ชาวบ้านบวกหางดงรวมพลังจัดการขยะ


คัดแยก-จัดการขยะอย่างถูกวิธี แก้ปัญหาขยะล้นชุมชน

เชียงใหม่ / สภาผู้นำชุมชนบ้านบวก อ.หางดง หนุนชาวบ้านคัดแยก-จัดการขยะอย่างถูกวิธี แก้ปัญหาขยะล้นชุมชน แกนนำเผยเตรียมต่อยอดให้แต่ละครัวเรือนปลูกผักปลอดสารไว้บริโภคเอง เพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

            นายจรัสเสถียร กิริยาภรณ์ ผู้ใหญ่บ้าน และประธานสภาผู้นำชุมชนบ้านบวก เปิดเผยว่า ขยะ ถือเป็นปัญหาของชุมชนส่วนใหญ่ทั่วประเทศ หลายแห่งอาจเคยอบรมให้ความรู้ด้านการจัดการขยะแก่ชาวบ้านไปแล้ว แต่ยังขาดการขับเคลื่อนในเชิงปฏิบัติ หรือมีการปฏิบัติแบบไม่ต่อเนื่อง ซึ่งที่บ้านบวกก็มีลักษณะเดียวกัน ชาวบ้านกำจัดขยะเอง เผาบ้าง ทิ้งในถุงดำให้เทศบาลจัดเก็บบ้าง หรือบางส่วนก็ทิ้งตามไร่ตามสวน

            หรือพอให้นำขยะมาแลกไข่ ชาวบ้านก็ให้ความสนใจ คิดว่าอย่างน้อยก็ดีกว่าทิ้ง หรือทำลายไปเฉยๆ หากก็ไม่มีการคัดแยกขยะ ในถุงที่หิ้วมา มีทั้งกระดาษแข็ง กระดาษอ่อน กล่องโฟม กล่องนม พลาสติก ขวดแก้ว กระป๋องน้ำอัดลม หรือเศษผ้า เศษไม้ เปลือกผลไม้ ทำให้ปริมาณขยะที่ต้องทิ้งแต่ละเดือนมีปริมาณมหาศาล

            เมื่อเริ่มทำโครงการชุมชนน่าอยู่ กับทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงจัดตั้งสภาผู้นำ 50 คน โดยมีเป้าหมายร่วมกับชุมชนจัดการขยะของชุมชนและครัวเรือนอย่างเป็นระบบ ตั้งกลุ่มเป้าหมายไว้ 120 ครัวเรือน 335 คน จากทั้งหมด 200 กว่าครัวเรือน 600 กว่าคน เนื่องจากชาวบ้านส่วนหนึ่งออกไปทำงานนอกบ้าน มักจะปิดบ้านทิ้งไว้ และมีหลายหลังคาเรือนเป็นคนจากต่างถิ่นที่เข้ามาอยู่ในหมู่บ้านจัดสรร จึงมักจะไม่ให้ความร่วมมือกับชุมชนมากนัก

            ตอนเริ่มต้นทำโครงการ มีการสำรวจปริมาณขยะที่ต้องทิ้งในแต่ละเดือน พบว่าสูงถึง 2,000 กิโลกรัม แต่เมื่อให้ความรู้เรื่องการคัดแยกและจัดการขยะอย่างต่อเนื่องถึง 3 ครั้ง และรณรงค์ด้วยวิธีอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น สอนทำปุ๋ยหมัก-ปุ๋ยชีวภาพ จากขยะเปียกหรือขยะอินทรีย์, จัดถังแยกขยะเคลื่อนที่ ไปให้บริการทุกครั้งที่มีงานศพในหมู่บ้าน ช่วยให้การจัดการขยะภายในงานง่ายยิ่งขึ้น และเมื่องานเสร็จสิ้นแล้ว ขยะก็จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ที่ศูนย์เรียนรู้ของหมู่บ้าน แปรสภาพขยะเปียกให้เป็นปุ๋ยหมัก ส่วนขยะประเภทอื่นก็นำไปรีไซเคิล หรือขาย ตามความเหมาะสม

            นอกจากนี้ ในวันรับเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุก็จะหิ้วขยะมาด้วย เนื่องจากมีผ้าป่าขยะ หารายได้สมทบทุนสวัสดิการผู้สูงอายุทุกเดือน  ที่สำคัญคือชุมชนได้วางข้อตกลงในการจัดการขยะร่วมกัน ทำให้เกิดกลไกของชุมชนในการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ มีกองทุนขยะในชุมชน เช่น กลุ่มปุ๋ยหมัก กลุ่มขยะรีไซเคิล กลุ่มแปรรูปขยะให้เกิดประโยชน์ ล่าสุด จึงสำรวจพบว่าปริมาณขยะที่ต้องทิ้งลดเหลือแค่เดือนละ 303 กิโลกรัมเท่านั้น ที่เหลือชาวบ้านได้คัดแยกขยะในครัวเรือน บางส่วนสามารถนำไปทำปุ๋ยหมัก บางส่วนรีไซเคิล และบางส่วนก็ขายเป็นเงินได้

            ประธานสภาผู้นำชุมชนบ้านบวก กล่าวอีกว่า ตอนนี้กำลังเร่งรณรงค์การใช้ถุงผ้าจ่ายตลาดในกลุ่มสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ ถ้าซื้อของแต่ละครั้ง แล้วไม่รับถุงพลาสติก ร้านค้าในชุมชนต้องประทับตราให้ เมื่อครบ 10 ครั้ง ให้มีของสมนาคุณแก่ลูกค้า เพราะถือว่าร้านค้าประหยัดค่าถุงพลาสติกได้ส่วนหนึ่งเช่นกัน ซึ่งเมื่อกิจกรรมทุกอย่างเกิดจากความคิดของคนในชุมชน ก็ก่อให้เกิดการปฏิบัติตามอย่างพร้อมเพรียง และเคร่งครัด อันนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการจัดการขยะอย่างถูกวิธี ส่งผลให้ขยะในชุมชนลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ดังนั้นในปีถัดไปจึงเตรียมต่อยอด ส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายปลูกผักปลอดสารเคมีไว้บริโภคภายในครัวเรือน โดยใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตในชุมชน จะได้ลดปัญหาด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากการสะสมของสารเคมี

หมายเลขบันทึก: 649341เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2018 21:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 สิงหาคม 2018 21:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท