๗๖๘. จาก Mind Map ที่ทันสมัย..ย้อนไปจนถึง..กาพย์เห่เรือ


อาขยานมีสัมผัสคล้องจอง ใช้ภาษาไพเราะและสวยงาม เป็นมรดกทางภาษาของครูรุ่นเก่า แฝงคุณธรรมและที่สำคัญเป็นเครื่องมือในการสอนคิดวิเคราะห์ได้.. ผมไม่ได้เน้น เพราะเห็นว่านายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ แต่อาขยาน..มีความสำคัญในตัวเอง ต้องท่องให้จำ เพื่อเสริมสมองลองปัญญา เพิ่มคุณค่าให้ชีวิต

              ผมบอกตัวเองและครูอยู่เสมอ ว่าการสอนยุคนี้ ใช้ “แผนภูมิความคิด”(Mind Mapping) เป็นเครื่องมือในการสอน จะเข้ากันกับเนื้อหาสาระ เวลา และแนวทางปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ได้ดีที่สุด

            สิ่งที่น่าทึ่ง และควรต้องเชื่อก็คือ..แผนภูมิความคิดที่ว่านี้ ใช้ได้กับทุกวิชา..ช่วยฝึกให้เด็กคิดเป็น และคิดอย่างสร้างสรรค์ ตลอดจนนำเสนอผลงานและสรุปบทเรียนได้ด้วย

            ผมจึงนำมาสอนเรื่อง “แม่” หลังจากล่วงเลยวันแม่มาแล้ว..ตั้งใจจะบอกนักเรียนว่า..เรามี(วัน)แม่กันทุกวันนะ แต่เรายังไม่รู้สึก ถึงแม้เราจะให้ความสำคัญในวันเดียว แต่ต่อไปนี้เราจะเปลี่ยนความคิดกันหน่อยได้ไหม..?

             ดูแลและรักแม่ให้มากๆ..จริงอยู่..นักเรียนอาจอยู่กับป้า ย่า และยาย แต่ก็ถือว่าเป็น “แม่”คนที่สองของเรา ยิ่งต้องทะนุถนอมน้ำใจ ให้ท่านอบอุ่นและสบายใจในการเลี้ยงดูลูกหลาน.

            ดังนั้น...นักเรียนจงเขียนเชื่อมโยงเรื่อง “แม่” ให้ครูเข้าใจ ว่าเธอคิดถึงแม่อย่างไร? เอาเรื่องจริง ในความรู้สึกนึกคิดของเธอเอง..

            แผนภูมิความคิด..ชิ้นแรก..ก็เลยออกมาแบบแจ่มกระจ่าง ปูทางไปสู่ความคิดและวิเคราะห์ในเรื่องราวอื่นๆต่อไป

            แต่ก่อนจะไปต่อ..ขอย้อนกลับไปที่อาขยาน..ให้นักเรียนชั้น ป.๖ อ่านทำนองเสนาะให้ฟัง..บทที่ว่าด้วย “เป็นมนุษย์หรือเป็นคน” ขึ้นต้นว่า “..เป็นมนุษย์เป็นได้เพราะใจสูง..เหมือนหนึ่งยูงมีดีที่แววขน....”

            จบแล้วก็ถามนักเรียน..ถามได้หลายข้อเหมือนกัน เช่น นกยูงจะดูว่าดี ก็ต้องดูที่ขน แล้วคนเราล่ะ..ดูกันตรงไหน? นักเรียนตอบ..ดูว่ามีคุณธรรมหรือไม่ บางคนตอบดูที่มีความรู้ สรุปถูกต้องหมด..แต่ต้องให้คุณธรรมนำความรู้นะ..

            ถามนักเรียนว่า..ทำไมเธอถึงท่องอาขยานบทนี้ ได้ไพเราะยิ่งนัก เด็กบอกครูให้ฟังจากยูทูป..ผมฟังแค่นี้ก็จบและชื่นใจ เพราะได้บอกครูประจำชั้นไปแล้วว่า ถ้าครูไม่รู้ทำนองของอาขยานบทหลัก ให้ค้นคว้าในอินเตอร์เน็ต

            ผมเรียกนักเรียนชั้น ป.๕ ทุกคนมาพบพร้อมครูประจำชั้น..เนื่องจากอาขยานบทหลัก ป.๕ “วิชาเหมือนสินค้า” น่าจะยังเพี้ยนอยู่ อยากรู้ว่าครูได้ช่วยปรับปรุงคีย์หรือยัง?

            นักเรียนทุกคนเริ่มต้นออกเสียงพร้อมกันอย่างตั้งใจ “วิชาเหมือนสินค้า อันมีค่าอยู่เมืองไกล ต้องยากลำบากไป จึงจะได้สินค้ามา....” แต่ไม่จบ เพราะผมให้หยุดก่อน

            ผมบอกครูว่า..ตรงกลางมีเสียงเพี้ยนต่ำมาก..น่าจะไม่ถูกต้อง ฟังแล้วไม่ไพเราะ..ครูได้เปิดฟังในแผ่นซีดี..ที่ผมให้ไปหรือยัง?

            “หนูไม่มีเวลาเลยค่ะ..เนื้อหาป.๕ มีมาก..กลัวจะสอนไม่จบ..” ครูบอกผม “คุณพระช่วย” ผมไปไม่เป็นเลย ในเหตุผลที่พอเข้าใจได้ของครู ก็เลยต้องอธิบาย..

            “ครูครับ..ยุคนี้ใครเขาสอนหมดทุกเรื่องล่ะ ครูอย่าไปยึดบทเรียนในหนังสือ ให้ยึดถือความเข้าใจของนักเรียนเป็นหลัก เน้นย้ำตามตัวชี้วัดที่มีปัญหา พัฒนาความหลากหลายให้กับเด็กสิครับ..”

            แล้วผมก็บอกต่อไปว่า..ที่ผมเน้นอาขยานเนี่ย เพราะเห็นว่าอาขยานมีสัมผัสคล้องจอง ใช้ภาษาไพเราะและสวยงาม เป็นมรดกทางภาษาของครูรุ่นเก่า แฝงคุณธรรมและที่สำคัญเป็นเครื่องมือในการสอนคิดวิเคราะห์ได้..

            ผมไม่ได้เน้น เพราะเห็นว่านายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ แต่อาขยาน..มีความสำคัญในตัวเอง ต้องท่องให้จำ เพื่อเสริมสมองลองปัญญา เพิ่มคุณค่าให้ชีวิต

            สุดท้าย..ผมบอกนักเรียนว่า..วิชาเหมือนสินค้า..แต่งด้วยกาพย์ยานี ซึ่งสามารถใช้ร้อง เพื่อเห่เรือได้ เรียกว่ากาพย์เห่เรือ..เด็กทำหน้างง..งง

            ผมก็เลยต้องสาธิต...วิชา (ชะ) เหมือนสินค้า (ชะ) อันมีค่าอยู่เมืองไกล (ฮ้าไฮ้) ต้องยากลำบากไป จึงจะได้สินค้ามา (เฮ้ เฮ เฮ เฮ้ เห่ เฮ เฮ้)............จากนั้นผมก็ว่าไปจนจบ..แล้วฝึกให้นักเรียน ๒ บท เพื่อให้ไปซ้อมต่อที่บ้าน

            ความลึกซึ้งทางภาษาแบบนี้ จริงๆผมไม่ได้เรียนมา แต่มาศึกษาเมื่อได้เป็นครูแล้ว..เพราะผมไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้ ครับ

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑๖  สิงหาคม  ๒๕๖๑

 

 

          

            

หมายเลขบันทึก: 649883เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2018 21:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2018 21:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท