ชีวิตที่พอเพียง 3290. ร่วมงาน MOPH R2R Forum ประจำปี 2561 ที่เชียงใหม่ : ๒. วันที่สาม (๑๔ กันยายน ๒๕๖๑)


ประเดิมด้วยการบรรยายเรื่อง Situational Leadership in crisis management  โดยนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา    ที่ใช้เวลา ๗๕ นาทีเล่าการทำหน้าที่บัญชาการการช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่า อะคาเดมี ออกจากถ้ำขุนน้ำนางนอน    มีจุดหรือประเด็นที่ผมนึกไม่ถึงมากมาย    เช่นการประกาศให้เป็นสาธารณะภัย    ผู้ว่าราชการจังหวัดจะได้มีอำนาจตามกฎหมายในการสั่งการต่างๆ 

เมื่อจบการประชุม ไปรับประทานอาหารเที่ยงร่วมกัน    ท่านจึงเล่าต่อวงเล็กๆ ว่า จุดที่ยากที่สุดคือตอนที่ตัดสินใจขอความช่วยเหลือจากนอกจังหวัดเชียงราย    ถูกทัดทานจากหน่วยงานต่างๆ ในเชียงรายมาก    เพราะเขารู้สึกเสียหน้า    เขาคิดว่าเขาต้องแสดงความสามารถช่วยเด็กให้ดี

ดังนั้นบทเรียนสำหรับผมคือ ในสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้    ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ความสามารถในการประเมินขนาดของสถานการณ์ และประเมินความสามารถในการรับมือของตนเองหรือของหน่วยงานของตน    หรือกล่าวใหม่ตามคำของซุนวูคือ “รู้เขา รู้เรา”   แล้วจัดทำแผนปฏิบัติการ  รวมทั้งแผนทรัพยากรที่ต้องการ 

รองลงมาคือการจัดทีมด้านต่างๆ มอบหมายความรับผิดชอบ    และตัวท่านผู้ว่าฯ ทำหน้าที่ประสานงาน และตัดสินใจ ณ จุดสำคัญ    โดยต้องมีกลไกจัดทำข้อมูลและประเมินสถานการณ์ไปข้างหน้า   

เด็กเริ่มติดถ้ำคืนวันเสาร์    วันอาทิตย์ก็มีการจัดตั้งทีมแพทย์    โดยมองว่ามี “ลูกค้า” ๒ กลุ่ม    “ลูกค้า” ในถ้ำดูแลโดยทีมแพทย์ทหาร   “ลูกค้า”  นอกถ้ำดูแลโดยทีมสาธารณสุข มีนายแพทย์สาธารณสุขเชียงรายเป็นหัวหน้าทีม    มีการจัดตั้ง รพ. สนาม ทั้งในถ้ำและนอกถ้ำ    มีการเตรียมวัสดุเครื่องใช้ และประสานงานกับโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์    ในตอนหลังมีทีมจิตแพทย์ไปเสริมกำลัง ช่วยได้มาก  

การเดินถ้ำเพื่อค้นหาต้องทำโดยนักประดาน้ำ เพราะในถ้ำมีน้ำเต็ม   แต่นักประดาน้ำธรรมดาก็ทำงานไม่ได้ เพราะน้ำขุ่นมาก   ต้องใช้นักประดาน้ำหน่วยซีล และนักดำน้ำในถ้ำ    แต่ก็จำต้องสูบน้ำออกพอให้มีช่องว่างเหนือน้ำบ้างในถ้ำ เพื่อให้นักประดาน้ำโผล่พักได้   การสูบน้ำทำโดยหลายทีม และที่ช่วยมากคือการตัดสินใจสูบน้ำนอกถ้ำ ไม่ให้ไหลเข้าไปเติมน้ำในถ้ำ   

ต้องมีทีมเดินเท้านอกถ้ำ ค้นหาช่องเปิดของถ้ำที่พอจะหย่อนตัวลงไปได้ หน่วยนี้นำโดย ผบ. มทบ. พะเยา เพราะท่านรู้จักภูมิประเทศ       

ท่านสรุปปัจจัยหลักของความสำเร็จคือ

  1. 1. การฝึกซ้อม ทั้งก่อนเกิดเหตุ และในระหว่างเหตุการณ์   ถึงขนาดมีการนำเอาเด็กขนาดเดียวกันมาฝึกซ้อมการว่ายน้ำและการทำงานเป็นทีม
  2. 2. อุปกรณ์การแพทย์   และอุปกรณ์อื่นๆ ที่ต้องการ    มีการคาดการณ์ครบถ้วน    และได้รับการสนับสนุนครบ
  3. 3. ข้อมูลความรู้ที่ครงถ้วน เรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา   

ปิดท้ายด้วยการบรรยายพิเศษเรื่อง ยากแปลว่าทำได้   โดย ศ. นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล    ท่านบรรยายตาม วัฒนธรรมชาว R2R คือ

  Self-directed learning                 ตื่นใจใฝ่เรียนรู้

      Determination                             จิตมุ่งมั่นสู่เป้าหมาย

      Integrity                                       คุณธรรมชี้นำกาย

      Good friends                                ดั่งมิตรสหายร่วมทำงาน

      Altruism                                       มุ่งผลเพื่อผู้อื่น

       Creativity                                     ฟื้นความคิดแนวสร้างสรรค์

       Respect                                         ให้เกียรตินับถือกัน

         Coaching & mentoring                พร้อมแนะนำฉันพี่น้อง

ท่านอธิบายขยายความแต่ละข้อ    เพื่อบอกว่าวัฒนธรรม R2R ช่วยให้ฟันฝ่าความยากสู่ความสำเร็จได้    

หลังจากนั้นเป็นพิธีมอบรางวัล ๓ ชุด    แล้วถ่ายรูปร่วมกัน

วิจารณ์ พานิช

๑๔ ก.ย. ๖๑

หมายเลขบันทึก: 656317เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2018 19:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 ตุลาคม 2018 20:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท