Telecommuting คือ วิธีการแก้ปัญหาจราจร อย่างยั่งยืนจริงๆนะ


ปรเมศวร์ กุมารบุญ

 

              “เราจะโน้มน้าวผู้คนอย่างไร? เมื่อกำลังบอกความจริง”  ทำไมความจริง (Truth) เราต้องโน้มน้าวด้วยเหรอ? บอกเฉยๆ เขาน่าจะดีใจ แต่ กาลิเลโอ เองก็ถูกตัดสินประหารชีวิตและได้ลดหย่อนโทษด้วยการจำกัดบริเวณไม่ให้ออกจากบ้านไปตลอดชีวิตแทน เมื่อเขาใช้วิทยาศาสตร์พิสูจน์ว่าโลกกลมไม่ใช่แบน และพระอาทิตย์เป็นศูนย์กลางจักรวาลไม่ใช่โลก

           ความจริงถูกครอบด้วยมายาที่เรายังมองเห็นลางๆ ผ่านฝาครอบมัวๆ หรือจริงๆ แล้วมันคือ วาทกรรม (Discourse) ผมเข้าใจไปเองว่า วาทกรรม คือ ชุดข้อความที่เราได้รับมาใช้อธิบายว่าความจริงคืออะไรกับตัวเราเอง จนกว่าเราจะยอมรับหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าความจริงที่เราเคยเชื่อนั้นมันไม่จริงอีกต่อไปแล้วในห้วงเวลานี้ ความจริงยังจริงอยู่ในแต่ละห้วงเวลา ตราบที่มนุษย์จะค้นพบเหตุผลใหม่ที่สิ้นสงสัย และ “การรับฟัง” เหตุผลนี่ล่ะครับ คือเรื่องใหญ่ที่สุด จึงต้องโน้มน้าวให้ผู้คนเข้าถึงความจริงกัน

           ข่าวในช่วงวันที่ 15 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา ใจความว่านายกรัฐมนตรีมุ่งมั่นจะแก้ปัญหารถติดภายใน 3 เดือน ผมดีใจมากผมชื่นชมสนับสนุนท่านอยู่ห่างๆ มาตลอด และติดตามข่าวดูว่าท่านจะมีแนวทางแตกต่างจากนักการเมืองในอดีตที่เคยประกาศไว้อย่างไรบ้าง แต่พบว่ายังคงมีแนวทาง “เหมือนเดิม”

 

           ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เมื่อใดท่านใดเริ่มต้นคิดการแก้ปัญหารถติด จะมองเรื่อง Demand กับ Supply เท่านั้น เมื่อมีความต้องการใช้ถนนมากขึ้น ก็ต้องสร้างถนนมากขึ้น สร้างระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการให้เพียงพอ แต่นั่นคงเป็นไปไม่ได้ใน 3 เดือน

           ผมยังไม่เคยเห็นงานวิจัยที่จะบอกตัวเลขได้ชัดว่าเราต้องมีปริมาณถนนเท่าใด จึงจะเพียงพอกับปริมาณรถ ที่จะใช้เวลาเฉลี่ยในการเดินทางลดลง หรือมีงานวิจัยที่จะค้นคว้าจริงจังว่ามีวิธีใดบ้างแก้ปัญหาการจราจรได้จริงจัง

           ทั่วโลกก็ไม่ต่างจากเราหรอกครับ เขาก็ใช้วิธีคิดแบบเดียวกันกับนักการเมืองที่สนใจแก้ปัญหาจราจรของเราทุกคน ก็มองเรื่อง Demand กับ Supply เท่านั้น และพอเมองเป็นเรื่อง Demand กับ Supply ถนนเป็นทรัพยากรเพื่อประโยชน์สาธารณะ เลยต้องใช้วิธีทางเศรษฐศาสตร์มาต่อยอดแก้ปัญหาการจราจร อย่างเช่นวิธีที่เรียกว่า “Congestion Price หรือ Congestion Charge”


            เจเรมี เบนธัม (Jeremy Bentham, 1748-1832) นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม นักอาชญาวิทยา และนักกฎหมาย เขาสร้างผลงานวิชาการไว้มากมาย และผมขอยกแนวคิดทฤษฏีของ เบนธัม มาอธิบายคือ ทฤษฎี เฟลิซิฟิค แคลคูลัส (Felicific Calculus) เขากล่าวว่า มนุษย์แสวงหาความพึงพอใจ (Pleasure) และหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด (Pain) ทฤษฎีนี้ก็เป็นทฤษฎีความสุขนิยม (Hedonism) แนวทางหนึ่ง กฎหมายนั้นกำหนดบทลงโทษให้เห็นความเจ็บปวดที่จะได้รับ มนุษย์ก็จะหลีกเลี่ยง แต่ขณะเดียวกันกฎหมายจะไม่สามารถป้องกันอาชญากรรมได้เลยถ้ามนุษย์ชั่งน้ำหนักแล้วว่า การก่ออาชญากรรมนั้นทำให้เขามีความสุข จากการพึงพอใจที่จะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่าโทษที่จะได้รับ เช่น ผมอาจจะยินดีฝ่าฝืนกฎจราจรจอดรถในที่ห้ามจอด ยอมให้ตำรวจล็อคล้อออกใบสั่ง เพื่อให้เข้าประชุมได้ทันนัดงานสำคัญ เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วว่าการทำไม่ดีและได้รับบทลงโทษคุ้มค่ากับสิ่งที่ได้รับ ความสุขไม่ได้ขึ้นกับการทำดีหรือการทำเลว

           นั่นหมายความว่า “Congestion Price หรือ Congestion Charge” คือการสร้างความเจ็บปวดหรือเพิ่มอุปสรรคใน Supply chain แก่คนที่นำรถเข้ามาในเมือง เช่น เก็บภาษีรถที่ขับเข้าเมือง เก็บค่าธรรมเนียมรถที่อยู่บนถนนนาน เก็บค่าธรรมเนียมรถที่มีคนนั่งมาด้วยจำนวนน้อย เพื่อนำเงินเหล่านั้นมาสร้างถนนหรือระบบขนส่งมวลชนเพิ่มให้แก่คนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาจราจร และบีบบังคับให้คนหันไปใช้บริการโครงสร้างการคมนาคมสาธารณะ ซึ่งนี่คือแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่นำมาใช้แก้ปัญหาจราจร กล่าวโดยสรุปก็คือ ถ้าไม่สร้างถนนหรือระบบขนส่งตอบสนอง Supply ก็หาหนทางตัด Demand การใช้ถนน

           แต่นั่นไม่ใช่วิธีที่ทำให้ “ความสุข” ของคนในสังคมเพิ่มขึ้นเลย ลองสมมติว่าคุณหรือคนพิการ เคยใช้รถส่วนตัวมาตลอด  หากพวกเขาเลือกที่ที่จะต้องจ่ายเพิ่มมากล่ะ? หรือต้องยอมเปลี่ยนพฤติกรรมไปใช้รถเมล์หรือรถไฟฟ้าความสุขมวลรวมของคนในชาติหายไปแน่นอน มนุษย์เรานั้นแท้จริงแล้วจะยากดีมีจนไม่สำคัญเท่ากับ “มีความสุข”

           เศรษฐศาสตร์ความสุข (Economics of Happiness) เริ่มมีงานวิชาการมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อหาคำตอบว่าชีวิตมนุษย์เกิดมาควรมีชีวิตแบบใด มนุษย์ทำทุกอย่างตามแรงจูงใจไปเพื่ออะไร เงินหรือการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานอาจไม่ได้ทำให้ชีวิตมีความสุขเสมอไป และเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะรวยและประสบความสำเร็จในชีวิตกันทุกคน เพราะความสามารถเราแตกต่างกันไปในระบบทุนนิยมที่มือใครยาวสาวได้สาวไป แต่ทุกคนทุกชนชั้น สามารถมีความสุขได้ทันทีโดยไม่ต้องรออะไรทั้งนั้น แล้วทำอย่างไรจะมีความสุขได้ แล้วหน้าที่ของรัฐล่ะ?

           ความจริงมี 2 สิ่ง คือ ความจริงที่จับต้องได้เป็นวัตถุ (Object) ก็ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการเข้าถึงความจริงเกิดเป็นความรู้ ส่วนความจริงที่จับต้องไม่ได้ (Subject) เราใช้การตีความ และขึ้นอยู่กับบริบทก่อให้เกิดสิ่งที่รับรู้ในช่วงเวลานั้นๆ เช่น ทุกคนลองนึกถึงพ่อ ทำไมเรารู้ว่าคนๆ นี้คือพ่อ ผมว่าน้อยคนนักที่เกิดมาแล้วเคยพาพ่อไปตรวจ DNA นั่นคือวาทกรรมที่กลายเป็นชุดความคิดประกอบด้วยเหตุผลครอบความจริงบอกเราไว้ เขาเลี้ยงเรามา เรารู้สึกว่าเขารักเรา ทุ่มเทให้เรา บอกเราว่านี่คือพ่อ ส่วนการตรวจ DNA นั่นคือการพิสูจน์ความเป็นพ่อด้วยหลักฐานที่เป็นวัตถุสิ่งที่ครอบความจริงที่เป็นวัตถุนั้นพิสูจน์ง่ายเสมอ

           เคยดูหนังไทยไหมครับ? พล็อตเรื่องที่คนรับใช้เอาลูกของตนสลับกับลูกเจ้านาย ต่างถูกเลี้ยงดูมาต่างกัน ลูกเจ้านายเติบโตมาแสนดีถูกรังแกสารพัดจากคนรับใช้ก็ยังเป็นคนดี ส่วนลูกคนรับใช้ถูกฟูมฟักจากเจ้านายเติบโตมาสับโขกชิงชังคนรับใช้ จนวันหนึ่งคนรับใช้เฉลยว่า “ฉันคือพ่อของแก” โอ ไม่ไม่นะ “นั่นคือความจริง” ที่พิสูจน์ด้วยการตรวจ DNA เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ทำซ้ำกี่ครั้งผลก็เหมือนเดิม ยกตัวอย่างเองแล้วงงเอง 555

          ผมว่า เรามาลองเล่นตั้งคำถามที่อยู่ในกรอบความคิดเดิมท้าทายกันเล่นดีกว่าไหมครับ ว่ามันจะมีจริงเร้อ ความจริงที่พิสูจน์ได้ด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์

        ความจริงนี้ คือการที่ถูกพิสูจน์ด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แล้วว่า “ดีจริง” แก้ปัญหาการจราจรได้มากจริงๆ ลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้มากจริงๆ ลดการใช้พลังงานในประเทศได้มากจริงๆ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นจริงๆ เพิ่มคุณภาพของงานได้ดีขึ้นจริงๆ และเพิ่มความสุขของคนในชาติได้มากขึ้นจริงๆ..... “แต่เราไม่ทำ

           ที่ผมเกริ่นมายาวเหยียดนี่คือ “Telecommuting” หรือการทำงานที่บ้าน (Work from Home) หรือทำงานที่ไหนก็แล้วแต่ (Work Anywhere) ผ่านอินเทอร์เน็ต ผมเชื่อว่าผู้บริหารหลายท่านต้องร้องว่า “ปัดโธ่ เอ๊ย”.... เดี๋ยวครับอย่างเพิ่งเลิกอ่าน! ถ้าท่านคิดว่าผมน่าจะมีความจริงรอท่านมาพบอยู่ อุตส่าห์โน้มน้าวมาตั้งนานอ่านต่อนะครับ

           “ทำไมเราต้องเข้างานแปดโมงครึ่ง?” ชุดความคิดที่ถูกวาทกรรมหล่อหลอมท่านผู้บริหารมายาวนานนั้นมีคำตอบหมดแล้วล่ะว่า ทำไมพวกเราทุกคนต้องมาทำงานพร้อมกันตอนแปดโมงครึ่ง นั่นล่ะสาเหตุรถติดเลย

        ส่วนถ้าบอกว่า “ทำงานที่บ้านได้ไหม?” ท่านก็คงตอบว่า “ก็คนไทยน่ะ ขี้เกียจ เจ๊งกันพอดี” เขาเรียกว่ามองแบบ Stereotype เหมารวม แต่ถ้าเพ่งลองมองไปจริงๆ เราสามารถแยกประเภทพนักงานได้อีกนะครับ

               หากเช่นนั้นลดอารมณ์ท่านลงมาหน่อย ลองมองในองค์กรว่า จะเป็นไปได้มั๊ย มีพนักงานส่วนหนึ่งไม่เห็นต้องให้มันมาทำงานตอนแปดโมงครึ่งเลย มันไม่มีความจำเป็นนี่ มาก็แย่งที่จอดรถ แย่งตอกบัตร ตอกบัตรเสร็จแล้วก็ไปกินข้าวมานั่งโต๊ะตอนสิบโมง ขัดขาคนที่ต้องรีบมาเข้ามาตอนแปดโมงครึ่ง เปลืองไฟขึ้นลิฟต์เปิดแอร์เปิดคอมอีก

              ท่านลองจินตนาการดูว่า หากรัฐสร้างถนนเพิ่มหน้าตึกแห่งหนึ่งที่มีบริษัทหลายสิบบริษัทอยู่ในนั้น จอดรถได้ราว 2,000 คันพอๆกับห้างสรรพสินค้าเลย สมมุติถนนหน้าตึกนั้นกว้าง 80 เลน เขียนไม่ผิดครับ รัฐเวนคืนแถวนั้นให้ราบเลย เพื่อสร้าง supply เพิ่มถนนแก้ปัญหาจราจรไงครับ จัดให้ 80 เลนจริงๆ ท่านว่าจะแก้ปัญหาจราจรได้ไหม? ท่านนึกภาพรถ 2,000 คันมาออหน้าตึกเพื่อเข้าตอกบัตร จะเกิดอะไรขึ้น ปริมาณรถจากหน้าตึกถึงที่จอดใช้เวลาเท่าใด?

Edit

              ผมเล่าประสบการณ์จริงที่ขำๆ ของผมก่อนดีกว่าครับ ผมเคยทำงานแถวอารีย์ บ้านอยู่แถวนนทบุรี อันนี้ก็ตามหลักเศรษฐศาสตร์ครับ หากคนกรุงจะมีบ้าน จะอยู่ห่างไกลเมืองตามฐานเงินเดือน ต้องตื่นตีห้าอาบน้ำออกจากบ้านมาถึงที่ทำงานแปดโมงครึ่ง ค่าทางด่วน ค่าน้ำมัน และเวลาที่ใช้จะลดทอนแปรผันกับเงินเดือน

                 งานผมเป็นงานออกแนววิชาการ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ และเรียบเรียง ไม่ใช่งานผลิตเหมือนการตัดเย็บเสื้อผ้า ที่ผมจะบอกความแตกต่างก็ คือ งานเชิงคุณภาพ (Quality) กับงานเชิงปริมาณ (Quantity)

           การตัดเย็บเสื้อผ้าผู้บริหารอาจจะมองเห็นว่า คนงานทำงานวันละ 8 ชั่วโมง เย็บเสื้อได้วันละ 10 ตัว จำนวนเวลาทำงานแปรผันตรงกับปริมาณเสื้อที่ต้องการส่งลูกค้า เพราะฉะนั้นการไม่เข้างานตามเวลาทำให้ธุรกิจสูญเสีย

           แต่รายงานวิชาการ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ และเรียบเรียง แม้จะมีกำหนดเส้นตายส่งงาน แต่ไม่ได้หมายความว่า คุณจะพบคำตอบการวิจัยหรือการเรียบเรียงที่ดี บนโต๊ะทำงานที่เบียดเสียด และเสียงอื้ออึงของสำนักงานที่เต็มไปด้วยผู้คน ซึ่งมันจะไม่ผ่านแน่นอนถ้ามันไม่มีคุณภาพ ไม่ปฏิเสธที่จะมีคนทำได้นะครับ

           ด้วยความมีวินัย ผมไม่เอางานส่วนตัวหรือตำราเรียนมาอ่านในเวลางานเลย แต่ยอมรับว่าหลับบ้างโดยไม่รู้ตัวเพราะนอนน้อย ผมนั่งเหม่อลอยมองไปมองมา ทำงานไม่ได้เพราะไม่มีสมาธิ ลุกไปไหนไกลกว่าห้องน้ำก็ไม่ได้กลัวดูไม่ดี

            ความจริงก็คือผมทำงานไม่ได้เลยบนโต๊ะทำงานของผม เพราะผมไม่มีสมาธิเลย เป็นความผิดของผมเองที่ฝึกสมาธิไม่พอ นอกจากความแออัดแล้ว โต๊ะผมอยู่ในจุดที่ทุกคนต้องเดินผ่าน ไม่มีพาร์ทิชั่นกั้น ติดกับเครื่องถ่ายเอกสาร ทุกคนต้องยิ้มแย้ม แปะมือทักทาย กิฟ มีไฟว์ บ้าง ผมมักจะเร่งเวลาให้เลิกงานแล้วรีบกลับ โดยติดบนถนนขากลับอีกเกือบสองชั่วโมง เพราะผมต้องเอารายงานกลับมาทำงานที่บ้านเงียบๆ จนดึกดื่น จนนอนไม่พอ และตื่นเช้ามืดเพื่อไปนั่งหลับที่ทำงาน ในโลกของการทำงาน มนุษย์เงินเดือนต้องไม่มีข้อแม้ ไม่มีคำว่าแต่ ต้องทำงานได้ทุกสถานการณ์



         ผมรู้ตัวว่าสุขภาพคงทรุดโทรมเร็ว ไม่มีความสุขเท่าที่ควร และงานคงไม่ได้ผลที่ดี ผมจึงยอมแพ้ ลองเปิดโอกาสให้คนทำงานดีกว่าผมเข้ามาแทน และลองเสี่ยงชีวิตหางานอิสระทำแทน เป็นงานที่ต้องไม่เข้าตอนเช้าแปดโมงครึ่งทุกวัน

              ผมได้จับงานคล้ายแบบที่เคยทำประจำ คือ งานวิชาการ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ และเรียบเรียง คิดว่าเมื่อไม่ต้องอยู่บนถนนนานๆ และทำงานที่ไหนก็ได้ กลับรู้สึกว่างานแบบที่เคยทำทำได้ดีขึ้นมาก

               ผมอ่านหนังสือ ค้นคว้าทางอินเทอร์เน็ต และทำงานวิชาการอยู่ ริมผา บนเขา ริมแม่น้ำ ในป่า นอนจนกว่าจะอิ่มค่อยตื่นมาทำงาน ผมรู้ตัวเองว่ามีความสุขแม้จะได้เงินน้อยหรือไม่ได้เงินเลยในบางงาน แต่คุณภาพผมจะดีขึ้นเรื่อยๆ จนมีคนต้องการ และต้องจ้างผมในที่สุด แม้ผมอยู่ในป่า ผมเชื่ออย่างนั้น


          ผมคิดว่าเพราะความมีอิสระทางเวลา ทำให้แต่ละวันผมมีเวลาเรียนรู้พัฒนาตัวเองเพิ่มเติม ทั้งผลงานผมยังมีทั้งปริมาณและคุณภาพได้ดี   ผมแค่พิสูจน์ว่างานอย่างที่เคยทำ หากไม่ต้องเข้าทำงานตอนแปดโมงครึ่ง กลับทำให้มีคุณภาพกว่าการนั่งอยู่โต๊ะหรือในห้องประชุมอีก แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ ปัจจุบันประเทศไทยมีบริการ Co-working space ราคาหลักร้อยหลักพันมากมายทั้งบริเวณสถานีรถไฟฟ้า และชานเมือง หากต้องการมีประชุมแบบเห็นหน้า


          เราเชื่ออะไรครับ? ถ้าพูดถึง “Telecommuting” หรือการทำงานที่บ้าน (Work from Home) หรือทำงานที่ไหนก็แล้วแต่ (Work Anywhere) ผ่านอินเทอร์เน็ต....


วาทกรรมที่ครอบความจริงอยู่ ทำให้เราเชื่อว่า.... “ผลงานจะไร้ประสิทธิภาพ หรือไม่ได้งานเลย เพราะไม่มีวินัย”             


วาทกรรมที่ครอบความจริงอยู่ ทำให้เราเชื่อว่า.... “การไม่เข้าออฟฟิศ การไม่ตอกบัตรเป็นสิทธิพิเศษ เรายอมรับว่าการเดินทางมาทำงานแปดโมงครึ่งคือความลำบาก มันคือความเท่าเทียมที่ต้องทรมานเหมือนกัน?”


วาทกรรมที่ครอบความจริงอยู่ ทำให้เราเชื่อว่า....“องค์กรอื่นๆ มาทำงานแปดโมงครึ่ง ถ้าเราไม่มาทำงานจะประสานกันได้อย่างไร”


วาทกรรมที่ครอบความจริงอยู่ ทำให้เราเชื่อว่า.... “มันมีคนที่ต้องเข้ากะ ต้องมานั่งประจำจริงๆนะ”

 


ถ้าผมจะบอกความจริงล่ะว่า.....

จริงๆ แล้ว.... “อย่าเพิ่งคิดเอาคนออกจากออฟฟิศ 100% สุดโต่งเกินไป เอาออก 30% ก่อน เลือกคนที่ไม่จำเป็นต้องมาเช้าให้ทำงานอยู่บ้าน หลีกทางให้คนที่จำเป็นต้องรีบมา ได้เดินทางสะดวกขึ้น

           ประโยคนี้เป็นอย่างไรครับ เป็นความจริงหรือไม่? ผมเชื่อว่า “ไม่มีใครปฏิเสธ” ว่ามีคนบางหน้าที่ในสำนักงาน ไม่ต้องมาเช้าก็ได้ ถนนจะโล่งขึ้น ส่วนคนที่จำเป็นต้องมาออฟฟิศ จะได้เดินทางสะดวกขึ้น

 

จริงๆ แล้ว.... “ผลงานจะมีประสิทธิภาพ ทำงานได้ดีขึ้น เพราะมีวินัย เมื่อทำงานในสถานที่ที่ตนพอใจ”             

           ประโยคนี้เป็นอย่างไรครับ เป็นความจริงหรือไม่? ผมเชื่อว่า “ไม่มีใครปฏิเสธ” อีก

         ถ้าคนที่ต้องทำงานเชิงคุณภาพไม่ใช่เชิงปริมาณการผลิต เช่น งานสร้างสรรค์ งานประพันธ์ งานนิพนธ์ หรืองานวิจัย ความคิดสร้างสรรค์หรือไอเดียดีๆ คงไม่ได้เกิดบนโต๊ะทำงานที่เสียงคนรอบข้างจอแจหรือเกิดในห้องประชุมที่แสนกดดันเสมอไปนะครับ ถ้าผู้บริหารเปิดใจ อาจจะพบไอเดียสิ่งใหม่ และแน่นอนสิ่งที่เราต้องการจากพนักงานคนนั้น น่าจะเป็นผลงาน ส่วนวินัยนั้นเรามองดูจากการศึกษาหรือผลงานที่ผ่านมา ก็จะเห็นเองว่าเขามีวินัยรับผิดชอบตัวเองได้มากแค่ไหนมาแล้ว คงจะก้าวข้ามความเป็นเด็กมามากพอ การกวดขันวินัยคงไม่ต้องใช้แล้ว ซึ่งคงไม่ยากหากจะกำหนด KPI

 

จริงๆ แล้ว.... “องค์กรอื่นๆ มาทำงานแปดโมงครึ่ง ถ้าเราไม่มาทำงานจะประสานกันได้อย่างไร”

           ประโยคนี้เป็นอย่างไรครับ เป็นความจริงหรือไม่? ผมเชื่อว่า “ไม่มีใครปฏิเสธ”

           เพราะเรานึกถึงอะไรครับที่จะประสานงานกับองค์กรอื่นตอนแปดโมงเช้า “เครื่องมือสื่อสาร” ไงครับ เบอร์โทรออฟฟิศเหรอ? เคยไม่นั่งอยู่โต๊ะไหม? แก้ปัญหาเป็นเบอร์มือถือของพนักงานได้ไหม ออกไปไหนก็ยังติดต่อได้อีกด้วยไม่ต้องรอให้มานั่งโต๊ะ นั่นหมายความว่าทำงานที่ไหนก็ได้ประสานงานที่ไหนก็ได้

           คนรอมาพบที่ออฟฟิศล่ะ? ถ้ามีคนมาพบทุกวันตอนแปดโมงเช้า เจ้าหน้าที่คนนั้นไม่ใช่ตำแหน่งประเภทที่สามารถทำงานแบบ Work anywhere ไงครับ ว้า ไม่น่าถาม อย่าพยายามนึกถึงคนทั้งหมดในประเทศงานที่บ้านสิครับ เอาบางส่วนก่อน

 

จริงๆ แล้ว.... “ทำงานที่บ้านผ่านอินเทอร์เน็ต ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น”

                     ประโยคนี้เป็นอย่างไรครับ เป็นความจริงหรือไม่? ผมเชื่อว่า “ไม่มีใครปฏิเสธ”

              เพราะการลดจำนวนรถออกจากท้องถนนก็ หมายถึงการลดการใช้พลังงาน ประเทศก็ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำมันลงเศรษฐกิจก็ดีขึ้น พนักงานเองถึงไม่ได้เงินเดือนขึ้นแต่ลดค่าใช้จ่ายลง ทั้งค่าเดินทาง การแต่งหน้า การซักผ้า รีดผ้า หากโชคดีงานประจำที่รับผิดชอบทำได้ครบถ้วนอย่างดีแล้วยังอาจจะหางานพิเศษได้เพิ่มอีก ส่วนออฟฟิศก็ลดการใช้พลังงานลง อาจจะลดพื้นที่ใช้สอยในอนาคตอีก ผมว่าหากต่อรองลดเงินเดือนพนักงานเขาก็อาจจะยอมนะ

         ลดการใช้พลังงานลง ทั้ง น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และไฟฟ้า นอกจากช่วยให้เศรษฐกิจดีแล้ว ก็ยังช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศลง ธรรมชาติจะปรับตัวเข้าจุดสมดุล ไม่เกิดภัยพิบัติลดการสูญเสียในระยะยาวอย่างผู้มีวิสัยทัศน์พึงกระทำ

 

จริงๆ แล้ว.... “ทำงานที่บ้านผ่านอินเทอร์เน็ต ทำให้มีความสุขมากขึ้น”

                     ประโยคนี้เป็นอย่างไรครับ เป็นความจริงหรือไม่? ผมเชื่อว่า “ไม่มีใครปฏิเสธ”

                เวลาที่อยู่บนถนนเช้าเย็นรวมกันวันละ 3-4 ชั่วโมง หรือเกือบๆ 20 ชั่วโมงใน 1 สัปดาห์ หรือใน 1 ปี รวมแล้วเราใช้เวลาเป็นเดือนๆ อยู่บนถนน ถ้าเด็กกรุงเทพต้องอยู่ในรถตั้งแต่ ป.1- ม.6 หากหาตัวเลขเฉลี่ยได้จะมายความว่า เด็กๆ จะใช้เวลาอยู่บนรถ 1 ปีเลย ผมว่าน้อยคนนักที่จะมีความสุขบนถนน เอาเวลามาสร้างผลงานหรือพัฒนาศักยภาพตัวเองน่าจะดีกว่า

            แน่นอนการอยู่บ้านมีความสุขมากขึ้น ลดความเครียด และมีเวลาให้ครอบครัวมากขึ้น สังคมจะอบอุ่นขึ้น ปัญหาสังคมจะลดลงตามมา

           จริงๆ แล้วงานวิชาการเรื่องนี้มีเยอะแยะ แม้แต่องค์การสหประชาชาติหรือธนาคารโลกต่างก็รณรงค์เรื่อง Work life balance แต่เขาข้ามเรื่องการทำงานที่บ้านผ่านอินเทอร์เน็ตไปแล้ว กลับพบปัญหาว่าการทำงานที่บ้าน ทำให้คนไม่หยุดทำงาน กลับทำงานตลอดเวลา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปรับสมดุลชีวิตอย่างแท้จริงต่างหากระหว่างงานกับความสุข

 

                       มาถึงตรงนี้ บทความนี้เป็นเพียงแค่การเกริ่นเริ่มต้นถึงวิธีการแก้ปัญหาการจราจรด้วย นโยบาย Telecommuting เชื่อผมเถอะครับ รัฐบาลออกนโยบายสั่งการ ทุกหน่วยงานภาครัฐและเอกชน กำหนดงานประเภทใดไม่ต้องเข้าแปดโมงเช้าหรือให้ทยอยมาทำงานเวลาอื่นหรือไม่ต้องเข้าเลยจนกว่าจะเรียกให้มา แล้วเริ่มทดลองบังคับใช้เป็นการวิจัยมาดูข้อดีข้อเสียกัน ถ้าคิดจะเริ่มอะไรใหม่ไม่อยากทำแบบเดิมๆ เหมือนรัฐบาลอื่น 

              การสับ Slot ทยอยกันเข้ามาทำงานนี้เหมือนโครงข่ายโทรคมนาคมครับ เขาเรียก Time Division Multiplex (TDMA) แก้ปัญหาการจราจรในโครงข่าย โดยการแบ่งเวลาให้ข้อมูลเข้ามาแทนที่จะปล่อยให้ข้อมูลเข้ามาอัดแน่นพร้อมๆ กัน แจกบัตรคิวน่ะครับ

             อุปสรรคอย่างเดียวของ Telecommuting คือ "ความเชื่อของผู้นำ" ความเชื่อที่ครอบความจริงอยู่ ท่านต้องลองศึกษาเรื่องนี้ อย่างเพิ่งปล่อยผ่านง่ายๆ กล้าที่จะทำสิ่งใหม่ๆ ที่จะทำให้ผลิตผล (Productivity) ขององค์กรดีขึ้น และทำให้ความสุขของคนในสังคมมีมากขึ้น

             ปัจจุบัน Telecommuting ถูกต่อยอดด้วยแนวทางใหม่ ฝรั่งจำนวนมากมาทำงานอยู่ตามชายหาดบ้านเรา สะพายเป้หนึ่งใบ โน้ตบุ๊คหนึ่งตัว มือถือหนึ่งเครื่อง เขาเรียกกันว่า Digital Nomads เร่ร่อนทำงานอยู่ทุกที่ๆ มีอินเทอร์เน็ตหรือสัญญาณมือถือ พวกเขาบ้างก็เปิดกล้องตลอดเวลา Live อยู่บนจอที่ออฟฟิศ ใครอยากจะคุยเมื่อไร จะสั่งงานอะไร รวดเร็วกว่าวิธีการทำงานนั่งที่โต๊ะแบบเดิมด้วยซ้ำ พวกเขาทำงานอยู่บนดอยบ้าง เชียงใหม่ เชียงราย หัวหิน ภูเก็ต พวกเขาคือไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ 

            

           อันที่จริงแล้ว ความลับอย่างหนึ่งของ Digital Nomad ที่ประสบความสำเร็จทำให้การทำงานมีศักยภาพมากขึ้น นั่นเพราะ มนุษย์เราใช้สมองส่วนหน้าในการคิดในการทำงาน ธรรมชาติของสมองส่วนหน้านั้นบอบบาง ใช้งานนานๆ ไม่ได้ จะรู้สึกเหนื่อยล้า สังเกตมั๊ยครับนั่งอยู่โต๊ะทั้งวันไม่ได้วิ่งทำไมเหนื่อยจังเสาร์อาทิตย์นอนยังไม่หายเหนื่อยเลยจะวันจันทร์อีกแล้ว 

             สมองส่วนหน้าชอบความบันเทิงเริงรมย์ เราสอบเสร็จอยากกินของอร่อย ทำงานสำคัญเสร็จต้องฉลอง เย็นวันศุกร์อยากปาร์ตี้ บางทีเมาค้างเมื่อคืนแดนซ์กระจายแต่รู้สึกหายเหนื่อย นั่นเพราะเรามอบความเริงรมย์ให้สมองส่วนหน้าตอบแทนการทำงานให้แล้ว

             Digital Nomad เป็นกลไกที่ไม่ใช่แค่ทำงานอยู่ที่บ้านหรือเพียงแค่ริมผาหรือชายหาด เป็นการปล่อยให้คนทำงานเร่ร่อนค้นหาที่ทำงานอันน่าพึงพอใจไปเรื่อยๆ ไม่จำเจ นั่นคือการสร้างความรื่นเริงรมย์ให้สมองส่วนหน้าไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เมื่อสมองไม่ล้า ร่างกายก็ไม่รู้สึกเหนื่อย จึงทำงานได้นานขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง บริษัทฝรั่งบางแห่งถือเป็นนโยบายให้พนักงานเดินทางทำงานตามสถานที่ท่องเที่ยว บางแห่งจัดทัวร์การทำงาน Digital Nomad มาไทยเลย

          ผมยังนึกไม่ออกเลยว่ารัฐจะมี “ต้นทุน” อะไรจากการประกาศใช้นโยบายนี้ เศรษฐกิจก็ดีขึ้น มลภาวะลดลง ความสุขของคนในชาติเพิ่มขึ้น ที่สำคัญนอกจากการแก้ปัญหาจราจรได้ภายใน 4 สัปดหา์แล้ว ผมถือว่านี่คือนโยบายของพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่มีวินัย และศักยภาพ อยากเลือกตั้งให้มาเปิดโอกาสอันแสนท้าทาย และปลดปล่อยพวกเราคนรุ่นใหม่สู่อิสรภาพในการทำงานแน่ๆ ครับ

 

 

อ้างอิง

ณัฐวุฒิ เผ่าทวี, The Happiness Equation: The Surprising Economics of Our Most Valuable Asset

รพีพัฒน์ รุ่งวิริยะวงศ์, วรวรรณ ตุ้มมงคล, ผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ของสถานการณ์รถติดที่มีต่อผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจในกรุงเทพมหานคร,

Retrieved from; https://www.econ.cmu.ac.th/nce2015/paper/The%20Economic%20Effect%20of%20Traffic%20Congestion%20on%20Patients%20with%20Respiratory%20Disease%20in%20Bangkok.pdf

ปริมาณจราจรโดยเฉลี่ยต่อวันตลอดปี บนทางหลวงในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง, Retrieved from; https://data.go.th/DatasetDetail.aspx?id=4be8c846-a4db-4ec4-99dd-59688b9e0dea

 

 

         






           

หมายเลขบันทึก: 650839เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2018 13:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กันยายน 2018 22:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท