“จ้างครูธุรการ ลดงานครูทั้งระบบ”กับบางเรื่องที่โรงเรียน..งานนโยบาย?


ภาระจากการที่ต้องทำเอกสารรายงานเป็นเรื่องใหญ่ ค้างคาในหัวใจครูมาตลอด ทั้งครูใหม่และครูเก่ารู้ดี นี้คืออุปสรรคสำคัญของการจัดการเรียนการสอน ผลการเรียน การวัด หรือการประเมินซึ่งตกต่ำ สาเหตุแน่ๆอย่างหนึ่งมาจากเรื่องพวกนี้

คุยกับเพื่อนครู ไม่มีสักคนเชื่อว่ารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)จะลดภาระงานครูได้จริง เพราะเรื่องนี้บ่นกันมานานมาก เมื่อหลายปีก่อนก็ด้วยคำพูดลักษณะนี้ “คืนครูสู่ห้องเรียน” จึงมีตำแหน่งครูธุรการให้ บางโรงได้หนึ่งคน โรงเล็กอาจได้สองสามโรงต่อหนึ่งคน ก็เบาบางภาระลงไปได้บ้าง เนื่องจากช่วยงานธุรการ จึงมีครูไม่กี่คนได้รับอานิสงส์ ยิ่งโรงใดบริหารจัดการไม่ดี อาจไม่ลดภาระงานครูส่วนใหญ่เลย

แต่ครั้งนี้รัฐมนตรีมุ่งมั่นจะแก้ปัญหา ที่มาเริ่มจากท่านรับรู้รับทราบจากสื่อต่างๆ ซึ่งเผยแพร่อย่างฮือฮา โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ ครูรุ่นใหม่ออกมาบ่นแรงๆเรื่องงานที่โรงเรียน ว่าเน้นแต่ภาระงานอื่น ทำแต่เอกสารส่ง รายงาน การประเมินต่างๆ แผน ฯลฯ จนการจัดการเรียนการสอน ซึ่งสำคัญสุดกลายเป็นเรื่องเก็บตกไป บางทีขณะสอนยังถูกเรียกไปทำงาน จนต้องทิ้งห้องเรียน เรื่องพวกนี้ครูเก่าพูดกันมานานแล้ว แต่เสียงหรือวิธีการนำเสนอ คงไม่ทันสมัย จนไม่ดังพอถึงหูผู้มีอำนาจ

เมื่อไม่กี่วันข่าวการศึกษารายงาน “ดีเดย์ 1 ตุลาคมนี้ ครูเลิกทำงานธุรการ” ศธ.ตั้งงบประมาณจากเงินเหลือจ่ายประจำปีงบประมาณ เพื่อปฏิบัติการนี้ถึงสามพันล้านบาท จะจ้างครูธุรการและนักการภารโรงให้ครบทุกโรง รัฐมนตรียืนยันอย่างนั้น

ที่ว่าหนนี้จริงจังจะแก้ปัญหา พิจารณาจากเริ่มแรกสั่งให้เขตพื้นที่การศึกษาทำเอกสารจัดซื้อจัดจ้างแทนโรงเรียนเล็กที่มักขาดครู หมายถึง ต่อไปโรงเรียนขนาดเล็กไม่ต้องทำเอกสารงานพัสดุแล้ว อ่านข่าวไปนึกไปพลาง “งานเอกสารที่โรงเรียนใช่มีแต่งานพัสดุเสียที่ไหน”

ข่าววันต่อมาช่วยไขข้อข้องใจ รัฐมนตรีสั่งการให้ทุกหน่วยงานใน ศธ.“ต่อไปจะขอข้อมูลจากโรงเรียนโดยตรงไม่ได้ ถ้าต้องการให้แจ้งสำนักนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)” เพื่อพิจารณา สำนักนโยบายและแผนจะเป็นคนกลางรวบรวมข้อมูลต่างๆของโรงเรียนไว้ใช้ร่วมกัน จะได้เป็นหนึ่งเดียว ไม่พร่ำเพรื่อ หรือต่างคนต่างขอ จนครูวุ่นวายไม่ได้สอน เพราะมัวแต่ทำข้อมูลส่ง

นอกจากต้องรายงานต่อหน่วยงานต้นสังกัดเป็นปกติแล้ว โรงเรียนยังต้องทำข้อมูลให้หน่วยงานอื่นๆ ตามที่ได้รับการร้องขอ อาทิ ข้อมูลนักเรียนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข้อมูลสุขภาพนักเรียนให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ เป็นต้น กรณีนี้รัฐมนตรีสั่งการว่า “การขอข้อมูลของหน่วยงานภายนอก ต้องผ่านสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา”

การดำเนินการในภาพรวมเป็นดังคำอธิบาย “การแก้ปัญหาภาระงานครูครั้งนี้เป็นการแก้ทั้งระบบ” อย่างไรก็ตามเป็นเพียงแนวทาง ยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่ชัดว่ามีความมุ่งมั่น  ถึงกระนั้นในฐานะครูผู้ปฏิบัติพบว่า การดำเนินการครั้งนี้น่าจะมีรอยรั่ว ภาระงานบางอย่างตกหล่น ไม่ได้พูดถึง หนึ่งการรายงานโครงการตามนโยบาย ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ล้นเหลือ สองภาระงานบางอย่างที่ไม่ใช่งานของโรงเรียนเลย แต่ถูกยัดเยียดมอบหมายให้ทำ

ภาระจากการที่ต้องทำเอกสารรายงานเป็นเรื่องใหญ่ ค้างคาในหัวใจครูมาตลอด ทั้งครูใหม่และครูเก่ารู้ดี นี้คืออุปสรรคสำคัญของการจัดการเรียนการสอน ผลการเรียน การวัด หรือการประเมินซึ่งตกต่ำ สาเหตุแน่ๆอย่างหนึ่งมาจากเรื่องพวกนี้

หากทบทวน ลองตรอง ผ่านมาแล้วไม่รู้กี่รัฐบาล ไม่เห็นแก้ไขได้ มีอยู่ครั้งอย่างที่กล่าว ตำแหน่งครูธุรการที่ได้มาก็ทำเฉพาะเอกสารงานธุรการ สำหรับงานโครงการ งานตามนโยบาย ก็ยังเป็นภาระครูอยู่เหมือนเดิม การจ้างครูธุรการที่ผ่านมาไม่สามารถคืนครูสู่ห้องเรียน ดังที่เป็นประเด็นตั้งแต่แรก ความรู้สึกครูจึงไม่ค่อยเชื่อว่าปัญหาใหญ่โต มีมาอย่างยาวนาน ทั้งที่พูดจะแก้ๆกันมาตลอด จะถูกปัดเป่าได้ในพริบตา ด้วยเงินสามพันล้าน

เรื่องราวการจ้างครูธุรการให้ครบทุกโรง เพื่อลดภาระงานครูกำลังเป็นที่สนอกสนใจ จนอาจเป็นความหวังของสังคม ขณะเดียวกันเหตุการณ์จริงของตัวเอง การปฏิบัติงานที่เกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ มีภาระต้องจัดทำเอกสารรายงานส่งให้เขตพื้นที่การศึกษาถึง 3 เรื่องด้วยกัน

เรื่องแรกเป็นรายงานผลตามนโยบาย พัฒนาการอ่านเขียนนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นตามแนว PISA  ซึ่งปีหนึ่งมีการวัด 4 ครั้ง หรือเทอมละ 2 ครั้ง เรื่องที่สองเป็นรายงานผลที่คณะครูได้เข้ารับการอบรมตามนโยบาย เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ เพื่อปลูกฝังคุณลักษณะ เอกสารที่ต้องรายงาน  ได้แก่ โครงสร้างหน่วยการเรียนรู้ ออกแบบหน่วยการเรียนรู้ และแผนจัดการเรียนรู้

อีกเรื่องเป็นการรายงานข้อมูลจากการที่ศึกษานิเทศก์(ศน.)ได้มานิเทศการทำงานของโรงเรียน 16 เรื่องเมื่อเดือนก่อน (ขอย้ำ 16 เรื่อง) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานตามนโยบาย ข้อมูลต่างๆที่กำหนดให้รายงานมีหลายเรื่อง อาทิ การประกันคุณภาพ โรงเรียนคุณธรรม ค่านิยม 12 ประการ การพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ และสุขภาพกายสุขภาพจิต

นึกแล้วก็แปลก ศน.มานิเทศพบเห็นอะไร สัมภาษณ์หรือพูดคุยกับครูที่ทำงานในเรื่องนั้นๆจนได้ข้อมูล เมื่อชัดแล้วว่าเป็นอย่างไร ทำอะไรไว้ แค่ไหน ขนาดชี้แนะโรงเรียนได้แล้ว ก็น่าจะบันทึกข้อมูลหรือทำรายงานส่งด้วยตัวเอง แต่ที่ผ่านมา ครั้งใดที่ศน.ต้องทำรายงานผลการมานิเทศ รายงานนั้นจะให้โรงเรียนทำแทน จนกลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้วกระมัง(ฮา) ที่ว่างานบางอย่างไม่ใช่งานของโรงเรียน แต่ถูกยัดเยียดมอบหมายให้ทำ ตัวอย่างจริงคืองานพวกนี้

เมื่อได้ยินรัฐมนตรีประกาศ“งานพัสดุหรือการจัดซื้อจัดจ้าง โรงเรียนเล็กไม่ต้องทำแล้ว เขตพื้นที่การศึกษาจะรับไปทำแทน” “ตั้งแต่ 1 ตุลาคม ครูเลิกทำงานธุรการ” จะจริงได้ไหมหนอ ขนาดงานศน.ซึ่งเป็นตัวแทนเขตพื้นที่การศึกษามานิเทศโรงเรียน ยังให้โรงเรียนทำให้เลย(ฮา)

งานตามนโยบายซึ่งมีอยู่มากมายในปัจจุบันอีกล่ะ ที่ครูต้องทำและรายงานส่ง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ปรมาจารย์ด้านการศึกษาอีกคนของบ้านเรา ตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ “หากส่วนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ ลดการคิดโครงการส่งไปให้โรงเรียนทำ จะลดงานธุรการลงไปหรือไม่ และจะประหยัดเงินสามพันล้านบาทที่เอ่ยถึงลงไปบ้างหรือไม่”

เอาเถอะ! เป็นครูจนอายุปูนนี้ ไม่ว่าที่ผ่านๆมาจะเป็นอย่างไร ขอคิดเชิงบวก มีความหวัง เมื่อได้เห็นความมุ่งมั่นและบัญชาของรัฐมนตรี รวมทั้งงบประมาณ(ฮา)

คงทำให้อะไรๆดีขึ้นบ้างหรอกน่า

(พิมพ์ในมติชนออนไลน์, 20 กันยายน 2561)

หมายเลขบันทึก: 651291เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2018 22:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กันยายน 2018 11:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ในมุมมองคนด้าน IT ก็คิดต่างนะคะ ถ้าหน่วยกลางเก็บข้อมูล input และ output ที่ stakeholders ทั้งหลายที่แวดล้อมในกระบวนการงาน admin ทั้งหลายของครูรวมมาได้ทั้งหมด เข้าใจ workflow อย่างชัดเจน ก็ควรลงทุนไปที่ระบบสารสนเทศที่จะช่วยผลิตงานเอกสารเหล่านี้ได้ทั้งหมดค่ะ ไม่น่าจะต้องลงทุนเป็นพันๆ ล้านเพื่อการจ้างคนเพิ่ม

คิดว่าน่าจะหมดยุคไปนานแล้วไหมค่ะกับการจ้างคนมาทำงานธุรการเพิ่มเยอะแยะขนาดนี้ ในขณะที่ IT ตอบโจทย์ได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพแน่นอน ไม่ลำเอียง ไม่เข้าข้างใคร ไม่ต้องอ้อนวอนขอร้องให้ทำ ไม่เช้าชามเย็นชาม ไม่ต้องส่งใต้โต๊ะให้เร่งทำงาน และอีกมากมาย

ลุ้นด้วย เข้าใจเหลือเกิน ไม่ต่างกัน … พัสดุ ธุรการ การเงิน รายงานซ้ำซ้อน … มากล้น รำพัน

สาธาก็เป็นค่ะ IT ช่วยได้เยอะนะคะ บันทึกข้อมูลการรักษาคนไข้ บันทึกงานป้องกัน ส่งเสริมสุขภาพประจำวัน ประมวลผลที่ HDC (Health Data Center) ได้ตามที่ตั้งโปรแกรมไว้

ประเด็นที่ตามมา เจ็บปวดใจ คือ … เป็นหมอหน้าจอ … ดึงหมอออกจากสายตาคนไข้ค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ดร.จันทวรรณ มากครับ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท