รื้อถอดโครงสร้าง Stratification Theories of Emotions และ Exchange Theories of Emotions จากทฤษฎี Sociology of Emotions เพื่ออธิบายทางจิตวิทยา


รื้อถอดโครงสร้าง Stratification Theories of Emotions และ Exchange Theories of Emotions 

จากทฤษฎี Sociology of Emotions เพื่ออธิบายทางจิตวิทยา

                                                                                                                                                    ตฤณห์ โพธิ์รักษา่

                บทความชิ้นนี้ เป็นการนำเสนอ ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ในสังคมวิทยา ซึ่งทฤษฎีทางอารมณ์ที่สังคมวิทยาศึกษานั้น ไม่เพียงแต่พิจารณาอารมณ์ของปัจเจกบุคคล หรือแค่มนุษย์ เท่านั้น แต่เป็นการศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่ออารมณ์ระหว่างสังคม โครงสร้าง และปัจเจก ที่มีความสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน และ Reflect ซึ่งกันและกัน รากฐานของการศึกษามาจากการศึกษาความสัมพันธ์ในระดับเล็กที่สุด ซึ่งก็ชื่อระหว่างปัจเจกและปัจเจก เป็นความสัมพันธ์เริ่มต้นขั้นแรกเริ่มของมนุษย์ นำมาสู่ความสัมพันธ์ ระหว่างกลุ่มของปัจเจกที่แตกต่าง ขยายเป็นความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ที่กว้างออกไป เช่น state, Nation, Country เป็นต้น หากแต่ในความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนเหล่านี้ ก็จะมีความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกและโครงสร้างของสังคมแต่ละสังคมนั้นซ่อนอยู่ อย่างแยกออกจากกันมิได้ เรียกว่า ทวิภาวะ Duality

ในบทความนี้จะขอยกขึ้นมาอธิบายสองทฤษฎี ได้แก่ Stratification Theories of Emotions และ Exchange Theories of Emotions ซึ่งเป็นทฤษฎีที่แตกแยกย่อย และเป็นส่วนหนึ่งของ ทฤษฎีทางอารมณ์จากหลายๆสำนักคิดทางสังคมวิทยาทางอารมณ์ (Sociology of Emotions)[1]

            Stratification Theories of Emotions หรือ ทฤษฎีทางอารมณ์แบบแบ่งแยกชนชั้น ผู้นำคนแรกที่ศึกษาเรื่องอารมณ์นั้นถูกสร้างมาจากชนชั้นทางสังคมที่แตกต่าง หรือการก้าวข้าม การก้าวผ่านชนชั้นที่แตกต่างทางสังคม คือ Randall Collin (1975,1990) ในการนำเสนอผลงานแรกๆของเขา ที่สามารถอธิบายทฤษฎีทางอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นชนชั้นที่แตกต่างอย่างเป็นรูปเป็นร่างในช่วงแรกๆได้แก่ การนำเสนอ การที่มนุษย์เป็นผู้ควบคุม แหล่งทรัพยากร อำนาจ และการได้รับความเคารพยกย่องที่ไม่เท่ากัน ปรากฏการณ์นี้เป็นปรากฏการณ์ที่ส่งผลกระทบอย่างมากในระดับจุลภาค (Micro)  เพราะการที่ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากร หรืออำนาจได้เท่ากับชนชั้นสูง หรือ มีการเสียเปรียบจากชนชั้นอื่นๆ ปัจเจกก็จะเกิดความไม่พอใจ ก่อสร้างขึ้นมาในจิตใจ และส่งผลต่ออารมณ์โกรธ ไม่พอใจ แค้นเคืองต่อความไม่เท่าเทียมที่ตนได้รับ Collin มีแนวคิดว่า มนุษย์จะเข้าสู้ความรุนแรงเต็มตัวก็ต่อเมื่อตกอยู่ภายใต้ความกดดันทางสังคมที่ค่อนข้างสาหัส จึงเลือกใช้อารมณ์ความรุนแรงเป็นเครื่องการันตีการหลุดพ้นจากสถานะนั้นๆออกมา[2]

           การศึกษาสังคมนั้น ก็คือการศึกษามนุษย์ ซึ่งมนุษย์กับอารมณ์นั้น ไม่สามารถแยกออกจากกันได้เลย ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และเหตุผล และอารมณ์ มีมาคู่กันเสมอ ถึงแม้การกระทำที่แสดงออกมา จะเป็นแบบที่สังคมยอมรับ หรือตามครรลองของโครงสร้างบรรทัดฐานทางสังคมที่ควรจะเป็น อยู่ในกรอบของคำว่า มารยาท ศีลธรรม และจรรณยาบรรณ นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าปัจเจกจะไม่มีอารมณ์โกรธแค้นหรือ ไม่พอใจอยู่ภายใน

           การศึกษาด้านอารมณ์นั้นจึงจำเป็นต้องอธิบายด้วยทฤษฎีทางจิตวิทยา เพราะอารมณ์มีความสำคัญกับชีวิตจิตใจเช่นเดียวกับอาหารที่มีความสำคัญต่อร่างกาย[3] สุขภาพจิตของคนเราจะดีหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการปรุงแต่งของอารมณ์ต่างๆ มนุษย์เราทุกคนมีความคุ้นเคยกับอารมณ์เป็นอย่างดีไม่ว่าจะสุข เศร้า หรือกลัว เราต้องเผชิญกับภาวะอารมณ์เหล่านี้ตั้งแต่เกิดจนตาย นักสังคมวิทยาพยายามแสวงหาคำอธิบายสภาพการณ์ที่ทำให้ปัจเจกมีความรู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์และหลีกเลี่ยงสภาพการณ์ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกเศร้า หรือหวาดกลัวแม้บางอารมณ์จะเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาแต่มนุษย์เราก็อยู่อย่างไร้อารมณ์ไม่ได้ และอารมณ์มีอิทธิพลต่อมนุษย์และ มีผลกระทบต่อสังคมอย่างมาก[4] อารมณ์หมายถึงสภาวะทางจิตใจที่เกิดความปั่นป่วน ตื่นเต้นหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้น ซึ่งจะเกิดอย่างฉับพลันทันทีโดยเราไม่สามารถสังเกตได้โดยตรง แต่สังเกตเห็นได้โดยทางอ้อม โดยดูจากการเปลี่ยนแปลงการแสดงออกทางพฤติกรรมต่างๆ บางครั้งไม่ได้แสดงออกมาเป็นคำพูด Non-verbal  behaviour) เช่นการแสดงออกทางสีหน้า หรือกริยาท่าทางเป็นต้น ซึ่งการแสดงออกนี้ มี อิทธิพลอย่างมากต่อการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม ทั้งนี้เพราะสังคมหมายถึงการที่ปัจเจก มาอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม สร้างกรอบความคิดความเชื่อ และวิถีทางในการดำเนินชีวิตไปในทางเดียวกัน มีความเชื่อชุดเดียวกัน ดังนั้นการแสดงออกทางท่าทางและกริยาทางสีหน้าจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่ปัจเจกจะหลีกเลี่ยงไม่ได้หากปัจเจกต้องปฏิสัมพันธ์กับบุคคลในสังคมอย่างเป็นประจำ ดังนั้นเราจึงไม่สามารถแยกออกได้ระหว่างอารมณ์ เหตุผล และปฏิกิริยาโต้ตอบอันเกิดจากการที่อารมณ์ถูกกระตุ้น

          นักสรีระจิตวิทยาและนักจิตวิทยาได้พยายามสังเกต ศึกษาลักษณะของอารมณ์แล้วพบว่าอารมณ์เป็นสภาวะที่ไม่คงที่ และไม่ใช่พฤติกรรมภายนอกหรือความคิดเฉพาะอย่าง แต่อารมณ์เป็นประสบการณ์ความรู้สึกส่วนบุคคล โดยแต่ละคนจะมีประสบการณ์ทางอารมณ์แตกต่างกันไปตามนิสัยค่านิยม ความเชื่อ หรือสิ่งอื่นๆในที่นี้ผู้เขียนจะกล่าวถึง อารมณ์ที่แตกต่างกันไปจากชนชั้นที่แตกต่างกันของปัจเจก จากการจัดประเภททางอารมณ์ของ Carroll Izard[5] ปัจเจกที่อยู่ในชนชั้นสูง หรือชนชั้นที่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้มากกว่า อาจจะมีอารมณ์ในเชิงบวกมากกว่าปัจเจกที่อยู่ในชนชั้นต่ำหรือชนชั้นกลาง ปัจเจกที่เป็นชนชั้นสูง จะมี ประเภทอารมณ์รื่นเริง(Joy) รังเกียจ (Disgust) ดูถูกเหยียดหยาม (Contempt-Scorn)ต่อชนชั้นที่ต่ำกว่าตนเอง และชนชั้นที่ต่ำกว่าชนชั้นสูงลงไป ก็จะมีความรู้สึกเสียใจ (Distress-Anguish) อารมณ์เจ็บปวดโกรธเดือดดาล (Anger-Rage) ในความไม่เท่าเทียมกันหรือความไม่ยุติธรรมในสังคมหรือสถานะสังคมที่ตนไม่ได้รับอย่างยุติธรรม และสิทธิที่ตนพึงจะได้แต่ไม่สามารถมีได้เนื่องจากสถานะที่แตกต่างกัน

          จากลักษณะที่สำคัญที่นักสรีระจิตวิทยาและนักจิตวิทยา  ให้นิยามแก่คำว่าอารมณ์ จึงสรุปได้ว่าอารมณ์ใดๆเป็น ประสบการณ์ที่บุคคลรู้สึกได้ทันทีที่เกิดขึ้นกับตนทำให้เกิดการประเมินสถานการณ์ พร้อมกันนั้นก็มีการแสดงออกทางปฏิกิริยาตอบสนองทางสรีระ การตอบสนองนี้อาจเป็นปฏิกิริยาสะท้อนตามธรรมชาติ หรือเป็นกิริยาอาการที่เกิดจากการเรียนรู้ก็ได้ เราสามารถใช้ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ ซิกมันด์ ฟรอยด์  (Psychoanalytic theory of Freud)[6] มาอธิบาย ได้ควบคู่กัน สำหรับฟรอยด์นั้นปฏิกิริยาสะท้อนตามธรรมชาติ จะถูกเรียกว่า สันดานดิบ(ID) ซึ่งเป็นความต้องการที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิด ตามสัญชาติญาณ เช่นความหิว เป็นความต้องการตามธรรมชาติที่ปราศจากการขัดเกลา และกิริยาอาการที่เกิดจากการเรียนรู้ นั่นก็คือ Ego เป็นส่วนที่ผ่านขบวนการเรียนรู้มาแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของจิตใจที่อาศัยหลักของเหตุผลความจริง เป็นส่วนที่ควบคุมการแสดงพฤติกรรมของคนๆ นั้นได้ดำเนินไปอย่างเหมาะสม ตัวอย่างเช่น ID รู้สึกหิวแต่เมื่อมนุษย์เราผ่านการเรียนรู้มาแล้วก็จะอดทนได้ จนกว่าจะถึงเวลาพักเบรก และสุดท้าย คือ Super Ego  เป็นพลังจากสังคมที่เกี่ยวกับหลักศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม อุดมคติในการดำเนินชีวิตที่เกิดจากการอบรมสั่งสอน เป็นพลังส่วนที่ควบคุมให้บุคคลแสดงพฤติกรรมสอดคล้องกับที่ได้เรียนรู้กฎเกณฑ์ วัฒนธรรม ความรู้สึกรับผิดชอบชั่วดี ศีลธรรม ซึ่งฟรอยด์เชื่อว่าเป็นผลมาจากการอบรมเลี้ยงดูและการเรียนรู้ ในขั้นนี้ ปัจเจกจะมีศีลธรรมขั้นสูงสุด มีการนึกถึงผู้และมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ยกตัวอย่างเดียวกัน เช่นถ้าปัจเจกที่มี Super Ego เกิดอาการหิว ความมีศีลธรรมในตัว อาจจะยกอาหารที่ตนมีทั้งหมดให้กับสุนัขจรจัด หรือขอทาน ที่มีความหิวโหยมากกว่าตนก็เป็นได้ เป็นจิตระดับสูงสุดที่ผ่านการขัดเกลามาอย่างดี

          อีกทฤษฎีหนึ่งที่อธิบายเกี่ยวกับการเกิดอารมณ์ได้แก่ทฤษฎีของ เจมส์-แลง ( James-Lang Theory)[7] โดย William James นักจิตวิทยาชาวอเมริกันกล่าวว่า ร่างกายของคนเราต้องแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบเป็นอันดับแรกก่อนแล้วอารมณ์จึงตามมา ซึ่งเป็นแนวคิดที่ตรงกับความคิดเห็นของ Carl Lang นักจิตวิทยาชาวเดนมาร์กที่เชื่อว่าประสบการณ์ทางอารมณ์เป็นผลมาจากการรับรู้การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายดังนั้นแนวความคิดของทั้งสองคนจึงถูกเรียกว่า ทฤษฎี James-Lang ซึ่งในบริบทของ ทฤษฎีทางอารมณ์แบบแบ่งแยกชนในงานเขียนชิ้นนี้สามารถอธิบายได้ว่า เมื่อปัจเจกที่มาจากชนชั้นที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ รู้สึกถึงความกดดันและความไม่เท่าเทียม จากสถานะชนชั้นหรือการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ร่างกายของปัจเจกผู้นั้นจะแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบเป็นอันดับแรกก่อน แล้วจึง มีอารมณ์ตามมา อาจจะเป็นอารมณ์โกรธเสียใจ หรือคับแค้นใจ เนื่องจาก ตนเองไม่สามารถมีสิทธิ์หรือมีเสียง ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากร หรือการได้รับความเคารพ ได้อย่างที่ชนชั้นสูงได้รับ มากกว่าตนเอง

          ดังนั้นจะสรุปได้ว่าอารมณ์มีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์โดยเฉพาะเกี่ยวกับการปรับตัวทำให้การดำเนินชีวิตมีความหมายแตกต่างไปจากเครื่องจักรเราใช้อารมณ์เป็นเครื่องบ่งชี้ความรู้สึกนึกคิดช่วยให้เราเรียนรู้ที่จะรู้จักตนเองและผู้อื่นเป็นแรงผลักดันหรือแรงจูงใจที่ทำให้เกิดความกระตือรือร้นมีชีวิตชีวาหรือเป็นสัญญาณเตือนภัยให้รู้จักการต่อสู้เอาตัวรอดในที่นี้ ถ้ายกตัวอย่างความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชนชั้นในสังคมชนชั้นที่ถูกเอารัดเอาเปรียบก็จะมีอารมณ์ เป็นสัญญาณเตือนภัยให้รู้จักต่อสู้เพื่อความยุติธรรมการเอาตัวรอดในสังคม และเป็นแรงผลักดันหรือจูงใจให้เกิดการเคลื่อนไหวที่จะทำให้สถานะในสังคมของตนเองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้ ดังนั้นโครงสร้างของอารมณ์จึงถูกก่อสร้างมาจาก ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ความต้องการที่จะมีความสุข ปราศจากทุกข์ และเมื่อตนไม่ได้อย่างที่คาดหวัง ก็จะเกิดอารมณ์ โกรธแค้น ไม่พอใจต่อชะตากรรมชีวิตของตนเอง ทั้งนี้ทั้งนั้น อารมณ์ทั้งหลายเกิดขึ้นจาก สัญชาติญาณดิบ ที่ดำรงอยู่ภายใต้กรอบของสังคมหนึ่งๆนั่นเอง เมื่อสังคมสร้างกรอบ และเป้าหมายความสำเร็จให้ผู้คนฝนสังคมมีความเชื่อร่วมกัน ปัจเจกที่ถูกโครงสร้างครอบงำก็จะซึมซับ Goal ของสังคมของตน และเกิดความคาดหวังขึ้น และเมื่อผิดหวัง ก็จะส่งผลต่ออารมณ์ และอารมณ์ก็จะส่งผลต่อมายัง ความรู้สึกนึกคิด ความคิดเป็นเหตุเป็นผล ท้ายที่สุดก็กลายมาเป็น การแสดงออกทางสรีระร่างกาย เช่นเมื่อ ชนชั้นกรรมกร ไม่สามารถหารายได้ หรือเข้าถึงการศึกษาอย่างพวกชนชั้นสูง ก็จะเกิดอารมณ์โกรธแค้น และเมื่อไม่ได้รับการขัดเกลาจิตใจ หรือศีลธรรม อารมณ์ก็จะมีความรุนแรงยิ่งขึ้น ส่งผลให้สมองสั่งการ ให้เกิดความคิดที่จะแก้ไขปัญหา อาจออกมาในรูปแบบของการกระตือรือร้น แสวงหาทางออกในเชิงที่สังคมรับได้ เช่นการตั้งใจทำงาน เก็บเงิน เพื่อเรียนหนังสือ หรือ ทางออกที่ไม่ได้ผ่านการขัดเกลาจาก Ego และ Super Ego ก็จะทำให้ปัจเจกนั้นกลายเป็นอาชญากรในที่สุด ในเมื่อจุดมุ่งหมาย(Goal) ไม่สามารถบรรลุได้โดยวิถีทางของตน เนื่องจากมีทรัพยากรที่จำกัดนั่นเอง

          ทฤษฎีต่อมาคือ Exchange Theories of Emotions หรือ ทฤษฎีการแลกเปลี่ยนความรู้สึก[8] เป็นการแลกเปลี่ยน ทางอารมณ์อย่างมีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งกันและกันกล่าวคือผู้ให้อาจจะคาดหวังการได้รับกลับมาในอนาคต เนื่องจาก ทฤษฎีการแลกเปลี่ยนความรู้สึกนั้น มีหัวใจหลักคือการต่อรอง จึงสามารถอธิบายได้ด้วยแนวทางทางเศรษฐศาสตร์ จากเอกสารหลักที่นำมาศึกษาที่เขียนโดย Jonathan H. Turner มีการแบ่งธรรมชาติของอารมณ์นั้นและความตั้งใจที่จะกระทำที่แสดงออกมาผ่านอารมณ์มีความมากมายหลากหลายเป็นอย่างมากแต่ที่สรุปออกมาเป็นตัวเลขของเงื่อนไข ของทฤษฎีการแลกเปลี่ยนมี 6 ประเภทดังนี้ 1. ประเภทของการแลกเปลี่ยน   2. ประเภทของโครงสร้างที่ใช้แลกเปลี่ยน 3. ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจที่เป็นอิสระของปัจเจก ในแต่ละปัจเจกเพื่อทรัพยากรที่ตนต้องการ  4.  ความคาดหวังสำหรับทรัพยากรที่พึงได้  5 มาตรฐานที่จำกัดเฉพาะ เพื่อความยุติธรรมในการแลกเปลี่ยน  6.  การ ประสบความสำเร็จหรือการล้มเหลวในการ รักษาผลประโยชน์ในการแลกเปลี่ยน และ Edward Lawler(2001) มีการแบ่ง การแลกเปลี่ยนทางอารมณ์ และเงื่อนไข โดยประกอบด้วย 4  แบบหลักๆสรุปได้โดยการอธิบายอย่างกระชับดังนี้

         

          การเริ่มต้นการแลกเปลี่ยนในแต่ละปัจเจกต้องมีการร่วมมือกัน และมีพฤติการณ์ที่จะรักษาและปกป้องทรัพยากรของตน การเจรจาต่อรองแลกเปลี่ยน โดยปัจเจกต้องต่อรองผ่านข้อเสนอและการประจันหน้าโดยยื่นข้อเสนอระหว่างปัจเจกด้วยกัน การแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันในบริบทที่ปัจเจกแต่ละคนที่เป็นผู้ให้ทรัพยากรกับปัจเจกอีกฝ่ายหนึ่งนั้น ไม่มีการรับประกันว่าจะได้รับคืนกลับมาอย่างที่ปัจเจกผู้ให้ได้ให้ไป แต่ปัจเจกที่เป็นผู้ให้นั้นยังคงคาดหวังว่าปัจเจกคนที่ได้รับผลประโยชน์จากตนจะให้กลับมาในอนาคต การแลกเปลี่ยนตามปกตินั้นเป็นการแลกเปลี่ยนที่ปัจเจกไม่ได้แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันโดยตรงแต่ เป็นการ ให้ทรัพยากรแก่คนที่ให้ปัจเจก ในห่วงโซ่ หรือใน บริบทที่ปัจเจกมีเกณฑ์ว่าจะได้รับผลประโยชน์กลับคืนมาแทนที่[9]

          การแลกเปลี่ยน ตามทฤษฎี ทางอารมณ์ของสังคมวิทยานี้ เป็นการแลกเปลี่ยนที่ประกอบด้วย ความตั้งใจที่จะ เข้าถึง ทรัพยากรและการต่อรอง จะเป็นการเพิ่มความตั้งใจในอารมณ์นั้นๆ อ้างจาก Linda Molm (1997) ได้โต้แย้ง ในความขัดแย้งของการสร้าง ระบบในการเจรจาต่อรอง ว่า การแลกเปลี่ยนของทั้งสองฝ่ายนั้นจะสะท้อนกลับมาซึ่งอารมณ์ในด้านบวกและการแสดงออกทางอารมณ์ของทั้งสองฝ่ายที่มีผลประโยชน์ต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน

          จากทฤษฎีการแลกเปลี่ยนความรู้สึก  ผู้เขียนขอยกตัวอย่าง ในการเจรจาต่อรองโดยมี หลักเศรษฐศาสตร์หรือเงินตราเป็นหลักเนื่องจากเงินตราเป็นเหมือนตัวแปรสำคัญที่ทำให้สังคมเคลื่อนไปข้างหน้าหรือเป็นตัวแปรที่ทำให้สังคมสามารถ classification ออกเป็นชั้นชั้น ออกเป็นชนชั้นได้อย่างชัดเจนตัวอย่างในที่นี้ได้แก่หญิงขายบริการและผู้ซื้อบริการ หญิงขายบริการ อาจจะไม่ได้อยาก ประกอบอาชีพนี้แต่มีความจำเป็นทางด้านการเงิน จึงตัดสินใจที่จะประกอบอาชีพนี้โดยไม่ได้สนใจว่าจะต้องใช้อารมณ์ ในการ ทำงาน แต่คนจำพวกนี้จะใช้เหตุผลมากกว่าในการเจรจาต่อรองแลกเปลี่ยนกับผู้ซื้อบริการในขณะที่ผู้ซื้อบริการที่มีความต้องการจำเป็นความต้องการระบายความรู้สึกทางเพศหรือการแสวงหาความสุขให้ตนเองในฐานะที่ตนเองมีฐานะทางการเงินที่ดีกว่าการซื้อบริการโดยการเจรจาต่อรองแลกเปลี่ยนการมีเพศสัมพันธ์ด้วยเงินตรา ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนที่ต่างฝ่ายต่างมีผลประโยชน์ต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน ในสังคมปัจจุบันนี้ ฐานะทางสังคม ขึ้นอยู่กับปริมาณทรัพย์สิน หรือฐานะ หรือการเข้าถึงทรัพยากรที่แต่ละปัจเจกมีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงแตกต่างกัน ผู้หญิงขายบริการอาจจะมาจากชนชั้นที่ต่ำกว่าผู้ซื้อบริการแต่อาจจะไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไปบางคนเลือกที่จะประกอบอาชีพขายบริการ เพราะใช้อารมณ์ในการตัดสินใจเลือกประกอบอาชีพนี้โดยไม่ได้สนใจหลักศีลธรรมหรือเหตุผลใดๆทั้งสิ้น แต่ผู้ซื้อบริการ เห็นได้ชัดว่ามีความต้องการที่จะแสดงออกทางอารมณ์ในแง่ของการระบายอารมณ์ทางเพศ จึงใช้ฐานะทางการเงินที่เหนือกว่า ในการต่อรองซื้อบริการจากชนชั้นที่ต่ำกว่าตนเองหรือจากบุคคล ปัจเจกที่ตนเองสามารถทำการต่อรอง เพื่อให้สิ่งที่ตนเองต้องการได้

          ผู้เขียน สรุปว่า การแลกเปลี่ยนทางด้าน ความรู้สึก ในการศึกษาด้านสังคมวิทยา เป็นการ แลกเปลี่ยนที่หวังผลประโยชน์คืนกลับมาโดยอาจจะมิใช่การได้รับกลับคืนในครั้งแรกที่ผู้ให้เป็นคนให้แต่อย่างน้อย ผู้ให้ก็ได้คาดหวังว่าการให้ที่ตนเองได้ให้ไปนั้นจะได้รับการคืนกลับมาไม่ช้าก็เร็ว หรืออาจเป็นการได้รับกลับคืนมาในอนาคตโดยที่ไม่สนว่าจะมีหลักประกันหรือไม่ อย่างไร ซึ่งถ้าจะศึกษาไปถึงต้นตอของการแลกเปลี่ยนนี้คงจะหลีกหนีไม่พ้นในเรื่องของผลประโยชน์และการเข้าถึงทรัพยากร ซึ่ง การแลกเปลี่ยนทางสังคมหรือการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างปัจเจกนั้นก็หนีไม่พ้นที่จะใช้เรื่องอารมณ์และเหตุผลในการเข้ามาปฏิสัมพันธ์กัน แต่ในเรื่องการแลกเปลี่ยนนั้นมีการต่อรองเจรจาต่อรองเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ต่างตอบแทนซึ่งกันและกันทั้งสองฝ่ายดังนั้น ทฤษฎีนี้จึงอิงกับด้านเศรษฐศาสตร์ ใครคล้ายกับการซื้อขาย ฝ่ายผู้ให้ให้เนื่องจากคาดหวังว่าในอนาคตตนเองจะได้การตอบแทนเช่นเดียวกัน

          ถ้าจะรื้อถอนไปยังต้นตอของการเกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างปัจเจกนั้น ก็คงจะอดกล่าวถึง สัญชาตญาณความอยากมี อยากได้ของมนุษย์มิได้เนื่องจาก มนุษย์เกิดมามีความเห็นแก่ตัว ต้องการผลประโยชน์ และ จะฉวยโอกาสเมื่อตนเองมีโอกาสอยู่เสมอ ดังนั้นทฤษฎีการแลกเปลี่ยนนี้ สามารถรื้อถอนโครงสร้างออกมาเป็นแนวคิดย่อยๆได้โดยการอธิบาย เจตจำนงและความต้องการของมนุษย์ อาจจะรวมถึงปัจจัย 4  และเรื่องของ ทรัพย์สินเงินทองซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อสังคมในปัจจุบัน และที่ขาดไม่ได้คือระบบชนชั้นในสังคม ผู้คนในสังคมหรือปัจเจกแต่ละคนมีความมุ่งหวังอย่างมากที่จะขยับชนชั้นของตนขึ้นไปให้สูงที่สุดเท่าที่ตนจะสามารถทำได้ แต่การเลื่อนชนชั้นของตนขึ้นไปนั้น ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะอาศัยความมีเกียรติยศ ชื่อเสียง เงินทอง และการยอมรับจากสังคมซึ่งตัวแปรเหล่านี้ปัจเจกบางกลุ่มคิดว่า เงินตราเป็นเสมือนคำตอบที่สามารถจะเติมเต็ม สิ่งที่พวกเขาเหล่านี้ต้องการได้ ปัจเจกจึงพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ได้มาหรือเพื่อให้เข้าถึงทรัพยากรที่ตนเองรู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือรู้สึกว่าเข้าไม่ถึงอย่าง ชนชั้นสูงนั่นเอง

[1] Jonathan H. Turner.The Sociology of Emotions: Basic Theoretical Arguments.[Online].2009.Available from:https://goo.gl/d6pv9e [2017,December 18]

[2] Line Today.มนุษย์เราโหยหาความรุนแรงมากขึ้นหรือเปล่า?.[ออนไลน์].2560.แหล่งที่มา

https://goo.gl/114Knv [18 ธันวาคม 2560]

[3] อัปสรสิริ เอี่ยมประชา.อารมณ์.[ออนไลน์].2557.แหล่งที่มา:https://goo.gl/Njy6X0[18 ธันวาคม 2560]

[4] อัปสรสิริ เอี่ยมประชา.อารมณ์.[ออนไลน์].2557.แหล่งที่มา:https://goo.gl/Njy6X0[18 ธันวาคม 2560]

[5] Carroll Izard.The Eight Rasas/Emotions (contd).[Online].2011.Available from :http://the-mouse-trap.com/tag/carroll-izard/[2017,December 18]

[6] ดร. เมธา หริมเทพาธิป.ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของซิกมันด์ ฟรอยด์ (Psychoanalytic theory of Freud).[ออนไลน์].2560.แหล่งที่มา:https://www.gotoknow.org/posts... ธันวาคม 2560 ]

[7] อัปสรสิริ เอี่ยมประชา.อารมณ์.[ออนไลน์].2557.แหล่งที่มา:https://goo.gl/Njy6X0 [18 ธันวาคม 2560]

[8]  Jonathan H. Turner.The Sociology of Emotions: Basic Theoretical Arguments.[Online].2009.Available from:https://goo.gl/d6pv9e [2017,December 18]

[9] Jonathan H. Turner.The Sociology of Emotions: Basic Theoretical Arguments.[Online].2009.Available from:https://goo.gl/d6pv9e [2017,December 18]

หมายเลขบันทึก: 649048เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2018 20:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ธันวาคม 2019 17:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท