ศิลปินอกตรม


สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ผมเรียกมันว่า “สัปดาห์ศิลปินอกตรม”

เริ่มจากเมื่อปลายเดือนที่แล้ว เจ้าจ้าขึ้นรถมาแล้วเล่าให้ฟังอย่างอารมณ์ดี

“พ่อจ๋า ข้าวฟ่างเป็นตัวแทนของโรงเรียนไปประกวดมารยาทไทย” เธอเริ่ม แล้วส่งยิ้มแก้มฉีกมาให้ 

“แล้วลูกว่าไงล่ะ” ผมถามถึงความเห็น และอยากจะรู้มุมมองของเพื่อนที่คลานตามกันมาตั้งแต่ชั้นก่อนอนุบาลที่โรงเรียนนกฮูก

“ออกจะแมนซะอย่างนั้น เดี๋ยวนี้ฟ่างเป็นนักบาสเต็มตัวแล้ว” เธอวิเคราะห์แล้วยังคงยิ้มแก้มฉีกอยู่นั่น

และเพียงสัปดาห์หนึ่งผ่านไป

“พ่อ” เธอเรียกผม แล้วทำท่าเหม่อลอยออกไปรอกรถ

“ฟ่างต้องไปแข่งบาสที่ต่างจังหวัด” เธอยังคงเว้นช่องไฟยาวๆ

“แล้วไง ชีวิตลูกก็ไม่ได้เปลี่ยนไปเลยไม่ใช่หรือ” ผมแปลกใจ ที่วันนี้ลูกสาวดูไม่ค่อยรื่นเริง จะว่ามันคงรู้สึกคิดถึงเพื่อนก็ไม่น่าจะใช่นัก

“เมื่อช่วงบ่าย จ้าเดินออกไปนอกห้อง แล้วถูกครูเรียกไปพบ” เธอถอนหายใจ

“ครูให้จ้าไปประกวดมารยาทแทนฟ่าง”

...

...

“เฮ้อ”

“ถอนหายใจดังไปมั้ยลูก” ผมแซว

“ก็จ้าไม่อยากไป มันไม่ใช่แนวมั้ย”เสียงลูกตัดพ้อออกมา 

“เอาเถอะลูก ขำๆ ไปหาประสบการณ์” 

ผมบอกลูกไป พร้อมกับมองเห็นภาพตัวเองเมื่อครั้งเรียนขั้นประถมที่อนุบาลสุราษฎร์ธานีตราดอกบัวสีชมพู 

สมัยนั้นผมฮ้อตมาก กิจกรรมอะไรมีเข้ามาเป็นต้องถูกครูเรียกไปเข้าร่วม ตั้งแต่รำวันเด็ก “แซซี้อ้ายลื่อเจ็กนั้ง เป็นตายพี่ก็ยังรักเธอ.....” เสียงสุรพล สมบัติเจริญดังแว่วเข้าในโสตประสาท “จากยอดดอย” เพลงที่อุตส่าห์ซ้อม แม่ไปซื้อปืน M16 มาให้ใช้ประกอบเพลง แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้เต้นเพลงนี้ เพราะไข้สูงต้องนอนหายใจรวยรินอยู่ที่บ้าน “แว่วเสียงนางและหนุ่มนาข้าวสาวนาเกลือ” เต้นชุดเดียวใช้ถึง ๒ เพลงตอนป.๖ ได้จับมือสาวเต้นรำ หัวใจละลาย

ไหนจะงานเปิดอาคารเรียน ที่ต้องแต่งชุดไทยแสดงเป็นคุณตารดน้ำสังข์ให้หลาน อาศัยที่ตอนนั้นใส่แว่นออกทรงแก่ ครูถูกใจ เลยให้แสดงเป็นคนแก่พ้นไป

ทุกงาน ผมเต็มใจ แต่มีงานหนึ่ง ที่ผมยังจำได้จนถึงทุกวันนี้

................

“พ่อ แล้วจ้าจะทำยังไงดี” เจ้าตัวชอบขอความเห็นแบบนี้ ซึ่งผมเข้าใจดีว่า มันคือการบ่นพึมพัมมากไปกว่าการขอความเห็นอย่างจริงๆจังๆ

“ขำๆนะลูก ไปเถอะ” ผมตอบ

หายโวยวายไปได้ไม่กี่วัน คราวนี้ขึ้นรถมาด้วยสีหน้าแช่มชื่น

“พ่อ ครูให้จ้าไปแข่งศิลปะด้วยนะ” นั่นแน่ งานอย่างนี้สิถึงจะเป็นความถนัดและงานรักของเธอ

“แต่ว่ามันเป็นภาพตัดปะนะพ่อ จ้าก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันจะเป็นยังไง แต่จ้าว่ามันน่าสนุกมาก อันที่จริงจ้าอยากไปแข่งวาดรูปมากกว่า แต่ครูให้แข่งรายการนี้” เธอยังคงเล่ามา หน้าตากับอารมณ์พริ้วไป

แต่ความพริ้วมันหายไปเร็วมาก เพราะวันต่อมาเธอหน้าเปลี่ยนไปเสียแล้ว

“เกิดอะไรขึ้นครับลูก” ผมถามออกไปก่อน

“จ้าว่ามันไม่ใช่อ่ะ มันยากจัง จ้าไม่รู้ว่าวัสดุที่จะใช้นั้นมันต้องใช้อะไรบ้าง เค้าให้ใช้เฉพาะวัสดุจากธรรมชาติเท่านั้น จ้าไม่รู้เรื่องอะไรแบบนี้เลยนะพ่อ” เธอออกจะแสดงอาการวิตกมากไปนิด

“เอาเหอะ ขำๆน่ะลูก ประสบการณ์ใหม่ ลองไปดู” ผมประโลมใจเธอ

จนล่วงมาจนถึงสัปดาห์นี้นี่เอง ผมรู้สึกว่าลูกไม่ค่อยจะมีความสุขเท่าไหร่นัก จะว่าไป ไอ้การประกวดมารยาทนั้นน่ะ เธอดูผ่อนคลายกว่า เพราะได้มีโอกาสซ้อมที่โรงเรียนบ้าง มาแสดงให้แม่ดูบ้าง แต่ไอ้การแข่งขันปะภาพนั่นน่ะสิ ท่าทางมันจะกวนใจศิลปินอย่างเธอมาก

วันพุธเที่ยง

“พ่อจ๋า กราบโต๊ะหมู่บูชาทำยังไง” เสียงส่งมาทางโทรศัพท์ท่าทางกังวล

“รอพ่อแป๊บนึงนะลูก” ว่าแล้วผมก็รีบโทรศัพท์ไปหาชัชชัย (ผมยังจำชื่อใหม่ของเค้าไม่ได้สักที) เพื่อนสนิทที่เป็นพหูสูตรในเรื่องแบบนี้

“เราต้องทำความเคารพ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตามลำดับ โค้งเคารพธงชาติทั้งหญิงชาย ไหว้พระให้นิ้วอยู่ระหว่างคิ้ว แล้วค่อยๆหันมาถอนสายบัวหน้าพระรูป” ชัชชัยตอบมาอย่างรวดเร็ว แล้วผมก็ส่งข้อความนี้ไปให้น้องจ้า

“พ่อจ๋า เค้าให้นั่งกราบพระ ไม่ใช่ยืน” น้ำเสียงของลูกกังวลมากขึ้นไปอีก ผมรู้สึกขำ มันก็เหมือนกับผมคราวนั้นนั่นแหละ

“รอแป๊บ” แหม..มันคงเห็นพ่อเป็นสารานุกรมล่ะกระมัง

คราวนี้ผมจึงต้องพึ่งกูเกิ้ล และโชคดีที่ใน gotoknow มีคนเขียนเรื่องนี้

“กราบเบญจางคประดิษฐ์ แล้วยืนขึ้น ถอยหลังสักนิด และให้โค้งพระได้เลยโดยที่ไม่ต้องหันไปหาธงชาติทีหนึ่ง พระมหากษัตริย์ทีหนึ่ง” ผมส่งข้อความไป

เธอเงียบหายไปกว่า ๒ ชั่วโมง นั่นคงเพราะเป็นเวลาที่ต้องประกวด

“พ่อจ๋า เสร็จแล้ว” เสียงใสมาเชียว

“แล้วเป็นไง” ผมคงอยากรู้ไปตามเรื่องตามราว

“มันพังมากเลยพ่อ” เจ้าตัวระเบิดเสียงหัวเราะออกมาอย่างสดชื่น

“จ้ากับเพื่อนก็ทำได้นะ แต่ว่าเราทำไม่ค่อยพร้อมกันเท่าไหร่ นั่นมันคะแนนหลักเลยนะพ่อ” เจ้าตัวแจ้งมา

“เอาเหอะ ขำๆน่ะลูก พ่อว่าลูกมีความสุขดีอยู่” 

วันพฤหัสบดีสีดำหม่น

จ้าขออยู่โรงเรียนเพื่อซ้อมการวาดและปะรูป ผมไปรับเธอหลังจากปิดร้านแล้ว

“พ่อ จ้าเครียด” เสียงโอดครวญระทวยระทมจิตส่งมาตามสายตั้งแต่ผมเริ่มออกรถไปรับเธอ

“จ้าว่าจ้าไม่รู้เรื่องอะไรเลย ไม่รู้จะเอาอะไรมาปะติดในรูปดี ที่ซ้อมมาตั้งแต่ตอนเย็นมันไม่ได้อะไรเลยนะพ่อ” ว่าแล้วเธอก็ร้องไห้สะอื้นส่งมาตามสาย

แล้วจะให้ผมทำยังไงล่ะครับ นอกเสียจากเหยียบคันเร่งให้รถไปถึงลูกสาวเร็วๆ

อันที่จริง ผมก็มีอะไรอยู่ในหัวบ้างเหมือนกันนะ

“ไป เราไปกินไอติมกันก่อน หยุดเศร้า หยุดคิดมาก” ผมชวนเธอไปร้านไอติมสุดโปรดหลังมหาวิทยาลัย

เธอเครียดพอสมควร ที่ไม่สามารถทำรูปภาพออกมาให้ได้ดั่งใจ ภาพเจดีย์ ตลาดน้ำ และรถตุ๊กๆ เมื่อถูกปะด้วยวัสดุที่เตรียมมา มันดูไม่ได้เรื่องได้ราว เธอไม่รู้ว่าจะหาอะไรมาเป็นวัตถุดิบดีนอกไปจาก ถั่วเขียว ถั่วแดง ดอกอัญชัน และฝักกระถิน

“พ่อดูนี่ ผลงานคนอื่นที่ผ่านมาที่โชว์ในเน็ต” เธอเปิดรูปให้ผมดูภาพต่างๆ โอ้โห มันเจ๋งมาก แต่ละชิ้นงานนี้มันจัดการแสดงผลงานได้เลย

“แล้วของลูกล่ะ” ผมถาม และคำตอบคือน้ำตาหยดเปาะ 

“จ้าไม่รู้จะทำยังไง เกิดมาก็ไม่เคยทำแบบนี้ นอกจากเรียนกับพี่ฝนตอนเด็กๆ ตอนนั้นมันยังเด็กมากเลยนะพ่อ และที่เค้าทำๆกันมามันเลิศมากเลย” เธอเข็ดขี้มูกและน้ำตา ทิ้งรอยคราบขี้มูกใสๆไว้ที่หางตาซ้ายนิดๆ ตักไอติมรสโปรดเข้าปาก

“เดี๋ยวพ่อช่วย” ประโยคแบบนี้ น่าจะดีกว่าคำปลอบใจ

แล้วเรา ๒ คนก็เดินไปห้างโลตัสกัน

ถั่วเขียว ถั่วแดง งาดำ ถูกหยิบลงตะกร้า

“ลูกครับ เรามีของให้เอาไปเล่นอีกเพียบ” ผมเสนอไอเดียที่คิดมาตั้งแต่ตอนเริ่มออกรถมารับลูก และเฉลยออกมาเมื่อเรามาถึงบ้าน

“เราสามารถใช้ลูกหมากที่ร่วงๆลงมาได้” ผมหมายถึงลูกปาล์มน้ำพุที่บ้าน ที่มีผลสีแดงสด และผลแห้งเป็นสีน้ำตาลเหี่ยวๆ 

“ไป ออกไปเก็บกัน” 

ได้ลูกหมากมาถ้วยใหญ่ แล้วเราก็ไปส่องหาดอกหญ้าแห้งๆได้มาหลายดอก ผมตัดก้านทะลายหมากที่มันดูหงิกๆงอๆแต่ทรงมันงามมาก

“อันนี้น่าจะใช้ได้นะลูก” เธอพยักหน้าตาลุกวาว

“พ่อว่าเมล็ดกาแฟก็น่าสนนะลูก” แล้วผมก็ปั่นเมล็ดกาแฟเพิ่มอีกนิด

“สีน้ำตาลเข้มอย่างผงกาแฟนี้มันสวยมากเลย หอมด้วย” ผมแจ้งออกมา

“แต่จ้าว่ามันแพงไป” โถ อุตส่าห์เกรงใจ

“ส่วนสีเหลือง เราสามารถใช้ผงขมิ้นได้นะลูก ไอ้ผงที่แม่ทาหน้าคราวก่อนแล้วมันเหลืองจนล้างแทบไม่ออกน่ะ” เธอระเบิดเสียงหัวเราะขึ้นมาอีกรอบ และไอ้ผงขมิ้นกระปุกนั้นมันก็ไม่ถูกใช้งานอีกเลย

“ใบตองแห้งมันก็ดีนะลูก เรียบและเหนียว น่าจะตัดปะได้ง่าย แถมเอามันมาถักเปียก็ได้” ผมเสนอ

“จริงด้วยพ่อ จ้ากำลังคิดอยู่เลย ว่าจะทำยังไงกับหัวเด็กนั่งตุ๊กๆดี” 

“เออ แต่พ่อว่า ลูกตัดผมลูกมาทำเลย” ผมหรี่ตาเย้าเธอ

เกือบ ๔ ทุ่ม เราจึงเตรียมวัตถุดิบเรียบร้อย

“เตรียมแต่ของไป แล้วค่อยไปคิดเอานะพ่อ ว่าจะใช้อะไรทำอะไรบ้าง” เธอกำลังหมายถึงการด้นสด

“ดีจัง มีพ่อเก่งก็ดีแบบเนี้ยะ” เธอมองหน้าพ่อมัน แล้วเดินขึ้นห้องไป ปล่อยให้ผมยืนงงงง ว่าเมื่อกี๊ได้ยิน

อะไรไป

แม่ง..ตัวลอย

วันศุกร์

ผมส่งข้อความไปให้ลูก

“ถ้าลูกคิดเสียว่าขำๆ มันก็แค่ศิลปะ

อย่าไปแคร์รางวัลหรือหน้าตา ลูกละเลงไป อยากทำอะไรก็ทำไป ขอเพียงสนุกกับมันไง

อย่าลืม มันคือศิลปะ”

“ครับผม” เธอส่งข้อความกลับมา

“พ่อมีลูกชาย?” ผมตอบกลับ

ตกช่วงบ่าย เสียงโทรศัพท์ก็ดังเข้ามา

“พ่อจ๋า เสร็จแล้ว มันพังมากจริงๆ จ้าอายมากเลย เพราะงานของจ้ามันดูไม่ได้เลย” น้ำเสียงท่าทางผิดหวัง แต่เสียงมันใสกว่าเมื่อวานมาก

“แล้วของโรงเรียนอื่นล่ะลูก” ผมสงสัย

“มันสวยขั้นเทพเลยพ่อ วัสดุก็หลากหลายมากๆ รูปก็คล้ายๆกับที่จ้าให้พ่อดูเมื่อวานไง” ผมนึกภาพออก และนึกออกด้วยว่า เด็กๆทีมเหล่านั้นคงได้รับการฝึกฝนกันมาจนชำนาญขนาดไหน

“จ้ารู้สึกอายนะพ่อ” เธอเสียงแผ่วลง

“ฮ่าๆ ก็แค่ขำๆไงลูก สนุกดี” ผมรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ

...............

ตอนนั้นผมอยู่ป.๖ ถูกจับให้ไปเป็นตัวแทนโรงเรียนเพื่อ “ประกวดร้องเพลงปลุกใจ”

โห..ร้องเพลงหมู่บนเวทีที่สนามหน้าศาลากลางเก่า (มันคือสนามศาลหลักเมืองสุราษฎร์ฯในตอนนี้)

น่าสนุกสิครับ ร้องเพลงปลุกใจเชียวนะ แต่ก็ตะหงิดๆ ว่าเพลงที่ครูให้ฝึกนั้น มันคือเพลงปลุกใจตรงไหนวะ

ในวันประกวด

“ต้นตระกูลไทย ใจช่างเหี้ยมหาญ รักษาดินแดนไทย ไว้ให้ลูกหลาน...” เพลงต้นตระกูลไทย ถูกใช้หลายโรงเรียน มันช่างเหี้ยมหาญนัก

“บรรพบุรุษของไทยแต่โบราณ ปกบ้านป้องเมืองคุ้มเหย้า...” เพลง “เราสู้” ก็ถูกใช้โดยหลายทีม มันช่างปลุกเร้าใจยิ่งนัก

“ศึกบางระจันจำให้มั่นพี่น้องชาติไทย...” นั่น ศึกบางระจันก็มีมา 

“ตื่นเถิดชาวไทย อย่ามัวหลับไหลลุ่มหลง ชาติจะเรืองดำรง ก็เพราะเราทั้งหลาย..” เพลงนี้ก็มี

ผมเริ่มเหงื่อซึม

รู้สึกตะหงิดตะหงิดตั้งแต่ซ้อมมาพักหนึ่งแล้ว เพลงที่ครูซ้อมให้ร้องมานั้น มันปลุกใจตรงไหนวะ ไอ้ความฮึกเหิมที่ผ่านมามันกลายเป็นแป้วๆชอบกล 

“ขอเชิญตัวแทนจากโรงเรียนอนุบาลสุราษฎร์ธานีขึ้นมาร้องเพลงปลุกใจได้เลยครับ” เสียงพิธีกรเรียกทีมเรา

บนเวที แดดส่งพอให้อุ่นๆ ผมเหงื่อเริ่มชุ่มตัว หัวใจมันสั่นพริ้ว แล้วก็ร้องเพลงออกไป

“ตื่นเถิดพวกเรา มาเชียร์พเยาว์เด็กไทย ตื่นเถิดพวกเรา มาเชียร์พเยาว์เด็กไทย...” พวกผมร้องเพลงปลุกใจไปเชียร์พเยาว์ พูนธรัตน์ ในวันขึ้นชกมวยในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ร้องไป ยกมือทำท่าเชียร์อย่างหนักแน่น ดูน่าเกรงขาม แต่ในใจผมกลับร้อนรุ่ม อับอาย และอยากกระโดดลงจากเวทีเสียไวไว

ธนพันธ์ ชูบุญมาเชียร์พเยาว์เด็กไทย

๙ กย ๖๑

หมายเลขบันทึก: 652144เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2018 18:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กันยายน 2018 18:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สอนลูกได้สุดยอดค่ะ จนลูกชมแค่นี้คุ้มแล้วค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท