การรักษาประคับประคองใจ


วันนี้เราจะขึ้นไปคุยกับคนไข้คนหนึ่ง ซึ่งในทีมวางแผนตรงกัน ว่าเราจะพิจารณาหยุดการให้ยาเคมีบำบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกระยะที่ ๔ ที่เธอเป็นอยู่

จินตนาการไปพร้อมกัน ว่าคนเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกเค้าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

ผอมแกร็น แก้มตอบ

หายใจรวยริน

มีสายอะไรต่ออะไรระโยงระยาง โดยเฉพาะสายระบายฉี่ที่แทงจากหลังเข้าไปในกรวยไตเพื่อลดอาการไตวาย

มีกลิ่นมะเร็ง

ฯลฯ

สุดจะบรรยายใช่ไหม และผมจะบอกว่า หากคุณพยักหน้าตามไปเมื่อครู่นั้น เราทั้งคู่เดาผิด

เธอเป็นคนไข้ที่มีอายุมากกว่าผมเพียง ๓ ปี (แสดงว่ายังสาวอยู่มากๆ) หน้าตาผ่องใสและดูอิ่มเอิบ ผมเรียกลักษณะที่พบเห็นในวันนี้ว่า “ออร่า” ผมอาจจะเรียกมันผิดหลักวิชาการอะไรสักอย่าง แต่เชื่อเหอะ เธอดูสุขกายสุขใจดีจริงๆ

“หมอชื่อธนพันธ์นะครับ” ผมแนะนำตัวออกไปหลังจากที่เราทั้งคู่ได้นั่งลงในห้องส่วนตัวสำหรับการพูดคุยกับผู้ป่วยประจำหอผู้ป่วยนรีเวช

“เธอทราบเรื่องราวของโรคมากแค่ไหนครับ” ผมเป็นฝ่ายเริ่ม

“เป็นมะเร็งปากมดลูกระยะที่ ๔ ค่ะ มันไปที่ตับ” แค่เพียงคำตอบแบบนี้ อาจจะยังประเมินยาก ว่าแท้จริงแล้วเธอรู้จักมันดีแค่ไหน

“เริ่มรักษามาก็ราวปีกว่า ได้ยามา ๒ สูตรแล้ว ก้อนมันก็ยังคงโตขึ้นค่ะหมอ รอบนี้หมอเค้าวางแผนจะให้ยาสูตรที่ ๓” เธอยังคงเล่ามาอย่างต่อเนื่อง

“แล้วมันหมายความว่ายังไงเหรอ” การประเมินยังคงดำเนินอยู่

“แสดงว่าโรคมันไม่หายค่ะหมอ” เธอตอบ และนั่นคือสัญญาณที่ทำให้ผมสามารถจะเข้าสู่เรื่องราวได้สักที

“หมอสงสัยอย่างหนึ่ง ทั้งๆที่โรคที่เธอเป็นนั้น เธอก็รู้ว่ามันเป็นมากอยู่ ทำไมหมอจึงรู้สึกว่า เธอดูสดใสผิดจากคนไข้คนอื่นๆนัก” ผมกำลังหมายถึงออร่านั่นแหละ

“ก็แค่เข้าใจว่าป่วยด้วยอะไร สู้มันไป สวดมนต์เรียกสติทุกวัน วันละชั่วโมง ทำใจให้มันสดใสเข้าไว้ หัวเราะกับเรื่องง่ายๆเข้าไว้ ก็แค่นั้นมั้งหมอ” แล้วเธอก็หัวเราะให้ผมฟัง

เราคุยเรื่องสัพเพเหระกันต่ออีกนิดถึงจังหวัดที่เธออยู่ มันคล้ายๆกับการละลายพฤติกรรมจากการเพิ่งได้รู้จักกันครั้งแรก

“หมอถามนิดหนึ่งนะครับ ทราบมาว่าคุณอยู่กับพ่อและแม่ ช่วยกันทำสวนยางใช่ไหม หมอยังรู้มาอีกว่า เธอมีลูก ๒ คน คนเล็กกำลังจะเรียนจบปริญญา แล้วสามีล่ะครับ” 

“เราแยกกันมา ๒๔ ปีแล้วค่ะ” เธอตอบ และเมื่อเห็นผมกำลังตั้งใจฟังอยู่ เธอจึงเล่าต่อไป

“ตอนนั้นพี่ชายทั้ง ๒ คนของฉันเสียชีวิตลง ฉันจึงต้องกลับไปดูแลพ่อกับแม่เอง ทั้งคู่อายุมากแล้ว เราช่วยกันทำสวนยางค่ะ ฉันเลี้ยงดูลูก เก็บหอมรอมริบส่งลูกทั้ง ๒ เรียนหนังสือ บางครั้งเงินขาดก็ได้ญาติๆช่วยกันดูแล” เธอหยุดพูดนิดหนึ่งพร้อมทั้งหยดน้ำตาเริ่มไหลริน ผมปล่อยให้เวลาทำงานของมันด้วยความเงียบ

“เค้าเป็นคนติดเมือง จึงไม่ย้ายตามฉันมาด้วย เมื่อห่างกันสักระยะ ก็มีเมียใหม่ มีลูกใหม่ เราก็เลยต้องเลิกกัน” ให้ตายเถอะ ห้องที่นั่งคุยกันนี้ ไม่มีกระทั่งกระดาษทิชชู่ไว้ซับน้ำตา

“แล้วเค้ารู้ไหม ว่าเธอกำลังเป็นมะเร็ง” ผมถาม

“รู้ค่ะ ก็มาเยี่ยมบ้าง โทรหาบ้าง บางครั้งก็ให้เงินลูกด้วย ช่วงหลังนี้ก็ส่งค่าเทอมมาให้” เธอมีรอยยิ้มนิดหนึ่ง

“แสดงว่า ก็ไม่ได้จากกันด้วยความโกรธ” ผมประเมินออกมาทางเสียง

“ไม่โกรธค่ะ เราออกมาเพราะต้องดูแลพ่อแม่ เค้ามีคนใหม่ก็เป็นเพราะเรา” เอ๊า..เป็นงั้นไป

“แล้วลูกๆล่ะครับ เค้ารู้เรื่องของเธอมากน้อยแค่ไหน” ผมย้อนกลับมาถึงคนที่สำคัญที่สุดในชีวิต

“ทั้งคู่รู้ดีค่ะ ลูกคนโตทำงานตัดยางด้วยกัน อยู่ด้วยกัน ปีนี้เค้าบอกว่าเค้าจะทดแทนบุญคุณแม่ด้วยการบวช ตอนนี้เลยกำลังบวชเป็นพระอยู่วัดข้างๆบ้าน ฉันได้ตักบาตรพระลูกทุกวัน ส่วนลูกสาวอีกปีหนึ่งก็เรียนจบแล้ว” 

“โอ ดีจังเลยนะครับ” ผมรู้สึกเช่นนั้น

“ถามจริงเหอะ ตอนนี้มีอะไรให้ห่วงอยู่บ้าง” การถามแบบนี้ คนไข้น่าจะรู้ว่าเราจะมาไม้ไหน

“ค่ะ มีอยู่ ๒ สิ่งที่ห่วง คือพ่อกับแม่ ทำไปทำมา แกต้องมาห่วงเรา แกต้องไปหลังเรา กลัวแม่จะทำใจไม่ได้ เมื่อตอนที่รู้ว่าฉันเป็นมะเร็ง แม่แกก็ทรุดลงไปเลย” เธอเล่าว่า แม่กลายเป็นคนนอนหลับยากและเป็นกรดไหลย้อน

“แล้วเธอคิดว่า จะจัดการเรื่องนี้ยังไงเหรอ” 

“ก็บอกพระลูกชายไว้แล้ว ว่าฝากตากับยายไว้ด้วย พระก็ตอบว่า ครับ” สายตาของผู้เล่าผ่อนคลายลงอย่างเห็นได้ชัด

“โล่งมั้ย”

“โล่งมากเลยค่ะหมอ” เธอยิ้มให้ผม

“แล้วอีกเรื่องล่ะ เป็นยังไง” ผมจำได้ว่าเธอห่วง ๒ เรื่อง

“ลูกสาวคนเล็กค่ะหมอ ฉันอยากเห็นลูกเรียนจบ” นั่นคงจะเป็นหนึ่งในความหวังของแม่ทุกคนกระมัง

“ครับ แต่หมอถามนิดหนึ่งว่าถ้าหากอยู่ไม่ถึงล่ะ จะว่ายังไง” ผมยิงคนไข้อีกแล้ว

“ก็ไม่เป็นไรค่ะหมอ เพราะยังไง เค้าก็เรียนจนจบได้โดยไม่ต้องมีฉันนั่นแหละ รายนั้นเธอหาเงินเรียนเองได้ แถมยังส่งเงินมาให้แม่ใช้อีกเดือนละพันนึง ฉันไม่ได้กังวลเรื่องเงินเรียน แต่ห่วงอยู่ที่ใจ” ผมเข้าใจได้โดยไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติม

“หมออยากถามเรื่องครอบครัวอีกเรื่องหนึ่งนะครับ หมอเพียงแค่อยากรู้ว่า อะไรคือสิ่งที่ภูมิใจที่สุดที่ได้ทำมาในขีวิตนี้” ผมกำลังคาดเดาคำตอบ 

“เรื่องลูกค่ะ เราเลี้ยงของเรามา เราเห็นพัฒนาการของลูกทั้ง ๒ คนมาตลอด ที่สำคัญคือ เค้าจะอยู่ต่อไปได้โดยที่ไม่มีเรา” มาถึงตอนนี้ ผมก็เริ่มแยกไม่ค่อยออก ว่าสายตาที่พร่ามัวนั้นมันเกิดจากหยาดน้ำในตาของผมหรือของเธอกันแน่

“ตัวเบามั้ย” ผมถามออกไปอย่างนั้น

“เบาค่ะหมอ เบามากจริงๆ” เธอตอบออกมาเสียงแผ่วเบา แต่ฟังออกถึงสำเนียงของความหนักแน่น

“เธอพร้อมแล้วเหรอ”

“ค่ะ อันที่จริงก็เตรียมคำตอบไว้ให้หมอมาพักหนึ่งแล้วเหมือนกัน ขอบคุณหมอมากนะคะ ขอบคุณจริงๆ”

“เหมือนกัน หมอก็ขอบคุณเธอ เพราะการได้คุยกันวันนี้ เธอได้สอนให้ฉันได้รับได้รู้สึกถึงความอิ่มใจจากการกตัญญู การเสียสละ และการมองโลกแบบที่เธอมอง”

โห..งานนี้ ผมมีครูเพิ่มขึ้นมาอีกคนนึงเลย

...........................

ผมนี่โคตรรักงานที่ทำอยู่นี่จริงๆเลย ดูเอาเถิด มารักษาคนอื่นเหมือนได้ร่วมรักษาใจตนเอง

ผมค่อยๆเดินออกจากหอผู้ป่วยช้าๆ ลงลิฟต์ไปยังชั้นล่างสุดของโรงพยาบาล มุ่งหน้าไปยังทิศทางของตัวตึกด้านหลัง

ผมกำลังไปแผนกกายภาพบำบัด

๒ วันที่ผ่านมานี้ รู้สึกคอแข็ง มันระบมตั้งแต่สะบักด้านขวา ร้าวมาบนบ่า และต้นคอ ไปจนถึงกกหู นี่ถ้ามันระบมอยู่ด้านซ้าย คงโร่ไปพบหมอหัวใจเลยทีเดียว (ถึงตอนนี้ คงมีบางคนกระแนะกระแหน ว่าธนพันธ์คงมีเด็กเกาะอยู่บนบ่ามากมายสินะ ทำแท้งมาเยอะนี่ กุ๊ก กุ๊ก กู๋....)

“ไปทำอะไรมาคะอาจารย์” น้องนักกายภาพที่สนิทกันคนหนึ่งถามมาขณะที่เธอเริ่มวางหัวอัลตราซาวนด์กดลงบนบ่าแล้วปล่อยพลังงาน

“นึกไม่ออก จู่ๆตื่นขึ้นมามันก็ปวดตุ๊บๆ ระบมหน่อยๆ และมาเป็นมากเอาช่วงที่ตรวจคนไข้เมื่อวันอังคาร” ผมพยายามนึก

การกายภาพด้วยอัลตราซาวนด์นี่มันสุดยอด พลังงานคลื่นที่มันปล่อยลงไปยังชั้นกล้ามเนื้อลึกๆนั้น มันเหมือนเอาค้อนปอนด์มากดทับลงไปบี้ๆๆ บางจุดมันเล่นเอาร้าวและหน่วงไปถึงปลายแขนเลยเชียว

“อูย.....” ผมครางเป็นพักๆ

“เดี๋ยวประคบด้วยความร้อนสัก ๑๕ นาทีนะคะอาจารย์ หนูจะติดแผ่นกระตุ้นไฟฟ้าไว้ที่กล้ามเนื้อให้ด้วย”

และในทันใดที่เธอเปิดสวิทซ์ ความรู้สึกที่กล้ามเนื้อมันเหมือนกับเอาอะไรมาสั่นด้วยความเร็วสูง ผมเดาว่ามันคงทำให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อ มันสบายและได้แอบงีบหลับไป

“ตูม.....” เสียงและความสั่นของพื้นห้องมันทำให้ผมสะดุ้งตื่น

“เกิดอะไรขึ้น มีระเบิดด้านนอกเหรอ” ผมเตรียมลุกขึ้นออกวิ่งได้ทันที ใจสั่น จะว่าฝันก็คงไม่ใช่ เพราะพื้นมันสั่นจริงๆ

“ไม่ใช่ค่ะอาจารย์ ข้างบนเค้ากำลังก่อสร้างไง อาจารย์ลืมแล้วเหรอ” เธอบอก

“โห มันสะเทือนได้ถึงขนาดนี้เชียวหรือ” ผมงง และมันก็มีเสียงตูมดังมาอีกหลายครั้ง ข้างบนเขาคงพังกำแพงในภาควิชาออร์โธฯเก่าอยู่นั่นเอง ผมรู้สึกขำกับความตื่นตูมของตัวเอง และนึกไกลไปถึงเจ้ากระต่ายโง่ตัวนั้น

“เดี๋ยวหนูจะดัดกล้ามเนื้อและกระดูกอาจารย์นิดหนึ่งนะคะ” และไม่ทันจะตั้งตัว แม่คนสวยก็ดึงคอผม แล้วเริ่มทำการเหยียด งอ พับ เหยียด ยืด กด และคลึง 

การประเมินความยืดหยุ่นและความเจ็บปวดดำเนินไปพร้อมกัน

“เค้าเรียกเทคนิกนี้ว่า โมบิไล้เซ่ชั่น ค่ะอาจารย์” เธอบอก

“อูย.....เหรอ” ผมยังคงครางเป็นช่วงๆ บางครั้งก็ต้องสูดน้ำลายกลับเข้าไป ผมรู้สึกว่า บางช่วงเวลา มีน้ำจากโพรงไซนัสไหลลงไปในคอ “มันดีขนาดนี้เชียวเหรอวะ” ผมครางในใจ

การเหยียด งอ พับ เหยียด ยืด กด และคลึงดำเนินไปพักหนึ่งก็จบลง เธอวางแผ่นเจลประคบเย็นเพื่อลดความระบม

“ฟิน” ผมยังคงคราง

“คาดว่า ความเจ็บปวดเมื่อครู่ ร่างกายคงตอบสนองด้วยการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินออกมา มันทำให้ช่วยลดความเจ็บปวดและผ่อนคลาย นี่สินะ ฟิน ของจริง” ผมพยายามแถ

โถ..เมื่อความผ่อนคลายเข้ามาจึงเริ่มนึกออก ว่าแท้ที่จริงแล้ว การบาดเจ็บที่มันเกิดขึ้นนั้น มันน่าจะเป็นเพราะ “เมีย ๑๙๙๗” ของผม

ช่วงนี้ ไอ้วัยรุ่นทั้ง ๒ คน มันยังไม่คืนพื้นที่ เธอทั้งคู่ยังคงนอนอยู่ในห้องเดียวกับพ่อและแม่ แถมช่วยกันดูทีวีกันจนดึกดื่น

และจะให้ผมทำยังไงล่ะ อยากกอดอยากซุกเมียใจจะขาด 

กลัวลูกตื่นก็กลัว ขยับตัวแต่ละทีที่นอนมันก็ส่งเสียงสปริงดังกรุบๆ

ทำไงดี

ก็เลยกอดเมียท่าพิสดารบ้างไรบ้าง มันเลยออกอาการเคล็ดเป็นเช่นนี้ นั่นเอง

ธนพันธ์ ชูบุญถูกโมบีไล้เซชั่นมา

๓ ตค ๖๑

หมายเลขบันทึก: 654534เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2018 22:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2018 22:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

น่าจะมีปุ่มกดขำนะคะอาจารย์ 555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท