Megatrend การศึกษาไทย


การจัดการเชิงระบบต้องอาศัยข้อมูลหลักฐานที่ถูกต้องแม่นยำ ไม่ใช่คิดๆ เอาโดยใช้ตรรกะเท่านั้น

ในการประชุม คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๑    วาระเรื่อง ผลการวิเคราะห์โรงเรียนขนาดเล็ก แนวทางแก้ไข และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับบทบาทของ กสศ. โดย ดร. ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักวิชาการของธนาคารโลก    ท่านกล่าวแล้วกล่าวอีก ว่ามีข้อมูล และรายงานเตือนเรื่องการเปลี่ยนสภาพด้านประชากร(demographic change)    ที่เด็กจะเกิดน้อยลง มีผลต่อการจัดการระบบการศึกษาของไทย   เป็นระยะๆ ในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมา    แต่ไม่มีการจัดการเชิงระบบของประเทศไทย   ปล่อยให้ปัญหาสะสมจนกลายเป็นวิกฤติคุณภาพการศึกษา  ซึ่งโยงกับวิกฤติโรงเรียนขนาดเล็กในปัจจุบัน  

ใน PowerPoint นำเสนอแผ่นหนึ่ง ระบุรายงานเรื่อง Growing Smarter : Learning and Equitable Development in East Asia and Pacific ของธนาคารโลก ที่เพิ่งตีพิมพ์เผยแพร่เร็วๆ นี้    ที่มีทั้งฉบับเต็ม และฉบับย่อ (Overview) (1)  

สาระในการประชุม และสาระในรายงานฉบับย่อ    ทำให้ผมใคร่ครวญสะท้อนคิดว่า     ทุกประเทศต้องการกลไกเชิงปัญญา ในการทำความเข้าใจ “แนวโน้มใหญ่” (Megetrend)ของประเทศ ในทุกด้าน    นำมาใช้ในการปรับตัวเชิงระบบของประเทศ เสียตั้งแต่เนิ่นๆ    เพื่อไม่ให้ปัญหาสะสมต่อเนื่อง จนกลายเป็นแรงต่อต้านการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ   อย่างที่ระบบการศึกษาไทยกำลังเป็นอยู่ในขณะนี้   

ที่จริงการทำงานวิจัยเชิงระบบในระดับประเทศ ไม่ใช่เรื่องยากเกินกำลังความสามารถ   เพราะเรามีกลไกระดับโลก หลายกลไก ทำงานอยู่ด้วย   ดังกรณีด้านการศึกษาที่มีธนาคารโลกทำงานและเสนอรายงานดังกล่าว    และยังมี UNESCO, UNICEF, EU และอื่นๆ   เราสามารถเข้าไปร่วมมือกับเขาแบบเคียงบ่าเคียงไหล่ได้    ดังตัวอย่างการพัฒนา National Education Account (2)ที่ สสค. และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าไปร่วม    ทำให้ได้ข้อมูลหลักฐานที่มีคุณค่ามากมาย ทั้งในมิติภาพใหญ่  และมิติรายละเอียด ที่จะนำมาใช้ปรับระบบการศึกษาของเราได้           

การจัดการการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบของประเทศไทย ที่ประสบความสำเร็จ จนเป็นที่ยกย่องไปทั่วโลก คือระบบสาธารณสุขหรือระบบสุขภาพ    ที่เรามีระบบคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้า ที่ทำงานได้ผลดี   เป็นตัวอย่างแก่ประเทศอื่นๆ ที่มีระดับเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในระดับเดียวกันกับประเทศไทย    และต่างชาติยิ่งสรรเสริญหนัก ที่เรากล้าดำเนินการระบบคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้าแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเมื่อ ๑๖ ปีที่แล้ว ทั้งๆ ที่องค์การอนามัยโลกห้าม (เขาเกรงว่าเราจะสู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว)  เรากล้าทำเพราะเรามีข้อมูลหลักฐานจากงานวิจัยเชิงระบบ ที่สนับสนุนโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข  ดำเนินการโดยมี นพ. วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร เป็นหัวหน้า    มี นพ. สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ (ผู้ล่วงลับ) ดำเนินการทดลองในพื้นที่เล็กๆ     

การจัดการเชิงระบบต้องอาศัยข้อมูลหลักฐานที่ถูกต้องแม่นยำ    ไม่ใช่คิดๆ เอาโดยใช้ตรรกะเท่านั้น  

กลับมาที่ระบบการศึกษา และรายงานของธนาคารโลกชิ้นที่กล่าวถึง   แค่อ่านหัวข้อของรายงานฉบับย่อ 

·     Align institutions to ensure basic conditions for learning 

·     Concentrate effective, equity-minded public spending on basic education 

·     Select and support teachers throughout their careers to allow them to focus on the classroom 

·     Ensure that children are ready to learn in school 

·     Assess students to diagnose issues and inform instruction 

ก็เห็นประเด็นภาพใหญ่ที่เราต้องเปลี่ยน   ทั้งในระดับโครงสร้าง  การจัดการ และวัฒนธรรมองค์กร หรือวัฒนธรรมวิชาชีพ    เพราะตาม ๕ bullet point ข้างบน    เราเดินผิดทางทั้งสิ้น    รายงานนี้จี้ถูกที่คันจริงๆ  

ผมตีความว่า สิ่งที่เราต้องเอาชนะคือ Know – Do Gap 

วิจารณ์ พานิช           

๘ ก.ย. ๖๑

 

หมายเลขบันทึก: 651988เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2018 08:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กันยายน 2018 08:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท