A Love story of Cryptanalysis Couple in USA


ดร.ปรเมศวร์ กุมารบุญ

Cyber Criminologist

 

 

       คู่รักโรแมนติกคู่หนึ่งเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 ในสายตาคนทั่วไปเขาและเธอนั้นเปรียบดังอัจฉริยะที่มีสมองกลเหนือคนธรรมดา อันที่จริงแล้วอัจฉริยะก็คือคนธรรมดาเหมือนเรานั่นล่ะครับ แต่หลงใหลงานที่ตนทำ แล้วมันจะออกมาดี พวกเขาก็เช่นกัน

               กองทัพสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับวิชาประวัติศาสตร์วิทยาการรหัสลับ (Cryptography) อย่างสูง เพราะเทคนิคต่างๆ มักจะมีที่มาของจุดกำเนิด ผู้เชี่ยวชาญวิทยาการรหัสลับในปัจจุบันจะสนทนากันในเรื่องประวัติศาสตร์รูปแบบการเข้ารหัสต่างๆ ในอดีต และการค้นหาวิธีการถอด Cipher จะมองย้อนกลับไปว่า ฝ่ายตรงข้ามน่าจะเริ่มศึกษาหรือคุ้นเคยกับกรรมวิธีแบบใด ผู้เข้ารหัสนั้นน่าจะเป็นใคร มีพื้นเพเริ่มต้นการเรียนรู้วิธีการเข้ารหัสแบบไหน นั่นคือสิ่งสำคัญในการ Code breaking

           วิทยาการรหัสลับ (Cryptography) ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาปรากฏให้เห็นว่า สามารถชี้แพ้ชนะได้ในการทำสงคราม และในช่วงสงครามโลกครั้งแรก ชายหนุ่มผู้หนึ่งซึ่งมีพื้นฐานความรู้ที่ดีทางวิทยาศาสตร์ถูกความรักชักจูงให้หลงรักนักวิเคราะห์การถอดรหัสลับหญิง (Cryptanalysis) เธอผู้มีพื้นฐานความรู้ที่ดีทางภาษาศาสตร์ เขาและเธอกลายมาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างสูงต่อกองทัพสหรัฐในการร่วมศึกสงครามโลก

                   วิลเลี่ยม เอฟ. ฟรายด์แมน (William F. Friedmanm, ค.ศ.1891–1969) ในวัยเด็ก ฟรายด์แมน ได้รับแรงบันดาลใจจากการอ่านนิยายเรื่อง the gold bug ของ เอ็ดการ์ อัลแลน โพ  (https://www.gotoknow.org/posts/649236 )

              ฟรายด์แมน เข้าศึกษาที่วิทยาลัยเกษตรกรรมมิชิแกน (ปัจจุบันคือ Michigan state University) และได้รับทุนไปศึกษาด้านพันธุศาสตร์ที่ มหาวิทยาลัย คอร์เนล จนจบได้ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต และเขาตั้งใจจะเรียนต่อให้ถึงปริญญาเอกเพื่อเป็นอาจารย์ เขาสนใจพันธุศาสตร์ ฟิสิกส์ และเคมี แต่ในที่สุดก็มีเหตุให้ผิดหวังทางการศึกษา และพอดีอาจารย์ที่ปรึกษาของเขาได้รับจดหมายจาก จอร์จ ฟาเบียน (George Fabyan, ค.ศ.1867–1936) นักธุรกิจผู้ร่ำรวย ผู้ซึ่งมีห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ส่วนตัว (private research laboratory) แห่งแรกในสหรัฐอเมริกา ไว้ทำการวิจัยและทดลองสิ่งที่เขาสนใจเป็นการส่วนตัว เขาต้องการนักวิจัยด้านพันธุศาสตร์มาทำงานที่ศูนย์นี้ เมื่อ ฟรายด์แมน ทราบเข้า จึงตอบตกลงมาทำงานทันที และได้เงินเดือน 100 ดอลลาร์สหรัฐ

           ฟาเบียน ได้ตั้งโครงการวิจัยเกี่ยวกับพันธุศาสตร์ และได้ชักชวน ฟรายด์แมน มาเป็นหัวหน้าแผนกพันธุศาสตร์ ที่ศูนย์วิจัย Fabyan's Riverbank นอกชิคาโก ในเดือนกันยายน ค.ศ.1915 และเขาได้ดำเนินโครงการวิจัยเรื่องแสงจันทร์ที่ส่องลงมาคลุมพื้นโลกส่งผลกระทบต่อพันธ์ุข้าวสาลีอย่างไร

 

 

จอร์จ ฟาเบียน (George Fabyan, ค.ศ. 1867–1936)
 

 

          (William S.,2004) จอร์จ ฟาเบียน เป็นผู้สนับสนุนทฤษฎีเบคอนเนียน (Baconian Theory) ทฤษฎีนี้กล่าวว่า บทประพันธ์ละครหลายบทของเช็คสเปียร์ (Shakespeare's plays) แท้จริงแล้วไม่ได้แต่งโดย วิลเลียม เช็คสเปียร์ (William Shakespeare) แต่เป็น ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon, 1st Viscount St Alban, 1561–1626) นักปราชญ์ รัฐบุรุษ นักวิทยาศาสตร์ นักกฎหมาย นักพูด นักประพันธ์ และขุนนางชั้นสูงชาวอังกฤษ

            ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon, 1st Viscount St Alban, ค.ศ. 1561–1626)

 

             (Wells, Stanley, 2005) ในปี ค.ศ.1623 เพื่อนของเช็คสเปียร์สองคนในคณะละคร King's Men คือ จอห์น เฮมมิ่งส์ (John Heminges) และ เฮนรี่ คอนเดล (Henry Condell) ได้นำงานผลงานประพันธ์บทละครของ เช็คสเปียร์ จำนวน 36 เรื่อง มารวมเล่มจัดพิมพ์เป็นหนังสือขนาดใหญ่ราว 15 นิ้ว (เป็นลักษณะที่เรียกว่า folio) ตั้งชื่อหนังสือว่า First Folio โดยที่บทประพันธ์ละครบางส่วนเคยตีพิมพ์มาแล้วในรูปแบบหนังสือขนาดเล็ก (เรียกว่า quarto) แต่ในทางประวัติศาสตร์ไม่มีหลักฐานว่าเช็คสเปียร์รับทราบการตีพิมพ์ครั้งนี้ (Friedman W., Friedman S, 1957) และเนื้อหาจำนวนหนึ่งถูกดัดแปลงบิดเบือนไป เนื่องจากเป็นการเขียนจากความทรงจำของทั้งคู่ ที่อ้างว่าจำมาจากบทประพันธ์ละครของเช็คสเปียร์

         จอร์จ ฟาเบียน เชื่อว่าบทประพันธ์ละครหลายเรื่องในหนังสือ First Folio นั้น ไม่ใช่ผลงานของ เช็คสเปียร์ แต่เป็นผลงานของ ฟรานซิส เบคอน เพราะในบทละครนั้นมีการเข้ารหัสลับเป็น Cipher text ซ่อนความหมายไว้ใต้ตัวหนังสือ สาเหตุที่เชื่ออย่างนั้น เพราะว่า ฟรานซิส เบคอน เป็นนักวิทยาการรหัสลับ

 

ภาพถ่ายหนังสือชื่อ First Folio

 

          ในปี ค.ศ.1605 ฟรานซิส เบคอน ได้สร้างวิธีการเข้ารหัสลับเรียกว่า Bacon's cipher หรือ  Baconian cipher เป็นกระบวนวิธีสร้าง Cipher text ด้วยวิธีที่เรียกว่า “อำพรางข้อมูล” (steganography) หรือการซ่อนความหมายไว้ในสื่อทั่วไป ทั้ง ประโยคปกติ ภาพปกติ เสียงปกติ ตลอดจนบทละครปกติหรือวีดีโอปกติในปัจจุบัน โดยมีหลักการดังนี้

 

 

 

 

 

Bacon's cipher แบบที่ 1

 

          Bacon's cipher แบบที่ 1 ใช้ตัวอักษร a และ b จำนวน 5 ตัว วางสลับที่กันเพื่อแทนความหมายอักษร A-Z และแทนเลขฐานสอง 5 ตำแหน่งได้ด้วยเช่นกัน

Bacon's cipher แบบที่ 2

 

               ต่อมาได้มีการปรับปรุง Bacon's cipher แบบที่ 2 ใช้ตัวอักษร a และ b จำนวน 5 ตัว วางสลับที่กันเพื่อแทนความหมายอักษร A-Z และแทนเลขฐานสอง 5 ตำแหน่งเหมือนเดิม แต่แก้ไขเพิ่มเติมตัวอักษรที่ซ้ำกันคือ I, J, U และ V

 

                 หลังจากทำงานวิจัยเกี่ยวกับโครงการแสงจันทร์ในศูนย์วิจัย Riverbank แล้ว ฟรายด์แมน กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญการถ่ายภาพในที่มืด เขาได้ร้องขอ ฟาเบียน ว่า ทราบว่าศูนย์วิจัย Riverbank ของ ฟาเบียน ได้ตั้งโครงการวิจัยถอดรหัสที่แฝงในบทประพันธ์ของ เช็คสเปียร์ (Fabyan’s cipher Project) ที่เชื่อว่าเป็นผลงานของ ฟรานซิส เบคอน โดยเฉพาะมี อลิซาเบธ เวลส์ กัลลัพ (Elizabeth Wells Gallup, 1848–1934) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้อยู่ จึงอยากเข้ามาช่วยงานวิจัยนี้ให้สำเร็จลุล่วง

           นางกัลลัพ เป็นนักวิทยาการรหัสลับ ได้รับทุนสนับสนุนจาก ฟาเบียน อย่างเต็มที่ให้มาทำงานวิจัยเรื่องนี้ที่ศูนย์วิจัย Riverbank ของ ฟาเบียน เธอเชื่อว่าเธอพบข้อความลับที่ซ่อนอยู่ในบทประพันธ์ละครของ เช็คสเปียร์ ที่เธอเชื่อว่าแท้จริงแล้วเป็นผลงานของ ฟรานซิส เบคอน

              ฟรายด์แมน เข้ามาช่วยงานวิจัยของ นางกัลลัพ โดยเป็นช่างถ่ายภาพในโครงการนี้ แต่ข้อสมมุติฐานหนึ่งซึ่งผมมโนเอาเอง ค่อนข้างจะกรุ้มกริ่มนั่นคือ ผมทราบว่าในศูนย์วิจัย Riverbank ไม่ได้มีพนักงานอะไรมากมาย และคงไม่ใช่อะไรที่จะมากไปกว่า ฟรายด์แมน แอบหลงรักหญิงสาวผู้งามสง่านัยน์ตาคมคนหนึ่งในศูนย์วิจัย และเธอคือ อลิซาเบธ  สมิธ (Elizebeth Smith) นักวิทยาการรหัสลับผู้ช่วยวิจัยของ นางกัลลัพ

               

                      อลิซาเบธ  สมิธ เธอจบการศึกษาด้านศิลปะศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ เธอเข้ามาทำงานที่ศูนย์วิจัย Fabyan's Riverbank ครั้งแรกเป็นบรรณารักษ์ห้องสมุด เธอหลงใหลบทประพันธ์ละครของ เช็คสเปียร์ ทุกชิ้น เธอเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้ง ภาษาอังกฤษ การตีความหมายต่างๆ และเธอคือผู้เชี่ยวชาญบทประพันธ์ละครของ เช็คสเปียร์ มากที่สุด ซึ่งเป็นเหตุผลที่ ฟาเบียน ขอให้เธอมาช่วยในโครงการวิจัยของ นางกัลลัพ

                     ฟรายด์แมน วัยหนุ่มกรุ้มกริ่ม เขารู้ดีว่าหากได้ร่วมทีมวิจัยทีมนี้ เขาคงทราบว่าการวิจัยในโครงการนี้จะได้เดินทางไกลไปยังยุโรป และจะได้เดินทางไปทั่วอังกฤษ กับเธอและทีมงาน เพื่อค้นคว้าเก็บข้อมูล เขาจะมีความสำคัญในโครงการโดยเป็นผู้ถ่ายภาพต้นฉบับบทประพันธ์ของ เช็คสเปียร์ การเข้ามาขอร่วมโครงการนี้ของ ฟรายด์แมน ผมเชื่อว่านั่นเป็นแผนที่เขาจะจีบเธอ และนั่นคงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะมากในการที่จะพิชิตใจเธอ

                      ฟรายด์แมน และ อลิซาเบธ ทั้งคู่เดินทางไกลแสนไกลร่วมกัน และทำงานร่วมกันภายใต้ท่วงทำนองบทกวีรักโรแมนติกที่สุดของโลกที่ประพันธ์โดย เช็คสเปียร์ นักวิจัยทั้งหมดในโครงการต่างก็ท่องแล้วท่องอีก ทบทวนแล้วทบทวนอีก เพื่อจะตีความหมายที่ซ่อนไว้ใต้ตัวหนังสือ ซึ่งทั้ง เช็คสเปียร์ และ ฟรายด์แมน ต่างก็มีชื่อแรกว่า วิลเลียม เหมือนกัน

                     การถ่ายภาพหนังสือเก่าของเขาอาจจะไม่ได้ใช้เวลามากนัก เพื่อให้เข้าใจงานที่กำลังทำอยู่มากยิ่งขึ้น และมีเรื่องชวนคุยกับเธอมากขึ้น ก็คงหนีไม่พ้นคุยเรื่องบทประพันธ์ละครของ เช็คสเปียร์ และการเรียนรู้วิทยาการรหัสลับ (Cryptography) โดยเฉพาะ Bacon’s Cipher ที่เธอเชี่ยวชาญมาก่อน แน่นอนว่า ฟรายด์แมน มีพื้นฐานจากการได้อ่านนิยายเรื่อง The gold Bug ของ เอ็ดการ์ อัลแลน โพ มาก่อนทำให้ต่อติดได้อย่างดี

 

 

                     ผมนั่งนึกฝันตาม คงเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมากๆ ของทั้งคู่แน่ๆ ทั้งเดินทางแสนไกลด้วยกันผ่านทิวทัศน์สวยงาม ทำงานที่เกี่ยวข้องกับนิยายรักแสนโรแมนติกระดับโลก เขาคงมักจะถามถึงความหมายของบทประพันธ์ละครรักจากเธอ เพราะเธอเป็นผู้เชี่ยวชาญนิยายรักของ เช็คสเปียร์ ก็คงตอบบ่อยๆ อย่างไม่เบื่อหน่าย และผมเชื่อว่าทั้งคู่มักสบตากันเมื่อนิยายนั้นสอดคล้องกับเรื่องราวของเขาและเธอที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนั้น

 

                    การค้นพบความหมายของ Cipher ในการวิจัยบทประพันธ์ละครครั้งนั้น ผมเชื่อว่า ฟรายด์แมน น่าจะมีส่วนช่วยมาก เพราะเขามีความรู้ในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะหลักสถิติ หากเข้าใจหลักการของ Bacon’s Cipher แล้ว ไม่ยากเลยที่จะใช้วิชาสถิติมาช่วยในการถอดรหัสว่าอักษรใดซ้ำกันบ่อยแค่ไหน ถูกใช้เมื่อใดบ้าง และการค้นพบสิ่งลี้ลับร่วมกันนี้ยิ่งทำให้เขาและเธอผูกพันกันมากยิ่งขึ้น มันคือ Eureka effect เมื่อทั้งคู่ไขปริศนาบางอย่างร่วมกันได้ ซึ่งทั้งหมดเป็นองค์ประกอบเพียงพอแล้วที่จะทำให้หนุ่มสาวคู่หนึ่งตกลงปลงใจแต่งงานกันในเดือน พฤษภาคม ปี ค.ศ.1917

 

             การไขความลับที่ซ่อนอยู่ในบทประพันธ์ในการวิจัยครั้งนั้นถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือหลายเล่ม และส่งผลให้ศูนย์วิจัย Fabyan's Riverbank มีชื่อเสียงโด่งดังด้านวิทยาการรหัสลับ  และเป็นกลุ่มนักวิเคราะห์การถอดรหัส (Cryptanalysis) กลุ่มคนแรกๆ ของสหรัฐอเมริกา ที่ทำงานวิจัยแบบวิทยาศาสตร์ มีแบบแผนระเบียบวิธีวิจัยเป็นเรื่องเป็นราวโดยใช้คณิตศาสตร์ และวิชาสถิติมาวิเคราะห์

              ความรักทำให้ ฟรายด์แมน ได้กลายมาเป็นนักวิเคราะห์การถอดรหัสลับ (Cryptanalysis) ไปด้วย หลังงานวิจัยชิ้นนั้นไม่นาน เขาได้เป็นผู้อำนวยการแผนก Codes and Ciphers ของศูนย์วิจัย Fabyan's Riverbank ในระหว่างนั้นเขาได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับวิทยาการรหัสลับจำนวน 23 เรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำวิธีการทางคณิตศาสตร์มาช่วยต่อยอดในการสร้างวิชาวิเคราะห์การถอดรหัสลับ

             ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ.1914-1918) สหรัฐอเมริกาได้ตั้งหน่วย MI8 เป็นสำนักงานถอดรหัสลับของกองทัพบก (Army's Cipher Bureau)  ศูนย์วิจัย Fabyan's Riverbank ได้ช่วยเหลือกองทัพในการถอดรหัสลับข้อความที่ได้รับจากสงคราม ซึ่งทั้งกองทัพบก และกองทัพเรือ ต่างก็ขาดแคลนบุคลากรและวิทยาการอย่างมาก เมื่อดักรับข่าวสารอะไรได้จะส่งมาให้ศูนย์วิจัย Fabyan's Riverbank ช่วยถอดรหัสอยู่เสมอ ศูนย์วิจัยของฟาเบียนกลายเป็นหน่วยงานสนับสนุนงานความมั่นคงของชาติอย่างไม่เป็นทางการ

            ปลายสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเมื่อวันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 1918 พันเอก Joseph Mauborgne มาเยี่ยมชมศูนย์วิจัย Fabyan's Riverbank และ 5 วันหลังจากนั้น สหรัฐอเมริกาได้ประกาศสงครามกับเยอรมนี กองทัพจึงได้ขอส่งตัวบุคลากรมาฝึกอบรมที่ศูนย์วิจัย Fabyan's Riverbank ที่แผนก Codes and Ciphers ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ฟรายด์แมน

           ฟาเบียน เสนอยกแผนก Codes and Ciphers ของศูนย์วิจัย Fabyan's Riverbank ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ ฟรายด์แมน ให้กองทัพสหรัฐ เจ้าหน้าที่จากกองทัพกว่าแปดสิบคนถูกส่งเข้ามารับการอบรมที่ศูนย์วิจัยนี้

            พันเอก Joseph ต้องการดึง ฟรายด์แมน ให้เข้าร่วมกองทัพ และ ฟรายด์แมน เองก็มีความต้องการเข้าร่วมสงครามทำงานในสมรภูมิแอตแลนติก แต่ ฟาเบียน พยายามขัดขวางเขาต้องการให้ ฟรายด์แมน อยู่กับเขาและศูนย์วิจัยจะทำงานให้กองทัพต่อไป แต่ในที่สุด ฟรายด์แมน ก็หนีจากศูนย์วิจัยเข้าสู่กองทัพบกติดยศร้อยตรี ส่วนอลิซาเบธทำงานให้กองทัพเรือ

 


 

             ฟรายด์แมน ทำงานอย่างโดดเด่น และเขียนตำราเป็นคู่มือการเรียนวิชาถอดรหัสลับเล่มแรกของสหรัฐอเมริกา "The Index of Coincidence and its Applications in Cryptography" ต่อมาได้กลายเป็นตำราหลักที่กองทัพสหรัฐอเมริกาใช้ศึกษามาจนปัจจุบัน

            ปี ค.ศ.1921 หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ฟรายด์แมน เป็นหัวหน้าหน่วยข่าวกรองถอดรหัสลับระบบสัญญาณ Signal Intelligence Service (SIS) แห่งกองทัพสหรัฐ

 

 

          ความยิ่งใหญ่ของ ฟรายด์แมน ในการใช้หลักคณิตศาสตร์และหลักสถิติมาพัฒนากระบวนการเข้ารหัสลับ และการถอดรหัสลับ กล่าวได้ว่าไม่มี Cipher text ใดที่เขาถอดไม่ได้ ทั้งเยอรมนีหรือญี่ปุ่นจะมีเครื่องมือในการเข้ารหัสลับที่ซับซ้อนทั้ง Enigma หรือ Purple อันเลื่องชื่อ เขาถอดรหัสลับทางทหารเหล่านั้นจนล่วงรู้ข้อความทั้งหมดช่วยให้ สหรัฐอเมริกา มีชัยในสงครามโลกทั้งครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ตลอดมา

              หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฟรายด์แมน ยังคงอยู่หน่วยข่าวกรองถอดรหัสลับระบบสัญญาณ Signal Intelligence Service (SIS) แห่งกองทัพสหรัฐ ในปี 1949 และเขาเป็นหัวหน้าหน่วย Cryptographic division of the newly formed Armed Forces Security Agency (AFSA) จากนั้นในปี ค.ศ.1952 ก็เป็นหัวหน้านักรหัสวิทยา ใน National Security Agency (NSA) หรือหน่วยงานด้านเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของชาติอันโด่งดังในปัจจุบันนั่นเอง

              

 

                 เรื่องราวความยิ่งใหญ่ของ ฟรายด์แมน และ อลิซาเธ สมิธ นั้นยาวเหยียด คู่รักคู่นี้ทำงานร่วมกันตลอด ช่วยกันถอดรหัสลับข้อมูลข้าศึกศัตรูฝ่ายตรงข้าม จนเป็นข้อได้เปรียบของกองทัพสหรัฐในหลายศึก คู่รักคู่นี้ใช้ชีวิตรักที่สมบูรณ์แบบที่สุดคู่หนึ่งบนโลกใบนี้ อยากให้ผู้อ่านค้นคว้าต่อเองเรื่องราวของทั้งคู่ควรค่าแก่การศึกษาประวัติศาสตร์วิทยาการรหัสลับอย่างยิ่ง ผมเชื่อว่าวิชานี้เป็นวิชาที่สำคัญที่สุดแห่งยุค Cyber security และแทบไม่มีบุคลากรด้านนี้เลย แต่จากย่อประวัติของ ฟรายด์แมน และอลิซาเบธ เราจะเห็นได้ว่า บุคลากรทางด้านรหัสวิทยาไม่ได้เกิดจากระบบการศึกษา แต่เกิดจากการใฝ่รู้ที่สอดคล้องกับความต้องการของยุคสมัย

               ฟรายด์แมน ติดอันดับ Hall of frame ของกองทัพสหรัฐ และได้รับยศนายพันโท (lieutenant colonel) เขาเสียชีวิตในปี ค.ศ.1969 ในวัย 78 ปี

 

                   อีก 11 ปีต่อมา อลิซาเธ สมิธ ถึงได้เสียชีวิตในวัยชรา แต่ป้ายศิลาเหนือหลุมฝังศพ (Tombstone) ที่เธอทำไว้ ก็ยังกลายเป็นตำนานอันโด่งดังทางรหัสวิทยาเมื่อมีคนสังเกตเห็น ลักษณะพิเศษของตัวอักษรที่ศิลาเหนือหลุมฝังศพ โดยเฉพาะประโยคสุดท้ายที่กล่าวว่า “Knowledge is power”

 

              “ความรู้คือพลัง” ประโยคนี้เป็นของ ฟรานซิส เบคอน เป็นอมตะนิยายรักที่ทั้งคู่ได้พบรักกันเมื่อครั้งทำงานวิจัยนิยายรักของ วิลเลียม เข็คสเปียร์ และมันคือ Bacon’s Cipher - 5 Digit binary ที่เข้ารหัสอักษรซ่อนประโยคนี้ไว้ในภาพถ่ายวันจบการอบรมนายทหารที่ศูนย์ River bank

 

              ภาพถ่ายนายทหารเรียงแถวหน้ากระดานสองตอนที่ดูเหมือนจะปกติทั่วไป แต่มันไม่ปกติเมื่อมองเข้าไปใกล้ๆ จะเห็นว่านายทหารแต่ละคนนั้น บ้างก็หันหน้าไปคนละทิศละทางจนมีผู้สังเกตุได้ว่า แท้จริงแล้วนั่นคือ Bacon’s Cipher ที่ฟรายด์แมนซ่อนไว้อย่างมีศิลปะ

 

 

 

           เมื่อเปรียบเทียบเทียบลักษณะการหันใบหน้าของเหล่าทหารในภาพถ่าย แทนด้วยอักษร a และ b ตามแบบของ Bacon’s Cipher จะแปลได้เป็น “ความรู้คือพลัง” หรือ “Knowledge is power”

           และหากพิจารณาถึงบรรทัดสุดท้ายของศิลาเหนือหลุมฝังศพ ประโยคที่ว่า “Knowledge is power” นั้นมี Font คนละชนิดกันิมี Serif และ Sans

 

 

 

          หากแทนความหมาย ของ Font ที่สลับกันในประโยคดังกล่าวด้วยเทคนิค Bacon’s Cipher จะได้ความหมายกลับออกมาเป็นชื่อ William Frederick Friedman

 
 

 

 

                  กล่าวได้ว่า Bacon's Cipher เป็นรากฐานของวิทยาการรหัสลับในสหรัฐอเมริกา ดังภาพที่ William Frederick Friedman วาดเอาไว้ Bacon เปรียบดังรากแก้วของต้นไม้ที่ถูกใส่ปุ๋ยด้วยความรักจึงเติบโตงอกงามแล้วจึงออกดอกเบ่งบานสวยงามในกาลต่อมาราวกับนิยายรักของ เช็คสเปียร์ หากมองย้อนกลับไป

                       เขาเริ่มต้นมองจากดอกไม้ ซึ่งนั่นก็คือ นิยายรักของ เช็คสเปียร์ แล้วค้นหาที่มาที่ไปของความสวยงามนั้น ลงไปถึงรากแก้วนั่นคือ Bacon's Cipher การเข้ารหัสด้วยการแทนที่อักขระเพียงแค่สองตัว (Bi literal Cipher) ที่ถูกซ่อนความหมายไว้ได้ในทุกหนทุกแห่ง และเมื่อนำวิธีการนี้มาแทนด้วยเลขฐานสอง นั่นก็คือระบบดิจิทัลในปัจจุบันนั่นเอง

 

 



 

 

 

อ้างอิง

Liza Mundy (2017). CODE GIRLS, The Untold Story of the American Women Code Breakers of World War II. [Available on Cited; https://www.nytimes.com/2017/11/06/books/review/liza-mundy-code-girls-world-war-ii.html ]

Cryptologic Quarterly (2015), Release of the William and Elizebeth Friedman Collection, Centre for Cryptologic History, Vol. 34

Wells, Stanley; Taylor, Gary; Jowett, John; Montgomery, William, eds. (2005). The Oxford Shakespeare: The Complete Works (2nd ed.). Oxford

Friedman William, Friedman, Elizebeth S. (1957). The Shakespearean ciphers examined: an analysis of cryptographic systems used as evidence that some author other than William Shakespeare wrote the plays commonly attributed to him. Cambridge University Press, 2010.

Niederkorn, William S. (2004). Jumping o'er times: the importance of lawyers and judges in the controversy over the identity of Shakespeare, as reflected in the pages of the New York Times. Tennessee Law Review. Tennessee Law Review Association

Robert A. Reeves. (2000). Colonel William F. Friedman (The godfather of Cryptology) "Knowledge is Power". Arlington National Cemetery. October 16 2000.

 

https://nakedsecurity.sophos.c...

คำสำคัญ (Tags): #cryptography#Cryptanalysis#William Friedman
หมายเลขบันทึก: 650544เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2018 23:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กันยายน 2021 14:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

@จันทวรรณ ขอบคุณที่สร้างเว็บดีๆ ให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท