ศิษย์เก่านักกิจกรรม (3) : ณัฐพงษ์ ราชมี (อีกหนึ่งที่ผมเรียกเต็มปากว่า "นักเลงกิจกรรม")


ในสมัยเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อาจารย์ต่อฯ เรียกได้ว่าเป็น “นักเลงกิจกรรม” อีกคนหนึ่งเลยทีเดียว ประวัติศาสตร์ หรือวีรกรรมยืดยาวเป็นหางว่าว โดยเฉพาะในวิถีของจิตอาสา และมุมมองที่มีต่อระบบและกลไกการบริหารมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งหลายต่อหลายครั้ง เจ้าตัวก็ดุ่มเดินออกมาแสดงทัศนะอย่างตรงไปตรงมา

วันนี้ (วันที่ 18 พฤษภาคม 2561)  คือวันอันสำคัญในเส้นทางของการพัฒนานิสิต หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการในเชิงนโยบายว่าโครงการ “วันกิจกรรมพัฒนานิสิต (กิจกรรมนอกหลักสูตร) ครั้งที่ 2”  

ขณะที่องค์กรนิสิต หรือสภานิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เรียกอีกชื่อว่าโครงการ “วันวิชาการกิจการนิสิต (กิจกรรมนอกหลักสูตร)  ครั้งที่ 2” 

โดยหลักๆ แล้ว  กิจกรรมวันดังกล่าวมุ่งเน้นให้ผู้นำองค์กรนิสิต (สภานิสิต องค์การนิสิต สโมสรนิสิต ชมรมและกลุ่มนิสิต)  ได้นำเสนอผลการเรียนรู้ด้านกิจกรรมนิสิต ประจำปีการศึกษา 2560 ผ่านรูปแบบของแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในมหกรรม Show & Share  โดยใช้ระบบและกลไกของการจัดการความรู้เป็นหัวใจหลัก  เป็นต้นว่า 

  • การนำเสนอบนเวทีกลาง 
  • การนำเสนอผ่านนิทรรศการ 
  • การนำเสนอผ่านหนังสือเรียนนอกฤดู ภาคพิเศษในลักษณะของเรื่องเล่าและบทความ
  • การนำเสนอผ่านภาพถ่าย

 

การออกแบบกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ผมไม่ได้จำกัดกรอบอยู่แต่เฉพาะการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนิสิต/ผู้นำองค์กรนิสิตกับผู้บริหาร  เจ้าหน้าที่ หรือนิสิตกับนิสิตเท่านั้น  แต่ให้ความสำคัญต่อการสร้างพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันระหว่างนิสิตปัจจุบันกับศิษย์เก่า

ด้วยเหตุนี้  ในปีการศึกษา 2560  ผมจึงลงมือคัดกรองศิษย์เก่าในวิถี “นักกิจกรรม”  มาเป็นวิทยากรร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จำนวน  4 คน  ที่เหลือก็เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยและนักวิชาการจากสถาบันอุดมศึกษาอันเป็นเครือข่ายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ –

ใช่ครับ – ศิษย์เก่าแต่ละคนที่ผมเรียนเชิญมา  ผมให้ความสำคัญกับ “ตัวตนบนถนนสายกิจกรรม”  มากเป็นพิเศษ  เพราะจะได้เข้าใจ “หัวอก” ของนิสิตที่ทำกิจกรรม  เข้าใจ “วัฒนธรรม” หรือ “บริบทของนิสิตและมหาวิทยาลัย” 

แน่นอนครับ  แม้ดูจะแตกต่างกันตรงยุคสมัยอยู่บ้าง  กระนั้นผมก็เชื่อว่าวันนั้นของศิษย์เก่ากับวันนี้ของศิษย์ปัจจุบันไม่ใช่อุปสรรคที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันได้  เพราะศาสตร์อันแท้จริงของการทำกิจกรรมยังคงร่วมสมัยอยู่อย่างไม่รู้จบ  เพราะเป็นมิติของ “จิตอาสา” หรือ “อาสาสมัคร” 

และถึงแม้จะเชื่อเช่นนั้น  ผมก็ไม่ละลายที่จะเตรียมการล่วงหน้าในบางกระบวนการ   เป็นต้นว่าโดยก่อนเริ่มงาน  ผมได้พบปะนอกรอบกับบรรดาศิษย์เก่า  เพื่อปรับแต่งความเข้าใจต่อเป้าหมายของการจัดงาน  รวมถึงการขอความร่วมมือให้ศิษย์เก่าได้เน้นกระบวนการ “เสริมพลัง-หนุนเสริม”  เพื่อก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการทำกิจกรรม  มากกว่าการ “บดทับ” จนน้องๆ นิสิตที่เป็นศิษย์ปัจจุบันหวั่นหวาดต่อการ “เดินต่อ”

 

เช่นเดียวกับการเชื้อเชิญให้ศิษย์เก่าได้ส่งข้อเขียนมาจัดพิมพ์ในหนังสือเรียนนอกฤดู ภาคพิเศษ เล่มที่ 9  ซึ่งผมจัดทำขึ้นเป็นหนังสืออ่านเล่นในวิถีของกิจกรรมนอกหลักสูตร  หรือจะเรียกว่าเป็นหนังสือที่ระลึกในงานวันกิจกรรมพัฒนานิสิตก็ไม่ผิด

และครั้งนี้ก็มีศิษย์เก่า 3-4 ท่านให้ความอนุเคราะห์ส่งเรื่องราวมาจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มร่วมกัน  หนึ่งในนั้นก็เป็นงานเขียนของอาจารย์ณัฐพงษ์ ราชมี จากมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด  ซึ่งข้อเขียนที่ว่านั้นแตกต่างไปจากคนอื่นๆ ที่เขียนในลักษณะของ “เรื่องเล่า”  แต่อาจารย์ฯ  เขียนเป็น “ผญา”

 

50 ปี มมส กับ ชุมชน



พี่น้องเอย  นับตั้งแต่ก่อตั้ง

ทุกบาดย่างบ่เคยปะ  ละผ่านมากึ่งศตวรรษแล้ว

ฮักแพงปานตาแก้ว  เหลียวแนมบ่เคยหล่า

หาแต่แนวชุกยู้  ชูให้ดั่งประสงค์

*

ยังคงดำรงไว้  บ่ให้ไรลืมค่า

ปรัชญา “ผู้มีปัญญาพึ่งเป็นอยู่เพื่อมหาชน” นี้

ประเพณีบ่เคยถิ่ม  ฮีตคองบ่เคยห่าง

ย่างนำกันทุกบาดก้าว  เสมอต้นดั่งเดิม

**

มหาวิทยาลัยก่อรูป ชุมชนกะสานต่อ

ถักทองานเสร็จก้าว  ชีวีล้ำทุกประการ

หนึ่งหลักสูตรหนึ่งหมู่บ้าน  สานต่อบ่เคยปะ

ละปัญหาล่วงได้  เจริญขึ้นดีหลาย

***

งานวิจัยกะเด่นแท้  แลเบิ่งชุมชน

เฮ็ดให้คนเป็นคน  เสมอกันทุกด้าน

พันธกิจยึดชาวบ้าน  พัฒนาท้องถิ่น

ปั้นจากดินให้  เด่นได้เสมอดาว

****

คราววาระ  ห้าสิบปีผ่านพ้น

มมส กับชุมชน แสนสิเมื่อยกะตามซ่าง

ศรีวิไลย์ สี่จุดศูนย์ยุข้างหน้า

สิพากันเกี่ยวก้อย เดินหน้าต่อไป แท้แล้ว พี่น้องเอย

*****

 


โดยส่วนตัวแล้ว  ผมเรียกอาจารย์ณัฐพงษ์ ราชมี ว่า “ต่อ” หรือ “อาจารย์ต่อ” เสมอมา  -

ในสมัยเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อาจารย์ต่อฯ  เรียกได้ว่าเป็น “นักเลงกิจกรรม” อีกคนหนึ่งเลยทีเดียว  ประวัติศาสตร์  หรือวีรกรรมยืดยาวเป็นหางว่าว  โดยเฉพาะในวิถีของจิตอาสา  และมุมมองที่มีต่อระบบและกลไกการบริหารมหาวิทยาลัยฯ  ซึ่งหลายต่อหลายครั้ง  เจ้าตัวก็ดุ่มเดินออกมาแสดงทัศนะอย่างตรงไปตรงมา  

และหลายต่อหลายครั้ง  เดือดร้อนผมต้องเข้าไปชวนพูดชวนคุย  ปะปุปะทะทางความคิดกันเป็นยกๆ  แต่สัมผัสได้ว่า ต่อ หรือ อาจารย์ต่อจะมีตรรกะความเป็นวิชาการในตัวที่พูดและคุยกันแล้ว “รู้เรื่อง”  อยู่มากโข  เมื่อเทียบกับคนอื่น  หรืออย่างน้อยก็ชัดเจนไม่อำพรางว่า “เห็นด้วย” หรือ “เห็นต่าง” 

นี่คือส่วนหนึ่งที่ผมเรียกว่า “นักเลงกิจกรรม”

 


อาจารย์ต่อฯ  เป็นศิษย์เก่า “มมส”  ในรุ่นภุมริน 8 

ผมและอาจารย์ต่อฯ  เคยได้ร่วมงานกันหลายงาน  งานนอกระบบก็เป็นการเกี่ยวข้าวช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมโคลนถล่มที่อุตรดิตถ์  ซึ่งยุคนั้นเรียกกันว่า “หนีเรียนไปเกี่ยวข้าว” 

https://www.gotoknow.org/posts...


กรณี "หนีเรียนไปเกี่ยวข้าาว"   อาจารย์ต่อฯ  บอกกับผมว่าแกไม่ใช่แกนหลักของงานนี้  เป็นทีมงานที่ร่วมอุดมการณ์กับเพื่อนๆ และเครือข่ายภายนอกอีกหลายภาคส่วน  แต่ด้วยความที่แกรู้ว่าผมก็ชอบงานจิตอาสาและเป็นคนที่อยู่ในระบบแต่ไม่ใช่ประเภทจมในระบบเสียทั้งหมด  จึงนำเรื่องรามาเล่าสู่กันฟัง  จนนำพาผมเข้าสู่งานนั้นร่วมกับทีมงานที่ขับเคลื่อนมาก่อนหน้านี้   ซึ่งผมก็นำเรื่องที่ว่านั้นเข้าระบบ พร้อมๆ กับจัดหางบประมาณเข้าหนุนเสริมจำนวนหนึ่งเพื่อนำข้าวเปลือกจำนวน 200 กระสอบไปส่งให้กับชาวกิ่วเคียน –อุตรดิตถ์


เช่นเดียวกับการทายทักว่าแกจะสามารถเรียนสูงๆ แล้วเข้ามาอยู่ในระบบอุดมศึกษาได้  เพราะมีกลิ่นอายความเป็นวิชาการอยู่ในตัว  หรืออย่างน้อยก็มีความเข้าใจระบบราชการอยู่บ้าง  เพราะเคยผ่านงานผู้นำองค์กรนิสิตในยุคสมัยหนึ่ง  ซึ่งจะช่วยให้สามารถทำความเข้าใจและปรับตัวกับระบบได้ 

และสมมุติฐานที่ผมว่าก็เป็นจริง  เนื่องเพราะวันนี้  อาจารย์ต่อเป็นอาจารย์สังกัดคณะนิติรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด  ทำหน้าที่การสอนควบคู่ไปกับการพาลูกศิษย์ลูกหาตะลอนเลาะทำงานจิตอาสาเป็นระยะๆ  อย่างไม่ขาดห้วง 

 

ล่าสุดก็เคยได้เกาะเกี่ยวกันลงพื้นที่ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเขตจังหวัดร้อยเอ็ดร่วมกัน  ซึ่งผมและน้องๆ นิสิตก็ได้อาจารย์ต่อฯ นี่แหละเป็นโหนดประสานงาน  หนุนเสริมให้งานจิตอาสาที่ว่านั้นก่อเกิดมรรคผลเป็นรูปธรรม และอาจารย์ต่อฯ  พร้อมลูกศิษย์ก็ขันอาสาเป็นเรี่ยวแรงลุยงานร่วมกันอย่างไม่อิดออด  ทะลุกำแพงระหว่างสถาบันไปอย่างน่าชื่นชม


ครับ – ผมคงไม่สามารถบอกเล่าเรื่องราวเชิงประวัติของอาจารย์ต่อฯ  ได้ทั้งหมด หรือเชิงลึกไปมากกว่านี้  เพียงแต่ยืนยันว่าการเชื้อเชิญใครสักคนมาร่วมเวทีนั้น  ผมมีเหตุผลและนัยสำคัญเสมอ  มิใช่หลับหูหลับตาชักลากมาแบบไร้เรื่องราว ไร้ตัวตน 

แน่นอนครับ – ผมเชื่อว่าใครทุกคนไม่ต่างจากตู้วรรณกรรมเคลื่อนที่  ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเปิดใจเรียนรู้เรื่องราวของใครเหล่านั้นแค่ไหน  สำหรับผมแล้ว  ผมดีใจที่อาจารย์ต่อ  กลับมายังมหาวิทยาลัยมหาสารคามอีกครั้งในฐานะศิษย์เก่า หรือ “นักเลงกิจกรรม” 

 ขอบคุณครับ 



หมายเหตุ
ภาพ : พนัส ปรีวาสนา / งานประชาสัมพันธ์ฯ กองกิจการนิสิต / นิสิตจิตอาสา
เขียน : 22  มิถุนายน 2561

หมายเลขบันทึก: 648457เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2018 17:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2018 17:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

งานน้อแผ่นดินเยอะและมีคุณภาพมาก

มาทางอีสานอีกแล้ว

สวัสดีครับ อาจารย์ ดร.ขจิต

ระยะหลังกิจกรรมเชิงวิชาการ  กลายเป็นกลไกสำคัญที่เราเชิญศิษย์เก่ากลับมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับศิษย์ปัจจุบันรวมถึงการบอกเล่าประสบการณ์สู่กันฟัง เสมอเหมือนการชื่อมประวัติศาสตร์สองยุคเข้ามาหากัน...


 

เขียนผญาขนาดนี้  ไม่ธรรมดาเลยค่ะ ... น้อง ๆ มมส.รุ่นใหม่คงได้ซึมซับแนวคิดลิขิตจากใจ  ผสานอย่างไม่ทิ้งรากความเป็นนักกิจกรรม  ต่างบริบทเดิมบ้าง  แต่แก่นเพื่อสังคมไม่ได้หายไปไหน

น้อง ๆ นักเลงกิจกรรมรุ่นใหม่  เดินหน้าต่อไป  ^_,^

สวัสดีครับ พี่หมอธิ

ใช่ครับ บริบทต่างยุคสมัย แต่ฐานใจเชื่อมโยงกัได้จริงๆ โดยเฉพาะฐานใจจากคนที่ทำกิจกรรมนิสิตด้วยกัน ยิ่งเข้าใจและเห็นใจ หรือหนุนเสริมกันได้อย่างดีครับ เพราะเหมือนคนบ้านเดียวกัน หนุนเสริมกัน -

ขอบพระคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท