๘๔๐. อดทนได้..มีชัยไปกว่าครึ่ง


" ผมคนหนึ่งที่ไม่กลัวความทุกข์ทั้งกายและใจ..ความทุกข์ก็เหมือนอากาศ..มันไม่ร้อนตลอดไป..รอสักพักเดี๋ยวลมเย็นๆก็พัดมา.. ความทุกข์..ก็เหมือนเสื้อผ้า..ใส่แล้วเปรอะเปื้อน ตัวเหนียวเหนอะหนะ ตอนเย็นก็ต้องเปลี่ยน..ทุกข์ใจในที่ทำงาน กลับบ้านก็หายเหนื่อย เพราะกายและใจได้พักผ่อน..ความทุกข์ไม่หายแต่มันก็คลายได้..ถ้าเราใช้โอกาสให้เป็น...."

        ขึ้นชื่อว่างาน..ในแทบจะทุกวงการ ไม่ว่าเวลานี้หรือเวลาไหน? ไม่มีใครไม่เหนื่อยและไม่ท้อ..แต่ทุกคนก็จะบอกตัวเองว่า..ต้องอยู่ให้ได้ สู้และดิ้นกันไปสักพัก บางคนก็พักใหญ่ๆ และบางคนก็รอที่จะพักยาวๆ

    บางวันที่ผมรู้สึกเหนื่อยหนัก..แต่ผมก็ไม่ได้ตระหนกตกใจอะไร ยังมีผู้คนอีกมากมาย เหนื่อยกว่าผมหลายสิบเท่า..โดยเฉพาะชาวกรุงเทพฯที่สู้ทนกับการจราจรที่ติดขัดทุกเมื่อเชื่อวัน..

        เขาเหล่านั้น..ล้วนเป็นคนเก่งและเป็นมันสมองขององค์กรต่างๆ แต่แค่เพียงความเก่งคงไม่พอ..สิ่งที่น่ายกย่องก็คือ เขาเหล่านั้นสุดยอดแล้วในเรื่อง..ความอดทน..

        ดังนั้น..ในยุคนี้จึงถูกพูดถึงกันมาก ว่าเครื่องมือหรือตัวชี้วัด..ความสำเร็จของคน ต้องมองกันที่ความอดทนควบคู่กันไปด้วย..มิใช่เอาแต่เก่งอย่างเดียว..

        “ความอดทนมันขมขื่น แต่ผลของมันหวานชื่นนัก” คนที่ไม่เคยลำบาก ไม่เคยพานพบอุปสรรค อาจจะไม่รู้รสชาติความทุกข์ระทมมันเป็นอย่างไร? เมื่อผ่านไปได้ แสงสว่างที่ปลายฟ้า..จะรู้ว่าโลกใบนี้น่าอยู่น่าอาศัย..

        แต่ก็มีบางคน..ที่รอไม่เป็น เย็นไม่นาน ไม่ได้ฝึกความอดทนขั้นพื้นฐานมาแต่วัยเยาว์ อันนี้อันตรายสำหรับการอยู่ในสังคมที่บีบคั้นและแข่งขันหนักมาก..

        ในวงการศึกษาก็เช่นเดียวกัน..มีการเปรียบเทียบและชิงดีชิงเด่นกันค่อนข้างสูง ชิงไหวชิงพริบและช่วงชิงความได้เปรียบ..ไม่แพ้ภาคเอกชนสักเท่าใด?

        ทั้งในเรื่องของตำแหน่งและงบประมาณ..บางครั้งการตั้งกฎตั้งเกณฑ์ที่ไม่เอื้อต่อโรงเรียนที่ด้อยโอกาส ในเมื่อความไม่เสมอภาคทางการศึกษายังมีอยู่  จึงไม่ต้องคาดหวังความสำเร็จในงาน “ประกันคุณภาพ”

        ผมเคยบรรยายให้ “คุณหมอ” ที่มาศึกษาดูงานได้รับทราบแนวทางการบริหารฯ ผมมักจะพูดอยู่สองคำ “อดทน” กับ “ขยันหมั่นเพียร”

        ในภาษาธรรม ก็คือ ขันติกับวิริยะ..ผมไม่ค่อยได้ใช้ “ขันติโสรัจจะ” เท่าที่ควร เพราะผมยังเป็นปุถุชน จะให้สงบเสงี่ยมเจียมตน โดยที่ไม่บ่นเลยคงเป็นไปได้ยาก

        อดทน..ต่อหน้าที่ก็เท่ากับว่ามีความรับผิดชอบ..แค่นี้เอง ก็เพราะเราเลือกแล้วที่จะมาอยู่ในองค์กรนี้ที่มีคนทำงานอยู่ไม่กี่คน สิ่งที่ต้องตระหนักให้มาก คือต้องขยัน..โดยบอกตัวเองว่า “ขยันเท่านั้นที่จะครองโรงเรียนขนาดเล็ก”

        ความอดทน..กับความเพียร จะมาด้วยกันและไปด้วยกัน ถ้าไม่อดทนก็จะไม่ขยัน..มันจะเป็นเช่นนั้นเอง บางคนไม่อยากจะทน..เพราะทนทานมากจะเป็นทุกข์..

        ผมคนหนึ่งที่ไม่กลัวความทุกข์ทั้งกายและใจ..ความทุกข์ก็เหมือนอากาศ..มันไม่ร้อนตลอดไป..รอสักพักเดี๋ยวลมเย็นๆก็พัดมา..

        ความทุกข์..ก็เหมือนเสื้อผ้า..ใส่แล้วเปรอะเปื้อน ตัวเหนียวเหนอะหนะ ตอนเย็นก็ต้องเปลี่ยน..ทุกข์ใจในที่ทำงาน กลับบ้านก็หายเหนื่อย เพราะกายและใจได้พักผ่อน..ความทุกข์ไม่หายแต่มันก็คลายได้..ถ้าเราใช้โอกาสให้เป็น....

        ผมพูดให้ฟังหลายคณะแล้วที่มาศึกษาดูงาน..พูดกี่ครั้งก็เหมือนเดิม คนฟังก็มีกิริยาอาการเหมือนเดิม..คือมองไปรอบๆ..ที่เปิดโล่ง ห้องประชุมก็ไม่มี อาคารเรียนที่มีก็เก่าคร่ำคร่า...

        ผมอยากให้กลับไปดูใหม่..ผลที่ได้จากความ “อดทน และขยันหมั่นเพียร” ตอนนี้ผมมีอาคารใหม่แล้ว และผมก็กำลังปรับปรุงห้องเรียนเก่า ให้เป็นทั้งห้องธุรการและห้องประชุม..

        วันนี้..เขตพื้นที่การศึกษาส่งข่าวให้ทราบ..โรงเรียนจะได้รับจัดสรรงบประมาณสิ่งก่อสร้าง ที่เรียกว่า “บ้านพักครู” มองดูแล้วยังไงก็ได้ก่อนเกษียณแน่นอน..

        แสดงให้เห็นว่า..ระยะทางสู่ความสำเร็จของแต่ละคนนั้น..ไม่เท่ากัน..แต่ที่สำคัญใครจะอดทนกว่ากัน..เพื่อรอคอยวันแห่งชัยชนะ..จะมาถึง....

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๖  พฤศจิกายน  ๒๕๖๑

       

หมายเลขบันทึก: 658261เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2018 21:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2018 21:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท