21 กันยายน วันอัลไซเมอร์โลก


ใช่แล้วค่ะ วันนี้ วันที่ 21 กันยายน  เป็น ”วันอัลไซเมอร์โลก” องค์การระหว่างประเทศ (Alzheimer's Disease International ; ADI) ได้ประกาศให้เป็น“วันอัลไซเมอร์โลก” ตามชื่อของผู้ค้บพบโรคอัลไซเมอร์ คือ จิตแพทย์ชาวเยอรมัน นามว่า อาลอยซ์ อัลไซเมอร์ (Alois Alzheimer) เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ทุกคนเห็นความสำคัญและเข้าใจโรคนี้กันมากขึ้น ที่จริงดิฉันคิดว่าน่าจะเรียกว่า “วันสมองเสื่อมโลก” ด้วยซ้ำนะคะ เพราะอันที่จริง อัลไซเมอร์ เป็นเพียงสาเหตุหนึ่งของสมองเสื่อม ซึ่งจริงมีหลายสาเหตุ เช่น จากหลอดเลือดสมองตีบตัน จากพาร์กินสัน จากการติดเชื้อในสมอง การกระทบกระเทือนของสมอง เป็นต้น

เมื่อตอนบ่ายวันนี้ดิฉันกับอาจารย์แพทย์ (จิตแพทย์) แพทย์ประจำบ้าน และทีมสหสาขา ได้ประชุมประจำสัปดาห์เพื่อทบทวนประวัติผู้รับบริการเพื่อวางแผนการรักษา เลยคุยกันว่าวันนี้เป็นวัน อัลไซเมอร์โลก เอ... แต่ทำไมเราไม่จัดงานอะไรเพื่อสร้าง ความตระหนักแก่ประชาชนบ้างเลยเนอะ  แต่ละคนเลยหลุดขำ ว่าเราตระหนักว่าเรายุ่งมากครับตอนนี้.. และคาดว่าว่าจะยุ่งถึงปีหน้า (^_^) ขำ ๆ ค่ะ ว่าแล้วก็หัวเราะพร้อมเพรียงกัน และก้มหน้าก้มตาทำงานต่อ..

ส่วนที่ดิฉันจะเล่าวันนี้ คือ ในฐานะที่ทำงานเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยสมองเสื่อมที่มีสาเหตุมาจากทั้งอัลไซเมอร์ และสาเหตุต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น นับนิ้วมือแล้วก็น่าจะกว่าขวบ 1 ปี นิด ๆ ที่ทำงาน คือ ก่อนหน้านี้ดิฉันลาศึกษาต่อ และก่อนไปดิฉันทำงานที่ตึกผู้ป่วยจิตเวชทั่วไปค่ะ ขึ้นเวร เช้า บ่าย ดึก ต้มม่าม่า อร่อยเหาะ (^-^)  พอกลับมาต้องมาดูจิตเวชสูงอายุ (สมองเสื่อม) โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอาการทางด้าน อารมณ์ พฤติกรรม และจิตใจ(Behavioral and Psychological Symptoms of Dementia:BPSD) เป็นคลิกนิกเฉพาะทางทุกวันพุธ และถือว่าตนเองยังเป็นผู้ที่ต้องเรียนรู้แม้จะไม่ใช่มือใหม่ แต่หาใช่ผู้เชี่ยวชาญ กระบวนการทำงานจึงต้องรับฟังให้มาก ดิฉันมั่นใจมากว่าทำงานคลุกคลีอยู่กับผู้ป่วยทั้งระยะก่อนได้รับการวินิจฉัยสมองเสื่อม ระยะที่ได้รับการวินิจฉัยสมองเสื่อม ระยะที่ดำรงชีวิตอยู่กับภาวะสมองเสื่อม และระยะสุดท้ายของชีวิต เพราะทุกคนที่มาเราพูดคุยประเมินโดยละเอียด เรารู้จักผู้รับบริการทุกคน แต่คนมีสตอรี่ (Story) อย่างไร อะไรบ้าง ต้องจำได้ เพื่อที่จะวางแผนการดูแลได้ถูกต้อง  ใครดูแลหลัก ลูกกี่คน เมียกี่คน ใครเมียหลัก ใครเมียรองต้องรู้ เอ้ย ไม่ใช่ค่ะ (แฮ่^^") 

ในส่วนของการวิจัย แม้ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่ที่เกิดมรรคผล เชื่อว่าปีหน้า คงได้มาอัพเดทกันค่ะ เพราะว่าวิจัยหน้างาน ต้องอินกับงาน ที่เหลือแบ่งไปวิจัยภายนอกคลินิกบ้างเพราะผู้ป่วยเราอยู่ชุมชน ทำอย่างไรจะผ่องถ่ายให้ชุมชนมีส่วนร่วม ไม่กลับเข้ามารักษาซ้ำ ประชาชนมีที่พึ่ง เพราะสมองเสื่อมผู้ดูแลหนักหนาสาหัสที่สุดแล้ว จึงเป็นที่มาของวิจัยในเรื่องของศูนย์ดูแลกลางวัน (Day Care) และ การดูแลต่อเนื่องที่ยังพูดดังไม่ได้ค่ะ เพราะยังต้องผ่านอีกหลายด่านค่ะ  

1 ปี ที่ผ่านมา พยายามบาล้านซ์ทั้งวิชาการและปฏิบัติ เพราะความรู้ไม่ได้มีแค่ด้านเดียว ดิฉันไม่ได้เอาวุฒิการศึกษามาใช้ในการปฏิบัติ ทำงานเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงด้วย ฟังผู้ป่วย ญาติ และเพื่อนร่วมงาน ฟังผู้รู้ พยาบาลที่เชี่ยวชาญ แพทย์ ผู้ร่วมทีม ทำงานวิชาการช่วยองค์กรไปด้วยก็นะคะ เรียนมาก็ต้องทำงานบ้าง ปล่อยว่าง ประเดี๋ยวจะห่างวิชาการ...

ถ้าถามว่า พอใจในการทำงานของตนเองหรือไ่ม่ ตอบว่าอาจไม่พอใจ 100% แต่ก็ดีใจที่ไม่ได้ทิ้งงานบริการประชาชนเจ้าค่ะ….สรุปแล้ว 1 ปีที่ผ่านมา ครบรอบวันอัลไซเมอร์โลกเกือบจะพอดีเชียว แม้จะเป็นแค่วันวันหนึ่ง แต่ก็เป็นจุดเริ่มหลายอย่างของตัวเองด้วย อนาคตมิอาจคาดเดา ปัจจุบันสำคัญที่สุด สวัสดีค่ะ^^


หมายเลขบันทึก: 653399เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2018 22:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กันยายน 2018 05:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท