๗๖๗. สร้างสุข..จาก การสอน


ดังนั้น..อ่านข้อความใด ต้องจับประเด็นให้ได้ พออ่านเสร็จแล้ว ผมจึงตั้งคำถามให้นักเรียนยกมือแล้วตอบ ผมถามทั้งในเรื่องและนอกเรื่อง..เพื่อให้เด็กคิดอย่างหลากหลาย

             ทุกครั้ง..ที่ต้องทำหน้าที่สอนแทนครูป.๖ ซึ่งไปอบรมสัมมนาที่เขตพื้นที่การศึกษา ผมจะเตรียมการสอนก่อนเสมอ แต่ไม่ถึงกับมีแผนการเรียนรู้ ทำได้เพียงตระเตรียมกิจกรรม วัสดุอุปกรณ์ และขั้นตอนการนำเสนอ ก่อน – หลัง      

               หลายปีมานี้ สอนแทนครูมาโดยตลอด รู้สึกมีความสุขทุกครั้ง ขณะเดียวกัน  สัมผัสได้ถึงรสชาติของความเป็น “ครู” ที่ต้องอยู่ได้ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ และเห็นคุณค่าของผู้เรียนและ “เวลา”

            เวลามีค่าและผ่านไปเร็วเสมอ เมื่อ “ทำงาน”ที่รักและกิจกรรมที่ “ชอบ” ในบรรยากาศที่ "ใช่"...บอกนักเรียนว่า..วันนี้เราจะเรียนเรื่องการเพาะทานตะวันต้นอ่อนที่ศาลาท่าน้ำ...

            ผมบอกนักเรียนว่า..ครูจะเป็นวิทยากร..บรรยายพร้อมสาธิตขั้นตอนโดยละเอียด นักเรียนดู ฟัง และจดบันทึก..จากนั้นครูจะตั้งคำถามให้นักเรียนตอบแบบบรรยาย..

            ทุกข้อของคำถามนักเรียนสามารถสืบค้นคำตอบได้ และบางข้อจะต้องรอเวลา จากการสังเกตการงอกของเมล็ดทานตะวันเสียก่อน..จึงจะตอบได้

            เหตุผล..ที่ต้องให้นักเรียนเขียนตอบ เพราะต้องการให้นักเรียนใส่ความคิดและจินตนาการ ครูต้องการพัฒนาลายมือของนักเรียนและวางพื้นฐานการตอบข้อสอบแบบอัตนัย..ในการสอบโอเน็ตปลายปี

            ผมเริ่มต้นด้วยการอธิบายการแช่เมล็ดทานตะวัน ซึ่งผ่านการแช่ค้างคืนมาแล้ว ผมอธิบายวิธีการเตรียมดิน ต้องใช้ดินแบบไหนอย่างไร? อุปกรณ์ที่ต้องใช้มีอะไรบ้าง จากนั้นก็ลงมือปฏิบัติการอย่างละเอียดทุกขั้นตอน

            นักเรียนฟังอย่างตั้งใจ..ในสัปดาห์หน้านักเรียนจะมีโอกาสได้ลงมือทำด้วยตนเอง..อย่างไรก็ตาม ผมพยายามจะไม่บอกถึงประโยชน์ของเมล็ดทานตะวัน ให้นักเรียนไปค้นคว้าเอง..จะเข้าใจได้ดีกว่า

            ไหนๆ ก็อยู่กับนักเรียนทั้งวันแล้ว ขอทบทวนโครงงานเห็ดนางฟ้าในตะกร้า ผมให้นักเรียนไปดูผลงาน “เห็ดฟาง”ของกลุ่มฯ เปิดถุงพลาสติคสีดำที่คลุมตะกร้าออก พบว่าเชื้อเดินดีพอสมควร..นักเรียนสรุปผลงานโครงงานได้ทันที..

            วันนี้ ผมพบข้อมูลอีกอย่างหนึ่ง คือ ไม่ต้องฉีดน้ำใส่ฟางในตะกร้าก็ได้ แต่คลุมไว้เหมือนเดิม แล้ววางบนฟาง จากนั้นรดน้ำโดยรอบๆตะกร้า วันละ ๒ – ๓ ครั้ง จะทำให้เห็ดออกดอกดี..ก็ต้องติดตามตอนต่อไป

            นักเรียนป.๖ จะทราบดีว่า เรียนกับ ผอ.คราใด ได้อ่านหนังสือทุกครั้ง ผมให้นักเรียนนำหนังสือมาหน้าห้องผอ. ๒ เล่ม “ทักษะภาษา” กับ “วรรณคดีลำนำ”

            ผมให้นักเรียนอ่านออกเสียง ๒ เรื่อง ใน ๒ เล่มที่นำมา ผมบอกนักเรียนเป็นแนวทางว่า..การอ่านในยุคนี้ ต้องอ่านให้เป็น เพราะการสอบอ่านเปลี่ยนไปและ แบบทดสอบทุกวิชาก็เปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน..

            ดังนั้น..อ่านข้อความใด ต้องจับประเด็นให้ได้ พออ่านเสร็จแล้ว ผมจึงตั้งคำถามให้นักเรียนยกมือแล้วตอบ ผมถามทั้งในเรื่องและนอกเรื่อง..เพื่อให้เด็กคิดอย่างหลากหลาย

            ผมคิดว่า..ครูผู้สอนประจำชั้นและครูภาษาไทย ควรให้เด็กเข้าห้องสมุดบ่อยๆ เพื่อเลือกหนังสืออ่าน “นอกเวลา” เมื่อนักเรียนอ่านแล้ว ก็ให้สรุปใจความสำคัญ ว่าใคร? ทำอะไร? ที่ไหน? อย่างไร? เด็กจะเข้าใจเรื่องที่อ่านและอ่านอย่างมีจุดประสงค์

            วันนี้..ผมจึงอยู่กับนักเรียนตลอด ช่วยให้เรียนรู้นักเรียนเป็นรายบุคคล และเติมเต็มในสิ่งที่จำเป็นสำหรับ “ทักษะชีวิต”

            ผมไม่รู้ว่า..กระบวนวิธีสอนของผมเป็นแนวทางของ Active Learning หรือเปล่า แต่เห็นนักเรียนมีความสุข และมีส่วนร่วมในการเรียน..ผมก็พอใจแล้ว..

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑๕  สิงหาคม  ๒๕๖๑

หมายเลขบันทึก: 649768เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2018 21:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 สิงหาคม 2018 22:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาทักทายและให้กำลังใจชาวหนองผือจ้ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท