วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พุทธชินราช
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พุทธชินราช วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พุทธชินราช วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พุทธชินราช

การสอนแบบ reflective thinking: เทคนิคการตั้งคำถาม


ประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาพยาบาลโดยใช้วิธี การสะท้อนคิด (Reflective Thinking) โดย อ.ไพทูรย์  มาผิว

                                                                 ความสำคัญของการสะท้อนคิด (Reflection)

การสะท้อนคิด (Reflection) หมายถึง กระบวนการคิดไตร่ตรองทบทวน (Reflective Thinking) พินิจพิเคราะห์และพิจารณาสิ่งต่างๆ อย่างรอบคอบโดยใช้สติและมีสมาธิ ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำให้บุคคลได้ทบทวนและสะท้อนการกระทำของตน (Reflective Practice) ช่วยให้เกิดความเข้าใจและเกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ นำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงตนเอง ปรับปรุงงาน และการแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น (Johns. 2000: 34)
• ดังนั้น ส่งเสริมให้นักศึกษาพยาบาลได้มีการสะท้อนคิดในสิ่งที่ตนเองคิดย่อมเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้สังเกตและวิเคราะห์ความคิดของตนเกิดการพัฒนาความเป็นระเบียบ สร้างสรรค์ และจัดลำดับทางความคิดในสิ่งที่ตนรับรู้ให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ก่อนที่จะสื่อสารกับผู้อื่นด้วยการพูดหรือเขียน และเชื่อมโยงสู่การพัฒนา/ปรังปรุงปฏิบัติที่ดีขึ้น

•การเรียนการสอนที่จะส่งเสริมให้มีการสะท้อนคิดสามารถทำได้หลายวิธี หนึ่งในนั้น ก็คือ “การพูดและเขียนบันทึกการเรียนรู้” ซึ่งการส่งเสริมให้นักศึกษาได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้สึก ความคิดเห็น หรือประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง จากนั้น จึงมอบหมายให้นักศึกษาเขียนบันทึกการเรียนรู้จะช่วยพัฒนาทักษะสะท้อนคิดของผู้เรียน โดยสามารถอธิบายได้ว่า

   “ทักษะสะท้อนคิดของนักศึกษานั้น จะเกิดขึ้นในขณะที่นักศึกษาทำการคิดทบทวนประสบการณ์และวิเคราะห์เชื่อมโยงเหตุการณ์ต่างๆ แล้ว ก่อนที่จะพูดและเขียนลงในบันทึกการเรียนรู้”

   นอกจากนี้ การที่ผู้สอนนำประเด็นที่พบในบันทึกการเรียนรู้มาใช้เป็นหัวข้อในการอภิปรายเชิงลึก/ใช้คำถามกระตุ้น ก็ช่วยให้นักศึกษาเกิดการพัฒนากระบวนการคิดขั้นสูงได้อีก

                                                                  วัตถุประสงค์และเป้าหมาย

- เริ่มต้นของการจัดการเรียนการสอนสะท้อนคิด (Reflection) เพื่อพัฒนาทักษะการสะท้อนคิดของนักศึกษาพยาบาล โดยผ่านกระบวนการเขียนบันทึกการสะท้อนคิด

- ปัจจุบันปรับมาเป็น เพื่อพัฒนาทักษะการสะท้อนคิดของนักศึกษาพยาบาล  โดยผ่านกระบวนการ  ¨ การเขียนบันทึกการสะท้อนคิด  (Journal Writing) และ ¨ การพูด (Dialogue)

- ในอนาคตวางแผนว่า Move to Critical Reflection

                                                            ข้อเสนอแนะจากการจัดประสบการณ์ในระยะแรกๆ

การสร้างความเข้าใจในการเขียนบันทึกการสะท้อนคิด ทั้งตัวนักศึกษา และอาจารย์ผู้นิเทศก์ เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง   เพราะ...จากการอ่านการเขียนบันทึกการเรียนรู้ ในระยะแรกๆจะพบว่า นักศึกษาจะเขียนบันทึกเหตุการณ์ทั่วไป ว่า วันนี้ เวลานี้ ทำอะไร     กับใคร ที่ไหน ไม่ได้เขียนภายใต้ กรอบคำถามที่ชี้แจงไว้ตามกรอบแนวคิด Gibbs Reflective Cycle ประกอบกับอาจารย์ผู้นิเทศก์ อ่านบันทึกแล้วไม่ได้ feedback  หรือใช้คำถามกระตุ้นให้เกิดการสะท้อนคิด จึงส่งผลให้ การเขียนบันทึกการเรียนรู้ นั้น ไม่เกิดคุณค่าตามวัตถุประสงค์ที่ควรเป็น

                                                                             ระดับของการสะท้อนคิด

  1. Descriptive Reflection บันทึกการสะท้อนคิด (journal writing) รายงานอุบัติการณ์ (reporting incidents)โดยเน้นมุมมองตนเอง      เป็นหลัก   เป้าประสงค์การพัฒนาเพื่อเกิดการตระหนักรู้ในตนเอง
  2. Dialogic Reflection สนทนากับผู้อื่น แล้วกลับมาสะท้อนคิดในสิ่งที่คนอื่นคิด เป้าประสงค์การพัฒนาเพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด
  3. Critical Reflection สนทนากับผู้อื่น/กลุ่มในประเด็นที่สำคัญ  จากการปฏิบัติของตนเอง/ผู้อื่น/ร่วมกับผู้อื่น เป้าประสงค์การพัฒนาเพื่อปรับเปลี่ยนการปฏิบัติใหม่ (Transformative practice) เกิดนวัตกรรม (move to innovation)

                                                                             ระบบและกลไก/แนวทางการดำเนินงาน

ขั้นที่ 1   สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการสะท้อนคิดร่วมกับอาจารย์ผู้สอนภาคปฏิบัติ    วิชา ปฏิบัติการพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพ 3 (ผู้ป่วยสูงอายุ)  ตามแนวคิดกระบวนการสะท้อนคิด GIbbs Reflective Cycle  ประกอบด้วย 6 ขั้นตอน ดังนี้

   1. อธิบายสถานการณ์ที่เกิดขึ้น (Describe what happened)

   2. ตรวจสอบความรู้สึก (Examine feelings)

   3. ประเมินความรู้สึกต่อเหตุการณ์นั้นเป็นทางบวก/ลบ   (Evaluate positive and negative of the event)

   4. วิเคราะห์และทำความเข้าใจอย่างไตร่ตรอง (Analyze to determine sense-making)

   5. กำหนดทางเลือกที่จะทำอย่างอื่นได้อีกหรือไม่ (Ask what else could you have done)

   6. กำหนดแบบแผนแนวทางการปฏิบัติในอนาคต (Set action plan for future occurrences)

ขั้นที่ 2  การวางแผนการบูรณาการการเรียนการสอนในรายวิชา

  1. กำหนดให้เป็นหนึ่งวิธีการสอน คือ การเรียนรู้แบบสะท้อนคิด (Reflection) โดยกำหนดอย่างชัดเจนใน มคอ. 4 หมวดที่ 3 การพัฒนาผลการเรียนรู้

2. กำหนดให้เป็นหนึ่งในรายงาน/ชิ้นงานที่นักศึกษาได้รับมอบหมายโดยกำหนดอย่างชัดเจนใน มคอ.4 หมวดที่ 4    ลักษณะและ                 การดำเนินการ และหมวดที่ 6 การประเมินนักศึกษา

3. ออกแบบฟอร์มการบันทึกการเรียนรู้ สำหรับนักศึกษา

คำชี้แจงการบันทึกการสะท้อนคิด (Reflection)

   ให้นักศึกษาแต่ละคน ทำการสะท้อนคิดการฝึกปฏิบัติการพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพ 3 (ผู้ป่วยสูงอายุ) ปีการศึกษา 2560 โดยเขียนเป็นความเรียงลงในแบบฟอร์มที่กำหนดให้ ภายใต้คำถามนำ ดังต่อไปนี้

   - เกิดอะไรขึ้น (บรรยายถึงเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นกับท่าน ขณะฝึกปฏิบัติงาน)

  - รู้สึกอย่างไรต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ้าง (บรรยายความคิดและความรู้สึกที่เกิดขึ้นต่อเหตุการณ์นั้น)

  - ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร (บรรยายและระบุว่าความคิดและความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นด้านบวกและ/หรือด้านลบ หรือดีและ/หรือไม่ดีอย่างไร)

  - สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร (ให้ใช้ประสบการณ์เดิมมาช่วยในการมองว่า สถานการณ์นี้เป็นอย่างไร เหตุใดจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น)

  - มีอะไรที่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้อีกบ้าง (ให้ใช้ประสบการณ์เดิมมาช่วยในการบรรยายสรุปว่า มีอะไรที่ท่านสามารถทำในสถานการณ์ดังกล่าวได้อีก/ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น)

  - เราจะทำอะไร อย่างไร ถ้าเกิดสถานการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก (บรรยายสิ่งที่คุณจะทำ/ปรับปรุง/อยากจะทำที่แตกต่างจากครั้งนี้)

ขั้นที่ 3  การดำเนินการฝึกทักษะการสะท้อนคิดของนักศึกษาพยาบาล โดยผ่านการพูดและเขียนบันทึกการเรียนรู้ ดังนี้

  3.1 แบ่งนักศึกษาออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ละ 3 - 4 คน พร้อมทั้งมอบหมายผู้ป่วยสูงอายุในชุมชนไว้ในความดูแลกลุ่มละ 1 คน

  3.2 นำนักศึกษาแต่ละกลุ่มไปพบผู้ป่วยสูงอายุที่ได้รับมอบหมาย

  3.3 กระตุ้นให้นักศึกษาได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสะท้อนคิดเกี่ยวกับผู้ป่วยสูงอายุและสภาพแวดล้อมตามสภาพจริง ตามกรอบแนวคิดกระบวนการสะท้อนคิด ของ Gibbs Reflective Cycle 6 ขั้นตอน ภายหลังที่นักศึกษาได้เข้าไปพบหรือดูแลผู้ป่วยสูงอายุทุกครั้ง ตลอดระยะเวลาที่ฝึกปฏิบัติงาน 2 สัปดาห์

  3.4 มอบหมายให้นักศึกษาแต่ละคนบันทึกการสะท้อนคิดการฝึกปฏิบัติการพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพ 3 : ผู้ป่วยวัยสูงอายุ ในวันสุดท้ายของการฝึกปฏิบัติงาน โดยเขียนเป็นความเรียงหรือเรื่องราวลงตามแบบฟอร์มที่กำหนดให้ ภายใต้กรอบแนวคิดกระบวนการสะท้อนคิดของ GIbbs Reflective Cycle 6 ขั้นตอนการ โดยจะมีคำชี้แจงการบันทึกการสะท้อนคิด (Reflection) และคำถามนำเพื่อใช้เป็นแนวทางในการเขียนไว้ในคู่มือการฝึกปฏิบัติงาน

ขั้นที่ 4 การประเมินผล

  4.1 อาจารย์ผู้สอนภาคปฏิบัติอ่านการเขียนบันทึกการเรียนรู้ของนักศึกษาในความดูแลทุกคน เพื่อประเมินผลการเรียนรู้ โดยผ่านการสะท้อนคิดของนักศึกษา

  4.2 อาจารย์ผู้สอนภาคปฏิบัติและผู้รับผิดชอบรายวิชารวบรวมข้อมูลการเขียนบันทึก และวิเคราะห์ข้อมูลบันทึกการสะท้อนคิด (Journal Writing) เพื่อเชื่อมโยงหาความสัมพันธ์ของข้อมูลที่จะสะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์ของการพัฒนาทักษะการสะท้อนคิดของนักศึกษา

  4.3 ผู้รับผิดชอบรายวิชาสรุปการถอดบทเรียนจากการสะท้อนคิดของนักศึกษา สู่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของรายวิชา

                                                 การเปรียบเทียบผลการดำเนินงานก่อนและหลังการนำผลงานไปใช้

การพัฒนาทักษะการสะท้อนคิดของนักศึกษาพยาบาลครั้งนี้กำลังอยู่ในช่วงรวบรวมข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานก่อนและหลังการนำผลงานไปใช้
       อย่างไรก็ตาม การประเมินผลการเขียนบันทึกการเรียนรู้ ของนักศึกษาพยาบาล  ภายหลังจากการเผชิญสถานการณ์ต่างๆ ขณะฝึกปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยสูงอายุในชุมชน และถูกกระตุ้นด้วยคำถามให้สะท้อนคิดอย่างต่อเนื่องตามกรอบแนวคิดของ GIbbs Reflective Cycle 6 ขั้นตอน  มีผลการดำเนินการ ดังนี้

ผลการดำเนินการ

    • การถอดบทเรียนจากการจัดประสบการณ์ให้นักศึกษาได้พูดและเขียนบันทึกการสะท้อนคิด จากการเผชิญสถานการณ์ต่างๆ ขณะฝึกปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยสูงอายุในชุมชน มีดังนี้
    1. เพิ่มความตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness) และผู้อื่น (Other-awareness) ของนักศึกษา โดยการฝึกทักษะการสะท้อนคิดของนักศึกษาพยาบาล โดยผ่านการพูดและการเขียนบันทึกการเรียนรู้ จะเป็นกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นให้นักศึกษาทบทวนและตระหนักรู้ในความรู้สึก ความคิดของตนเองและต่อผู้อื่นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการตระหนักรู้ดังกล่าว จะทำให้เกิดความเข้าใจที่ลึกล้ำในความเป็นมนุษย์ ความเป็นปัจเจกบุคคล

    ตัวอย่าง

    “...กรณีศึกษาพูดไม่ได้ และหูไม่ค่อยได้ยิน ส่ายหน้าปฏิเสธตลอดเวลา พร้อมแสดงอารมณ์หงุดหงิดเวลานักศึกษาและญาติเข้าใกล้หรือเวลาขอร้องให้ทำอะไร  เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้รู้สึกเสียใจที่ไม่ได้ความร่วมมือจากกรณีศึกษา แต่ก็สงสัยว่า เพราะอะไร(กรณีศึกษา)ถึงปฏิเสธให้นักศึกษาเข้าเยี่ยม หรือหงุดหงิดทุกครั้งที่คนเยอะเข้ามาเยี่ยม จึงตั้งคำถามกับตนเองว่า “เหตุใดพฤติกรรมและอารมณ์ผู้ป่วยกรณีศึกษา จึงเป็นเช่นนั้น....ภายหลังการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม สอบถามผู้ดูแลที่ใกล้ชิด ทำให้เข้าใจผู้สูงอายุกรณีศึกษามากยิ่งขึ้น ซึ่งมันอาจมาจากผู้สูงอายุเคยเป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นเสาหลักให้ครอบครัวทุกอย่าง ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ก็ทำให้ผู้สูงอายุท้อแท้ สิ้นหวัง หงุดหงิด และไม่อยากทำอะไร หรือให้ความมือกับใคร..”

    “...ฉันได้เข้าไปพูดคุยกับกรณีศึกษา แต่กรณีศึกษามีสีหน้าเรียบเฉย   ถามคำตอบคำ ไม่ค่อยพูด พยายามก้มหน้า ซึ่งในขณะนั้น ฉันรู้สึกอึกอัดใจมาก เพราะไม่รู้ว่าจะพูดอะไรกับกรณีศึกษา ไม่รู้ว่ากรณีศึกษาคิดอะไรอยู่ จึงเก็บเรื่องราวของกรณีศึกษาไปคิดต่อหลังจากกลับจากบ้านกรณีศึกษา เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ฉันรู้สึกกังวลใจ และคิดว่า “อะไรที่ทำให้กรณีศึกษารายนี้ถึงมีสีหน้าเรียบเฉย ไม่ค่อยแสดงอารมณ์                 ดูซึมเศร้า” จากนั้นจึงไปสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม....แล้วกลับมาทบทวนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับกรณีศึกษาพบว่า สาเหตุที่ผู้สูงอายุมีภาวะซึมเศร้า เนื่องจาก กรณีศึกษามีโรคเรื้อรังและยังประสบอุบัติเหตุล้ม ทำให้เดินไม่ได้ การเคลื่อนไหวลดลง ต้องมีคนคอยช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น อาบน้ำ ทำกับข้าว การขับถ่าย เป็นต้น จึงทำให้คุณค่าในตนเอง มองชีวิตตนเองไร้ค่า ซึ่งฉันเองต้องเข้าใจและยอมรับพฤติกรรมดังกล่าวของกรณีศึกษา.....”

    2. สร้างเสริมทักษะการคิดขั้นสูง โดยเฉพาะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ เพราะการถูกกระตุ้นให้คิดจากสถานการณ์จริงที่เผชิญอยู่ แล้วสะท้อนคิดออกมาเป็นคำพูดบ่อยๆ และสุดท้ายให้เขียนเป็นการเขียนบันทึกการเรียนรู้แต่ละครั้ง นักศึกษาจะต้องคิดทบทวน วิเคราะห์และเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาในแต่ละวัน ก่อนที่จะเขียนลงในสมุดบันทึกการเรียนรู้

           นั้นก็หมายความว่า การพูดและเขียนบันทึกการสะท้อนคิด จะเป็นวิธีการสื่อสารในสิ่งที่นักศึกษาคิดและรู้สึกอย่างเป็นรูปธรรม

          ยิ่งไปกว่านั้น การกำหนดให้นักนักศึกษาสะท้อนคิด ภายใต้กรอบ Gibbs Reflective Cycle จะช่วยนำพาให้นักศึกษาคิดทบทวน วิเคราะห์ และเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่างๆ ตลอดจนตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น มีการพิจารณาความเป็นไปได้ว่า อะไรบ้างที่จะทำให้สถานการณ์นั้นๆ ดีขึ้นท้ายที่สุดจะเกิดการคิดหาแนวทางการพัฒนาการปฏิบัติที่ดีขึ้น ดังการระบุว่า......

    ตัวอย่าง

    “...การที่ได้พบผู้สูงอายุครั้งแรก ผู้สูงอายุรายนี้เป็นผู้สูงอายุชายวัย ๘๓ ปี นอนติดเตียงเป็นเวลา ๗ เดือน จากการประเมินร่างกาย พบว่า มีผลกดทับเกิดขึ้น ร่างกายซีกซ้ายอ่อนแรง ซูบผอม สีหน้าแววตาเศร้าหมอง ภาพที่ข้าพเจ้าได้เห็น ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกสงสาร และเกรงว่าหากไม่ได้รับการดูแลหรือแก้ไข ผู้สูงอายุอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการนอนนานๆ ที่รุนแรง หรืออาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้....เมื่อพิจารณาสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุรายนี้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการนอนติดเตียงพบว่า ผู้สูงอายุมีร่างกายซีกขวาอ่อนแรงและยังไม่ได้ทำการฟื้นฟูร่างกายอย่างเป็นแบบแผนหรือสม่ำเสมออีกทั้งในช่วงเวลากลางวัน ผู้ดูแลคือภรรยา ซึ่งเป็นผู้สูงอายุเช่นกัน และยังมีปัญหาเกี่ยวกับข้อเข่าและหลัง   ทำให้มีเคลื่อนไหวร่างกายที่ช้า จึงไม่สามารถช่วยพลิกตะแคงตัวหรือช่วยให้กรณีศึกษาได้มีการเคลื่อนไหวร่างกายหรือออกกำลังได้อย่างเหมาะสมต้องรอให้ลูกสาวที่ทำงานเป็นครูกลับมาช่วยในเรื่องของการทำกายบริหารหรือการเครื่องไหวร่างกาย การพลิกตะแคงตัวและการทำความสะอาดร่างกายในทุกวันตอนเย็น และหลังจากที่ได้พูดคุยกับลูกสาวกรณีศึกษาพบว่า ลูกสาวนั้น ไม่ทราบวิธีการฟื้นฟูผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตหรือผู้ป่วยที่นอนติดเตียง ตนเองและครอบครัว จึงได้ทำอุปกรณ์ที่ช่วยฟื้นฟูกำลังแขน โดยใช้ยางในรถยนต์ต่อกันมัดไว้ที่ปลายเตียงเพื่อให้ผู้สูงอายุได้ดึงออกกำลังกาย.....ข้าพเจ้าจึงได้คิดแนวทางในการดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุนี้ โดยการให้ความรู้แก่ผู้ดูแลในการแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นและได้นำ(คิดค้นและสร้าง)นวัตกรรม รอกล้อเลื่อน เคลื่อนข้อติด ที่ได้คิดต่อยอดจากอุปกรณ์เดิมที่ผู้สูงอายุมีอยู่แล้ว เพื่อช่วยในการออกแรงเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและยังช่วยแก้ไขภาวะข้อติด ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายผู้สูงอายุระยะยาว....”

    ข้อเสนอแนะ

    1. การสร้างความเข้าใจในการเขียนบันทึกการสะท้อนคิดทั้งตัวนักศึกษา และอาจารย์ผู้นิเทศ เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ  และจำเป็นอย่างยิ่ง

    2. อาจารย์ผู้สอนควรได้รับการส่งเสริมความเข้าใจและทักษะการใช้   คำถามกระตุ้นและแนวคิดการเขียนบันทึกการเรียนรู้ อันจะนำไปสู่   การสะท้อนคิดอย่างสร้างสรรค์และออกมาจากแก่นแท้ของจิตใจของ   นักศึกษาพยาบาลต่อไป

                                            ผู้ร่วมสอนตระหนักในความสำคัญของการตั้งคำถาม จึงร่วมคิดแนวคำถามไว้

    ตาม 6 ขั้นตอนของ Gibbs

    Description  คำถาม เกิดอะไรขึ้น / มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง

    Feeling Evaluation คำถาม  รู้สึกอะไร อย่างไร ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น / คิดเห็นอะไร อย่างไรต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น / ความรู้สึกหรือความคิดเห็นที่เกิดขึ้นดีหรือไม่ดี อย่างไร

    Analysis คำถาม เหตุใดหรือทำไมจึงรู้สึก/คิดเห็นเช่นนั้น / สถานการณ์นี้เป็นอย่างไร  / เหตุใดจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น / มีอะไรที่ทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นบ้าง

    Conclusion คำถาม ในสถานการณ์มีอะไรที่จะทำให้ดีขึ้นได้บ้าง / มีอะไรที่ควรทำ แต่ทำไม่ได้ทำบ้าง/ถ้าทำต่างจากนี้ จะได้ผลต่างกันหรือไม่ อย่างไร / ได้เรียนรู้อะไร อย่างไร จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

    Action Plan คำถาม จะทำอะไร อย่างไร ถ้าเกิดสถานการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก  / จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปรับใช้ในอนาคตอย่างไร

                                                                      กลยุทธ์หรือปัจจัยที่นำไปสู่แนวปฏิบัติที่ดี

    1. ผู้บริหาร ต้องมีแนวทางหรือนโยบายส่งเสริม/พัฒนาผู้เรียน โดยใช้กระบวนการสะท้อนคิด อีกทั้ง จะต้องมีการกำกับติดตามอย่างต่อเนื่อง จริงจัง

    2. อาจารย์ผู้ร่วมสอน ต้องมีความรู้ความเข้าใจในกระบวน และความสำคัญของการสะท้อนคิด 

    3. ผู้เรียน ต้องได้ประโยชน์/มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการสะท้อนคิดอย่างชัดเจน อันจะนำไปสู่การพัฒนาแนวปฏิบัติที่ดีอย่างแท้จริงและยั่งยืน

    4. การจัดการความรู้ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาแนวปฏิบัติที่ดี สำหรับการพัฒนาทักษะการสะท้อนคิดของนักศึกษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง      เป็นรูปธรรม

                                                                                    ประโยชน์ที่ได้จากผลงาน

    1.ได้แนวปฏิบัติสำหรับการพัฒนาทักษะการสะท้อนคิดของนักศึกษาพยาบาลอย่างเป็นรูปธรรม

    2. อาจารย์ผู้ร่วมสอนภาคปฏิบัติมีสมรรถนะ (ความรู้ ทักษะ และทัศคติที่ดี) ในกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนการสะท้อนคิดเพิ่มขึ้น

                                                                                    ปัจจัยเกื้อหนุนความสำเร็จ

    1. การออกแบบหรือวิธีการสะท้อนคิด โดยการพัฒนาทักษะการสะท้อนคิดครั้งนี้ เน้นวิธีการ 2 อย่าง คือ การพูดและการเขียน ซึ่งเป็นการเพิ่มความหลายหลายในการสะท้อนคิด ไม่น่าเบื่อ และที่สำคัญจะต้องไม่มากหรือไม่น้อยเกินไป เช่น การพูดช่วยให้ผู้เรียนสะท้อนได้เร็ว ส่วนการเขียนสะท้อนคิดที่บ่อยหรือมากเกินไป จะเป็นภาระแก่นักศึกษา เพราะต้องใช้เวลามาก

    2. ความต่อเนื่อง/ความถี่ของการฝึกสะท้อนคิด โดยการกระตุ้นให้นักศึกษาพยาบาลได้ฝึกการทักษะสะท้อนคิด ทั้งการพูดและการเขียนอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม จะช่วยให้นักศึกษามีความคล่องตัวในการคิด ทั้งความรวดเร็วและสาระในการสะท้อนคิดที่ชัดเจน ตรงประเด็น (ไม่มาก จนเป็นภาระแก่นักศึกษา ไม่น้อย จนไม่เห็นความสำคัญ)

    3. อาจารย์ผู้ร่วมสอน ต้องมีความความรู้ความเข้าใจในกระบวนการสะท้อนคิด ตลอดจนมีทักษะการใช้คำถามกระตุ้นเพื่อให้นักศึกษาได้สะท้อนคิด ภายใต้บุคลิกภาพที่เป็นมิตร ผ่อนคลาย ไม่คุกคาม (Creative space) อันจะนำไปสู่การสะท้อนคิดอย่างสร้างสรรค์และออกมาจากแก่นแท้ของจิตใจ

                                                                                    แนวทางการพัฒนาในอนาคต

    1.การเปรียบเทียบผลการดำเนินงานก่อนและหลังการนำผลงานไปใช้ โดยการเขียนบันทึกสะท้อนคิดก่อนและหลังกระบวนการพัฒนาทักษะการสะท้อนคิดของนักศึกษาพยาบาล
    2. การพัฒนาอาจารย์ผู้ร่วมสอน ทั้งด้านความความรู้ความเข้าใจในกระบวนการสะท้อนคิด ตลอดจน ทักษะการใช้คำถามกระตุ้นเพื่อให้นักศึกษาได้สะท้อนคิด บุคลิกภาพที่เป็นมิตร ผ่อนคลาย ไม่คุกคาม อันจะนำไปสู่การสะท้อนคิดอย่างสร้างสรรค์และออกมาจากแก่นแท้ของจิตใจ

    20181116160650.pptx


    หมายเลขบันทึก: 657954เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2018 13:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2018 16:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (29)

    วิทยากรเล่าประสบการณ์ได้สนุก ทำให้ได้เรียนรู้เทคนิคการตั้งคำถามในการสะท้อนได้ดีค่ะ

    จากการร่วมฟังวิธีการที่วิทยากรนำมาแลกเปลี่ยนทำให้สะท้อนคิดเทียบการกระบวนการที่ตนเองทำ เกิดคำถามในใจหลายอย่าง และได้แนวทางในการนำไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอน โดยเฉพาะการตั้งคำถามที่ทำให้นักศึกษาอยากจะเรียนรู้ อยากจะค้นหาคำตอบด้วยตัวของเขาเอง ต้องระวังการใช้คำถามที่ไม่คุกคามนักศึกษา ทำให้นักศึกษารู้สึกว่าตัวเองโง่ ก่อให้เกิดความมั่นใจในตนเองของนักศึกษาลดลง ส่งผลให้หยุดการเรียนรู้ ได้แต่เฝ้ารอคำตอบจากครู ครูที่คิดว่าตนเองยิ่งใหญ่ รู้ทุกเรื่อง อธิบายภูมิรู้ที่ตนมีอย่างเมามัน โดยไม่คำนึงถึงว่านักศึกษาจะรับความรู้นั้นได้หรือไม่ (นักศึกษาบางคนก็คงฟังแค่เสียงที่ผ่านเข้ามา แต่ไม่เข้าใจว่าครูกำลังพูดอะไร พยักหน้าไปเป็นระยะๆ )……

    ขอบคุณท่านวิทยากร และคณะผู้จัดโครงการ ที่ได้นำความรู้ วิธีการสอนที่ดีมาเผยแพร่ ให้เป็นแนวทางให้กับอาจารย์ได้นำไปใช้ ในการสอนแบบ Reflective Thinking ถือเป็นการสอนที่น่าสนใจและเหมาะสมอย่างมากที่ให้นักศึกษาได้เขียนแล้วครูช่วยเป็นผู้สะท้อนชี้ประเด็นสำคัญ เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกเข้าใจตนเอง และเข้าใจผู้อื่น ท่านวิทยากรได้แนะนำแนวคำถามที่ดี ซึ่งเป็นเทคนิคที่น่าสนใจมากคะ

    ได้ความรู้เพิ่มเติม อ่านแล้วเหมือนจะไม่ยาก แต่ทำจริงๆก้อซับซ้อนพอสมควรกับการตั้งคำถามที่ดี และสร้างบรรยากาศให้นักศึกษาพร้อมจะพูด อธิบาย เพราะส่วนใหญ่นักศึกษาพยาบาลจะเรียบร้อย ยิ้ม ประกอบกับเวลาที่จำกัด ทำให้ครูชี้นำไปเยอะ จะทดลองไปปฎิบัติเพื่อให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้เพิ่มขึ้นค่ะ

    การนำเสนอของวิทยากรช่วยให้ครูผู้สอนเกิดการทบทวนกระบวนการReflective Thinkingและมองเห็นแนวทางการพัฒนาวิธีการที่จะนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนตามบริบทของแต่ละสาขาวิชาที่เป็นรูปธรรมในขั้นพัฒนาการที่สูงขึ้น ขอขอบคุณทีมงานที่จัดการอบรมและคัดเลือกวิทยากรที่เหมาะสมมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้คะ

    ขอบคุณวิทยากรที่จุดประกายให้ปรับรูปแบบการสะท้อนคิดเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการเรียนรู้ให้กับนักศึกษา และที่สำคัญคือ ครูต้องตั้งคำถามที่จะนำไปสู่การคิดวิเคราะห์ของนักศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับครูในปัจจุบัน

    ขอบคุณวิทยากรมากค่ะที่ทำให้เกิดแนวทางในการนำไปใช้บนคลินิกได้จริง ซึ่งขึ้นอยู่กับวิธีการสะท้อนคิดของผู้สอนอย่างมาก ผู้สอนต้องมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบอย่างถ่องแท้จึงจะใช้วิธีการสอนโดยการสะท้อนคิดได้สำเร็จ

    เป็นวิธีที่ดี ทำให้นักศึกษาได้ฝึกการคิดและการสะท้อนได้

    ตอนแรกฟังวิทยากรหนักใจมาว่าเริ่มอย่างไรดี ก็คิดว่าต้องลองจากข้ันที่เราถนัดก่อนคือการให้น.ศ.อธิบายความรู้สึก ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจน.ศ.ได้เร็วขึ้น และสามารถพัฒนาน.ศ.ได้ตรงความต้องการได้มากขึ้น ขั้นแรกสำเร็จ ต่อไป 6 คำถามของ Gibbs ก็น่าจะไปได้ดี

    การจัดการเรียรการสอนโดยการสอดแทรกหรือนำแนวคิดการสะท้อนคิดไปใช้ช่วยพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักศึกษาได้

    จากการรับฟังการบรรยายของวิทยากร ซึ่งได้มีโอกาสกลับมาทบทวนสิ่งที่เป็นประสบการณ์เดิมของการเป็นอาจารย์พยาบาลจิตเวช จริงๆแล้วเราเคยใช้มาก่อนแล้วโดยไม่รุ้ตัวหรือเพราะว่าเรายังไม่มีความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับการ Reflective แต่ได้ใช้ในการทำ Pre-Post Conference กับนักศึกษาเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยจิตเวช รวมทั้งพฤติกรรมคำพูดและความรู้สึกของนักศึกษาที่ได้ปฏิบัติจริงกับผู้ป่วย และเมื่อมาฟังวิทยากรเรามองเห็นภาพชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับแต่ละประเด็นแต่ละองค์ประกอบของ Reflective ซึ่งได้แนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนต่อไปสุทธามาศ อนุธาตุ

    การตั้งคำถามเพื่อการสะท้อนคิด ถ้าเราไม่ยึดติดกับคำตอบที่ได้ว่าจะต้องถูกต้องตามหลักการทฤษฎีทั้งหมด แต่เป็นคำถามที่กระตุ้นให้นักศึกษาได้สะท้อนสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่เขาพบและหันกลับมาวิเคราะห์ตนเองว่าต้องจัดการตนเองอย่างไรเพื่ออุดช่องโหว่ที่มี โดยการใช้แหล่งความรู้ต่างๆให้เป็นประโยชน์น่าจะเป็นสิ่งที่ฝึกทักษะการคิดของนักศึกษาได้เป็นอย่างดีคะ

    ได้แนวทางและวิธีการตั้งคำถามในรายวิชาที่ตนเองรับผิดชอบ

    ได้นำความรู้ไปใช้ในการสอนนักศึกษา เป็นวิธีการสอนที่ช่วยให้นักศึกษาคิดวิเคราะห์ได้ดี เรียนรู้ความสามารุของตนเองในการแก้ปัญหาได้

    ได้นำความรู้ไปใช้ในการสอนนักศึกษา เป็นวิธีการสอนที่ช่วยให้นักศึกษาคิดวิเคราะห์ได้ดี เรียนรู้ความสามารุของตนเองในการแก้ปัญหาได้

    ได้ลองนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนแล้ว แต่คิดว่ายังต้องพัฒนาทักษะของตัวเองอีกมาก ซึ่งอาจารย์มาแลกเปลี่ยนทำให้ได้เรียนรู้เทคนิคต่างมากขึ้น

    ชอบมากเลยคะ จะได้เทคนิคการตั้งคำถามไปใช้คะ

    ได้แนวทางและวิธีการตั้งคำถามในรายวิชาที่ตนเองรับผิดชอบค่ะ

    เป็นวิธีการสอนที่ดี ครับ นักศึกษากล้าพูดกล้าทำมากขึ้น บางอย่างนักศึกษาไม่กล้าบอก วิธีคิดวิธีแก้ปัญหาที่นักศึกษามีซึ่งอาจจะถูกหรือผิดก็ได้ วิธีการสะท้อนคิดจะช่วยให้ครูและนักศึกษาเข้าใจกันมากขึ้นครับ ดีครับ

    เป็นวิธีการสอนที่เหมาะสมกับการเรียนการสอนภาคปฏิบัติ ทำให้นักศึกษาได้ฝึกกระบวนการคิดผ่านการตั้งคำถามของอาจารย์ และมีการศึกษาค้นคว้าเพื่อให้ได้ความรู้และวิธีการนำไปปฏิบัติกับผู้ป่วยจริง

    ทำให้เห็นแนวทางที่ชัดเจนขึ้นในการนำไปใช้ ทั้งขั้นตอน วิธีการถามเพื่อให้เกิดการสะท้อนคิด ช่วยทำให้นักศึกษาเกิดความไว้วางใจต่อครูมากขึ้นที่ได้รับฟังและตั้งใจฟังอย่างแท้จริง

    เป็นวิธีการที่ช่วยสะท้อนให้นักศึกษาสามารถที่จะเข้าใจถึงปัญหาและความต้องของผู้ป่วย และสะท้อนถึงความคิด ความรู้ และความรู้สึกของนักศึกษาที่มีต่อสถานการณ์นั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี โดยผ่านการใช้คำถามที่ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ โดยส่วนตัวตัวได้มีการนำไปใช้ในการฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษา ทำให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ที่ดีขึ้น. และสามารถคิดตามในสิ่งที่เเพื่อนพูดได้ดีขึ้น.

    เป็นวิธีการสอนที่ดี สามารถช่วยกระตุ้นให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสะท้อนคิดจากประเด็นปัญหาได้ตามสภาพจริง รวมถึงผู้สอนได้พัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดทักษะการสะท้อนคิดได้อย่างต่อเนื่องและเกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืน

    เป็นวิธีการสอนที่ดีมาก ส่งเสริมให้นักศึกษาพยาบาลได้มีการสะท้อนคิดในสิ่งที่ตนเองคิด เป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้สังเกตและวิเคราะห์ความคิดของตนเกิดการพัฒนาความเป็นระเบียบ เกิดความคิดสร้างสรรค์ และนำมาสู่การจัดลำดับทางความคิด ทำให้นักศึกษาสามารถคิดวิเคราะห์ได้

    วิทยากรสามารถอธิบายได้เข้าใจง่ายและเห็นถึงประโยชน์ของการสะท้อนคิด ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการวางแผนการเรียนโดยใช้เทคนิคสะท้อนคิดได้เป็นอย่างดี

    ได้รับความรู้เกี่ยวกับ reflective เพิ่มขึ้น รวมทั้งกระบวนการ การนำไปประยุกต์ใช้ด้วยค่ะ

    เป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่ทันสมัยมากค่ะวิทยากรถ่ายทอดอย่างเป็นกันเองเข้าใจง่าย มองเห็นภาพ จะนำไปประยุกต์ใช้ค่ะ

    ไม่ได้ฟังจากท่านวิทยากรและอาจารย์ร่วมแลกเปลี่ยนโดยตรง จากความรู้ที่ฟังจาก professor ต่างชาติที่ยังงงๆ อยุ่ แต่ได้อ่านจากหลายท่านร่วมแชร์มาทำให้น่าจะต้องไปใช้ให้ชัดเจนในการเรียนการสอนปฏิบัติบนคลินิก

    ไม่ได้เข้าร่วมฟัง แต่ก็จะพยายามทำ และตั้งคำถามให้เด็กคิดวิเคาราะห์ นำมาใช้กับรายวิชาค่ะ

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท