ความสุขใจในความเจ็บป่วยคนอื่นฤๅ


คนไข้ที่นอนอยู่ตรงหน้าผมนั้น ร่างกายเธอซูบผอม ผมที่ร่วงจนหมดหัวนั้นทำให้พอเดาได้ ว่าเธอน่าจะเป็นมะเร็งและถูกให้ยาเคมีบำบัดมา

ภาพตรงหน้าอาจจะไม่ได้ดูแปลกตาเท่าไหร่นักสำหรับหมอนรีเวชอย่างผม แต่สาวน้อยในชุดนักเรียนที่นั่งอยู่ข้างเตียงนั่นต่างหากที่ทำให้ผมต้องเดินไปหาเธอทั้งคู่

อย่าครับ อย่าเพิ่งเข้าใจผิด ว่าธนพันธ์เห็นเด็กนักเรียนสาวๆแล้วต้องรีบเดินไปหา แบบนั้นมันคงจะหื่นไป ไม่ใช่ผมแน่ๆ หึหึ (เอ๊ะ หรือว่าใช่วะ)

“นี่ อีหนู เธอจำฉันได้ไหม” ผมเข้าไปทักเธอในทันที

สาวน้อยในชุดนักเรียนคนนั้น เธอกำลังก้มหน้าดูจอโทรศัพท์มือถือประจำตัวอยู่ และทันทีที่ได้ยินเสียงหมอหนุ่มวัยกลางคนทักทายมา เธอจึงเงยหน้าขึ้นมาสบตาผมครั้งหนึ่ง ยิ้มให้และส่ายหัว

“เออสินะ..ฉันเห็นเธอตั้งแต่คลอดนี่นา จำได้ก็แปลกแล้ว” 

“คุณหมอทำคลอดลูกให้แม่ไงคะ” ผู้เป็นแม่แนะนำให้เธอรู้จักผมในทันที

ผมนึกย้อนไปไกลราว ๑๕ หรือ ๑๖ ปีก่อนนู้น เมื่อคราวที่ตัวเองยังมีอาชีพเป็นหมอทำคลอดอยู่ สามีภรรยาคู่หนึ่งเดินเข้ามาให้ผมตรวจครรภ์และขอให้ผมเป็นหมอทำคลอดให้ เธอคนนั้นเป็นคนร่างสูงโปร่ง ผิดกับผู้เป็นสามีที่ผมลองประเมินด้วยสายตาคร่าวๆนั้น อาจจะสูงน้อยกว่าภรรยาเล็กน้อย ทั้งคู่เป็นคนพูดน้อยแต่ยิ้มเก่ง เวลาสนทนากันระหว่างการตรวจจึงไม่ค่อยมีสีสันสักเท่าไหร่ ผิดกับคนไข้คนอื่นๆ ที่มักจะถามนู่นถามนี่ ซึ่งจะถูกโฉลกกับหมอขี้คุยอย่างผมมาก หากคนไข้ถามมาห้าผมจะตอบไปสิบ แต่ในรายนี้ เขาไม่ค่อยถาม ไม่ค่อยคุย ผมจึงเริ่มคุยก่อน ผมเริ่มไปห้าแต่มักจะคุยได้เพียงสอง แต่อย่างไรก็ตาม สัมพันธภาพระหว่างผมและเขาทั้งคู่ก็ผ่านไปกันด้วยดี

นี่กระมัง ที่ทำให้ผมจำเขาทั้งคู่ได้ 

เธอคลอดลูกได้อย่างปลอดภัย มาตรวจหลังคลอดตามนัด และก็หายไปจากชีวิตของผม

“เอ๊ะ..พี่มาที่นี่ทำไมครับ” ผมทักทายและป้อนคำถามต่อชายคนหนึ่งที่หน้าหอผู้ป่วยนรีเวช ชายคนที่ผมกล่าวถึงไว้ด้านบน ผมจำเขาได้

“เมียผมป่วยครับ” เขาตอบ

“แล้วมันหนักหนาไหมครับ” ผมพยายามจะเริ่มต้นคุย 

“เธอเป็นมะเร็งครับหมอ และวันพรุ่งนี้จะต้องเข้าห้องผ่าตัด” 

“อ้าว เหรอครับ งั้นผมเข้าไปเยี่ยมตอนนี้เลยได้ไหม”

“ครับหมอ” เสียงตอบกลับมานั้นมันคุ้นหูผมจริงๆ

แล้วผมก็ได้พบกับเธออีกครั้ง หลังจากที่ได้รู้จักกันตั้งแต่กว่าสิบปีที่แล้ว เธอคนนั้นเมื่อครั้งเป็นสาว มาบัดนี้ช่างดูแตกต่าง ผิวคล้ำลง ผมร่วงจนต้องโพกผ้าคลุม ผิวหนังดูหยาบกร้าน

“สวัสดี จำหมอได้ไหม” ผมเริ่มทักทาย

“จำได้สิคะหมอ” เธอยิ้มออกมานิดหนึ่ง

“ได้ข่าวมาจากแฟนเธอ ฉันจึงเดินเข้ามาเยี่ยม เห็นว่าจะผ่าตัดวันพรุ่งนี้ล่ะหรือ” 

“ค่ะ หนูรักษาตัวอยู่ที่นี่มาพักหนึ่งแล้ว มันเป็นมะเร็งในช่องท้อง ตอนแรกหมอบอกว่าผ่าตัดไม่ได้เพราะมันกระจายเต็มท้อง จึงต้องให้ยาเคมีก่อน ๓ ครั้ง และหมอบอกว่าตอนนี้เป็นเวลาที่ดีที่จะเข้าไปผ่าตัดเอาเนื้องอกที่เหลือออกให้หมดค่ะ” เธอเล่ามาเป็นฉากๆ ผิดกับเมื่อครั้งกระนู้นมาก

“ครับ แล้วเธอล่ะ พร้อมแค่ไหน” ผมเริ่มการประเมินตามสไตล์

“ไม่รู้เหมือนกันนะหมอ มันเพลีย และกลัวค่ะ” เธอหลบตาต่ำเล็กน้อย

“ครับ มันก็คงจะน่ากลัวอยู่สำหรับคนที่ไม่เคยเป็นมะเร็งมาก่อน และไม่เคยถูกผ่าตัด” เอ๊ะ..ยังไง พูดแปลกๆแฮะ จะมีใครสักคนเกิดมาเพื่อเป็นมะเร็งหลายๆหนได้หรือ

“ว่าแต่ เธอกลัวอะไรประเด็นไหนเหรอครับ” ผมอยากจะทราบลึกลงไปอีกนิด

“หนูกลัวว่าจะผ่าตัดออกไม่หมด กลัวว่าจะต้องมีลำไส้มาเปิดให้อึทางหน้าท้อง” นั่นไง สิ่งที่เป็นกังวลได้ค่อยๆเผยออกมา

เรื่องมันมีอยู่ว่า ทีมผ่าตัดได้เข้ามาพูดคุยเรื่องแผนการผ่าตัดและภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้ รวมถึงแผนที่สอง สาม และสี่ หากจำเป็นต้องทำ เช่น การยกเอาลำไส้มาเปิดที่หน้าท้องเพื่อให้ขับถ่ายหากมะเร็งลุกลามไปยังลำไส้ส่วนล่าง หรือกระทำเพื่อให้สามารถผ่าตัดมะเร็งได้ในบางครั้ง

“ครับ แล้วเธอคิดว่ายังไงล่ะ” ผมยังคงป้อนคำถามต่อไป

“ก็คงต้องเป็นไปตามนั้นแหละค่ะ ทำยังไงก็ได้ ให้มันหายเถิด” นั่นคงเป็นเพียงความกังวล ทั้งท่ีจริงแล้ว เธอเองก็พร้อมที่จะเดินหน้าสู้ต่อไป

“ดีครับ ดีทั้งนั้น การผ่าตัดก็เป็นการรักษาตามขั้นตอน เธอยังคงต้องได้รับยาเคมีอีกหลายครั้งอยู่ แต่เท่าที่ผมดูประวัติคร่าวๆเมื่อครู่ก็คิดว่าทุกอย่างน่าจะไปได้ด้วยดีนะครับ” ผมบอกออกไปและเชื่อตามนั้น

......................

“เธอเรียนอยู่ชั้นไหนแล้วล่ะ” ผมถามเจ้าหนูคนนั้น

“ม.๔ ค่ะ” ท่าทางคงจะพูดน้อยเหมือนพ่อและแม่

ผมยิ้มให้เธอและหันมาทางแม่

ผู้ซึ่งเพิ่งผ่านพ้นการผ่าตัดมาได้ ๒ วัน

“ยินดีด้วยนะเธอ หมอไปดูในบันทึกมาแล้ว มันผ่านไปได้ด้วยดีเชียว เนื้องอกถูกเอาออกหมด และที่สำคัญไม่ต้องเอาไส้มาเปิดให้อึที่หน้าท้องด้วยนะ” ผมพูดไปทั้งๆที่คิดว่าเธอเองคงจะรู้หมดแล้ว แต่เอาเหอะ เพราะผมเองก็ไม่รู้จะพูดเรื่องอะไรต่อไปเหมือนกัน ส่วนหนึ่งนั้นก็คงเป็นเพราะเจ้าหนูคนนั้นเอง

ไม่รู้เป็นไง ผมมักจะสะเทือนใจทุกครั้งที่เห็นแบบนี้ คำถามในใจเกิดขึ้นเสมอ ว่าหากไม่มีแม่แล้วเขาจะอยู่ต่อไปกันยังไง ลูกจะรู้บ้างไหมว่าคนเป็นแม่ นอกจากจะห่วงเรื่องโรคตัวเองมากมายแล้ว เขายังอาจจะเป็นห่วงเรื่องลูกมากกว่าตัวเองเสียอีก มันน่าจะยังไม่ใช่เวลาอันควรใช่ไหมที่พวกเขาจะต้องจากกัน 

แต่เมื่อคิดได้ดั่งนี้แล้วก็ต้องรีบปล่อยวาง เพราะนั่นมันคือสิ่งที่ถูกกำหนดมาแล้วนั่นเอง 

......................

วันนี้ผมขับรถกลับบ้านตามปกติ รถก็ติด ค่อยๆขยับไป ขยับไปเหมือนทุกวัน ฟังเพลงและฮัมเพลงไปตามปกติ ผมเหลือบมองเห็นเธอคนนั้น ผู้หญิงรูปร่างผอม สูงโปร่ง ผิวคล้ำ และผูกผ้าโพกหัวเอาไว้ หมอนรีเวชอย่างผมก็สามารถเดาได้ทันที ว่าเธอคงเป็นมะเร็งและกำลังรักษาด้วยการรับยาเคมีบำบัดอยู่ (ไม่น่าจะเหมือนคนเพิ่งสึกจากการบวชชีหรอกนะ ฮ่าย) แต่รอยโรค ร่องรอยของการรักษากลับมิได้ทำให้รอยยิ้มบนใบหน้านั้นหมองลง เธอยังคงมีรอยยิ้มน้อยๆอยู่บนใบหน้าเสมอเหมือนกับเมื่อครั้งที่ผมเจอเธอเมื่อคราวตั้งท้องกว่าสิบปีที่แล้ว นั่นคือเธอจริงๆ

ผมรู้สึกสบายใจขึ้น เปิดเสียงเพลงในรถให้ดังขึ้นอีกนิดเพื่อที่จะออกเสียงร้องเพลงได้ดังๆ

“มนต์รักลูกทุ่ง” 

ผมกำลังร้องเพลงนี้อยู่ เปิดมันให้เสียงดังๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องได้ยินเสียงร้องของตัวเองที่ลูกและเมียมักจะบอกว่า “ไม่ได้เรื่องเล้ย..พ่อ”

“หอมเอย หอมดอกกระถิน......” เอ๊ะ เวลาที่พี่แอ๊ว ยอดรัก สลักใจ ร้องเสียงเอื้อนสุดชีวิตนี้ต้องพิมพ์แสดงอารมณ์ยังไงหนา

“แปลงด้ายยยยจะบินไปคลึอึอึอึอึงงงง คละเฮ้าจ้าวบัวตูมบัวบาอะอานนนน”

ธนพันธ์ ชูบุญแว่วเสียงเพลงมนต์ร๊ากลูกทุ่งอยู่

๕ กค ๖๑

หมายเลขบันทึก: 648879เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2018 21:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กรกฎาคม 2018 21:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การดูแลผู้ป่วยมะเร็งบางครั้งเราอดที่จะ sympathy ไปกับผู้ป่วยไม่ได้ ถ้าเรามองเห็นว่าสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท