จิตอาสา : งานมหกรรมเฉลิมพระเกียรติ ฯ ๑๕๐ ปี ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ ฯ


อีกเมื่อไร.........คนไทยจึงจะเกิดจิตสำนึก ในการลด ละ เลิก เพิ่มขยะให้กับสังคมและโลกนี้ด้วยตนเองซะที



นับเป็นโอกาสอันดีที่นักเรียนของโรงเรียนบ้านท่าฝาง

ได้มาทำหน้าที่จิตอาสา ณ จุดคัดแยกขยะ ในงาน

มหกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทอดพระเนตรสุริยุปราคา  ณ หว้ากอ  ครบรอบ ๑๕๐  ปี

ที่จัดในสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ระหว่างวันที่ ๑๘ - ๒๔  สิงหาคม ๒๕๖๑

ซึ่งปีนี้จัดเป็นงานระดับชาติด้วยจ้ะ


เปิดงานในวันเสาร์ที่ ๑๘  สิงหา  ซึ่งเป็นวันที่ฝนตกตลอดทั้งวันทั้งคืน

และตกยืดเยื้อมาจนถึงวันอาทิตย์ที่ ๑๙  สิงหา  นับว่าเป็นเรื่องที่

หลีกเลี่ยงหรือห้ามกันไม่ได้  ตลอดงานนี้  เครือข่ายโรงเรียนไร้ถังขยะ

ทั้ง  ๓๐  โรง ในจังหวัดประจวบ ฯ จะนำนักเรียนมาร่วมเป็นจิตอาสา

อยู่จุดคัดแยกขยะ ตามจุดต่าง ๆ ทั่วบริเวณงาน  โดยมีการ

ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันโรงละครึ่งวัน ( มีภาคเช้า และภาคบ่าย )

โดยที่แต่ละโรงจะนำนักเรียนไปจำนวนกี่คนก็ได้  



สำหรับโรงเรียนของคุณมะเดื่อนำนักเรียนจิตอาสาจำนวน ๕๐  คน

ไปทำหน้าที่ในช่วงเช้าวัน จันทร์ ที่ ๒๐ สิงหาคม  ซึ่งเป็นวันที่

อากาศสดใสมาก ๆ ไม่มีฝน  ไม่มีแดด จึงไม่มีปัญหาในการทำงาน

ของพวกเรา  นับว่าโชคดีจริง ๆ 



เช้าวันนี้  พ่อบ้านของคุณมะเดื่อต้องไปโรงพยาบาลตามที่หมอนัดก่อน

ดังนั้น  คุณมะเดื่อจึงขอตามเด็ก ๆ ไปที่หว้ากอสายหน่อย  โดยมี น้องครูนุ้ก

น้องครูพิภพ   น้องครูแต้ว   และ ผอ.โรงเรียน เป็นผู้ดูแล  เด็ก ๆ ต้อง

แบ่งกลุ่มทำงานตามจุดคัดแยกขยะ กลุ่มละ ๕ - ๑๐  คน  มีครูเป็นผู้ดูแล

เช้าวันนี้ มีโรงเรียนในเครือข่ายโรงเรียนไร้ถังขยะ อีก ๒  โรง ที่ไปทำหน้าที่

ร่วมกับโรงเรียนของคุณมะเดื่อด้วย



เด็ก ๆ ทำหน้าที่ " ประชาสัมพันธ์ "  และ " อธิบาย " ให้กับผู้ที่จะนำขยะมาทิ้ง

ให้รู้จักคัดแยกขยะให้ถูกต้อง  ตามถังชั่วคราวที่ติดป้ายบอกไว้  

วันนี้มีจำนวนนักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ  ทั้งในจังหวัดประจวบ ฯ

และจังหวัดใกล้ไกล รวมทั้งนักศึกษา หน่วยงานต่าง ๆ และประชาชน

หลั่งไหลเข้าชมงานเป็นหลักหมื่น  ทำให้มีจำนวน  " ขยะเทียม" 

มากมายก่ายกอง



การประชาสัมพันธ์ให้ลดการใช้ถุงพลาสติก  โฟม  ขวด 

หรือ แก้วพลาสติก ต่าง ๆ นานา  ดูเหมือนจะไร้ผล  เพราะเพียง

เวลาผ่านไปไม่กี่นาที  บรรดาสิ่งของอำนวยความสะดวก

ในวิถีชีวิตประจำวันของพวกเรา ก็เต็มจนล้นถุงรองรับ

เด็ก ๆ นำถุงขยะแบบใสมาเปลี่ยน จนหมดแพ็ค ต้องขอมาเพิ่ม

งานนี้ ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่า  " ไม่รับโฟม " 

ดังนั้นภายในร้านค้า  ร้านอาหารต่าง ๆ ในงาน

จึงไม่มีโฟม  แต่กระนั้น...ก็ยังมีเล็ดลอดมาวางร่วมกอง

จนได้... กล่องโฟม มากับรถบัสนับสิบ ๆ คัน ที่ทยอยกัน

เข้ามาในงาน   เด็ก ๆ ที่ทำหน้าที่ตามจุดคัดแยกขยะ

จะปฏิเสธการนำกล่องโฟมใสถุงคัดแยก  แต่ ก็ยังมี

แอบเอามาวางไว้ให้จนได้

สงสารก็แต่น้องบี  น้องเหมียว  น้องยุ้ย  และน้อง ๆ 

ของ  สทจ.ประจวบ ฯ  และ อุทยานวิทย์ ฯ  แต่ต้องบอกว่า

งานนี้เหนื่อยกันมาก ๆ  ทุกคนทำงานกันอย่างเข็มแข็ง

น่าชื่นชมยิ่ง   น้ำหนักคงลดไปคนละหลายกิโลแน่ ๆ 


งานนี้  " กรีนโคน " ไม่ได้ทำหน้าที่รับเศษอาหารเหมือนกับหน้าที่

โดยตรงของมัน  แต่ ทำหน้าที่  "  รับน้ำก้อนน้ำแข็ง " ที่เหลือ

ในแก้วพลาสติกก่อนที่จะนำแก้วไปใส่ในภาชนะรับแก้วพลาสติก

ขนาดว่า มีป้ายติดไว้ทุกภาชนะคัดแยกแล้ว  " คนไทย "  " เด็กไทย"

หลายต่อหลายคน  ไม่ยอมอ่าน  ถืออะไรมาก็เอามาหย่อนใส่ทั้งหมด

เดือดร้อน เด็ก ๆ ต้องมาคัดมาแยกกันใหม่อีก .... มันแสดงถึง

" ความเคยชิน ของจิตสำนึก " ของคน ๆ นั้นได้เป็นอย่างดีว่า

" ต่อให้แยกถังขยะเป็นสี ๆ มีตัวหนังสือตัวเท่าหม้อแกงเขียนบอกไว้

ชัดเจนตำหูตำตาแค่ไหน....แต่ทุกถังก็จะมี...ขยะรวมมิตร ... ทั้งหมดอยู่ดี "

ฉันใดก็ฉันนั้น...คงอีกนานนักที่คนไทย  เด็กไทยจะมีจิตสำนึกที่ถูกต้อง

กับการคัดแยกขยะอย่างจริงจัง



เด็ก ๆ และครูทำหน้าที่จุดคัดแยกขยะกันครึ่งวัน ทุกคนบ่นปวดขา

เพราะต้องยืนกันแทบตลอดเวลา  คุณมะเดื่อเองแทบจะก้มไม่ลง

เที่ยงครึ่ง  เด็ก ๆ และครูกินมื้อเที่ยงกันที่ร้านอาหารตรงจุดคัดแยก

นั้น หลังจากนั้น  โรงเรียนที่ทำหน้าที่ภาคบ่ายก็มาเปลี่ยนหน้าที่

ครูและเด็ก ๆ ของคุณมะเดื่อจึงได้เดินชมงานกัน  โดยแบ่งเด็ก ๆ

เป็น ๕  กลุ่ม ๆ ละ  ๑๐  คน  ตามจำนวนครู ๑ คน ต่อเด็ก ๑๐  คน



งานนี้ แบ้งพื้นที่ออกเป็น ๘  เมืองแห่งการเรียนรู้ บนพื่นที่นับร้อยไร่ของอุทยานวิทย์

เดินยังไงก็ไม่ทั่วงาน  คุณมะเดื่อจึงพาเด็ก ๆ เดินเข้าชมในเต็นท์ของ หน่วยงาน อพวช.

ใกล้ ๆ  ไปได้สองสามเต็นท์ แต่ละเต็นท์ล้วนแต่มีสิ่งที่น่าสนใจ เป็นเป็นความรู้ที่ดียิ่ง

สำหรับเด็ก ๆ  ทั้งสิ้น  เด็ก ๆ สนใจกันมาก

คุณมะเดื่อส่นใจเต็นท์ที่จัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะ

เพราะ เป็นเรื่องใกล้ตัวมาก ๆ 


สองภาพบนนี้คือ  กระเป๋าเป้จากถุงปูน และ รองเท้าจากถุงพลาสติก

เป็นอะไรที่น่าสนใจมาก ๆ 


ข้างบนนี้ คือ  ถ่านดับกลิ่นจากเปลือกมังคุด  นำไปใส่พิมพ์รูปต่าง ๆ 

เดินดูได้สองสามเต็นท์ จึงพาเด็ก ๆ ไปดูปลาที่อาคารพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ

ในเวลาบ่ายสองโมง มีการให้อาหารปลาด้วย



ใกล้เวลานัดหมายคือ บ่าย ๓  โมงที่รถจะมารับกลับโรงเรียน

คุณมะเดื่อกับเด็ก ๆ จึงเดินกลับไปที่จุดลงทะเบียนตรงประตู

ทางเข้างาน  สังเกตเห็นนักเรียนจากที่ต่าง ๆ นั่งพักรอขึ้นรถกลับ

อยู่มากมายหลายจุด  และเมื่อเด็ก ๆ แต่ละจุดที่นั่งรอรถ ขึ้นรถ

ไปแล้ว บริเวณที่นั่งรอนั้นก็เต็มไปด้วย  " ถุงพลาสติก  กล่องโฟม

ขวดน้ำ  แก้วน้ำพลาสติก  ถุง และกล่องใส่อาหาร "  ดูเป็นที่

น่ารำคาญตาเป็นอย่างยิ่ง  



ตรงจุดนี้ เป็นจุดจัดการขยะ  จุดแรก ช่วงบ่ายมีคุณครูกับนักเรียนอีกโรงเรียนหนึ่ง

ทำหน้าที่อยู่  คุณครูคงคิดรำคาญตาเหมือนคุณมะเดื่อจึงบอกให้เด็ก ๆ 

ไปเก็บขยะที่กระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่นั้น ๆ คุณมะเดื่อจึงให้เด็ก ๆ ช่วยกัน

เก็บขยะเหล่านั้นใส่ถุงรวม ๆ ไว้  เช่นกัน


เย็นวันนี้ทั้งครู ทั้งนักเรียน กลับถึงบ้านด้วยความเหนื่อยล้า

แต่ก็...ดีใจที่ได้ทำงานจิตอาสาสร้างความดีและสร้างจิตสำนึก

ที่ดีให้กับทุก ๆ คนในสังคม  โดยเฉพาะตนเอง  พร้อมกับคำถาม

ที่ถามว่า....อีกเมื่อไร.........คนไทยจึงจะเกิดจิตสำนึก

ในการลด  ละ  เลิก  เพิ่มขยะให้กับสังคมและโลกนี้ด้วยตนเอง

อย่างจริง ๆ จัง ๆ ซะที


หมายเลขบันทึก: 650418เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2018 21:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 สิงหาคม 2018 21:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

-สวัสดีครับพี่ครู-เด็กๆ จะสนุกมากนะครับ-ลดการใช้โฟม..-ลดภาวะโลกร้อนนะครับ-ด้วยความระลึกถึงครับ

ให้กำลังใจค่ะ ถ้าเราไม่เริ่ม ไม่มีใครเริ่มนะคะ สู้ ๆ ค่ะ

ไม่มีฝนไม่มีแดด..ปัจจัยคามสำเร็จที่เด็กๆ ได้เรียนรู้ด้วยการลงมือทำเป็นปัจจัยภายนอกที่คู่กับ “จิตอาสา” ของเด็กๆ

ชื่นชมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท