โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

อาชีพปลูกต้นไม้


โสภณ เปียสนิท

..............................

            ผมกึ่งนั่งกึ่งนอนบนเตียงหน้าบ้านเล็กในป่าใหญ่ชายขอบเมืองกาญจนบุรี มองสายฝนเม็ดเล็กหยดหยาดลงชายคาหน้าบ้านหนักบ้างเบาบ้างสลับกันไป ลมหนาวพัดกรูเกรียวมาเป็นบางครั้ง ต้นหญ้าหน้าบ้านงอกงามขึ้นอย่างรวดเร็ว ดอกรักสองต้นคู่ห่างหน้าบ้านออกไปหน่อยโกร๋นเหลือแต่ลำต้น ทั้งที่เมื่อสองสามอาทิตย์ที่ผ่านมายังงามดอกใบดกอยู่เลย เคยเดินเข้าไปดูใกล้ๆ เห็นตัวแมลงเล็กๆ จำนวนมากใช้ต้นรักเป็นที่ขยายเผ่าพันธุ์เกาะกินกันจนต้นรักเหลือแต่ต้น คาดว่าชีวิตินทรีย์คงสิ้นสุดลงแล้ว

            ปีนี้ฝนมากกว่าปีก่อน มองน้ำไหลลงร่องน้ำลอดใต้ถนนสายเอราวัณกาญจนบุรีไปอีกฝั่งถนน แล้วไหลเรื่อยลงสู่ลำน้ำแควใหญ่จำนวนมาก รู้สึกเสียดายน้ำ ใจหนึ่งคิดอยากได้ภาชนะนานาชนิดไว้ใส่น้ำ อีกใจหนึ่งอยากกั้นขอบเขตของไร่ด้วยการยกคันคูดินขึ้นรอบด้าน โดยออกแบบให้น้ำไหลเข้าได้ แต่ไหลออกไม่ได้ ทำคลองไส้ไก่ให้น้ำไหลเวียนอยู่ภายในที่ดิน จะได้ไม่เสียน้ำ ซึ่งเป็นของหายากต้องใช้น้ำให้คุ้มค่าทุกหยดทุกเม็ด จำมาจากแนวคิด โคกนาหนองโมเดล ของท่านอาจารย์ยักษ์ วิวัฒน์ ศัลยกำธร

            ความคิดย้อนกลับหลังคืนบ้านท่ามะนาว เมืองกาญจนบุรีอีกคราเมื่ออายุย่างเข้าสู่วัยเกษียณในอีกสามปีข้างหน้า เพราะไม่มีทางไปอีกแล้ว ด้วยเหตุผลหลายอย่าง เหตุผลแรกที่ไม่อยากไปที่อื่นเพราะ การอยู่ท่ามกลางหมู่ญาติคือความสุข เพราะทำให้เกิดความมั่นคงในจิตใจ อีกเหตุผลสำคัญคือ พ่อแม่ทิ้งที่ดินไว้ให้อีกสามสิบไร่ แม้ที่ดินจะมีหินมาก แม้จะแล้งร้อนมาก แต่ต้นไม้พื้นถิ่นก็ขึ้นได้ งอกงามได้ หญ้าก็ยังงอกงามได้ แสดงว่าปลูกต้นไม้ได้ การปลูกต้นไม้จึงเป็นความหวังที่จะยึดเป็นอาชีพหลังเกษียณ แต่ก็ยังมีคำถามมากมายรออยู่ว่า การปลูกต้นไม้จะเป็นอาชีพได้หรือไม่ จะทำให้ดำรงชีพอยู่ท่ามกลางโลกที่ยึดเงินตราเป็นศูนย์กลางได้หรือ จะอยู่ท่ามกลางกระแสสังคมที่เดินสวนทางกันได้อย่างไร

            ความคิดอยากกลับบ้านเมืองกาญจนบุรีปลูกต้นไม้หลังเกษียณมีพื้นฐานมาจากการที่ผมชอบอ่านเรื่องราวการต่อสู้ชีวิตของเกษตรกรตามชนบททั่วแผ่นดินไทย ชีวิตเกษตรกรเป็นชีวิตที่น่าสงสาร เพราะโลกเดินหน้าเร็ว จากยุคทำมาหากิน ผ่านเลยยุคการแจก การแลก มาสู่ยุคการขาย โดยใช้เงินเป็นสื่อกลาง ยุคก่อนวัดความร่ำรวยมั่งคั่งกันที่มีของกินของใช้มากน้อยเพียงใด ปัจจุบันวัดกันที่ เงินเป็นหลัก เกษตรกรมีที่ดิน มีของกินของใช้ ต้องนำของกินของใช้ไปแลกเป็นเงิน แล้วเอาเงินมาซื้อของกินของใช้อีกต่อหนึ่ง ทำให้ทุกคนไม้เว้นแม้แต่เกษตรกรมุ่งหาเงินเป็นสำคัญ

            เมื่อมุ่งหาเงินเป็นตัวตั้ง จึงไม่ว่าจะปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ก็เพื่อเขาไปขายให้เกิดรายได้เป็นเงิน และต้องคิดตลอดเวลาว่า ปลูกอย่างไร เลี้ยงสัตว์อย่างไรให้ได้เงินมากสุด ง่ายสุด และเร็วที่สุด กลายเป็นเกษตรแบบตัณหานิยมไปในที่สุด ต้องซื้อปุ๋ยเพื่อบำรุงดิน ต้องซื้อแรงงาน ต้องซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ ต้องซื้อสารเคมีเพื่อกำจัดศัตรูพืช กำจัดโรคพืชโรคสัตว์ เพื่อไปสู่เป้าหมายคือการขายให้ได้เงินมา ยิ่งมากยิ่งดี จากแนวคิดการทำเกษตรแบบนี้ ทำสถานภาพของเกษตรกรเปลี่ยนไปในทางร้ายมากขึ้นตามลำดับ

            ตรงกับคำภาษิตที่ว่า “โลภมากลาภหาย” เมื่อทุกคนต่างวิ่งเข้าหาเงิน ทุ่มเททุกอย่างเพื่อนเงินเร่งด่วน เกิดการลงทุนเพื่อให้ได้เงินจำนวนเท่าไรก็ยอม แต่การทำเกษตรนั้น ส่วนมากยังขึ้นอยู่กับธรรมชาติ ดินน้ำแดด ใช้สารเคมีมากดินก็เสียทำให้ต้องลงทุนใช้สารเคมีเพื่อบำรุงดิน และต้องใช้ปุ๋ยมากขึ้นทุกปี ดินยิ่งเสียหนักยิ่งขึ้นเป็นเงาตามตัว น้ำยังต้องพึ่งพาน้ำฝนเสียเป็นส่วนมาก แต่ฝนก็ตกตามธรรมชาติ เปลี่ยนไปตามสิ่งแวดล้อมที่ไม่แน่นอน แดดมีมากแต่ไม่ถูกใช้ให้ถูกต้อง มิได้ใช้แดดเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ให้เป็นพลังงานสำคัญของประเทศ

            การทำเกษตรต้องใช้เวลา ช่วงแห่งเวลาสามเดือนอาจก่อให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้นได้ เมื่อมีการลงทุนมาก ข้อผิดพลาดที่เกิดจึงเปลี่ยนสภาพไปเป็นภารหนี้สิน ยิ่งนานวันยิ่งพอกพูนมากขึ้นเรื่อยๆ เกษตรกรจำนวนมากจึงอยู่ในภาวะเสื่อม มีภาระหนี้สินรุงรังจำนองที่ดินบ้าง ขายที่ดินบ้าง กู้ยืมเงินจำนวนมากเพื่อนำมาใช้เป็นทุนในการดำเนินกิจกรรมเกษตรต่อเนื่องกันไป ก่อเกิดวงจรใหม่ คือทำเกษตรเพื่อขายแล้วนำไปใช้หนี้

            ต่างจากการเกษตรแบบดั้งเดิม การเกษตรแบบทำมาหากิน คือทำแบบ กินแจกแลกขาย โดยจุดมุ่งหมายหลักคือเพื่อกิน กินข้าวก็ปลูกข้าว กินผักก็ปลูกผัก กินผักอะไรก็ปลูกผักหรือพืชอันนั้น ทั้งระยะสั้นระยะยาว กินเหลือแล้วจึงนำไปแจกหมู่ญาติพี่น้อง แจกแล้วค่อยนำไปแลกเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นที่เราไม่ได้ปลูก ท้ายที่สุดแล้วค่อยไปขายเปลี่ยนเป็นเงินเพื่อเก็บไว้เป็นทุนสำรองต่อไป

            การทำเกษตรแบบนี้จึงเรียกได้อีกอย่างว่า เกษตรแบบยั่งยืน เพราะทำเกษตรแบบนี้แล้วก่อให้เกิดความยั่งยืนความมั่งคงทางอาหาร ความมั่นคงทางยารักษาโรค ความมั่งทางที่อยู่ที่อาศัย ความมั่นคงทางเครื่องแต่งงาน ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของชีวิตของครอบครัว และพ้นจากภาระหนี้สินได้ในเวลาไม่นานนัก เพราะภาระทั้งการกินและเครื่องใช้เกือบทั้งหมดสามารถหามาได้จากที่ดินของตนเอง ยิ่งนานวันยิ่งเพิ่มความมั่งคงมั่งคั่ง

            ปราชญ์เกษตรกรหลายรายนำพาชีวิตของตนพ้นจากภาวะหนี้สินได้ เพราะไม่ยอมเดินตามการเกษตรแบบตัณหานิยม คือปลูกพืชเลี้ยงสัตว์เพื่อนำไปขาย มุ่งหมายเอาเงินเป็นตัวตั้ง มุ่งมั่นปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก มุ่งมั่นยืนอยู่บนขาของตนเอง พึ่งตนเองจนประสบความสำเร็จ แต่กว่าจะประสบความสำเร็จ ต้องผ่านการพิสูจน์หลายอย่าง เช่นการถูกกล่าวหาว่า “บ้า” เพราะฝืนกระแสหลักที่สังคมหนี้สินเขากำลังเดินตามกันไป

            เท่าที่ผมระลึกถึงปราชญ์เกษตรเหล่านี้ได้ในขณะที่เขียนนี้มีหลายคนด้วยกัน เช่น พ่อใหญ่ชาลี มาระแสง หลังจากใช้ชีวิตวัยหนุ่มไปกับการเดินทางศึกษาหาความรู้ หางานรับจ้างาไปในที่ต่างๆ จนในที่สุดความคิดเปลี่ยนเวียนกลับมาบ้านเดิมของตนเพื่อพัฒนาที่ดินแห้งแล้งของตนทีละน้อย ผ่านคำดูถูก ถูกตัดญาติขาดมิตร ต้องพึ่งพาคนอื่นจนญาติระอาเมินหน้าหนี ขุดสระน้ำภายในที่ดินของตนด้วยมือเปล่าดินต่อกันเป็นระยะเวลากว่า 15 ปี จนมือใช้ล้างหน้าแทบไม่ได้เพราะความด้าน จนในที่สุดที่ดินผืนนั้นกลายเป็นเหมืองทองคำ ดินดำน้ำชุ่มมีปลามีข้าวสารพัด เป็นที่พึ่งให้แก่คนหมู่มาก

พ่อคำเดื่อง ภาษี ปราชญ์ชาวบุรีรัมย์ ผู้ปลูกต้นไม้สารพัดชนิดจนกลายเป็นตัวอย่างเกษตรกรที่พึ่งตนเองได้อย่างมั่นคง ทำเกษตรธรรมชาติในพื้นที่ 50 ไร่ ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก ตั้งแต่การปลูกไผ่ ขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกพืชนานาชนิด ซึ่งชีวิตก็อยู่ได้อย่างมีความสุข พ่อคำเดื่องเคยพูดถึงการทำการเกษตรของเมืองไทยว่า

"เราต้องคิดว่าเราคือผู้แพ้สงครามเกษตรเชิงเดี่ยว ใช้สารเคมีจนดินเสื่อมหมดแล้ว เป็นหนี้สินพ้นตัว หนีมาพื้นแผ่นดินใหม่ มีพริก มะเขือ ผักชนิดต่าง ๆ ไก่บ้าน ปลาในบ่อ เป็นพลทหาร จะระดมพลออกรบเมื่อไหร่ก็ได้ มีพืชสมุนไพรผักพื้นบ้านเป็นยา ใช้รักษายามเจ็บไข้ มีลูกยอ กล้วย เป็นนายสิบ มีไผ่เป็นนายร้อย มียางนา ตะเคียนทอง เป็นนายพัน นายพล โดยมีเจ้าของสวนเป็นจอมทัพ สะสมกำลังอยู่ในพื้นที่เล็ก ๆ เพียงหนึ่งไร่ ไม่ต้องหวังร่ำรวย เอาแค่พออยู่พอกิน หวังสร้างทรัพย์สินทางปัญญาเป็นมรดกให้ลูกหลาน ทำอย่างนี้เท่านั้นที่จะนำพาชีวิตครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติไปสู่ชัยชนะได้ "ทำเกษตรธรรมชาติในพื้นที่ 50 ไร่ ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก ตั้งแต่การปลูกไผ่ ขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกพืชนานาชนิด ซึ่งชีวิตก็อยู่ได้อย่างมีความสุข พ่อคำเดื่องเคยพูดถึงการทำการเกษตรของเมืองไทยว่า

"เราต้องคิดว่าเราคือผู้แพ้สงครามเกษตรเชิงเดี่ยว ใช้สารเคมีจนดินเสื่อมหมดแล้ว เป็นหนี้สินพ้นตัว หนีมาพื้นแผ่นดินใหม่ มีพริก มะเขือ ผักชนิดต่าง ๆ ไก่บ้าน ปลาในบ่อ เป็นพลทหาร จะระดมพลออกรบเมื่อไหร่ก็ได้ มีพืชสมุนไพรผักพื้นบ้านเป็นยา ใช้รักษายามเจ็บไข้ มีลูกยอ กล้วย เป็นนายสิบ มีไผ่เป็นนายร้อย มียางนา ตะเคียนทอง เป็นนายพัน นายพล โดยมีเจ้าของสวนเป็นจอมทัพ สะสมกำลังอยู่ในพื้นที่เล็ก ๆ เพียงหนึ่งไร่ ไม่ต้องหวังร่ำรวย เอาแค่พออยู่พอกิน หวังสร้างทรัพย์สินทางปัญญาเป็นมรดกให้ลูกหลาน ทำอย่างนี้เท่านั้นที่จะนำพาชีวิตครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติไปสู่ชัยชนะได้ "

พ่อผาย สร้อยสระกลาง ผู้ล้มลงเพราะการเกษตรแบบเดิม จนต้องหันกลับมาขุดสระน้ำในไร่ของตนด้วยมือ เมื่อมีสระน้ำ มีปลา มีต้นไม้ใช้สอย ไม้เศรษฐกิจ ไม่กินได้ จึงประสบความสำเร็จอย่างมาก พ้นจากความดิ้นรนเดือดร้อน เป็นที่พึ่งให้กลับผู้อื่นได้ทั่วสารทิศ

ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤษ ผู้กล่าวคำอมตะว่า “ปลูกพืชล้มลุกแล้วชีวิตล้มลุก” จึงหันมาปลูกไม้ยืนต้นบนที่ดินแห้งแล้ง โดยเริ่มปลูกต้นยูคาลิปตัส ค่อยๆ ปลูกจนเต็มพื้นที่ ขณะช่วงเวลานั้นมีคำแนะนำโดยทั่วไปว่า การปลูกต้นยูคาจะทำให้ดินเสีย แต่ครูบาปลูกแล้วให้ชาวบ้านเก็บไข่มดแดงได้ เก็บเห็ดได้ ตีผึ้งได้ แต่ต้องช่วยกันป้องกันไฟป่า ครูบาขายต้นยูคาเป็นไม้แปรรูปบ้าง ขายเป็นเยื้อกระดาษบ้าง เผาถ่านขายบ้าง ตัดขายแล้วปลูกใหม่เรื่อยไป ปรากฏว่าครูบาอยู่ได้อย่างสบาย และเป็นตัวอย่างให้กับชาวบ้านรอบทิศได้อย่างดี ครูบากล่าวว่า “ผมเป็นนักเรียนตลอดชีวิตครับ” ครูบาสุทธินันท์ เล่าอย่างอารมณ์ดี ซึ่งในวันที่เจอกัน เขาใส่เสื้อผ้าฝ้ายย้อมครามที่งดงาม เขาบอกว่า “คนย้อมครามที่สกลนคร จะทำแค่แบบเดียวตัวเดียวเท่านั้น”

อาจารย์ยักษ์ วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ลาชีวิตราชการก่อนกำหนดเล็กน้อยเพื่อทดลองใช้ชีวิตเกษตรกรแบบเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของล้นเกล้ารัชกาลที่9 เริ่มต้นจากการปลูกต้นไม้บนพื้นดินไร่อ้อยไร่มันเก่า ดินเสื่อมสภาพถึงขีดสุดแข็งกระด้างจนจอบขุดไม่ลง ปลูกโดยใช้อีเตอร์ขุดหลุมปลูกแล้วใช้ห่มดินโดยใช้หญ้าฟางคลุมหนาๆ ไว้ที่โคนต้นไม้เพื่อให้ดินเกิดความชื้น ค่อยๆ พัฒนาที่ดินแห้งแล้งให้กลายเป็นป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ป่า3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง แล้วตั้งกลุ่มเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องกระจายตัวไปอยู่ทั่วประเทศ จนปัจจุบันรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และพยายามผลักดันให้ธนาคารรับประกันต้นไม้หลายชนิดว่าเป็นสินทรัพย์ได้ ต่อไปการปลูกต้นไม้อาจกลายเป็นอาชีพหลักของคนไทยได้ 

หมายเลขบันทึก: 654014เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2018 11:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กันยายน 2018 11:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียน อาจารย์ เมื่อถึงเวลาที่อาจารย์ได้ลงมือกระทำจริงแล้ว จะรู้สึกถึงคุณค่าการอยู่กับธรรมชาติ จนเกิด ความเชื่อมั่น และคลายกังวลจากโรคทุนนิยม ที่เขาหลอกเรามานานแสนนาน เพราะเราจะปรับตัวไปกับธรรมชาติ เกิดการให้ที่มีคุณค่า เกิดการแลกเปลี่ยน เกิดการพัฒนาการเรียนรู้ เพื่อการดำรงชีวิตอยู่ที่เป็นสุข และอื่นๆอีกมากมาย คนไทยจำนวนมากมาย เคยมีจิตวิญญาณที่เงินซื้อไม่ได้

เรียนคุณ ลิขิตขอบคุณมากครับผมเองก็ชอบปลูกต้นไม้ตอนนี้ก็ค่อยๆปลูกต้นไม้ที่เมืองกาญเพื่อรอเกษียณในอีกสามปีข้างหน้าหวังว่าจะได้หลบร้อนในหมู่ไม้เหล่านั้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท