โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

ทอดกฐินวัดตุ้มใต้


โสภณ เปียสนิท

........................................................

    เทศกาลทอดกฐินเป็นประเพณีวัฒนธรรมที่คนไทยเราสืบต่อกันมานับแต่สมัยพุทธกาล หรือ ตั้งแต่เราคนไทยรับเอาพระพุทธศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจ เป็นศาสนาประจำชาติ คนไทยนิยมเดินทางไปทอดกฐินใกล้บ้างไกลบ้างตามวัดวาอารามต่างๆ ตามแต่ญาติสนิทมิตรสหายจะชักชวนเชิญชวนกันไป เพราะเทศกาลทอดกฐินเป็น “กาลทาน” การทำทานอันจำกัดด้วยเวลา คือมีพุทธานุญาตให้พระสงฆ์ผู้จำพรรษาตลอดไตรมาสรับไตรจีวรจากคฤหบดีได้เพียงระยะ หนึ่งเดือนหลังการออกพรรษาเท่านั้น

            เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อมีพุทธบัญญัติให้พระสงฆ์อยู่จำพรรษาในช่วงฤดูฝน เพราะป้องกันมิให้คณะสงฆ์ถูกกล่าวหาว่า ไม่รู้กาลเทศะ เนื่องจากในฤดูฝนทั้งคนทั้งสัตว์ต่างพากันหาที่แหล่งหลักที่พักพิงหยุดอยู่กับที่เพื่อหลบฝน สำหรับชาวบ้านก็ทำกสิกรรมกันเป็นที่ทางที่แน่นอน หากพระสงฆ์องค์สามเณรยังเดินธุดงค์ระหว่างนี้ นอกจากโรคภัยไข้เจ็บคุกคามแล้วยังเหยียบย่ำข้าวกล้า ต้นกล้าของชาวบ้านเข้าด้วย

            ครั้งกระโน้น พระสงฆ์เมื่อได้รับการบรรพชาอุปสมบทจากครูบาอาจารย์แล้วต่างมีความประสงค์จะอยู่ใกล้พระพุทธองค์เพื่อรับคำแนะนำสั่งสอนวิธีปฏิบัติขจัดขัดเกลากิเลสต่อหน้าพระพักตร์ แต่เมื่อมีการเข้าพรรษา สงฆ์จากที่ห่างไกลต่างมิได้พบเห็น มิได้ซักถามปัญหาทั้งปริยัติและปฏิบัติจากพระพุทธองค์จึงมีความคิดถึง หลังจากการออกพรรษาแล้วจึงมักจะมีพระสงฆ์จากแดนไกลมาเข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างมาก

            คราวหนึ่ง หลังการออกพรรษา มีพระสงฆ์จากเมืองปาฐา 30 รูป ซึ่งอยู่ห่างไกลเมืองสาวัตถีที่พระพุทธองค์จำพรรษามีความรำลึกพระศาสดาเร่งดำเนินมาเพื่อเข้าเฝ้า ขณะนั้นฝนยังไม่ขาดเม็ด พื้นดินยังชุ่มน้ำ ฝนยังคงตกลงมาหนักบ้างเบาบ้าง การเดินทางของคณะสงฆ์นี้จึงค่อนข้างจะทุลักทุเลไม่น้อย จีวรของพระสงฆ์เหล่านี้ปีกแล้วแห้งหลายครั้งครา จึงเปื่อยผุขาดซ่อมปะชุนจนเห็นได้อย่างชัดเจน

            นางวิสาขามหาอุบาสิกาผู้มีจิตศรัทธาใฝ่บุญอยู่เสมอ เห็นว่า พระสงฆ์องค์เณรเหล่านี้เดินทางมาไกลเปียกแล้วแห้งจนจีวรสบงสังฆาฏิเปื่อยขาด จึงขอเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาเพื่อขอให้มีพุทธานุญาตให้พระสงฆ์รับไตรจีวรจากคฤหบดีได้ เมื่อพระพุทธองค์มีพุทธานุญาตแล้ว นางวิสาขาจึงเป็นอุบาสิกาคนแรกที่ได้ทำบุญกฐิน หลังจากนั้นมาจึงเกิดประเพณีสืบมาว่า ออกพรรษาแล้ว ชาวพุทธต่างพากันทำบุญกฐิน

            ล่วงเลยมาถึงพุทธศกที่ 2561 การทำบุญกฐินยังได้รับความนิยมอย่างมาก สังเกตได้จากมีผู้นำซองกฐินของวัดต่างๆ มาแจกจ่ายเชิญชวนให้ทำบุญหลายราย ผมเห็นว่า เป็นโชคที่เกิดมาในขณะที่ยังมีพระพุทธศาสนา เพราะยังมีโอกาสได้ทำบุญทำทานอย่างต่อเนื่องและจำนวนมาก ผมตั้งจิตไว้ว่าจะทำบุญทุกครั้งที่มีคนนำซองมาให้ น้อยมากไม่ว่ากัน แต่ขอให้ได้ทำ เพื่อเป็นการ่วมบุญไปเรื่อยๆ จนตลอดชีวิต เพราะเห็นว่า การทำบุญเป็นการตัดทอนกิเลสตัวร้าย คือความโลภ อยากได้ซึ่งไม่มีประมาณ ไม่รู้จักพอ ดั่งคำของ มหาตมะคานธีที่ว่า “ทรัพยากรมีเพียงพอสำหรับทุกคน แต่ไม่เพียงพอสำหรับคนโลภคนเดียว” การใส่ซอง การใส่บาตรจึงเป็นการตัดตอนบั่นทอนกิเลสคือความโลภไว้เป็นระยะๆ

มวลญาติมิตรชักชวนผมให้ไปร่วมบุญทอดกฐินที่วัดตุ้มใต้ อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย นับระยะทางไปและกลับเกือบสองพันกิโลเมตร รวมเดินทางทั้งไปและกลับเกินกว่าหนึ่งวันเต็ม แต่ผมก็ตั้งใจไปทอดกฐินกับหมู่ญาติครั้งนี้ แม้รู้ว่าจะเหนื่อยหน่อย แต่ผมหวังไว้ว่า อย่างน้อยก็ได้ร่วมบุญกับหมู่ญาติของตนเอง และได้ทำบุญด้วยการบริจาคทรัพย์ ทำบุญด้วยการเชิญชวนเพื่อนพ้องน้องพี่อีกจำนวนหนึ่งให้ร่วมกันทำบุญ และลองทำตนให้ลำบากเพื่อทำบุญเสียบ้าง จะได้ไม่ติดความสบายจนเกินไป แถมยังได้เดินทางไปสถานที่ใหม่ๆ

การเดินทางไกลก็ไม่เสียประโยชน์ ระหว่างการเดินทางรถบัสสองชั้น ขนาด 45 ที่นั่งสองคันของบริษัทที่มีชื่อแห่งหนึ่งจาก กทม มีระบบควบคุมการเดินทางที่ดี ควมคุมอัตราความเร็วไว้ที่ 90 กม/ชม มีทีวีให้ชม มีคาราโอเกะให้ร้องเพลง รถคันที่ผมเดินทางไปด้วยสอบถามเรื่องประเด็นการทำบุญ จึงมีโอกาสได้บำเพ็ญธรรมทานด้วยการเล่าเรื่องการทำบุญแบบ “สามกระบุง” กระบุงที่หนึ่ง คือ การทำทาน กระบุงที่สองคือการรักษาศีล กระบุงที่สามคือการภาวนา

การทำทานนั้นคนโบราณสอนกันแบบง่ายๆว่า การทำทานทำให้มีทรัพย์ มุ่งเน้นไปที่การให้สิ่งของเงินทอง ผลก็คือจะเป็นผู้มีทรัพย์สินเงินทาองไม่อดอยาก พูดง่ายๆ เพื่อให้จำได้คือ “ทำทานทำให้มีทรัพย์” ส่วนการรักษาศีลนั้นทำให้สวยร่างกายสมส่วนแข็งแรง การเจริญภาวนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง สมถภาวนาอุบายสงบใจ หรือวิปัสสนาอุบายให้เข้าใจเรื่องของสังขารทำให้เกิดปัญญา สรุปได้ว่า “ทานทำให้มีทรัพย์ ศีลทำให้สวย ภาวนาทำให้เกิดปัญญา” ใครอยากได้อย่างไรก็ทำเอา อยากมีทรัพย์ก็ทำทาน อยากสวยหล่อก็รักษาศีล อยากมีปัญญาก็เจริญภาวนาเอา

การทำทานแบบง่ายก็คือ ปัจจุบันนี้มีการแจกซองกฐินผ้าป่ากันมาก ผมตั้งใจไว้ว่า จะร่วมทำทานกับเขาทุกราย (เฉพาะทีมั่นใจว่ามาจากทางวัด หรือเขาไปทำจริง) น้อยบ้างมากบ้างไม่ว่ากัน ขอให้ได้ทำร่วมกับเขาไปทุกๆบุญ จากประสบการณ์ตรงคือ ผมเคยนำซองผ้าป่าบ้างกฐินบ้างไปให้นักศึกษาร่วมทำบุญ ที่ต้องชวนเชิญทำบุญเพราะ การทำทานทำให้มีทรัพย์ การชวนคนทำทานทำให้มีกัลยาณมิตร มีเพื่อนดี  หากผมไม่ชวนเชิญคนทำทานก็เกรงว่าชาตินี้ชาติหน้าจะไม่มีเพื่อนดี เพียงนักศึกษาเห็นซองกฐินผ้าป่าแววของความขุ่นข้องขัดข้องปรากฏให้เห็นได้ในแววตา ผมใช้กลยุทธแบบง่ายๆ คือ ให้ทำบุญร่วมชาติกับอาจารย์คนละบาท คนละบาทนะ ทำนองนี้ นักศึกษาจะหน้าตาแววตาดีขึ้นในทันที เพราะหนึ่งบาทมิใช่เรื่องยาก แต่นักศึกษาเกือบทุกคนได้ร่วมทำบุญด้วยกัน ซึ่งเป็นการฝึกนิสัยการตัดกิเลสคือความโลภได้ทีละน้อย ทำบ่อยเข้าจะเกิดความเคยชินกับการบริจาคทานไปเอง

การรักษาศีลแบบง่าย คือการตั้งจิตอย่างแน่วแน่ตอนก่อนจะนอนหลับว่า “จะรักษาศีลห้าให้ครบระหว่างหลับไปจนกว่าจะตื่น” บางคนเรียกศีลห้าแบบนี้ว่า ศีลหมูคือรักษาเอาเองตอนก่อนเวลานอน และเราจะรักษาศีลได้ดีไม่ผิดแม้แต่ข้อเดียว เพราะระหว่างหลับนอนจะไม่ไปฆ่าใคร ไม่ลักของใคร ไม่ผิดในกาม ไม่พูดเท็จ (ไม่พูดคำหยาบส่อเสียดเพ้อเจ้อ) กับใครทั้งนั้น และไม่ดื่มสุราเมรัยของมึนเมาใดๆ แน่ เพราะว่าเราหลับ พอตื่นขึ้นมาเราก็พ้นเวลาที่ตั้งใจไว้ ทำหน้าที่ไปตามปกติ เมื่อเราทำแบบนี้จนเกิดความเคยชิน การรักษาศีลของเราก็จะง่ายขึ้น เพราะจิตคุ้นกับการสมาทาน การอธิษฐานเพื่อการรักษา ไม่นานก็จะสมารถรักษาศีลห้าทั้งวันได้ครบแบบง่ายๆ

การภาวนาหมายถึงการสวดมนต์ การนั่งสมาธิ การฝึกสติ การปฏิบัติวิปัสสนา โดยรวมคือการฝึกทำใจให้สงบ เมื่อใจสงบก็จักเกิดปัญญา การภาวนาแบบง่ายๆ ก็คือการทำแบบทีละนิดทีละหน่อย แต่ทำบ่อยๆ ไม่ให้เครียด คิดขึ้นได้ก็ทำทันที แต่ไม่ให้มาก ป้องกันความเครียด แต่มีข้อยากของการภาวนาคือ มีการภาวนามากมายหลายวิธี คนสนใจต้องเลือกเองว่าจะเลือกแบบไหน เลือกตามความชอบ เมื่อเลือกแล้วก็ต้องมุ่งมั่นทำอย่างนั้น ปฏิบัติอย่างนั้นต่อเนื่องกันไปทีละเล็กทีละน้อย เคล็ดลับคือทำบ่อยๆ ไม่ยอมเลิกรา ไม่นานจิตจะคุ้นชินกับการภาวนา จากจิตที่มีเพียงขณิกสมาธิ สมาธิเล็กน้อย พัฒนาเป็นอุปจารสมาธิ ดีขึ้นกว่าขณิกสมาธิแต่ยังไม่ถึงกับเป็นฌาน พอตั้งมั่นได้บ้าง แต่เรายังต้องรีบพัฒนาให้ทุกคนได้เรียนรู้เพื่อพัฒนาไปสู่ อัปปนาสมาธิ สมาธิแน่วแน่ในระดับฌาน

มีนักบุญสูงวัยถามมาว่า พูดเรื่องเทศมหาชาติให้ฟังหน่อย ผมจึงได้โอกาสเล่าเรื่องราวของพระเวสสันดรชาดกแก่ผู้เดินทางไกลร่วมกัน เป็นการเล่าแบบย่อ ตั้งแต่เรื่องคาถาพัน หรือพันพระคาถา พระจะเทศน์เป็นภาษาบาลีล้วน อีกแบบหนึ่งคือการเล่าเรื่องราวประกอบการแหล่ เป็นทำนองต่างๆ ประกอบกันไป เริ่มจากพระนางผุสดีขอพรจากท้าวสักกะเพื่อลงมาบังเกิดในโลกมนุษย์ และจะเป็นผู้ให้กำเนิดแก่พระมหาสัตว์ เพราะพระนางผุสดีคลอดบุตรคือพระเวสสันดรระหว่างเสด็จหมู่บ้านผู้เลี้ยงม้า จึงได้ชื่อว่า เวสสันดร มีความหมายว่า “ระหว่างคอกม้า”  เป็นพระชาติที่เน้นหนักเรื่องการทำทานบารมี พระองค์จึงทรงมุ่งมั่นในการบริจาคทานตั้งแต่ทรงพระเยาว์จนเจริญพระชันษา ครั้งหนึ่งคนจากเมืองใกล้เคียงมาขอช้างปัจจัยนาค ช้างมงคลคู่พระบารมี พระองค์จึงทรงมอบช้างให้เป็นทาน ประชาชนไม่เข้าใจจึงพากันขับไล่ จนพระราชบิดาพระเจ้ากรุงสญชัย เห็นว่าควรเนรเทศพระโอรสออกไปอยู่ป่าที่เขาวงกตสักระยะเวลาหนึ่ง เมื่อมีคำสั่งเนรเทศ ทั้งสี่กษัตริย์พ่อแม่ลูกทั้งสองคนจึงเดินทางออกจากเมือง ระหว่างเดินทางก็ยังได้บริจาคทานสิ่งของเงินทองรถ และม้าจนหมดจึงต้องเดินด้วยพระบาทเปล่าขึ้นเขาไป เจอพรานเจตบุตร พบอัจจุตฤษีระหว่างทางบนเขา ต่อมาชูชกเดินทางมาพบขอสองกุมารไปเป็นทาส พระอินทร์มาขอพระมเหสี พระองค์ประทานให้หมด เพื่อพระโพธิญาณ ท้ายที่สุดแล้ว ชูชกเดินหลงทางเข้าเมืองสีพี พระเจ้ากรุงสญชัยจึงขอไถ่ตัวพระเจ้าหลานทั้งสองคืน และเชิญพระเวสสันดรกลับคืนพระนคร

ผมเล่าเรื่องราวเหล่านี้จนจบ เห็นผิดสังเกตว่าเหตุใดจึงเงียบนัก หันกลับไปดูปรากฏว่า หลับกันไปเกือบทั้งคันรถ แต่แว่วได้ยินเสียงสาธุอยู่สองสามเสียง แสดงว่ามีคนฟังอยู่บ้าง และนิทานกล่อมนอนที่ผมเล่าไปมีคนฟังเจริญศรัทธาได้ไม่น้อยเหมือนกัน

คณะของเราเดินทางเยือนสถานที่ท่องเที่ยวระหว่างทางเพื่อเป็นการพักผ่อน เช่น วัดร่องขุ่นในเช้าวันเสาร์ หลังจากนั้นเดินทางต่อไปไร่ชาฉุยฟง และเยือนขุนน้ำนางนอน ต่อด้วยการแวะเข้าแม่สายอีกนิด และรีบเดินทางต่อเข้าวัดตุ้มใต้อย่างรวดเร็วเพราะได้รับประสานงานมาว่า ทางเข้าวัดตุ้มใต้นั้นมีหลายด้าน การที่คณะของเราไม่มีผู้ชำนาญทางมาด้วย จึงจำเป็นต้องใช้จีพีเอ็สช่วยนำทาง ผลก็คือคณะของเราเดินทางขึ้นเขารอดเงาหมู่ไม้ไพรสณฑ์คดโค้งไม่น้อย เวลารถบัสขนาดยาวเลี้ยงโค้งจะค่อนข้างลำบากเวลามีรถอื่นสวนทางจะคร่อมข้ามไปกินเลนใกล้เคียง ทำให้ต้องระมัดระวัง

ก่อนเข้าวัดเล็กน้อยมีคณะต่อแถวเป็นขบวนมาตอนรับทั้งที่มีฝอยฝนโปรยปรายเล็กน้อย ทางวัดจัดให้มีการสวดมนต์สมโภชกฐินต่อ มีคณะมาเลี้ยงต้อนรับแบบขันโตกตามพิธีแบบเมืองเหนือ มีการลอยโคมแบบยี่เป็ง มีงานรื่นเริงป้าเป้าไว้ให้ ยามดึกต่างพากันหลับนอน เพื่อวันรุ่งขึ้นจะได้เข้าร่วมพิธีทอดกฐินกันต่อไป

���sd>

หมายเลขบันทึก: 657956เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2018 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2018 15:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท