วิจัยชั้นเรียนเปลี่ยนครู : 4. ทำความเข้าใจวิธีปฏิบัติของตนเอง



ตอนที่ ๔ ทำความเข้าใจวิธีปฏิบัติของตนเอง นี้ ตีความจากบทที่ 3 How can I develop better understanding of my practice? เขียนโดย Mairin Glenn, Teaching Principal, Inver National School, Co. Mayo, Ireland    โดยที่ตอนที่ ๔ และ ๕ ของหนังสือ วิจัยชั้นเรียนเปลี่ยนครู อยู่ใน Part 2 : Critical thinking about practice ของหนังสือ Enhancing Practice through Classroom Research  และเขียนโดย Mairin Glenn ทั้งสองบท    

ที่จริงหนังสือ Enhancing Practice through Classroom Research เดินเรื่องด้วยการตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวครูเอง    เพื่อให้ครูไตร่ตรองสะท้อนคิดอย่างจริงจัง อันจะนำไปสู่การพัฒนาตนเอง ทั้งภาคปฏิบัติและภาคความเข้าใจ ให้เปลี่ยนแปลงในระดับรากฐาน (transform)   ตัวอย่างคำถามเช่น

ฉันมีข้อกังวลอะไรหรือ    ทำไมฉันจึงสนใจในการปฏิบัติของตัวฉันเอง

เส้นทางสู่ความเข้าใจที่ครูต้องการไม่ได้เป็นเส้นตรง และไม่ราบเรียบ    เต็มไปด้วยเรื่องราว ที่หากไม่บันทึกไว้  และไม่นำมาใคร่ครวญสะท้อนคิดอย่างจริงจัง ก็จะผ่านเลยไปอย่างไร้ค่า    แต่หากรู้จักนำมาสร้างคุณค่าต่อการเปลี่ยนแปลงตนเอง เปลี่ยนแปลงชั้นเรียนที่ตนสอน เปลี่ยนแปลงวิธีพัฒนาตัวศิษย์  เปลี่ยนแปลงทฤษฎีการศึกษา. และเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา ก็จะเกิดคุณประโยชน์ต่อสังคมอย่างมหาศาล

สาระในตอนที่ ๔ นี้มี ๓ ประการ

  • บทบาทของการใคร่ครวญสะท้อนคิดต่อการวิจัยตนเอง
  • บันทึกการใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflective journal) ช่วยเพิ่มพลังของการใคร่ครวญสะท้อนคิดอย่างไร
  • ความสำคัญของการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking)

บทนำ

การวิจัยปฏิบัติการศึกษาตนเองของครู มีเป้าหมายหลัก ๓ ประการคือ  (๑) เปลี่ยนแปลงวิธีปฏิบัติของครู  (๒) เปลี่ยนแปลงความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัตินั้น  และ (๓) เพื่อสร้างทฤษฎีใหม่    โดยมีจุดเริ่มต้นที่ข้อวิตกกังวล หรือเรื่องที่ครู “ค้างคาใจ”   ที่ครูนำมาใคร่ครวญสะท้อนคิดต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อนำไปสู่โจทย์วิจัย   

การใคร่ครวญสะท้อนคิด ทำในหลายบริบท  ทั้งเมื่ออยู่เงียบๆ คนเดียว  ทำร่วมกับเพื่อนครู  เมื่อได้รับการกระตุ้นหรือกระตุกจากอาจารย์ที่ปรึกษาหรือ mentor    และเมื่อได้อ่านเอกสารวิชาการด้านการศึกษา    ทักษะการใคร่ครวญสะท้อนคิดที่ครู (และคนที่ต้องการพัฒนาตัวเอง) พึงฝึกคือ การใคร่ครวญสะท้อนคิดอย่างลึก (deep reflection)    

 คำถามเริ่มต้นอาจได้แก่

  • ทำไมฉันจึงค้างคาใจกับเรื่องนี้
  • ทำไมฉันจึงทำสิ่งที่ฉันกำลังทำอยู่
  • ฉันจะทำความเข้าใจต่องานของฉันให้ดีกว่านี้ได้อย่างไร
  • ฯลฯ

เส้นทางการวิจัยที่ไม่เป็นเส้นตรง และไม่ราบเรียบ  

               นี่คือคำเตือนจากประสบการณ์จริงครั้งแล้วครั้งเล่า    ว่าการวิจัยแบบ “วิจัยปฏิบัติการ” (action research) ไม่ใช่กิจกรรมที่ดำเนินการตามแบบแผนตายตัว    และไม่สามารถกำหนดแผนล่วงหน้าและดำเนินการตามแผนอย่างเคร่งครัดได้   

เส้นทางการวิจัยก็อาจไม่เป็นไปตามขั้นตอน เริ่มต้น  กลางทาง และจุดสิ้นสุด    เพราะจุดจบของโครงการอาจนำไปสู่ประเด็นวิจัยใหม่    และการวิจัยอาจไม่ได้เริ่มจากจุดเริ่มต้นโครงการ แต่เริ่มที่กลางทาง แล้วค่อยย้อนไปที่จุดเริ่มต้น    ฯลฯ

การวิจัยมีหลายชั้น หลายมิติ และถักทอกันทั้งอย่างมีแบบแผนและอย่างยุ่งเหยิง    การแก้ปัญหาระหว่างทางเป็นเรื่องธรรมดา    และบางครั้งการแก้ปัญหานั้นเองกลายเป็น “วิธีวิทยาการวิจัย” (research methodology) 

กล่าวได้ว่า การวิจัยปฏิบัติการ มีลักษณะเป็น “เกลียวสว่าน” (spiral) ที่ไม่มีจุดจบ

ทำไมฉันทำสิ่งที่ฉันทำอยู่

คำถามง่ายๆ ตามชื่อหัวข้อข้างบน    เมื่อต้องการหาคำตอบอย่างจริงจัง    กลับหาได้ไม่ง่าย    และอาจกลายเป็นข้อค้างคาใจของครูจำนวนหนึ่ง    ซึ่งผู้เขียนเป็นคนหนึ่งในจำนวนนั้น    ผมมีความเห็นว่า ใครก็ตามที่หมั่นครุ่นคิดหาคำตอบต่อคำถามนี้ จะมีชีวิตการงานที่ก้าวหน้า เจริญรุ่งเรือง   

ตัวอย่างคำถามที่จำเพาะยิ่งขึ้น

  • ทำไมฉันจึงปฏิบัติอย่างที่ทำอยู่ทุกวันในชั้นเรียนที่ฉันสอน
  • ทำไมฉันรู้สึกค้างคาใจต่อบางประเด็นของงาน 

คิดให้ลึก

ผู้เขียนใช้วิธีเล่าขั้นตอนการฝึกคิดให้ลึก (thinking critically) ของตนเองระหว่างทำหน้าที่เป็นครูชั้นประถมในพื้นที่ห่างไกลใน แคว้นไอร์แลนด์ของสหราชอาณาจักร    และกำลังสนใจใช้เทคโนโลยี ดิจิตัล ช่วยการเรียนการสอน โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาช่วยตั้งคำถามเชิง scaffolding ให้ เช่น การนำ CoP ไปไว้บนพื้นที่ ไซเบอร์ มีประโยชน์อย่างไร    ทำไมเธอจึงต้องการส่งเสริมให้คนอื่นแชร์ ไอเดีย กัน    

 จากการฝึกฝนบ่อยๆ ในที่สุดผู้เขียน (Mairin Glenn) ก็ตั้งคำถามได้คล่อง    โดยมีคำถามสำคัญคือ ทำไมฉันจึงทำสิ่งที่กำลังทำอยู่    ทำไมฉันจึงค้างคาใจกับการใช้เทคโนโลยีช่วยการสอนและการเรียน    ทำไมเรื่องนี้จึงมีความสำคัญต่อฉัน   สิ่งที่ฉันทำแตกต่างจากที่ครูโรงเรียนใกล้เคียงทำ อย่างไรบ้าง

เครื่องมือช่วยให้คิดอย่างลึกได้แก่ บันทึกการสะท้อนคิด (reflective journal)    การอ่านเอกสารวิชาการด้านการศึกษา  การแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับเพื่อนครู  เพื่อนนักวิจัย  อาจารย์ที่ปรึกษา  และเพื่อนในวงอื่นๆ ที่เอาจริงเอาจัง

หลังจากฝึกคิดให้ลึก ผู้เขียนก็เข้าใจว่า การเปลี่ยนแปลงวิธีปฏิบัติการสอนในชั้นเรียนของตนเกิดจากการเปลี่ยนแปลงเชิงลึกที่อธิบายไม่ได้ (tacit)  แต่ต่อมาอธิบายได้ชัดเจน    ว่าเกิดจากคุณค่าด้าน ontological และด้าน epistemological เชื่อมโยงกับการศึกษาแบบ holistic    และค่อยๆ เข้าใจว่าตนเองได้ใช้คุณค่าของความรักและเอื้ออาทรในการสร้างความเชื่อมโยงกับผู้คนและสภาพแวดล้อมของคนเหล่านั้น   

ผู้เขียนได้สร้างความเชื่อมโยงระหว่างชีวิตในห้องเรียนกับชีวิตนอกห้องเรียน    ระหว่างนักเรียนกับตนเอง    ระหว่างโรงเรียนกับครอบครัวและชุมชนโดยรอบ   ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนโลก    ระหว่างถ้อยคำบอกธรรมชาติ และถ้อยคำที่บอกการเรียนรู้   ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่   และอื่นๆ   

กระบวนการข้างต้นได้สร้างการเปลี่ยนแปลงแบบเกิดจากปัญญาญาณ (intuitive change) ให้แก่ผู้เขียน    และนำไปสู่ความรู้สึกค้างคาใจของผู้เขียน           

การใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection)    

วิธีใช้การใคร่ครวญสะท้อนคิดให้มีพลังเริ่มจากการมีสมุดบันทึก reflection in action    บันทึกเรื่องราวและการสะท้อนคิดคร่าวๆ เดี๋ยวนั้น   แล้วค่อยนำมาอ่านทบทวนและไต่ตรองสะท้อนคิดอย่างละเอียดและมองจากหลากหลายมุมในภายหลังเมื่อมีโอกาส  

เขาอ้างถึงหนังสือ A Handbook of Reflective and Experiential Learning : Theory and Practice. (2004) เขียนโดย Moon J.   ที่พัฒนาต่อจากบทความ Hatton N & Smith D (1995). Reflection in teacher education : Towards definition and implementation. Teaching and Teacher Education 11 (1) : 33–49. January 1995.  ว่าการใคร่ครวญสะท้อนคิดอย่างเป็นระบบ มี ๔ ขั้นตอนดังนี้  (๑) การเขียนบรรยาย (descriptive writing)  (๒) การเขียนบรรยายการสะท้อนคิด (descriptive reflection)  (๓) การสะท้อนคิดจากหลากหลายมุม (dialogic reflection),  และ (๔) การสะท้อนคิดอย่างลึกซึ้ง (critical reflection)

การใคร่ครวญสะท้อนคิดใช้เรื่องราวและข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงเป็นข้อมูล สำหรับนำมาตีความในกระบวนการสะท้อนคิด    การเก็บข้อมูลโดยตัวครูเองคนเดียว ย่อมได้ข้อมูลและมุมมองไม่ครบถ้วน    จึงมีคำแนะนำให้เก็บข้อมูลชั้นเรียนด้วยการบันทึกวิดีทัศน์    รวมทั้งการขอให้เพื่อนครูช่วยเข้าไปสังเกตชั้นเรียน เป็น feedback ให้แก่ตน    ผมตกใจที่ข้อความในหนังสือบอกว่า การขอให้เพื่อนครูเข้าสังเกตชั้นเรียนต้องระมัดระวังว่าได้ขออนุมัติตามข้อกำหนดทางจริยธรรมในห้องเรียน  ที่ดำเนินการต่อเด็ก    นั่นคือสถานการณ์ในโลกตะวันตก    แต่ก็ไม่แน่ว่าวัฒนธรรมเน้นปกป้องสิทธิเด็กแบบดังกล่าว ต่อไปอาจระบาดมาถึงประเทศไทยก็ได้  

 

 

  

ใคร่ครวญสะท้อนคิดอย่างลึกซึ้ง (critical reflection)  

การใคร่ครวญสะท้อนคิดอย่างลึกซึ้ง ซึ่งหมายถึงให้ความหมายที่ลึกซึ้งกว้างขวาง  ต้องการการคิดอย่างลึกซึ้ง และหลากหลายแง่มุม ซึ่งเป็นทักษะที่ต้องฝึก    

มีคนทำวิจัยตรวจสอบคุณภาพของบันทึกการสะท้อนคิดของครู    และพบว่าส่วนใหญ่ไม่ลึกซึ้ง ไม่เป็นผลของการสะท้อนคิดอย่างลึกซึ้ง    คือเป็นเพียงข้อเขียนแก้ปัญหาทั่วๆ ไปในห้องเรียน    ขาดการไตร่ตรองใคร่ครวญจับประเด็นและตีความอย่างลึกซึ้ง  

การเขียนเอกสารการสะท้อนคิดควรมีรูปแบบ    โดยอาจเริ่มเขียนตามที่คุ้นเคย    หลังจากทำไปได้ไม่กี่ครั้ง ก็จะพอจับภาพได้ว่าโครงสร้างของการเขียนข้อสะท้อนคิดที่ดีในบริบทงานของตนควรเป็นอย่างไร    หลักการทั่วไปคือ  (๑) เขียนระบุสภาพปัจจุบัน และบอกคุณค่าของงาน  (๒) ระบุปัญหา   (๓) ตั้งคำถามว่าทำไมเรื่องนั้นจึงสำคัญสำหรับตน  (๔) คิดแบบขุดค้นลงไปใต้เรื่องราวที่เห็นโดยทั่วไป  (๕) ระบุว่าต่อไปจะปฏิบัติต่างออกไปอย่างไร  ด้วยเหตุผลอะไร 

ผู้เขียนแนะนำว่า ให้ครูอ่านข้อเขียนสะท้อนคิดของตนเองอย่างพินิจพิเคราะห์ และตั้งคำถามว่า ตนเองจะหลีกเลี่ยงจากการทำงานแบบที่ทำไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการตั้งคำถาม ไม่มีการใคร่ครวญอย่างจริงจัง ได้อย่างไร    ให้อ่านทบทวนข้อเขียนสะท้อนคิดของตนเอง และตรวจสอบว่ามีสมมติฐานแบบตื้นๆ หรือไม่ได้ตรวจสอบให้ชัดเจน อยู่หรือไม่   และตนเองจะปรับปรุงอย่างไร       

Praxis     

คำว่า praxis เมื่อเปิดพจนานุกรมก็ได้คำแปลว่า practice หรือการปฏิบัติ    แต่ในที่นี้เป็นวิสามานยนาม หรือศัพท์เฉพาะ เสนอโดย Car W & Kemmis S (1986) ในหนังสือ Becoming Critical : Education, Knowledge and Action Research.  อ่านแล้วผมตีความว่า เป็นกระบวนการต่อเนื่องจากการสะท้อนคิด นำไปปฏิบัติ และผลการปฏิบัติป้อนกลับมาเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจหรือทฤษฎีที่เรายึดถือ   ซึ่งจะเป็นที่มาของทฤษฎีที่สรุปจากการปฏิบัติ      

แบบแผนที่ก่อตัวขึ้น   

การบันทึกการใคร่ครวญสะท้อนคิดของครู จากงานอย่างสม่ำเสมอ จะก่อผลที่สังเกตเห็นเองว่า เกิดพัฒนาการบางอย่างขึ้น   มีผู้กล่าวว่า การใคร่ครวญสะท้อนคิดจะช่วยปลดปล่อยครูออกจากการทำงานประจำไปวันๆ    ช่วยให้เกิดมุมมองใหม่ๆ  และเกิดความกระตือรือร้นที่จะทำงานในรูปแบบใหม่ๆ    สำหรับครูที่ยังค้นไม่พบคุณค่าด้าน epistemological และด้าน ontological ที่ตนยึดถือ    การเขียนบันทึกการใคร่ครวญสะท้อนคิดของตน จะช่วยการค้นพบ   ครูที่ค้นพบคุณค่าทั้งสองด้านนั้นของตนแล้ว    บันทึกการสะท้อนคิดจะช่วยบอกว่า การปฏิบัติกับคุณค่าสอดคล้องหรือไปในทางเดียวกันหรือไม่   

เพื่อส่งเสริมให้ผลของการใคร่ครวญสะท้อนคิดก่อผลในทางปฏิบัติ ผู้เขียนแนะนำให้ตั้งคำถามต่อตนเองดังต่อไปนี้

  • ทำไมฉันจึงปฏิบัติอย่างที่กำลังปฏิบัติอยู่
  • ฉันได้ค้นพบประเด็นที่ค้างคาใจหรือสนใจแล้ว   ทำไมประเด็นนี้จึงมีความสำคัญต่อฉัน
  • ฉันต้องการเปลี่ยนวิธีปฏิบัติในเรื่อง ก   เนื่องจาก .... (ให้เหตุผล)
  • ฉันต้องการทำความเข้าใจเรื่อง ข  เนื่องจาก ....
  • ฉันคิดว่าเรื่อง ค  ไม่ยุติธรรม เพราะ.... (ให้เหตุผล)

สู่สานเสวนา และแสวงหาข้อวิพากษ์     

ในการสะท้อนคิดอย่างจริงจังเข้มข้นของครูนั้น  จะให้ได้ผลดีต้องการกัลยาณมิตรอย่างน้อย ๑ คนเป็นเพื่อนคู่คิดด้วยกระบวนการสานเสวนา (dialogue) กันอย่างเจริงเอาจัง    ไม่เกรงใจหรือเอาใจกัน แต่มีความรักและปรารถนาดีและเคารพความเห็นซึ่งกันและกัน    สิ่งที่ต้องการคือ ข้อวิพากษ์ (critique) อย่างสร้างสรรค์   เพื่อให้ตัวครูเองได้เห็นมุมมองที่ต่าง หรือได้เห็นการมองต่างมุม   หรือได้ขยายมุมมองเดิม    รวมทั้งช่วยให้ตัวครูผู้วิจัยได้หลุดออกจากหลุมพรางทางความคิดที่ตนขุดฝังตัวเองอยู่    ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งของการทำงานสร้างสรรค์หรืองานวิจัย 

การเสวนากับ “กัลยาณมิตรคู่ใจ” (แต่ไม่ตามใจ) นี้ ควรบ่อยพอสมควร    หากจำเป็นควรเสวนากันผ่านระบบ ไอที ได้    โดยที่การสานเสวนาควรเน้นตามรูปแบบการสะท้อนคิด    

คำถามที่มีประโยชน์ต่อขั้นตอนนี้คือ

  • ฉันจะกำหนดตัวบุคคลจากเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงาน เพื่อขอให้เป็นกัลยาณมิตรช่วยรับฟังแนวความคิดที่ผุดขึ้น และให้ข้อคิดเห็น ได้อย่างไร
  • ฉันจะทำอย่างไร กัลยาณมิตรที่เลือกจึงจะรับฟังไอเดียที่ยังไม่ค่อยชัดเจนของฉันอย่างเคารพ และเห็นใจ
  • ทำอย่างไร ฉันจึงจะสามารถทำให้กัลยาณมิตรกล้าแสดงความไม่เห็นด้วยกับไอเดียของฉัน  และกล้าให้คำแนะนำให้ปรับปรุง หรือให้ใช้แนวทางที่แตกต่าง  

ในงานวิจัยโดยทั่วไป ขั้นตอนแสวงหาข้อวิพากษ์นี้ทำหลังงานวิจัยเสร็จ    การตีพิมพ์เผยแพร่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาข้อวิพากษ์ดังกล่าว (โดยจะมีผู้อ่านเขียนจดหมายถึงบรรณาธิการ ให้ข้อมูลและ/หรือความเห็น โต้แย้ง/สนับสนุน/เพิ่มเติม จากรายงานผลการวิจัยของเรา)    แต่ในการวิจัยแบบวิจัยปฏิบัติการเพื่อพัฒนาผู้วิจัยเอง ขั้นตอนนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย        

กำหนดให้ “ฉัน” อยู่ในใจกลางของงานวิจัย

ยิ่งกว่ากำหนดให้ “ฉัน” อยู่ในใจกลางของงานวิจัย    แล้ว ยัง กำหนดให้ใช้ “ความรู้สึกของฉัน” เป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนงานวิจัย    ซึ่งตอกย้ำว่า  การวิจัยปฏิบัติการศึกษาตนเองของครู มีลักษณะจำเพาะที่แตกต่างจากงานวิจัยโดยทั่วไปแบบขั้วตรงกันข้าม    คือ การวิจัยปฏิบัติการศึกษาตนเองของครู ดำเนินการอยู่กับ ความเป็นอัตนัย (subjectivity) หรือความรู้สึกนึกคิดของตนเอง    ใช้ความรู้สึกอึดอัดขัดข้องในการทำหน้าที่ครู เป็นพลังขับเคลื่อนการวิจัยและการพัฒนาตนเอง

เขาบอกว่า การวิจัยนี้จะมีพลังได้ ตัวละคร คือ “ตัวฉัน” ต้องเสมือนมีชีวิต และโลดแล่นอยู่ในจักรวาล โลก และพื้นที่ ทางสังคม    “ฉัน” เป็นตัวเอกของละคร แห่งการเปลี่ยนแปลง “ตัวฉัน” เพื่อเปลี่ยนแปลงจักรวาล  ห้องเรียน และการเรียนรู้ของศิษย์    

ผมตีความว่า นี่คือการวิจัยที่เป็นกลไกของ “การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง” (transformative learning)  ของตัวครูเอง    เป็นวิธีการของ transformative learning รูปแบบหนึ่ง ที่หนังสือ เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (๒๕๕๘) () ไม่ได้ระบุไว้    

ผมตีความต่อว่า นี่คือรูปแบบหนึ่งที่ทรงพลังยิ่งของกลไกพัฒนาครู (professional development)    น่าจะทรงพลังกว่าวิธีการที่กระทรวงศึกษาธิการของเราใช้อยู่ในปัจจุบันอย่างเทียบกันไม่ติด 

ที่สำคัญยิ่งคือ วิธีการตามที่เสนอในบันทึกชุดนี้ จะพัฒนาครูสู่ “สำนึกใหม่” ของความเป็นครู

สำนึกใหม่   

สำนึกใหม่ (ของครู) เริ่มจากสำนึกรับรู้ และมุมมองใหม่เกี่ยวกับเรื่องรอบตัว    ที่ชัดเจน แหลมคม และเห็นความเชื่อมโยง    เกิดสำนึกของ “จิตใหญ่” ที่ตรงกันข้ามกับ “จิตเล็ก” เห็นแต่เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของตน และ “ดินแดนแห่งความสะดวกสบาย” (comfort zone) ของตนเอง    ในเรื่องใกล้ตัวที่สุดคือ การทำหน้าที่ครูในห้องเรียน ในชีวิตประจำวัน    และในปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัว 

สำนึกใหม่อีกด้านหนึ่ง เป็นด้านในของตนเอง เข้าใจความรู้สึกนึกคิดที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมของตนเอง    เข้าใจความรู้สึกขัดแย้งภายในตนเอง  และสาเหตุของความรู้สึกไม่สบายใจนั้น   รวมทั้งได้ทดลองดำเนินการแก้ไขและเห็นว่า กำลังค้นพบทางออกที่ได้ผลจริงจัง   

คำถามที่แนะนำ เพื่อการก่อเกิดสำนึกใหม่

  • ฉันพัฒนาสำนึกรู้ที่คมชัด ของตัวฉันเอง ในเรื่องของตัวเองด้านความต้องการ จุดแข็ง และจุดอ่อน ได้อย่างไร
  • ฉันพัฒนาสำนึกรู้ที่คมชัด ของตัวฉันเอง ในเรื่องของเพื่อนร่วมงาน และของนักเรียน ได้อย่างไร
  • ฉันได้ให้โอกาสคนเหล่านั้นได้พูดแสดงความคิดเห็นอย่างไรบ้าง
  • ฉันได้แสดงให้เห็นว่า ได้รับฟังอย่างตั้งใจและอย่างเคารพความคิดเห็นได้อย่างไร
  • ฉันจะแสดงให้เห็นได้อย่างไรว่า ฉันมีปฏิสัมพันธ์ต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
  • ฉันจะสร้างบรรยากาศในห้องเรียนที่สงบยิ่งขึ้น และมีความเอื้ออาทรยิ่งขึ้น ได้อย่างไร
  • ฉันจะมีทางรับรู้ปัจจัยในงานประจำวันของฉัน ที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของนักเรียนบางคน ได้อย่างไร

การอ่าน

การอ่านเป็นเครื่องมือสำคัญของการวิจัยเพื่อเปลี่ยนแปลงตนเอง    ผู้เขียนเล่าความสนใจของตนเองในเรื่องไอทีด้านการศึกษา    ซึ่งเมื่ออ่านเอกสารวิชาการด้านนี้ ก็นำไปสู่เรื่องอื่นๆ ที่สนใจ เช่นเรื่อง holistic education และเรื่อง spirituality in education เป็นต้น

การอ่านมีสองแนวทางคืออ่านเพื่อทำความเข้าใจแนวกว้างและเชื่อมโยง    กับอ่านเพื่อเจาะลึกในบางเรื่อง   

การอ่านช่วยให้ได้ฝึกคิดอย่างลึกซึ้งจริงจัง    และฝึกการตั้งคำถาม    ผู้เขียนได้ฝึกตั้งคำถามเกี่ยวกับอำนาจและความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษา ที่ซ่อนอยู่ในงานของตน    รวมทั้งได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับวิธีจัดการเรียนการสอนของตน   

คุณประโยชน์ของการอ่านอีกอย่างหนึ่งคือ มีโอกาสได้มีความเห็นแย้ง “ผู้รู้” หรือ “ผู้เชี่ยวชาญ”    ซึ่งเรื่องนี้ผมชอบมาก    และเห็นต่างจากผู้เขียนว่า กลไกสู่สนามฝึกความเห็นแย้งต่อ “ยักษ์ใหญ่ในวงการ” ที่ดีที่สุดไม่ใช่การอ่าน แต่คือการปฏิบัติ แล้วไตร่ตรองสะท้อนคิดอย่างจริงจัง    เราจะพบว่า “ยักษ์ใหญ่ในวงการ” ไม่มีประสบการณ์ตามบริบทจำเพาะของเรา     ทฤษฎีของเขาจึงไม่ครบถ้วนหรือไม่เพียงพอที่จะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนตามบริบทจำเพาะของเรา  

เขาแนะนำเว็บไซต์ http://www.actionresearch.net    และ http://www.jeanmcniff.com   สำหรับอ่านและค้นคว้าความรู้เกี่ยวกับ action research  รวมทั้งวารสาร  Educational Action Research

คำถามที่แนะนำ

  • ฉันจะหาหนังสือและวารสารเกี่ยวกับเรื่องที่ฉันสนใจได้ที่ไหน
  • ฉันจะหาแหล่งเอกสารวิชาการนอกสาขาที่ฉันสนใจ แต่จะช่วยขยายโลกทัศน์ของฉัน ได้ที่ไหน
  • ฉันจะหาหนังสือ วารสาร และเว็บไซต์ ที่จะช่วยให้ความรู้เกี่ยวกับ action research ได้ที่ไหน

 วิจารณ์ พานิช       

๒๐ มิ.ย. ๖๑


 

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท