เมนู “ซูชิ-ชาข้าว” จาก “ข้าวสังข์หยด” ไอเดียเด็กพัทลุง




<p>การเรียนรู้ทางวิชาการมีความสำคัญสำหรับนักเรียนทุกคน แต่การเรียนรู้ทักษะชีวิตก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะจะเป็นพื้นฐานสามารถนำความรู้ไปใช้ในการดำรงชีวิตภายภาคหน้า</p>

โรงเรียนพัทลุงโรงเรียนประจำจังหวัดพัทลุงมีเป้าหมายให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้านวิชาการและเรียนรู้ทักษะชีวิตควบคู่ไปด้วย แต่ละปีผู้ปกครองส่งบุตรหลานมาเข้าเรียนจำนวนมาก เด็กนักเรียนมีพื้นฐานและชีวิตความเป็นอยู่ที่แตกต่างหลากหลาย แต่ทางโรงเรียนก็พยายามสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ทั้งด้านวิชาการในห้องเรียนและทักษะชีวิตนอกห้องเรียนได้อย่างเหมาะสม หนึ่งในนั้นก็คือกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับ “พันธุ์ข้าวพื้นเมือง”ภายในโครงการ“พัทลุงสร้างสรรค์ แบ่งปันรอยยิ้ม สร้างสุขวิถีถิ่น วิถีพอเพียง” ส่วนหนึ่งของ โครงการส่งเสริมการเรียนรู้สุขภาวะสำหรับเด็กด้อยโอกาส โดยการสนับสนุนของ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ครูพรศรี ชูสังข์ครูกลุ่มการงานพื้นฐานอาชีพ เล่าที่มาของการดำเนินกิจกรรมว่าเกิดจากการรวมตัวของนักเรียนชุมนุมนักธุรกิจน้อย ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 มาขอคำปรึกษาในการสร้างรายได้เพื่อจุนเจือตัวเองและครอบครัว และเห็นว่าในจังหวัดพัทลุงมีของดีท้องถิ่นคือข้าวสังข์หยดจากนาอินทรีย์ จึงร่วมกันคิดว่าจะนำข้าวสังข์หยดมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อะไรที่สามารถจำหน่ายสร้างรายได้

“กิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับข้าวสังข์หยดเป็นกิจกรรมหนึ่งที่เป็นสื่อให้นักเรียนกลับไปศึกษาภูมิปัญญาของชุมชนแล้วมาทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นการฝึกสุขภาวะของนักเรียนให้มีทักษะในการปฎิบัติงาน ทำงานร่วมกัน ฝึกการอยู่ร่วมกันในสังคม โดยผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ข้าวสังข์หยด”ครูกลุ่มการงานพื้นฐานอาชีพ กล่าว

ครูพรศรี กล่าวต่ออีกว่าข้าวสังข์หยดเป็นข้าวพันธุ์ท้องถิ่นของพัทลุง เป็นข้าวที่เด็กนักเรียนรุ่นใหม่ๆ ไม่รู้จัก และมักบอกว่าหารับประทานยาก ดังนั้นการจะนำข้าวสังข์หยดมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์จะต้องเกิดกระบวนการเรียนรู้ในทุกขั้นตอนไปจนถึงได้ฝึกการแปรรูป ขณะเดียวกันก็จะสอดแทรกความรู้ให้นักเรียนเกิดความตระหนักในเรื่องสุขภาวะ รู้จักการบริโภคอาหารสะอาดมีความปลอดภัยให้กับตนเอง และสื่อสารสิ่งเหล่านี้กลับไปยังครอบครัวและชุมชน แนะนำผู้ปกครองให้เห็นความสำคัญต่อการผลิตและบริโภคอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ

ทางด้าน น.ส.โสภาวดี ชูนุ่ม หนึ่งในสมาชิกชุมนุมนักธุรกิจน้อย เล่าว่ากว่าจะมาเป็นผลิตภัณฑ์จากข้าวสังข์หยด คุณครูได้พานักเรียนได้ไปลงพื้นที่ไปเรียนรู้จริงจากชุมชนหมู่บ้านท่าช้าง แหล่งผลิตข้าวสังข์หยดปลอดสารพิษที่มีชื่อเสียงของจังหวัด เรียนรู้ตั้งแต่การเพาะต้นกล้า การดำนา จนถึงการเก็บเกี่ยว และการสีจนได้เมล็ดข้าว ก่อนที่จะนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ โดยกิจกรรมทั้งหมดช่วยให้นักเรียนได้มีทักษะชีวิตมากขึ้น นอกนี้ยังทำให้ได้ศึกษาภูมิปัญญาของคนรุ่นเก่าที่มีอยู่ในจังหวัดพัทลุงอีกด้วย

“เมื่อได้ข้าวสังข์หยดแล้วเราก็มาคิดกันต่อว่าข้าวสังข์หยดเอาไปทำอะไรได้บ้าง เพิ่มมูลค่าได้อย่างไรบ้างโดยสร้างกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนและจากคุณครูที่มาเป็นผู้สอน ตอนนี้ได้เป็นผลิตภัณฑ์เด่นๆ ได้แก่ ขนมขี้มอดซึ่งเป็นขนมท้องถิ่น ซูชิจากข้าวสังข์หยด ชาข้าวสังข์หยดและข้าวกรอบธัญพืช ทั้งหมดนี้จะนำไปขายในตลาดใต้โหนดในวันเสาร์-อาทิตย์”สมาชิกชุมนุมนักธุรกิจน้อย กล่าว

ขณะที่ นายสาวิทย์ บุญประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนพัทลุง กล่าวว่าโรงเรียนมีเป้าหมายการจัดการศึกษาเพื่อให้นักเรียมีการพัฒนาการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พัฒนาสู่สากลโดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้บูรณาการในการเรียนการสอน แม้นักเรียนจะจากหลากหลายท้องที่ของจังหวัดพัทลุง เมื่อมาอยู่ในโรงเรียนพัทลุงแล้ว จะถูกประมวลหลอมรวมเข้ากับระบบของโรงเรียนซึ่งได้วางพื้นฐานการพัฒนาทักษะในการดำรงชีวิต และทักษะความรู้ที่จำเป็นต่อการนำไปประกอบอาชีพ

“ความรู้ทางด้านวิชาการก็มีความสำคัญ คุณครูจะประเมินศักยภาพของนักเรียน ใครทักษะมีความถนัดด้านใดก็จะพัฒนาเขาในด้านนั้นต่อยอดศักยภาพให้ไปสู่ความเป็นเลิศ ถ้าเก่งทางวิชาการก็พัฒนาให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการ เก่งทางด้าน ดนตรี กีฬา ศิลปะก็พัฒนาทางด้านนั้น เก่งทางด้านการสร้างเสริมประกอบงานอาชีพเรียนรู้ในเรื่องของทักษะชีวิตในเรื่องการทำมาหากินก็ส่งเสริมด้านนั้น” ผู้อำนวยการโรงเรียนพัทลุง กล่าว

ผลจากการดำเนินกิจกรรมช่วยเปิดโลกการเรียนรู้แก่นักเรียนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพิ่มทักษะในการพัฒนาตนเอง ฝึกการทำงานร่วมกัน สร้างความตระหนักในเรื่องสุขภาวะพร้อมๆกับการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา

หมายเลขบันทึก: 656321เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2018 19:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 ตุลาคม 2018 19:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท