งกระเบน

6 นิทรรศการการทำปุ๋ยหมักจากดินเลนนากุ้ง

7 อ่าวคุ้งกระเบน และหน่วยสาธิตการเลี้ยงสัตว์น้ำ

8 เดินสู่หน่วยสาธิตการเลี้ยงสัตว์น้ำ

9 ที่หน่วยสาธิตฯ

10 เต่าในกระชัง

11 สาธิตการเลี้ยงปลาฉลาม

12 ลูกปูอายุ ๑ เดือน

13 ที่บริเวณปล่อยลูกปู

14 ไข่ปูที่พร้อมเขี่ยออกจากตะปิ้ง

15 โปสเตอร์ให้ความรู้เรื่องปูม้า

16 บริเวณสาธิตการเลี้ยงสัตว์น้ำ

17 ภูมิปัญญาชาวบ้าน เอาเชือกผูกลูกปูนซีเมนต์เป็นพวงอย่างนี้ไปแขวนแช่น้ำทะเล

18 ไม่กี่เดือนก็ได้พวงหอยนางรมอย่างนี้

19 รูปอ่าวคุ้งกระเบน

หมายเลขบันทึก: 658307เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2018 19:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มกราคม 2019 05:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท