เอ็ดการ์ อัลแลน โพ ศิลปินนักเขียน หรือ แฮ๊คเกอร์ผู้มาก่อนกาลเวลา


ปรเมศวร์ กุมารบุญ

 Cyber Criminologist

     ขณะที่ผู้เขียนกำลังค้นคว้าประวัติศาสตร์อาชญากรรมไซเบอร์ ก็ได้สะดุดตากับบุคคลท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์วิทยาการรหัสลับของ สหรัฐ อเมริกา ท่านหนึ่ง ท่านเป็นศิลปินนักเขียนนักประพันธ์ขี้เมา แต่เหตุไฉนจู่ๆ ท่านจึงได้มีความเป็นอัจฉริยะในการถอดรหัสลับนับร้อยวิธี และยิ่งค้นคว้าเรื่องราวของเขาผมยิ่งชอบยิ่งรักเขาขึ้นเรื่อยๆ และทุกครั้งที่ผมบรรยายคาบแรกในทุกสถาบันการศึกษาวิชาอาชญากรรมไซเบอร์ผมจะกล่าวถึงเขา ผู้เป็นต้นกำเนิดวิทยาการรหัสลับ จึงขอเล่าให้ฟังดังนี้ครับ


            นับพันๆ ปี ก่อนที่มนุษย์จะสร้างเครื่องจักรในการคำนวณ (Computer) แต่เทคนิคการเข้ารหัสลับข้อมูล เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้ข้อมูลว่ายังคงถูกปกปิดเป็นความลับได้ถือกำเนิดขึ้นก่อน ซึ่งได้พัฒนากลายมาเป็นรากฐานของ Information security ในปัจจุบัน

             จากรูปหลักการพื้นฐานในการเข้ารหัสลับ เริ่มต้นที่ Plain text หรือข้อมูลต้นทางที่ต้องการจะสื่อสาร ถูกนำมาเข้ารหัส (Encryption) ด้วยกุญแจสำคัญ (Key) ที่เป็นอันรู้กันว่ามันเข้ารหัสและถอดรหัสอย่างไร เมื่อเข้ารหัสแล้วจะได้ข้อมูลที่เรียกว่า Cipher text ซึ่งใครที่ได้ข้อมูลไปก็ไม่อาจเข้าใจได้ว่ามันหมายถึงอะไร

       ในกระบวนการถอดรหัสนั้น เมื่อนำข้อมูล Cipher text มาเข้ากระบวนการถอดรหัส (Decryption) โดยมีกุญแจ (Key) แบบเดียวกับต้นทาง ก็จะทำให้ได้ข้อมูลต้นทางหรือ Plain text กลับคืนมา

         เมื่อ 100– 44 ปี ก่อนคริสตกาล จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) เป็นผู้เริ่มต้นใช้เทคนิคการเข้ารหัสลับข่าวสารเพื่อรักษาความปลอดภัยข้อมูลในการสื่อสารทางทหารเรียกว่า Caesar cipher หรือ the shift cipher หรือ Caesar's code เป็นวิธีการเข้ารหัสลับที่นิยมใช้การอย่างกว้างขวางที่สุด โดยใช้วิธีการแทนที่ตัวอักษร substitution cipher  ด้วยการบวกไปสามตัวอักษรก่อนหน้าทางซ้ายมือ เช่น D หมายถึง A

 

รูป Caesar cipher ด้วยการบวกไปสามตัวอักษรก่อนหน้าทางซ้ายมือ

ขอบคุณภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/...

 

         ในสมัยโบราณการสื่อสารทางทหารโดยเฉพาะระหว่างการสงคราม หน่วยข่าวกรอง (Intelligence unit) พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ข่าวสารของศัตรูฝ่ายตรงข้ามมา และก่อให้เกิดกระบวนการพยายามถอดรหัสลับ ซึ่งได้กลายเป็นศาสตร์คู่ขนานแข่งขันกับกระบวนการเข้ารหัสลับเรื่อยมาอย่างต่อเนื่องจนทุกวันนี้

        วิทยาการรหัสลับ (Cryptography) ถือเป็นวิชาหนึ่งที่ยากที่สุดของหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ในยุคปัจจุบัน และถือเป็นเคล็ดวิชาที่ แฮ๊คเกอร์  (Hacker) ในปัจจุบันต้องฝึกฝนเป็นสมรรถนะหลัก (Core competency) ในการเจาะระบบเข้าถึงข้อมูล

       การเข้ารหัสลับ และการถอดรหัสลับในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ นับจากอดีตใช้การแทนที่ตัวอักษรกลายมาเป็นการนำความรู้ทางคณิตศาสตร์ในระดับสูงมากมาประยุกต์ใช้ และมนุษย์ธรรมดาไม่อาจจะใช้สมองคำนวณได้โดยง่ายต้องใช้คอมพิวเตอร์เท่านั้น

          แต่หากมองย้อนกลับไปศึกษาเทคนิคการเข้ารหัสในสมัยโบราณ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่มนุษย์จะเดาความเป็นไปได้จนพบเทคนิคการถอดรหัสที่ถูกปกปิดบังไว้ เพราะอย่าลืมว่าในศตวรรษที่ 19 ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้

         แต่ชายคนหนึ่งที่ดูเหมือนบ้าคลั่งเพ้อฝันกับการประพันธ์นิยาย เสพยาและดื่มสุราอย่างหนัก กลับประกาศในนิตยสารว่าเขาคือผู้ที่สามารถถอดรหัสลับได้ทุกรูปแบบ และให้ส่งโจทย์มาท้าทาย เขาคือผู้บุกเบิกศาสตร์แห่งการวิเคราะห์รหัสลับ (Cryptanalysis) แห่งสหรัฐ อเมริกา และทุกวันนี้นักวิชาการหลายคงยังคงสงสัยว่าเขาทำได้อย่างไร

                ต้นศตวรรษที่ 19 มีกวีชื่อดังนามว่า เอ็ดการ์ อัลแลน โพ  (Edgar Allen Poe, 1809-1849) เขาเป็นนักเขียนชาวอเมริกันชื่อดังคนแรกที่ตัดสินใจว่าจะเลี้ยงชีพด้วยการเขียนหนังสืออย่างเดียวเท่านั้น แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอดต้องปลอมแปลงข้อมูลของตนไปเป็นพลทหารเพื่อเลี้ยงชีพตน

          ผลงานประพันธ์ของเขาเป็นแนวอาชญากรรม สืบสวน การเสียชีวิตของหญิงงาม การฝังคนทั้งเป็น ฆาตกรรมต่อเนื่อง วิธีการสังหารที่พิสดาร อาชญากรวิปริต ความหลากหลายของผู้คนที่วนเวียนอยู่กับมายาคติที่เรียกว่าแนว Psychological Thriller ในยุคที่วิชาจิตวิทยายังไม่เป็นศาสตร์ เล่าเรื่องปนกับความรักที่บ้างก็เรียกว่าแนว Dark Romanticism และเขาเป็นผู้บุกเบิกนิยายแนววิทยาศาสตร์ เป็นต้นแบบนักเขียนสมัยใหม่อีกหลายคน

               นับตั้งแต่วัยเด็กถึงวัยหนุ่ม เอ็ดการ์ อัลแลน โพ มีชีวิตแวดล้อมไปด้วยความตายและความพลัดพราก เขาเกิดจากครอบครัวนักแสดง David และ Elizabeth Arnold Poe ซึ่งแต่งงานกันตอนทัวร์การแสดงจนมีบุตรด้วยกัน 3 คน แต่เพียงโพอายุได้ 1 ขวบ พ่อของเขาก็หายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย พออายุได้ 2 ขวบ แม่ของเขาก็ป่วยเสียชีวิตลง เด็กชายเอ็ดการ์ โพ กลายเป็นเด็กกำพร้า พี่น้องทั้ง 3 คนจึงพลัดพรากถูกแยกย้ายไปอยู่กับผู้มีอุปการะ โพได้รับอุปการะจาก John และ Francis Allan เอ็ดการ์ โพ จึงใช้ ‘อัลแลน’ เป็นชื่อกลาง

          เขาพบรักครั้งแรกกับสาวสวยแถวบ้านนามว่า Elmira แต่พอเขาอายุ 15 ครอบครัวของ Elmira ไม่ยอมรับในตัวโพ และต้องการให้เธอแต่งงานกับชายอื่นที่เพียบพร้อม เขาจึงต้องพรากจากแฟนคนแรกที่รักสุดหัวใจ

           ปี ค.ศ. 1826 โพ อายุได้ 17 ปี หลังจากทะเลาะกับ John Allan พ่อเลี้ยง เรื่องที่โพมีหนี้สินจากการพนันและริลองสุรา โพ ตัดสินใจเลือกทำตาม Passion ของตน เขาออกจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย และมุ่งหน้าสู่บอสตันเพื่อตีพิมพ์งานเขียนชิ้นแรกของเขา เป็นบทกวีสะท้อนเรื่องราวครอบครัวที่แตกแยกของเขา แต่แล้วเขาต้องสมัครไปทำงานเป็นพลทหารในกองทัพเพื่อเลี้ยงชีพด้วยการปลอมอายุว่าถึง 20 ปีแล้ว

          เขาเขียนจดหมายกลับไปหา John Allan แต่ John Allan ก็ยังคงไม่ให้อภัยเขา จวบจนแม่เลี้ยง Francis Allan ป่วยจนเสียชีวิตลงตอนเขาอายุครบ 20 ปี   เขาออกจากกองทัพมุ่งสู่บัลติมอร์ และได้ตีพิมพ์งานเขียนชิ้นที่ 2 ของเขา 2 ปี ต่อมา พ่อเลี้ยง John Allan แต่งงานใหม่ เขาจึงลามุ่งสู่ นิวยอร์ค และทุ่มเทกับการประพันธ์บทกวีทุกประเภท เขามุ่งมั่นในการเป็นนักประพันธ์พัฒนาตัวเองเป็นนักเขียนอย่างบ้าคลั่ง มีผลงานความเรียง เรื่องสั้น และบทกวีตีพิมพ์หลากหลาย จากนั้นก็ทำงานในกองบรรณาธิการของนิตยสารหลายฉบับ  จนเขาอายุ 26 ได้แต่งงานกับภรรยาสาววัย 13 ปี 

            

            ปี ค.ศ. 1841 เขากลายเป็นเจ้าพ่องานเขียนแนวสืบสวน โดยมีตัวเอกนักสืบที่มีตรรกะเหตุผลอย่างยอดเยี่ยม แถมยังรุ่มรวยเสน่ห์ ในเรื่อง The Murders in the Rue Morgue ซึ่งกลายเป็นต้นแบบสำหรับนิยายอาชญากรรมสมัยใหม่มาถึงทุกวันนี้ และถูกนำไปสร้างภาพยนตร์

            นอกจากเป็นกวีแล้ว โพยังเป็นผู้สนใจวิทยาการรหัสลับ (Cryptography) เป็นความชื่นชอบส่วนตัว และเขาได้ค้นพบหลักการวิเคราะห์ถอดรหัสอย่างเป็นระบบได้หลากหลาย และเขาประสบความสำเร็จอย่างสูงในการเป็นนักถอดรหัสลับด้วยความรู้ที่ลึกซึ้ง

          โพ ได้เปิดคอลัมน์ชื่อว่า “A Few Words on Secret Writing” ในนิตยสาร เขาเขียนบรรยายเกี่ยวกับความรู้ด้านวิทยาการรหัสลับมากมายหลายรูปแบบ เช่นเขามักใช้เทคนิค ‘key-phrase’  กับพยัญชนะ 26 ตัว ในภาษาอังกฤษ

         โพ ใช้ประโยคภาษาลาตินว่า ‘Suaviter in modo, fortiter in re’ (‘Gentle in manner, firm in deed’) สำหรับแทนอักษร a-z ดังตัวอย่างการแทนที่ดังนี้

                   a  b  c  d e  f  g  h  I  j    k   l  m  n o  p q  r  s  t u  v w x  y  z

                   s  u  a  v  i   t  e  r  i n  m  o  d  o  f  o  r  t  i   t e  r  i  n  r  e

 

           เมื่อใช้ชื่อ Edgar Allan Poe จะเข้ารหัสได้ cipher เป็น ‘ivest sooso ofi’.

           ตัว key-phrase จะมีอักขระน้อยกว่า 26 ตัวอักษร จะเห็นได้ว่าตัว i แทนค่าได้ทั้ง e, r, v ขึ้นอยู่กับผู้ส่งและผู้รับตกลงกันว่า i ครั้งที่เท่าไรหมายถึงอักษรตัวใดเพื่อเพิ่มความซับซ้อนมากขึ้น

 

         ธันวาคม ปี ค.ศ. 1839 เขาได้เขียนประกาศเชิญชวนในนิตยสาร Alexander's Weekly Messenger ท้าทายให้ผู้อ่านส่ง Cipher text มาให้เขาถอดรหัส ซึ่งถ้าหากใครส่งปริศนา Cipher มาแล้วเขาแก้ไม่ได้ จะได้รางวัลเป็นสมาชิกนิตยสาร Alexander's Weekly ฟรี ทำให้ได้เห็นว่า วิทยาการรหัสลับได้เริ่มต้นแล้วในอเมริกา

         ตัวอย่าง Cryptogram ที่ผู้อ่านส่งมาตีพิมพ์ท้าทาย โพ ในนิตยสาร Alexander's Weekly Messenger วันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1840

C'WW WPB VKI WPYKIY UN BI VKONJ

C'WW NZV BI VU VKI XIEB DZCNJ

PFL WPJI BI YVPEV

IPNK AUWWB YKPWW EINIOXI MB YVCFL

IPNK UCNI ZFVU MB AIIV CWW GECFL

PFL MPJI CV YMPEV.

          โพ ได้ตอบว่า Cipher นี้เขียนว่า “we say again deliberately that human ingenuity cannot concoct a cypher which human ingenuity cannot resolve.”

  ตัวอย่างอื่นๆ ตามลิ้งค์นี้ครับ https://www.eapoe.org/works/stedwood/sw0914.htm

         ระหว่าง ธันวาคม ค.ศ. 1839 ถึง พฤษภาคม ค.ศ. 1840 ในการท้าทายผู้อ่านชิงรางวัล 6 เดือน เขาถอดรหัสลับนับร้อยรายการได้เกือบทั้งหมดอย่างง่ายดาย ยกเว้นเพียง 2 อัน มาจากผู้ใช้นามปากกาว่า Mr W. B. Tyler ซึ่งเขาเชื่อว่านั่นไม่ได้ใช้ภาษามนุษย์แต่คิดภาษากันใหม่ขึ้นมาเองหรือไม่ก็ไม่มีคำตอบ ส่วนปริศนาอันที่ 1 ซึ่งโพ ไม่อาจจะแก้ได้นั้น เราลองมาดู Cipher เป็นดังนี้

, † § : ‡] [ ,? ‡) , [ ¡ ¶? , † ,) ¡ , § [ ¶ Þ , [ ,: ¶! [ . § ( , † § ¡ || (? ⊥? , * * ( ⊥ ⊥ ¡ ( [ , ¶ * . ⊥ [ § ¶ § ¡ . ¶] ¿ , † § [ ? ( § [ : : ( † [ . ⊥ ( *; ( || ( , † § ¡ ‡ [ * : , [! ¶ † || ] ? * ! ¶ ⊥ † § ¶ || , . ( ⊥ ¡ ( , ? ‡ § ( ¡ ☜ ¡ ¶ [ ¡ ¶ [ ? ( , ; § ‡ ☞ ‡] † § §: ( † [ † [ ¶? ‡]: * ¡ ¶: ( § ? ] ! ! ¶ † § ‡ ] ; § ? ‡ † ¡ ‡ ⊥ ¶! ( , † §? ( || * ] [ § ¡ ’ ! , : , , † § ☜ ) , ? || *]? , § § (! ⊥ ¡ ( , † § † [ ‡ ? ) * ] [ ⊥ : ? ] ||

 

          152 ปีต่อมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ Terence Whalen แห่งมหาวิทยาลัย อิลลินอยส์ ได้แก้ปริศนาสำเร็จในปี ค.ศ. 1992 ด้วยเทคนิค Mono alphabetic substitution cipher เขากล่าวว่าประโยคดังกล่าวมาจากบทประพันธ์เรื่อง Calto ของ Joseph Addison กวีชาวอังกฤษในปี ค.ศ. 1713 โดยได้ Plain text ดังนี้

        “The soul secure in her existence smiles at the drawn dagger and defies its point. The stars shall fade away, the sun himself grow dim with age and nature sink in years, but hou shalt flourish in immortal youth, unhurt amid the war of elements, the wreck of matter and the crush of worlds.”

       

         ส่วนปริศนา Cipher ที่ 2 ที่โพไม่สามารถแก้ได้ Williams College ได้ตั้งรางวัลถึง $2,500 หากมีผู้ไขปริศนาได้

        ปริศนา Cipher อันที่ 2 ถูกถอดรหัสไขความลับได้ในปี ค.ศ. 2000 โดย Gil Broza เขาเป็น software engineer วัย 27 ปี อาศัยอยู่ที่ Toronto จบการศึกษาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัย Hebrew อิสราเอล โดยเขาแปลงอักขระไปเป็นรหัส ASCII แล้วสุดท้ายใช้โปแกรม Python ถอดรหัส ได้ Plain text กลับมาความว่า

       “It was early spring, warm and sultry glowed the afternoon. The very breezes seemed to share the delicious langour of universal nature, are laden the various and mingled perfumes of the rose and the -essaerne (?), the woodbine and its wildflower. They slowly wafted their fragrant offering to the open window where sat the lovers. The ardent sun shoot fell upon her blushing face and its gentle beauty was more like the creation of romance or the fair inspiration of a dream than the actual reality on earth. Tenderly her lover gazed upon her as the clusterous ringlets were edged (?) by amorous and sportive zephyrs and when he perceived (?) the rude intrusion of the sunlight he sprang to draw the curtain but softly she stayed him. "No, no, dear Charles," she softly said, "much rather you'ld I have a little sun than no air at all." ....ยากโคตร

 

          กล่าวได้ว่าเขาเป็นบิดาด้านวิทยาการรหัสลับของชาวอเมริกันก็เป็นได้ เพราะเขาทั้งได้เขียนบทความกระบวนการเทคนิคการเข้ารหัสและการถอดรหัสเผยแพร่ แล้วยังกระตุ้นให้คนสนใจติดตามเข้าร่วมประกวดการเข้ารหัสด้วย

          ในปี ค.ศ. 1843 เขาได้รับรางวัลชนะเลิศงานเขียนครั้งแรกจากนิยายเรื่องสั้นเรื่อง "The Gold Bug" เป็นนิยายเกี่ยวกับการถอดรหัสลับเพื่อล่าสมบัติ และเรื่องสั้นเรื่องนี้เด็กชาย William Frederick Friedman ได้อ่านเข้า และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเติบโตมาเป็นนักถอดรหัสลับผู้ยิ่งใหญ่แห่งกองทัพอเมริกัน และเป็นกำลังสำคัญในงานข่าวกรองช่วงสงครามโลก

Virginia Clemm

          ปี ค.ศ. 1847 หลังจากแต่งงานได้ 14 ปี Virginia Clemm ภรรยาของโพป่วยจนเสียชีวิตลงทำให้เขาเสียใจมาก ต้องใช้ยาเสพติดและสุรามากขึ้น เขาโดดเดี่ยวและตรอมใจมาก แทบทั้งชีวิตของเขาคล้ายถูกชะตากรรมลงโทษให้ต้องเผชิญกับความเสียใจและความยากจน

           แต่ปีต่อมา ค.ศ. 1848 โพได้กลับไปริชมอนด์ แท้จริงแล้วคงจะยังคิดถึงแฟนเก่าคนแรกในวัยรุ่น Sarah Elmira Royster และเขาก็ได้พบเธอจริงๆ และเธอเองก็เป็นม่ายสามีตายไป 3 ปีกว่า และทิ้งมรดกไว้มากมาย แล้วทั้งคู่ก็รื้อฟื้นความสัมพันธ์ขึ้นมาใหม่เป็นครั้งที่ 2

        17 กันยายน 1849 เขาขอเธอแต่งงานทุกอย่างก็ดูเหมือนว่าชีวิตโพจะราบรื่น แต่ Elmira ยังไม่ตอบตกลงเธอขอเวลาก่อน เพราะลูกของเธอไม่เห็นด้วย และโพ ยังดื่มหนักอยู่

Sarah Elmira Royster

          27 กันยายน 1849 โพ ออกจากริชมอนด์เพื่อจะไปทำธุระที่บัลติมอร์ จากนั้นก็เป็นปริศนาลึกลับ เพราะวันที่ 3 ตุลาคม มีคนพบเขานอนหมดสติอยู่ริมถนน โพสวมเสื้อผ้าที่มอมแมม เหมือนไม่ใช่เสื้อผ้าของตน โพถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อเข้ารักษาตัวและเสียชีวิตปริศนาในตอนเช้าของวันที่ 7 ตุลาคม 1849

         ไม่มีใครยืนยันได้ว่า โพ เสียชีวิตเพราะอะไร ต่างก็เสนอความเห็นต่างกันไป บ้างก็ว่าป่วยเพราะดื่มหนัก บ้างก็ว่าถูกอันธพาลทุบตี บ้างก็ว่า 3 ตุลาคม เป็นวันเลือกตั้งที่บัลติมอร์ นักการเมืองจะพาคนจรจัดไปดื่มจนเมา แล้วพาไปยังหน่วยเลือกตั้งเพื่อลงคะแนนเสียง

         100 ปีต่อมา ค.ศ. 1949 ความลึกลับของ โพ โด่งดังขึ้นอีกครั้งเมื่อค่ำคืนครบรอบวันเกิดของ โพ มีคนเห็นชายชุดคลุมสีดำปกปิดใบหน้า นั่งดื่มคอนยัคที่ป้ายหลุมศพของ โพ ในบัลติมอร์ ก่อนจะวางขวดคอนยัคที่เหลือครึ่งขวด พร้อมกุหลาบแดง 3 ดอก ไว้ที่ป้ายหลุมศพ บุคคลปริศนาผู้นี้ถูกเรียกว่า ผู้ดื่มคารวะแก่โพ (Poe Toaster) และเขาไปที่หลุมศพของโพเพื่อทำแบบเดียวกันทุกปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1949 จนกระทั่งถึงถึงปี 1993 ยังไม่ปรากฏตัวอีกเลย และยังไม่มีใครรู้ว่าเขาเป็นใคร แต่ปัจจุบันยังมีคนแอบไปคอยรอดูอยู่ทุกปี 

 

       โพ มี passion ในศาสตร์ Cryptography ทำให้เขามีทักษะในการคำนวณและวางแผนอย่างสูง ซึ่งสอดคล้องกับนิยายแนวนักสืบที่ต้องสร้างตรรกะ หากมองในมุมของนักรหัสวิทยา Cryptography ถูกพัฒนามาเรื่อยๆ ต่อยอดมาเป็นหัวใจสำคัญด้านความมั่นคงข้อมูลข่าวสารเพื่อต่อต้านอาชญากรรมไซเบอร์ในปัจจุบัน ผู้ที่จะทำการเจาะระบบคอมพิวเตอร์จะต้องเก่งเรื่องการวิเคราะห์กระบวนวิธีการถอดรหัส ดังนั้นหากจะเปรียบ โพ กับอาชญากรไซเบอร์ในยุคปัจจุบันแล้ว ก็อาจจะกล่าวได้ว่าเขาคือ แฮคเกอร์ (Hacker) ผู้มาก่อนกาลเวลา

 

Edgar Allen Poe

เอ็ดการ์ อัลแลน โพ  (Edgar Allen Poe, 1809-1849) กวี และนักถอดรหัสลับ (Cryptologist)


 

 

อ้างอิง

ข้อมูลอัตชีวประวัติจากพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ของโพ. Cited available from; https://www.poemuseum.org

EDGAR A. POE. A Few Words on Secret Writing. Graham's Magazine. 1840

John Hodgson. (1993).   Decoding Poe? Poe, W. B. Tyler, and Cryptography. English and Germanic Philology. vol. 92. October 1993, pp. 523-534.

R. Morelli. Edgar Allen Poe and Cryptography. Cited available from; http://www.cs.trincoll.edu/~crypto/historical/poe.html

Source Newsroom: Williams College. Article ID: 21408. Released: 1-Nov-2000 12:00 AM EST. Cited available from; https://newswise.com/articles/edgar-allen-poe-cipher-solved

คำสำคัญ (Tags): #cryptography#edgar allan po#cryptoanalysis
หมายเลขบันทึก: 649236เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2018 14:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2019 09:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท