๘๓๒. บทเรียน..ในแปลงนา


การไถ..อาจทำลายหน้าดิน และทำให้ดินแห้ง บางคนบอกว่ามีข้อดีที่ทำให้แปลงนาโล่งเตียนไม่มีวัชชพืช แต่ผมกลับมองว่า..ผักกับวัชชพืชเติบโตไปด้วยกันได้ ดีเสียอีกจะได้แข่งกัน..ว่าใครจะโตเร็วกว่ากัน..

        นาของโรงเรียนมีไม่มาก พื้นที่แค่ ๔๐ ตารางวา แต่ก็สามารถให้เด็กดำนา ใส่ปุ๋ยชีวภาพและเก็บเกี่ยวจนเสร็จเรียบร้อย ครบกระบวนการ..

    วันเกี่ยวข้าวยังได้เล่นเพลงพื้นบ้านที่หาฟังยาก แต่ผมก็พยายามฝึกประสบการณ์ให้เด็กมี “ทักษะชีวิต” ติดตัวไว้ก่อนก้าวไปสู่มัธยม

        พี่เฉลิมศรี..แม่ครัวโรงเรียน ที่ปรึกษาด้านการทำนาของผม แนะนำให้ตากกำข้าวเป็นเวลาสามวัน วันอาทิตย์จึงค่อยนำไปเก็บไว้ในโรงเรือน เพื่อเตรียมนวดต่อไป..

        การนวดข้าวของโรงเรียนเคยนวดด้วยมือ โดยจับกำข้าวฟาดลงพื้น ปีนี้อาจปรับเปลี่ยนเป็นนวดด้วยเครื่อง โดยขอความอนุเคราะห์จากผู้ปกครอง..

        วันนี้ผมหอบข้าวออกจากแปลงนา ในท่ามกลางแดดที่ร้อนจัด ต้องรีบหอบให้หมด ตากไว้นานข้าวเปลือกอาจจะกรอบ ถ้าฝนตกก็จะชื้นและเสียหาย

        ผมเก็บกำข้าวทั้งหมดกว่า ๕๐ กำกองซ้อนกันไว้ มองดูก็มากอยู่เหมือนกัน เมล็ดข้าวแต่ละรวงสวยงามสมบูรณ์ นึกชมตัวเองว่ายังทำได้ แม้จะไม่ใช่ “ชาวนา”มืออาชีพก็ตาม..

        หอบข้าวเสร็จ..ก็มานั่งพักข้างแปลงนา อาการ “หอบแดด” มีบ้างเล็กน้อย มองตอซังระเกะระกะและแห้งกรอบเต็มไปหมด คิดว่าขั้นตอนต่อไปจะทำอย่างไรดี

        ถ้าทำอย่างที่พี่เฉลิมศรีแนะนำ ก็ต้องไปว่าจ้างรถไถ มาไถพรวนให้ดินร่วนซุยแล้วยกร่อง..ยาวตลอดแนว..หรือจะทำแบบภูมิปัญญาชาวบ้านสมัยก่อน..

        ไม่ต้องเสียเงินค่ารถไถ..แต่ทำแบบค่อยเป็นค่อยไปแบบพอเพียง ซึ่งง่ายและประหยัดกว่า..ไม่เหนื่อยแรงและไม่เปลืองเงิน..

        เริ่มจากสูบน้ำเข้าแปลงนาก่อน ใส่น้ำไม่ต้องมาก พอให้ดินชุ่มชื้น และตอซังข้าวก็คงไม่เน่าหรือย่อยสลายไปได้ในเวลาที่รวดเร็ว คงจะยังอยู่ในนาไปอีกระยะหนึ่ง

        จากนั้น..ผมจะให้นักเรียนเพาะเมล็ดผัก..พอต้นกล้างอกออกมา  ก็ขุดหลุมไม่ต้องลึกบริเวณตอซังแล้ววางต้นกล้าปลูกลงไปใช้ตอซังนั้นคลุมรอบๆอีกที

        การทำเช่นนี้ ผมคิดว่าจะรักษาระบบนิเวศได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะต้นหญ้าและความชุ่มชื้นจะไม่ถูกทำลาย ตอซังข้าวเองก็ยังได้นำมาใช้ประโยชน์ด้วย

        การไถ..อาจทำลายหน้าดิน และทำให้ดินแห้ง บางคนบอกว่ามีข้อดีที่ทำให้แปลงนาโล่งเตียนไม่มีวัชชพืช แต่ผมกลับมองว่า..ผักกับวัชชพืชเติบโตไปด้วยกันได้ ดีเสียอีกจะได้แข่งกัน..ว่าใครจะโตเร็วกว่ากัน..

        ผมนั่งคิดนั่งฝันว่าจะปลูกผักอะไรดี ในใจก็นึกถึงผักกวางตุ้ง ผักกาดขาว และต้นหอม..บางทีอาจปลูกมะเขือเทศและแตงกวาเยอะๆ เพราะดินในแปลงนาดีอยู่แล้ว ไม่สิ้นเปลืองปู๋ยหมักแน่นอน

        ผมเดินประมาณการพื้นที่..เล็งแลไปเรื่อยๆ จึงได้บทสรุปว่า ไม่สมควรไถแปลงนาเพื่อยกร่อง จะดูเป็นงานใหญ่เกินไป เริ่มจาก..”จุดเล็กๆ” ที่ผมคิดน่ะดีแล้ว..ซึ่งสามารถเริ่มงานได้ทันที...

        พรุ่งนี้..ผมจะเติมน้ำเข้าแปลงนา..เพื่อเริ่มบทเรียนใหม่..ให้นักเรียนได้เรียนรู้และปฏิบัติจริง..ในโครงการปลูกผักปลอดสารพิษ เพิ่มทักษะชีวิตให้นักเรียน..

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑๘  พฤศจิกายน  ๒๕๖๑

หมายเลขบันทึก: 658033เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2018 21:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2018 21:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท