เก็บตกวิทยากร (53) : บันเทิงเริงปัญญา "เรียน-กิจกรรม" (รับน้องคณะวัฒนธรรมศาสตร์ มมส)


นิสิตคณะวัฒนธรรมศาสตร์ คือระบบและกลไกอันสำคัญของการจัดการเรียนรู้ที่ยึดโยงกับความเป็นจริงของสังคม และจิตสำนึกรักษ์ท้องถิ่น หรือรากเหง้าของสังคม และคือระบบและกลไกอันสำคัญของการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้นิสิตเข้าใจถึงความเป็น “พลวัต” ของสังคมไทยและสังคมโลก


วันนี้  (วันที่ 7 สิงหาคม 2561) ผมได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “การเรียนกับกิจกรม” ให้กับนิสิตใหม่คณะวัฒนธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการรับน้องสร้างสรรค์ของสโมสรนิสิตและฝ่ายพัฒนานิสิตคณะวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 ผมมีเวลาบรรยายประมาณ 1 ชั่วโมง –

 และยังดื้อที่จะบรรยายในแบบฉบับของตนเอง คือ  การบรรยายในแบบกึ่งกระบวนการ เพื่อให้ได้สัมผัสกับการเรียนรู้ในมิติ “บันเทิงเริงปัญญา”

 


ผมนำเข้าสู่การเรียนรู้ผ่านคลิปที่สะท้อนถึงการเรียนและการทำกิจกรรมเพื่อสังคม  เพื่อให้สัมพันธ์กับโจทย์ที่ได้มาว่าด้วยเรื่องการเรียนและการทำกิจกรรม  ตลอดจนการปูพรมแนวคิดอันเป็นอัตลักษณ์นิสิต (ช่วยเหลือสังคมและชุมชน)  หรือปรัชญามหาวิทยาลัย  (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน)  เอกลักษณ์มหาวิทยาลัย (ที่พึ่งของสังคมและชุน) 


เช่นเดียวกับการสื่อให้เห็นถึงพันธกิจของมหาวิทยาลัยทั้ง 4 ด้านที่ประกอบด้วยการเรียนการสอน (ผลิตบัณฑิต)  บริการวิชาการ  ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และการวิจัย  ผสมผสานไปกับการให้ความรู้เบื้องต้นว่าด้วย “กิจกรรมนิสิต” (กิจกรรมนอกหลักสูตร)  ที่สัมพันธ์กับค่านิยมการเป็นนิสิต (MSU FOR ALL)  และหมุดหมายของการเรียนรู้แบบบูรณาการ เพื่อก่อให้เกิดสมดุลของ Hard skills & Soft skills 

 


จะว่าไปแล้ว  1 ชั่วโมงกับหัวข้อ สาระ และกระบวนการที่ต้องขับเคลื่อนนั้น  ดูจะสวนทางอยู่มาก และนั่นคือความท้าทายสำหรับผม

ในเวทีครั้งนี้  ผมให้นิสิตใหม่ชั้นปีที่ 1 ขีดเขียนข้อมูลลงใน “ตาราง 4 ช่อง”  ประกอบด้วยประเด็นในแต่ละช่อง ดังนี้ 

  • (1) เหตุผลของการเลือกเรียนวัฒนธรรมศาสตร์  
  • (2) อาชีพในอนาคต 
  • (3) ความประทับใจในคณะหรือในมหาวิทยาลัย  
  • (4) ศักยภาพ/ความสามารถพิเศษ/ความโดดเด่นเฉพาะตัว

 


เอาจริงๆ เลยก็คือ  ผมเจตนาที่จะชวนให้นิสิตใหม่ทบทวนตัวเองนั่นแหละ  ทบทวนเป้าหมายในการเรียนและการใช้ชีวิต  ทบทวนคุณลักษณะสำคัญๆ ของตนเอง  ซึ่งคุณลักษณะที่ว่านั้นคือเครื่องมือในการที่จะนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเรียนรู้สู่การเติบโต  รวมถึงการสำรวจทัศนคติของนิสิตที่มีต่อวิชาชีพและสถาบันที่เลือกเข้ามาเรียนรู้

นั่นคือฐานคิดของการให้นิสิตได้ขีดเขียนลงใน “ตาราง 4 ช่อง”  ซึ่งผมไม่ได้อธิบายให้นิสิตได้รับรู้ก่อนทำกระบวนการ  แต่เลือกที่จะเฉลยในตอนท้ายก่อนปิดเวที และอำลา

 


เหตุผลของการเลือกเรียนวัฒนธรรมศาสตร์ 

โดยส่วนใหญ่สะท้อนตรงกันคือชื่นชอบในเรื่องประเพณีและวัฒนธรรมของไทยและสังคมโลกเป็นทุนในตัวเองอยู่แล้ว  ทว่าอยากเรียนให้รู้ซึ้งและรู้ลึกมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา  รวมถึงการตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่การเป็นพลเมืองที่จะต้องอนุรักษ์และสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมให้คงอยู่สืบต่อไปให้ยาวนานมากที่สุด 

เช่นเดียวกับการเรียนเพราะเชื่อว่าเป็นสาขาที่สามารถเข้าทำงานในกระทรวงหลักๆ ของชาติได้  เช่น   กระทรวงศึกษาธิการ  กระทรวงวัฒนธรรม  กระทรวงกลาโหม  กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  กรมศิลปากร 

หรือกระทั่งมุมมองที่ว่าด้วยความมีชื่อเสียงของคณะ  ทั้งที่เป็นคณะเดียวในประเทศไทย และตัวตนที่สัมพันธ์กับเรื่องวัฒนธรรมที่เข้มข้นในระดับภูมิภาค  ซึ่งประเด็นหลังนี้ส่วนหนึ่งหมายถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพของคณะที่มีต่อการจะผลิตบัณฑิตในศาสตร์ของความเป็น “นักวัฒนธรรม” 

 

นอกจากนี้ก็เป็นประเด็นปลีกย่อยที่แม้จะไม่พบความถี่มากนักแต่ก็ยังอยากบันทึกไว้ในที่นี้ เช่น ...

·       เป็นคณะใหม่และคณะเดียวในประเทศไทย

·       ไม่ชอบความวุ่นวายของสังคมเมือง เลยเลือกเรียนในโซนภูมิภาค

·       ชอบเรื่องประวัติศาสตร์ ประเพณีวัฒนธรรม และศิลปะแขนงต่างๆ

·       อยากรู้เรื่องมรดกโลก และอารายธรรมของโลก

·       อยากเรียนรู้และอนุรักษ์อาชีพพื้นบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่น

·       เป็นคณะที่มีชื่อเสียงในระดับต้นๆ ของภาคอีสาน

·       มีหมอลำสมัครเล่นและหมอลำอาชีพมาเรียนจำนวนมาก เลยอยากมาเรียนรู้ร่วมกันกับคนที่เป็นหมอลำ

 

เรียนจบไปแล้วทำอะไร (อาชีพในอนาคต)

 

เกือบร้อยทั้งร้อยใฝ่ฝันอยากเป็นนักวิชาการด้านวัฒนธรรม  โดยทำงานในส่วนราชการและเอกชน  ที่มีทั้งการเป็นครูในโรงเรียนและอาจารย์ในมหาวิยาลัย  เพื่อถ่ายทอดความรู้ในมิติประวัติศาสตร์  ประเพณีและวัฒนธรรม  และการประกอบอาชีพอิสระบนฐานความรู้ทางวัฒนธรรม อาทิ  ร้านจัดดอกไม้  จำหน่ายผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น 

และที่เหลือก็เป็นประเด็นต่างๆ  ดังนี้

·       นักพัฒนาสังคม หรือการเข้าทำงานในสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด

·       จัดตั้งวงกลองยาวในหมู่บ้าน

·       พัฒนาชุมชนภูไทของตนเอง

·       ทำงานในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ

 


ความประทับใจในคณะ/มหาวิทยาลัย

ในประเด็นนี้ผมให้นิสิตไม่สะท้อนมาคนละไม่เกิน 3 ประเด็น  เปิดกว้างได้ทั้งที่เป็นสถานที่  บุคคล  กิจกรรมและอื่นๆ ที่นิสิตพบเจอและสัมผัสได้จากการเข้ามาใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ซึ่งหลักๆ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน  ได้แก่  

  • ประทับใจการต้อนรับของอาจารย์และนิสิตรุ่นพี่ที่มาต้อนรับตั้งแต่วันที่สอบสัมภาษณ์ ช่วยให้รู้สึกเหมือนเป็น “ครอบครัว”   
  • เป็นมหาวิทยาลัยที่มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ที่เป็น “อีสาน” อย่างชัดเจน  
  • ประทับใจในเรื่องภูมิทัศน์-สิ่งแวดล้อมที่ร่มรื่นด้วยต้นไม้  โดยเฉพาะต้นจามจุรี  และต้นกาสะลอง

ถัดมาจะเป็นความประทับใจในเรื่องอาคารเรียนของคณะ มีอาหารหลากหลายให้เลือกรับประทานใน “ตลาดน้อย”  รวมถึงกิจกรรมที่ประทับใจ เช่น  ประชุมเชียร์  ตรวจร่างกาย 

 

นอกจากนั้นก็เป็นประเด็นอื่นๆ  อาทิเช่น

·       ใกล้บ้าน

·       ค่าใช้จ่ายไม่สูงเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ

·       ตราโรจนากร

·       มีคนหน้าตาดี มีเสน่ห์

·       มีรถรางให้บริการ

·       มีหอพักที่ดีในมหาวิทยาลัย

 


ศักยภาพ/ความสามารถพิเศษ/ความโดดเด่นเฉพาะตัว

ประเด็นนี้  ดูเหมือนจะมีความหลากหลาย แทบจะเรียกได้ว่ามีความถี่เหมือนกันไม่มากนักก็ว่าได้  แต่ที่พบตรงกันมากที่สุดเป็นเรื่องมนุษยสัมพันธ์ และบุคลิกภาพในแบบตลก ขี้เล่น ร่าเริง  ไม่ถือตัว  รวมถึงจิตอาสา  และทักษะทางศิลปะหัตกรรมไทย  อาทิ  ใบตอง ผ้า ทอผ้า  เลี้ยงไหม

หรือแม้แต่ประเด็นทักษะอันเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรม หรือศิลปะแขนงต่างๆ ที่สัมพันธ์กับการตีกลองร้องเต้น เช่น กลองยาว  ฟ้อนรำ  ร้องเพลง 

นอกจากนั้นก็เป็นประเด็นทั่วไปที่แต่ละคนสะท้อนอัตลักษณ์ตัวเอง เช่น  พูดจาฉะฉาน  โกรธง่ายหายเร็ว  กินหมาก (เคี้ยวหมาก)  สวดมนต์หมู่  วาทศิลป์ (พิธีกร)  เรียนรู้รวดเร็ว  กินง่ายอยู่ง่าย  ใส่ใจคนรอบข้าง-แคร์สังคม  คิดสร้างสรรค์ มองโลกในแง่ดี 

และอื่นๆ เช่น

 ·       จัดตกแต่งสถานที่

·       เล่นกีฬา เช่น  บาสเกตบอล 

·       ใจร้อน

·       ผมยาว

·       หน้าตาเหมือนคนแก่

·       รู้เป้าหมายตนเอง

 

ทั้งปวงนี้คือประเด็นที่ผมประมวลมาจากสิ่งที่นิสิตใหม่ได้สื่อสารลงในกระบวนการ “ตาราง 4 ช่อง”  ซึ่งผมไม่วิพากษ์ว่าผิดหรือถูก ล้าหลัง หรือร่วมสมัย  แต่ยืนยันว่าให้ความสำคัญกับ “ข้อมูล” เหล่านี้อย่างมหาศาล 

 แต่ที่แน่ๆ ภายใต้เวลาอันจำกัดนั้น  ผมย้ำแนวคิดอันเป็นมุมมองของผมอย่างชัดเจนเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของนิสิตคณะวัฒนธรรมประมาณว่า

  • นิสิตคณะวัฒนธรรมศาสตร์  คือระบบและกลไกอันสำคัญของการจัดการเรียนรู้ที่ยึดโยงกับความเป็นจริงของสังคม  และจิตสำนึกรักษ์ท้องถิ่น  หรือรากเหง้าของสังคม
  • นิสิตคณะวัฒนธรรมศาสตร์  คือระบบและกลไกอันสำคัญของการจัดการเรียนรู้  เพื่อให้นิสิตเข้าใจถึงความเป็น “พลวัต” ของสังคมไทยและสังคมโลก 
  • นิสิตคณะวัฒนธรรมศาสตร์  คือระบบและกลไกอันสำคัญในการเติมเติมกิจกรรมนอกหลักสูตรในมิติ “เรียนรู้คู่บริการ”  สำหรับองค์กรต่างๆ
  • นิสิตคณะวัฒนธรรมศาสตร์  คือระบบและกลไกอันสำคัญของการจัดกิจกรรมนอกหลักสูตรโดยใช้ “ชุมชนเป็นฐาน” 
  • นิสิตคณะวัฒนธรรมศาสตร์  คือระบบและกลไกอันสำคัญของการจัดกิจกรรมนิสิตบนฐานวัฒนธรรม  อันเป็นประเพณีนิยมในมหาวิทยาลัยด้วยแนวคิด “ฮีต 12 คองกิจกรรม”  เช่น ลอยกระทง สงกรานต์ ไหว้ครู  กฐิน  ทอดเทียนพรรษา

 

 

ใช่ครับ – ผมมองแบบนั้น  เพราะอยากให้นิสิตรักและเชื่อมั่นในการนำองค์ความรู้ในทางวิชาชีพ (กิจกรรมในหลักสูตร : Hard skills)  ไปบูรณาการกับกิจกรรมนอกหลักสูตรเพื่อก่อให้เกิดพลังแห่งทักษะที่เรียกว่า Soft skills  ที่มีเป้าหมายปลายฝันด้วยการ “เก่ง ดี มีความสุข”

ก็ประมาณนี้ครับ  การบรรยายกึ่งกระบวนการในห้วงเวลา 1 ชั่วโมง  หรือการล่วงเวลาไปอีกนิดหน่อย  ซึ่งผมก็พยายามอย่างเต็มที่แล้ว  แถมเป็นห้วงเวลาที่ผมก็ป่วยไข้ด้วยเหมือนกัน  กระนั้นก็ยืนยันว่าเต็มที่แล้ว

ส่วนจะบันเทิงเริงปัญญาหรือไม่นั้น  ต้องไปดูแบบประเมินการจัดกิจกรรมกับทางคณะอีกรอบ

เขียน : พุธที่ 22 สิงหาคม 2561

ภาพ : พนัส  ปรีวาสนา / คณะวัฒนธรรมศาสตร์

หมายเลขบันทึก: 650337เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2018 16:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 สิงหาคม 2018 16:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

มี “รู้จักฉัน รู้จักเธอ” ไหมครับ ;)…

เวทีนี้ไม่มี รู้จักฉันรู้จักเธอ ครับเวทีก่อนๆ ถ้าจะมีก็ทีมงานครัยที่รันกระบวนการ ผมนั่งดูนั่งประเมิน

มีที่แม่ฮ่องสอนนั่นแหละครัยที่ผม “คืนเวทีในกระบวนการนี้”…5555

พวกเราเชื่อมั่นในศักยภาพของ “คุณแผ่นดิน” ไงล่ะครับ

“รู้จักฉัน รู้จักเธอ” จึงมาเกิดอยู่ยังจังหวัดตอนเหนือของประเทศไทย ;)…

-สวัสดีครับอาจารย์-คณะวิชาที่ไม่คุ้นหู แต่มีการจัดการเรียนการสอนที่น่าชื่นชม-คณะเดียวในประเทศ….-เรียนอย่างไรให้มีความสุข คือเหตุผล-เพียงได้อ่านเรื่องราวก็”สุขใจ”กับการส่งต่อวัฒนธรรมดี ดี เช่นนี้ครับ-ขอบคุณครับ

๑ ชั่วโมง จำนวนคนขนาดนี้ สรุปได้คมชัด “เทพ” มากนะคะ ^_,^

ครับ อ.Wasawat Deemarn

รู้จักฉันรู็จักเธเกิดขึ้น “ทางเหนือ : ล้านนา” มันคือพรหมลิขิต หรือชะตากรรมของผมเอง… 555

ครับ อ.เพชรน้ำหนึ่ง

ผมเชื่อเช่นกันว่า ความสุขกับการเรียนรู้ คือปัจจัยหลักของความสำเร็จ -และเรียนแล้วได้ใช้จริงในชีวิต คือสิ่งวิเศษสุดของการเรียนรู้และการมีชีวิตของคนเรา

นั่นคือสิ่งที่ผม เชื่อเสมอมาครับ

ครับ พี่หมอ ธิ

ขอบพระคุณสำหรับคำชม นะครับสารภาพว่าเวลาจำกัดจริงๆ เหมาะกับการบรรยายเสียมากกว่า แต่ก็พยายามบูรณาการระหว่างการบรรยายและกระบวนการ

ท้าทายดี เหมือนกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท