วิจัยชั้นเรียนเปลี่ยนครู : 8. เสนอหลักฐานแสดงผลการสอนที่ดีกว่า



บันทึกชุด วิจัยชั้นเรียนเปลี่ยนครู นี้ ตีความจากหนังสือ Enhancing Practice through Classroom Research : A teacher’s guide to professional development (2012)  เป็นหนังสือที่เขียนด้วยครูในประเทศไอร์แลนด์ ๔ คน    หนังสือนี้ไม่มีดาวใน Amazon Book  แต่เมื่อผมอ่านแล้ววางไม่ลง     เพราะเป็นหนังสือที่ให้มุมมองใหม่ต่อการวิจัยชั้นเรียน    และให้มุมมองใหม่ต่อชีวิตความเป็นครู

ตอนที่ ๘ เสนอหลักฐานแสดงผลการสอนที่ดีกว่า นี้ ตีความจากบทที่ 7 Providing evidence of improved practice ซึ่งเป็นบทแรกของตอนที่สี่ Generating evidence from data : Making meaning  เขียนโดย Bernie Sullivan, Principal of St Brigid’s Girls’ Senior School, Dublin, Ireland  

 สาระของบทนี้คือ

  • วิธีรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล
  • วิธีแสดงหลักฐานว่าผลการสอนดีขึ้น และหรือความเข้าใจวิธีสอนดีขึ้น และหรือทักษะการคิดของครูดีขึ้น
  • วิธีแสดงความเชื่อมโยงระหว่างผลการสอนที่ดีขึ้นกับความเชื่อในคุณค่า ของตัวครู

บทนำ   

ในวงจรการปฏิบัติ ตามด้วยการใคร่ครวญสะท้อนคิดของครู    น่าจะได้มีการบันทึกเรื่องราวต่อไปนี้

  • บันทึกใน reflective journal
  • บันทึกการสอนอย่างไม่เป็นทางการ ที่ครูบันทึกทันทีหลังสอนจบแต่ละคาบ
  • ข้อเสนอแนะจากนักเรียน
  • ผลการทดสอบของนักเรียน
  • คำแนะนำป้อนกลับ (Feedback) อย่างจริงจังจากเพื่อนครู  และจากกัลยาณมิตรที่มีความลึกซึ้งจริงจัง    มีความสำคัญมาก  เพราะสามารถนำไปใช้สอบทานความน่าเชื่อถือของข้อมูลและการตีความของนักวิจัยได้โดยวิธี triangulation
  • บันทึกเสียง  บันทึกวิดีทัศน์  ภาพนิ่ง  และคลิปวิดีทัศน์    

ทั้งหมดนั้น รวมกันเป็นคลังข้อมูล   

จากคลังข้อมูลสามารถนำมาวิเคราะห์หาความหมายได้หลายวิธี    วิธีหนึ่งคือ ตั้งคำถามหลายๆ คำถามเพื่อนำไปสู่การใคร่ครวญสะท้อนคิดอย่างจริงจัง    ตัวอย่างคำถามได้แก่

  • ฉันสามารถบอกส่วนที่มีการพัฒนาขึ้นอย่างชัดเจน ได้หรือไม่
  • ฉันสามารถแสดงหลักฐานภาคปฏิบัติต่อการพัฒนานี้ ได้หรือไม่
  • ฉันสามารถอธิบายความเชื่อมโยงระหว่างการพัฒนานี้กับความเชื่อเชิงคุณค่า ได้หรือไม่
  • ฉันสามารถเขียนเอกสารอธิบายกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การพัฒนานี้ ได้หรือไม่
  • เพื่อนครู และกัลยาณมิตรที่มีความลึกซึ้งจริงจัง เห็นด้วยว่ามีพัฒนาการด้านการสอนของฉัน หรือไม่
  • ฉันสามารถแสดงว่าฉันเข้าใจการสอนของฉันดีขึ้นกว่าเดิม ได้หรือไม่
  • การใคร่ครวญสะท้อนคิดของฉัน สะท้อนพัฒนาการของกระบวนการคิดของฉัน หรือไม่ 
  • ฉันสามารถบอกส่วนของงานที่มีการพัฒนาขึ้นอย่างชัดเจน ได้หรือไม่   ข้อความในตอนก่อนๆ ของบันทึกนี้มีความชัดเจนอยู่ในตัว    ว่าผู้เขียนมีความยืดหยุ่นในการบังคับใช้กฎระเบียบของห้องเรียน เพิ่มขึ้น    และมีทักษะความสัมพันธ์กับศิษย์แบบที่แสดงความรักความห่วงใยอย่างได้ผล  
  • ฉันสามารถแสดงหลักฐานภาคปฏิบัติต่อการพัฒนานี้ ได้หรือไม่    หลักฐานมีชัดเจนมากที่ตัวแคโรไลน์    และมีอยู่ในเอกสารของเพื่อนครู และของครูใหญ่ด้วย
  • ฉันสามารถอธิบายความเชื่อมโยงระหว่างการพัฒนานี้กับความเชื่อเชิงคุณค่า ได้หรือไม่   ผู้เขียนบอกว่า อธิบายได้กับความเชื่อเชิงคุณค่า ๓ ประการคือ  (๑) ความเชื่อด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต  (๒) ความเชื่อด้านประชาธิปไตยในห้องเรียน  และ (๓) ความเชื่อด้านการมาเรียนสม่ำเสมอ    ซึ่งผมคิดว่าจากข้อความตอนต้นๆ มีความชัดเจนว่าอธิบายความเชื่อมโยงพัฒนาการของผู้เขียนกับคุณค่าหรือความเชื่อสามประการนี้ได้อย่างแน่นอน   แต่หากผมเป็นนักวิจัย ผมอาจมีคำอธิบายนอกเหนือจากในหนังสือได้    และผมขอเชิญชวนให้ท่านผู้อ่านลองทำโจทย์ข้อนี้ในมุมมองของท่าน
  • ฉันสามารถเขียนเอกสารอธิบายกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การพัฒนานี้ ได้หรือไม่   เป็นที่ชัดเจนว่าผู้เขียนได้เขียนเล่าให้เราอ่านแล้ว    โดยผมขอเพิ่มเติมว่า ครูท่านอื่นที่อ่านบันทึกนี้ อาจลองเขียนเอกสารอธิบายกระบวนการดังกล่าวในมุมของท่านเอง     จะเกิดการเรียนรู้เพิ่มมากกว่าอ่านเฉยๆ มากมาย
  • เพื่อนครู และกัลยาณมิตรที่มีความลึกซึ้งจริงจัง เห็นด้วยว่ามีพัฒนาการด้านการสอนของฉัน หรือไม่    ผู้เขียนยกส่วนหนึ่งของบันทึกของเพื่อนครูที่ทำหน้าที่สอนเสริมวิชาคณิตศาสตร์แก่แคโรไลน์   บันทึกของครูใหญ่   และจดหมายของแม่ของแคโรไลน์ที่เขียนถึงครู Bernie Sullivan ตอนจบปีการศึกษา    ที่สะท้อนพัฒนาการด้านการสอนของครู Bernie Sullivan จากหลักฐานที่พัฒนาการของตัว แคโรไลน์   
  • ฉันสามารถแสดงว่าฉันเข้าใจการสอนของฉันดีขึ้นกว่าเดิม ได้หรือไม่   ผู้เขียนสรุปว่า ตนหันมาใช้การจัดการเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน ( process-based curriculum)    แทนที่จะใช้วิธีจัดการเรียนรู้ตามที่กำหนดในกติกาการส่งการบ้าน (product-based curriculum)
  • การใคร่ครวญสะท้อนคิดของฉัน สะท้อนพัฒนาการของกระบวนการคิดของฉัน หรือไม่   ผู้เขียนบอกว่า การเปลี่ยนความคิดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของตนคือ “ครูเป็นผู้เรียน และนักเรียนเป็นครูโดยที่ตนไม่รู้ตัว”  

สิ่งที่นักวิจัยจะต้องเตรียมรับมือคือ   ผลการวิจัยอาจไม่ออกมาตามที่คาดหวัง    หรือระหว่างวิเคราะห์ข้อมูลอย่างจริงจังด้วยการใคร่ครวญสะท้อนคิดตรวจสอบตนเอง พบจุดอ่อนในวิธีปฏิบัติของตนเอง    ก่อความรู้สึกท้อถอยหรือไม่สบายใจ  หรือสับสน    แทนที่จะรู้สึกลิงโลกใจที่ได้ค้นพบข้อเรียนรู้ใหม่  และพบว่าตนเองพัฒนาขึ้น และการสอนของตนเองก็พัฒนาขึ้น    กลับรู้สึกหดหู่ท้อถอย    ซึ่งผมคิดตรงกันข้ามกับที่ระบุในหนังสือว่า    สถานการณ์วิกฤติทางใจ หรือทางอารมณ์ เช่นนี้เป็นข้อเรียนรู้ที่ประเสริฐยิ่งสำหรับครู    ในการฝึกประสบการณ์ตรงในการทำความเข้าใจสถานการณ์เชิงลบ  ในการตั้งจิตมั่นอยู่กับศรัทธา และฉันทะของตนในเรื่องการพัฒนานักเรียนของตน   และมุมานะฟันฝ่าอุปสรรคไปให้จงได้    โดยต้องรู้จักหา “ตัวช่วย” หรือกัลยาณมิตรช่วยเป็นกำลังใจและให้คำแนะนำ   

ผมมีความเห็นว่า ประสบการณ์เผชิญสถานการณ์ท้าทายที่ครูท้อแต่ไม่ถอยนี้ ควรนำมาใช้ประโยชน์ ๒ ประการ คือ (๑) ใช้เก็บเป็นข้อมูล และการใคร่ครวญสะท้อนคิดเป็นข้อเรียนรู้ของตัวครูเอง     ว่าเมื่อครูฟื้นจากสถานการณ์ที่ก่อความท้อถอยเช่นนี้แล้ว ครูแกร่งขึ้นอย่างไร    เป็นการ “พลิกลบเป็นบวก” เรียนรู้จากความล้มเหลว ซึ่งวงการศึกษาทำกันน้อยมาก    ต่างจากวงการธุรกิจ    ข้อเรียนรู้นี้ รวมเป็นส่วนหนึ่งของรายงานวิจัยด้วย   (๒) ใช้ความรู้จากประสบการณ์นี้ในการออกแบบกิจกรรมที่มีความยากสำหรับนักเรียน    เพื่อให้ทีมนักเรียนได้ฝึกเผชิญสิ่งยาก    และเมื่อนักเรียนรู้สึกท้อ ครูจะได้ใช้ความรู้ที่ตนได้จากประสบการณ์ตรงของตน ในการทำหน้าที่โค้ช ปลุกใจนักเรียนให้สู้ ไม่ถอย    การฝึกคุณลักษณะการเป็นคน “สู้สิ่งยาก”  เป็นเป้าหมายของการเรียนรู้ระดับสูง          

ครูนักวิจัยยิ่งจะต้องควบคุมอารมณ์ตนเอง ตั้งหลักจิตใจให้มั่นคง    หากในการใคร่ครวญสะท้อนคิดตรวจสอบตนเองอย่างจริงจัง พบว่า “ตัวตน” ของตนที่ค้นพบ ไม่ตรงกับ “ตัวตน” ที่ตั้งความหวังไว้     ก็จะเป็นข้อเรียนรู้ที่ดียิ่งขึ้นไปอีก     และควรนำประสบการณ์นี้ไปใช้ประโยชน์สองข้อตามย่อหน้าบน    

“คำปลอบโยน” หรือให้กำลังใจ ในสถานการณ์ท้อถอย คือ ความยึดมั่นใน “คุณค่า” ประจำใจตนเองในเรื่องหน้าที่ครู ที่เป็นแกนหลักของการวิจัยปฏิบัติการประเมินตนเองนั่นเอง  

เพื่อให้การเก็บข้อมูลจากการปฏิบัติมีความครบถ้วน น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น  เขาแนะนำคำถามเพื่อการใคร่ครวญสะท้อนคิด ๒ คำถาม ดังนี้

  • ผลที่ได้รับที่ตรงตามความคาดหมาย และที่ไม่ตรงตามความคาดหมาย คืออะไรบ้าง
  • ปัจจัยที่ก่อผลดังกล่าวคืออะไรบ้าง

เส้นทางการฟันฝ่าอุปสรรค สู่ผลการสอนที่ดีขึ้นกว่าเดิม (ในบางด้าน) เป็นเส้นทางการเรียนรู้ที่ทรงคุณค่ายิ่ง 

ตัวอย่างจากงานวิจัยของผู้เขียน

งานวิจัยของผู้เขียนเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาโท    โดยมีเป้าหมายเพื่อแสดงพัฒนาการของตนเอง ในการปฏิบัติงานสอนตามปกติ   และพัฒนาการด้านความรู้ความเข้าใจ    โดยเริ่มต้นที่ผู้เขียนใคร่ครวญสะท้อนคิด ว่างานที่ก่อความไม่สบายใจของตนเองคืออะไร   นำไปสู่กรณีของลูกศิษย์ที่ชื่อ แคโรไลน์     

กรณีศึกษาของผู้เขียนเป็นศิษย์เด็กหญิงอายุ ๑๑ ปี ได้ชื่อสมมติว่า แคโรไลน์    มีปัญหาไม่ส่งการบ้าน และบางครั้งก็ขาดเรียน    ผู้เขียนเคยกำชับให้ทำการบ้านมาส่งให้เรียบร้อยก็ไม่ได้ผล    ในที่สุดผู้เขียนจึงหาทางช่วยแคโรลีนโดยบอกว่า ต้องทำการบ้านมาส่งให้ครบ มิฉะนั้นก็จะให้แยกไปทำการบ้านให้เสร็จในช่วงเวลาเรียน    ผลคือ วันรุ่งขึ้นแคโรไลน์ไม่มาเรียน   และไม่มาอีกเลย    เพิ่มปัญหาจากไม่ทำการบ้านสู่ไม่มาเรียน   

ผู้เขียนเล่าการใคร่ครวญสะท้อนคิดละเอียดมาก และมีการทบทวนและเปลี่ยนแปลงความคิดในช่วงเวลานั้น    จากเดิมคิดว่าตนเองทำถูกแล้ว ที่คาดคั้นขู่เข็ญให้แคโรไลน์ทำการบ้านมาส่งให้เรียบร้อย    เพราะหากครูปล่อยให้นักเรียนคนหนึ่งไม่ปฏิบัติตามที่ครูสั่ง    ไม่ช้านักเรียนคนอื่นๆ ในชั้นก็จะทำตามอย่างบ้าง    ตอนแรกผู้เขียนคิดว่าตนทำหน้าที่รักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยในชั้นถูกต้องแล้ว  

แต่เมื่อใคร่ครวญต่อไป ผู้เขียนคิดว่าเดิมตนได้ตีความหลัก “ความเท่าเทียม” (equality) และใช้ปฏิบัติต่อศิษย์ทุกคน   คือทุกคนต้องส่งการบ้าน   ครูต้องจัดการให้นักเรียนทุกคนส่งการบ้าน จึงจะยุติธรรม    แต่ต่อมาเกิดการตีความคำว่า equality ใหม่    โดยแยกความแตกต่างระหว่าง “ความเท่าเทียม” กับ “ความเหมือน”     ผู้เขียนเกิดความเข้าใจว่า การปฏิบัติต่อศิษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ได้หมายความว่าต้องปฏิบัติต่อแต่ละคนเหมือนกันทั้งหมด เพราะเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน    การให้ความเท่าเทียมต่อศิษย์ จึงหมายความว่าปฏิบัติต่อเด็กตามความแตกต่างกัน หรือตามสภาพของเด็กแต่ละคน    คือใช้หลักการยอมรับความแตกต่าง ไม่ใช่ละเลยความแตกต่าง   

ในกระบวนการใคร่ครวญสะท้อนคิดต่อเนื่อง ผู้เขียนเริ่มรู้สึกว่า ตนเองมีส่วนเป็นต้นเหตุให้แคโรไลน์ ไม่มาโรงเรียน โดยการขู่ว่าจะลงโทษหากมาโรงเรียนโดยไม่ทำการบ้านหรือทำการบ้านไม่เสร็จ    และคิดว่าแคโรไลน์คงหาทางออกไม่ได้ จึงแก้ปัญหาโดยไม่มาโรงเรียน    ความคิดเช่นนี้ทำให้ผู้เขียนรู้สึกตกใจ  และเกิดการเรียนรู้ใหม่ว่า ตนเองต้องมีความรับผิดรับชอบต่อการกระทำของตน ต่อนักเรียนที่ไม่มีเสียงไม่มีอำนาจ    และนำไปสู่ความคิดว่า ตนควรหาสาเหตุที่แคโรไลน์ทำการบ้านไม่เสร็จ    

จะเห็นว่า ในขั้นตอนของการใคร่ครวญสะท้อนคิดอย่างจริงจัง ผู้เขียนได้ตกอยู่ในความรู้สึกอึดอัดขัดข้อง ในการกระทำของตน ที่ขัดกับข้อยึดถือคุณค่าประจำใจ ซึ่งได้แก่

  • ความเท่าเทียม – นักเรียนทุกคนได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกันในระบบการศึกษา
  • การเรียนรู้ตลอดชีวิต -  นักเรียนทุกคนอยู่ในระบบการศึกษายาวที่สุดเท่าที่จะทำได้
  • หลักการประชาธิปไตยทางการศึกษา    ให้ครูมีอิสระในการจัดการชั้นเรียนเพิ่มขึ้น   และนักเรียนมีส่วนออกความเห็นต่อระบบการศึกษา
  • มีจริยธรรมในการทำงาน  และมาโรงเรียนสม่ำเสมอ  เพื่อความสำเร็จในการศึกษา
  • ความเป็นธรรมทางสังคม ซึ่งนำไปสู่สิทธิเท่าเทียมกันในการศึกษา

ผู้เขียนคิดใคร่ครวญว่า การที่แคโรไลน์ ขาดเรียนโดยง่ายและนานหลายวัน  มีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การออกจากการเรียนกลางคัน    เป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องช่วยเหลือแคโรไลน์ให้ได้เข้าเรียนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย   และเกิดความมั่นใจต่อการเรียน ที่จะนำไปสู่ฉันทะต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต           

 

แผนปฏิบัติการ

แผนปฏิบัติการแรกคือ หาทางพูดคุยกับแคโรไลน์ ว่ามีความยากลำบากในการทำการบ้านอย่างไร    แต่จะได้คุยก็ต่อเมื่อแคโรไลน์มาโรงเรียน    ผู้เขียนจึงไปขอความช่วยเหลือจากครูใหญ่    ซึ่งได้ไปเยี่ยมแคโนไลน์ที่บ้านในเช้าวันต่อมา และชักชวนให้มาโรงเรียน    ซึ่งก็ได้ผล    แคโรไลน์มาโรงเรียนสายนิดหน่อยในเช้าวันนั้น    ผู้เขียนไม่ว่ากล่าวใดๆ    และไม่พูดถึงเรื่องการบ้านในวันนั้น    ผู้เขียนรอจังหวะให้แคโรไลน์คลายเครียดเสียก่อนจึงค่อยหาทางพูดคุย    จึงได้ข้อมูลที่น่าเห็นใจมากว่า     แคโรไลน์ไม่มีคนช่วยเหลือแนะนำการทำการบ้าน    เพราะแม่ออกจากบ้านไปทำงานทันทีที่แคโรไลน์กลับถึงบ้าน    และพี่ๆ ของแคโรไลน์ก็มีกิจกรรมของตนเอง ไม่มีเวลาช่วยแนะนำการทำการบ้านให้น้อง     แคโรไลน์บอกว่า เธอติดขัดการบ้านวิชาคณิตศาสตร์มากที่สุด  ส่วนวิชาภาษาอังกฤษพอทำได้   

ผู้เขียนจึงแนะนำว่า ในช่วงแรกให้แคโรไลน์ทำเฉพาะการบ้านภาษาอังกฤษให้เสร็จก่อน    ยังไม่ต้องทำการบ้านวิชาคณิตศาสตร์    ซึ่งช่วยให้แคโรไลน์แสดงท่าทีสบายใจ    และทำการบ้านมาส่งเสร็จเรียบร้อยทุกวัน   ตลอดสัปดาห์    ผู้เขียนบันทึกใน reflective journal ของตนว่าตนรู้สึกเครียดน้อยลง  และแคโรไลน์ก็มีท่าทีผ่อนคลายลงมาก    ผู้เขียนรู้สึกว่าความสัมพันธ์ระหว่างตนกับแคโรไลน์ดีขึ้น

ผู้เขียนใคร่ครวญสะท้อนคิดการปฏิบัติของตน เชื่อมโยงกับหลักการเชิงคุณค่าที่ตนยึดถือ ตามที่ระบุข้างต้น    และคิดว่าตนได้เปลี่ยนมาใช้หลักการประชาธิปไตยโดยขอรับฟังข้อมูลของนักเรียน    ซึ่งผมตีความว่า คุณค่าที่สำคัญ คือปฏิสัมพันธ์แนวราบ ยึดถือความเท่าเทียมกันระหว่างนักเรียนกับครู    และแทนที่ครูจะใช้อำนาจเหนือของตนสั่งการหรือกำหนดเงื่อนไข    กลับขอรับฟังสภาพความเป็นอยู่ของนักเรียน เพื่อหาทางช่วยเหลือ    ใช้ความเมตตาเห็นอกเห็นใจแทนที่การใช้อำนาจ    เอานักเรียนเฉพาะคนเป็นตัวตั้งในการช่วยแก้ปัญหาของนักเรียนคนนั้น   แทนที่จะเน้นให้นักเรียนที่มีปัญหาพิเศษต้องปฏิบัติเหมือนเพื่อนๆ ทั้งห้อง    ผมคิดว่า ในขั้นตอนใคร่ครวญสะท้อนคิดของผู้เขียน ได้เกิดสะเก็ดเล็กๆ ของการเปลี่ยนแปลงในระดับ transformation เชิงกระบวนทัศน์จำนวนมากมาย    ซึ่งหลายส่วนผู้เขียนไม่ได้ระบุในหนังสือ  

หลังจากเริ่มปฏิบัติการแก้ปัญหาสองสัปดาห์ ผู้เขียนก็ทบทวนการดำเนินการ    โดยในช่วงนั้นครูที่ทำหน้าที่ประคับประคองการเรียนของแคโรไลน์บอกผู้เขียนว่า แคโรไลน์สนใจการเรียนขึ้นมาก    ผู้เขียนจึงตัดสินใจดำเนินการโครงการวิจัยขั้นต่อไป    โดยพูดคุยกับแคโรไลน์และถามความรู้สึกของเธอต่อการทำการบ้าน    และได้รับคำตอบว่า เธอทำการบ้านได้ง่ายขึ้น และเวลานี้เธอชอบการมาโรงเรียนแล้ว     ผู้เขียนจึงถามว่าเธอพร้อมจะทำการบ้านวิชาคณิตศาสตร์หรือยัง    พร้อมกับบอกว่าทำถูกหรือผิดไม่สำคัญ  ข้อสำคัญคือได้ฝึกหัดใช้ความพยายาม    และได้ใช้เป็นพื้นฐานสำหรับเรียนในระดับสูงขึ้นคือชั้นมัธยมต้น    พร้อมกับแนะว่า หากเธอทำการบ้านคณิตศาสตร์  จะลดการบ้านภาษาอังกฤษลงครึ่งหนึ่ง    แคโรไลน์บอกว่า จะพยายามทำการบ้านคณิตศาสตร์ โดยจะทำการบ้านภาษาอังกฤษทั้งหมด

แล้วแคโรไลน์ก็ทำตามคำพูดไปตลอดเวลาในชั้นเรียนชั้น ป. ๖   และผู้เขียนก็ทำงานวิจัยจบ    โดยได้เขียนจดหมายไปขออนุญาตจากแม่ของแคโรไลน์ ขอใช้เรื่องราวของแคโรไลน์ในงานวิจัย โดยจะปกปิดชื่อเป็นความลับ และได้รับอนุญาต

ผมใคร่ครวญสะท้อนคิดเองว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดในเรื่องนี้คือ การแสดงความรักความห่วงใยที่ครูให้แก่ศิษย์ เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับศิษย์    ยิ่งตัวแคโรไลน์ ซึ่งพอจะมองออกว่า อยู่ในครอบครัวที่เศรษฐฐานะไม่ดี และขาดความอบอุ่นที่บ้าน    ความรักความเมตตาจากครูจะยิ่งมีค่า     บทบาทของครูไม่ใช้แค่จำกัดที่การสอนวิชา แต่ต้องเอาใจใส่การเรียนรู้และพัฒนาการของศิษย์แบบองค์รวม คือทั้งด้านนิสัยใจคอ (หรือคุณลักษณะ),  สมรรถนะ (หรือทักษะ), และ ความรู้    ในเรื่องคุณลักษณะ สิ่งที่แคโรไลน์ต้องการอย่างยิ่งคือ นิสัยใฝ่รู้ สู้สิ่งยาก    ครู Bernie Sullivan (ผู้เขียน) ได้ช่วยให้แคโรไลน์เกิดนิสัยใฝ่รู้ สู้สิ่งยาก ผ่านกระบวนการวิจัยของตน    ที่แสดงออกที่ความห่วงใย เมตตากรุณา

การวิเคราะห์ข้อมูล

การวิเคราะห์ข้อมูลประกอบด้วย ๓ ขั้นตอนใหญ่ๆ

  • ตรวจสอบเป้าหมายของการวิจัย เพื่อประเมินว่าตนบรรลุผลเพียงใด
  • ตรวจสอบคุณค่าที่ตนยึดถือ เพื่อประเมินว่าตนดำเนินตามคุณค่านั้นๆ เพียงใด
  • ตรวจสอบว่า จะใช้ข้อมูลที่รวบรวมได้ เป็นหลักฐานยืนยันผลงานการพัฒนางานของตนเองได้อย่างไร

ข้อมูลที่ผู้เขียนรวบรวมเป็นคลังข้อมูลเพื่อการวิจัย เป็นไปตามรายการที่ระบุตอนต้นบันทึกนี้    โดยในกรณีของแคโรไลน์ ได้แก่   ข้อมูลการมาโรงเรียนและการทำการบ้าน  ข้อมูลที่ครูท่านอื่นๆ เอ่ยถึงแคโรไลน์   บันทึกของครูใหญ่ เรื่องแคโรไลน์ และข้อสังเกตการดำเนินการที่ผู้เขียนทำ    ที่ครูใหญ่มอบให้ผู้เขียน     จดหมายจากแม่ของแคโรไลน์    บันทึกรายละเอียดการสนทนาระหว่างแคโรไลน์กับผู้เขียน    และคำพูดของแคโรไลน์ตอนจบโครงการวิจัย ว่าเธอรู้สึกอย่างไรเมื่อผู้เขียนเปลี่ยนวิธีดำเนินการแก้ปัญหาของเธอ  

การวิเคราะห์ข้อมูล เป็นการนำข้อมูลมาตรวจสอบตีความการกระทำของตนเอง และหาคำอธิบายต่อการกระทำนั้น    

เริ่มจากการตรวจสอบเป้าหมายของการวิจัยเพื่อหาข้อสรุปว่าบรรลุเป้าหมายเพียงไร    ตามด้วยการตรวจสอบคุณค่าที่ตนยึดถือ เพื่อประเมินว่าตนได้ปฏิบัติตามคุณค่านั้นเพียงใด    และใช้ข้อมูลบอกว่าตนได้มีการพัฒนาวิธีปฏิบัติหน้าที่ครูในด้านใด 

เขาแนะนำให้วิเคราะห์ข้อมูลผ่านการตอบคำถามต่อไปนี้

  • เป้าหมายการวิจัยของฉันคืออะไรบ้าง
  • คุณค่าที่ฉันยึดถือคืออะไรบ้าง
  • ฉันได้บันทึกการใคร่ครวญสะท้อนคิดเรื่องการวิจัยไว้เป็น reflective journal หรือไม่
  • ฉันสามารถระบุแหล่งที่มาของข้อมูลได้อย่างไรบ้าง
  • ฉันได้รับข้อคิดเห็นเป็นเอกสารจากเพื่อนครูหรือไม่

การใคร่ครวญสะท้อนคิดต่อการปฏิบัติ

มาถึงขั้นนี้เราเห็นชัดเจนว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงในการปฏิบัติของผู้เขียน    ประเด็นต่อไปคือจะพัฒนาการเปลี่ยนแปลง (change) สู่การปรับปรุงให้ดีขึ้น (improvement)    ได้หรือไม่    

ขั้นตอนต่อไปของการวิจัยคือ ใคร่ครวญสะท้อนคิดอย่างจริงจัง เพื่อเปรียบเทียบการปฏิบัติในช่วงแรก กับการปฏิบัติหลังการเปลี่ยนแปลง    ในช่วงแรกผู้เขียนยึดปฏิบัติตามกติกาห้องเรียนอย่างเข้มงวด    คือนักเรียนทุกคนต้องทำการบ้านมาส่งครูในวันรุ่งขึ้น    แต่หลังจากเกิดกรณีแคโรไลน์ ผู้เขียนเปลี่ยนมาใช้กติกาดังกล่าวอย่างยืดหยุ่น    คือมีการผ่อนปรนต่อนักเรียนบางคน    ผู้เขียนตีความว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด จากคิดแบบอำนาจนิยม มาเป็นคิดอย่างยืดหยุ่นมากขึ้น    ถือเป็นพัฒนาการทางความคิด  ที่จะต้องนำไปใช้ในทางปฏิบัติ  

การเปลี่ยนแปลงในทางปฏิบัติก็คือ ผู้เขียนมีแผนปฏิบัติใหม่    คือถามแคโรไลน์ว่ามีความยากลำบากอย่างไรบ้างในการทำการบ้าน   ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้คุณค่าด้านประชาธิปไตยในการศึกษา     คือเปิดโอกาสให้นักเรียนมีโอกาสบอกเรื่องราวและความต้องการของตน    ที่จะมีผลต่อการตัดสินใจต่อประเด็นที่มีผลต่อตัวนักเรียนเอง     นี่เป็นพฤติกรรมเชิงนวัตกรรมสำหรับผู้เขียน เพราะตนไม่เคยทำมาก่อน    และเมื่อพิจารณาตามแนวคิดของเปาโล แฟร์ ก็ถือเป็นการปลดปล่อยอิสรภาพจากการกดขี่ให้แก่การเรียนการสอน   

การที่ผู้เขียนปรึกษาหารือกับแคโรไลน์ เป็นแนวทางใหม่ในการวางปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน    คือจากความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียม ที่ครูเป็นผู้มีอำนาจเหนือในการตัดสินใจ   เปลี่ยนมาเป็นความสัมพันธ์ที่มีความเท่าเทียมกัน มากขึ้น    หรือเปลี่ยนจากปฏิสัมพันธ์แบบ ฉัน - มัน (I – It)  มาเป็นแบบ ฉัน – คุณ (I – Thou)     คือมีการให้เกียรติหรือเคารพกันมากขึ้น    ปฏิสัมพันธ์แบบ ฉัน – มัน เป็นการปฏิบัติต่อนักเรียนเหมือนเป็นสิ่งของ ไร้ชีวิตและวิญญาณ    แต่ในปฏิสัมพันธ์แบบ ฉัน – คุณ ครูมีความรู้สึกต่อนักเรียนเป็นเพื่อนมนุษย์ ที่มีชีวิตจิตใจ มีความรู้สึกเช่นเดียวกันกับตนเอง     เมื่อใคร่ครวญสะท้อนคิดถึงตรงนี้ ก็เห็นชัดเจนว่า ผู้เขียนมีการพัฒนางานของตนเอง 

ผู้เขียนใคร่ครวญสะท้อนคิดต่อไปว่า    ในการที่ตนเองพยายามใช้กติกาชั้นเรียนเรื่องส่งการบ้านต่อนักเรียนทุกคนเหมือนกันหมด    มีพื้นฐานจากความคิดว่า นักเรียนในชั้นเหมือนกันหมด  ซึ่งไม่จริง    และเนื่องจากตนต้องการให้นักเรียนทั้งชั้นได้เรียนรู้อย่างมีคุณภาพสูง    จึงบังคับใช้กฎเรื่องส่งการบ้านเท่าเทียมกันทุกคน    นอกจากนั้นตนยังคิดว่า นักเรียนต้องการให้ครูปฏิบัติต่อนักเรียนทุกคนอย่างยุติธรรมในเรื่องการส่งการบ้าน    หากหย่อนให้นักเรียนคนหนึ่ง  ในที่ขณะบังคับเข้มงวดต่อนักเรียนคนอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมด จะเป็นการไม่ให้ความยุติธรรมต่อนักเรียนส่วนที่เหลือ    ซึ่งผู้เขียนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติว่า การยืดหยุ่นการปฏิบัติตามกฎการส่งการบ้านให้แก่แคโรไลน์ ไม่มีผลต่อพฤติกรรมการส่งการบ้านของนักเรียนคนอื่นๆ เลย    แต่มีผลดีต่อพฤติกรรมการเรียนของแคโรไลน์    ทำให้ผู้เขียนได้เรียนรู้ว่านักเรียนแต่ละคนเป็น “หนึ่งจักรวาล”  ที่มีศักยภาพ ปัญหา และอัตราเร็วของการเรียนรู้ จำเพาะของตนเอง    ครูจึงต้อง “ใคร่ครวญสะท้อนคิดระหว่างสอน” (reflect-in-action) ต่อนักเรียนแต่ละคน เอามาคิดวางแผนการสอน

ครู Bernie Sullivan เข้มงวดเรื่องการส่งการบ้านต่อแคโรไลน์ เพราะเกรงว่าหากเธอไม่ส่งการบ้าน จะทำให้ผลการเรียนไม่ดี ส่งผลต่อการเรียนต่อชั้นมัธยม และอาจต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน    พัฒนาการที่เกิดขึ้นต่อมาสอนครู Bernie Sullivan ว่า  “คุณภาพสำคัญกว่าปริมาณ” ในเรื่องการเรียนรู้    ซึ่งผมขอเพิ่มเติมว่า ข้อผิดพลาดอย่างหนึ่งในการสอนของครูโดยทั่วไปคือ การตลุยสอนให้ครบถ้วนตามหลักสูตร ซึ่งเป็นการยึดถือปริมาณเป็นเป้า    มีคำแนะนำโดยครูเก่งๆ จำนวนมากมายว่าจงอย่าทำเช่นนั้น    ให้ยึดถือการกำหนดประเด็นสำคัญที่นักเรียนในชั้นจะต้องเรียน แล้วเน้นสอนส่วนนั้นให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างลึก (เกิด higher order learning)   แล้วนักเรียนจะเรียนรู้ส่วนที่เหลือได้เอง หรือไม่รู้ก็ไม่เป็นไร  

แรงบันดาลใจให้ครู Bernie Sullivan ทำงานวิจัยชิ้นนี้อยู่ที่ความเป็นห่วงต่อ แคโรไลน์    ความเป็นห่วงนี้มาจากความเมตตาสงสาร    แต่พฤติกรรมของครู Bernie Sullivan ในช่วงแรก ทำให้แคโรไลน์ไม่เห็นความเมตตาห่วงใยนั้น    แต่เมื่อครู Bernie Sullivan เปลี่ยนวิธีการ แคโรไลน์ก็เห็นความเมตตาห่วงใยนี้ทันที   ก่อผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งสองเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน    ผู้เขียนได้ข้อเรียนรู้ว่า ความรักและห่วงใยเป็นแก่นแกนของปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์

 หลักฐานแสดงการพัฒนาการสอนและความเข้าใจต่อการสอน

นักวิจัยปฏิบัติการจะต้องนำข้อมูลจากการใคร่ครวญสะท้อนคิด มาจัดทำเป็นหลักฐาน (evidence) ของการพัฒนาการสอน และความเข้าใจต่อการสอน    เพื่อแสดงหลักฐานที่หนักแน่น ตอบคำถาม

การวิจัยปฏิบัติการพัฒนาตนเองของครู นำไปสู่พัฒนาการด้านการปฏิบัติ  และด้านความคิดของตนเอง    และจะนำไปสู่การพัฒนาทฤษฎีจากการปฏิบัติ    ซึ่งจะกล่าวถึงในบันทึกตอนที่ ๙

วิจารณ์ พานิช        

๗ ก.ค. ๖๑


 

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท