พลังแห่งวัยเยาว์ : 6. เด็กในสังคมแยกส่วน



บันทึกชุด พลังแห่งวัยเยาว์ นี้ ตีความจากหนังสือ The Importance of Being Little : What Young Children Really Need from Grownups ซึ่งเป็นหนังสือ New York Times Bestseller  เขียนโดย Erika Christakis ผู้เคยทำงานเป็นครูเด็กเล็ก  ได้รับใบรับรองคุณวุฒิครูก่อนอนุบาลถึง ป. ๒ ของรัฐแมสซาชูเซทส์  สหรัฐอเมริกา     และเคยเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยเยล ที่ The Yale Child Study Center    หนังสือเล่มนี้สื่อสารว่า เด็กเล็กมีพลังของการเรียนรู้มากกว่าที่เราคิด    โดยที่เด็กจะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา     หากผู้ใหญ่ทำความเข้าใจเด็ก และรู้วิธีส่งเสริมการเรียนรู้    เด็กจะเติบโตเต็มศักยภาพและเป็นคนดีมีประโยชน์ต่อสังคม มากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้มากมาย

ตอนที่ ๖ เด็กในสังคมแยกส่วน นี้ ตีความจากบทที่ 5 Just Kidding : The Fragmented Generation

ไม่ว่าเรื่องใดๆ  การหลงหมกมุ่นอยู่กับกิจกรรมแยกส่วน โดยไม่ได้คำนึงถึงภาพใหญ่หรือความเป็นทั้งหมด (the whole) ของกิจกรรมนั้น    จะนำไปสู่ผลงานที่แผ่วเบาไร้ความหมาย    การจัดการศึกษาเด็กเล็กก็เช่นเดียวกัน  ต้องไม่หลงดำเนินการเป็นส่วนๆ   จนลืม “ความเป็นเด็ก” ของศิษย์หรือของลูก   

ความเป็นเด็กมีทั้งพลัง หรือศักยภาพ  และความเปราะบาง อยู่ด้วยกัน  

 

เด็กสมัยนี้

เด็กสมัยนี้มีชีวิตที่ดีกว่าสมัยร้อยสองร้อยปีก่อนอย่างมากมาย   ทั้งเนื่องจากระบบดูแลสุขภาพอนามัยดีขึ้นมาก ทำให้อัตราตายของทารกและเด็กเล็กลดลงเป็นร้อยเท่า    นอกจากนั้น ความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการเด็กก็ดีขึ้นมากมายเช่นเดียวกัน    เวลานี้เราเข้าใจลักษณะจำเพาะของเด็ก    ศักยภาพในการเรียนรู้ของเด็ก   รวมทั้งประเด็นความเปราะบางของเด็ก   

เราเข้าใจความซับซ้อนของพัฒนาการเด็ก และเรื่องปัญหาเกี่ยวกับเด็ก    ที่เมื่อไม่นานมานี้เป็นความลับดำมืด หรือมีความเข้าใจผิด   เดี๋ยวนี้เรามีความรู้กระจ่างชัด    เช่นเรื่องการกระทำมิชอบต่อเด็ก  ปัญหาทางจิตเวช  ความผิดปกติทางกายและทางปัญญา  เป็นต้น  

ความเข้าใจลึกๆ เกี่ยวกับเด็กก้าวหน้าขึ้นอย่างมากมาย    เช่น เด็กสมองปราดเปรื่องก็มีปัญหาการเรียนรู้ (dyslexia) ได้   ผมเพิ่งได้รับคำบอกเล่าว่า มีนักศึกษาระดับปริญญาเอกของไทยในสหรัฐอเมริกา ที่ได้รับทุนอานันทมหิดลไปเรียนต่อ    ได้รับการวินิจฉัยจากอาจารย์ว่าเป็น dyslexia ประเภทหนึ่ง    คือมีความผิดปกติด้านมองข้ามรายละเอียดของเรื่องต่างๆ ไป    แต่มองภาพรวมเก่งมาก  

ในทางตรงกันข้าม เด็กที่มีปัญหาการอ่าน อาจเป็นเด็กที่สมองปราดเปรื่องที่สุดในชั้น   มีตัวอย่าง Montgomery County ในรัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา  มีโครงการส่งเสริมเด็กปัญญาเลิศที่มีปัญหาการเรียน

นอกจากนั้นยังมีการยอมรับเด็กพิการรูปแบบต่างๆ  หรือมีความเบี่ยงเบนหรือความจำเพาะในสารพัดด้าน รวมทั้งเด็กที่ก่ออาชญากรรม    กล่าวได้ว่า สมัยนี้สังคมเปิดรับลักษณะของเด็กที่มีลักษณะจำเพาะของตนเอง อย่างไม่เคยมีมาก่อน

 

เด็ก “พิเศษ”

ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่า “เด็กพิเศษ” และ “คนพิเศษ” (หมายถึงพิการ) เช่นหูหนวก  ตาบอด  เดินไม่ได้ ในสมัยนี้ได้รับการยอมรับและมีการจัดอำนวยความสะดวก ดีกว่าสมัยก่อนอย่างเทียบกันไม่ได้เลย    ทำให้คนเหล่านี้มีโอกาสเรียน และใช้ชีวิตได้คล้ายคนทั่วไป  

การที่สังคมเอาใจใส่สนองตอบความต้องการของ “เด็กพิเศษ” เหล่านี้    สะท้อนว่า เด็กเหล่านี้มีความเปราะบางอยู่ในตัวมากกว่าเด็กปกติ   

ที่สำคัญต่อเด็กเล็กคือ ต้องสร้างความตระหนักต่อเด็กว่า เรามี “เด็กพิเศษ” อยู่ร่วมโลกร่วมสังคมด้วย    เด็กทั่วไปต้องรู้จักให้ความยอมรับ  ให้ความช่วยเหลือ  ปกป้อง  และเมตตากรุณา    ที่สำคัญคือไม่ล้อเลียน หรือดูหมิ่นความแตกต่างของเขา    ข้อความในย่อหน้านี้ ผมเขียนเอง ไม่มีในหนังสือ The Importance of Being Little   

มองจากมุมของ “ความพิเศษ” ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่า เรามักตกหลุมมุมมองที่ผิด     คือหลงไปเน้นที่ “ความพิเศษ”   แทนที่จะเน้นเอาใจใส่ตัวเด็กที่มี “ความพิเศษ”    ข้อหลงผิดนี้มีรากฐานมาจากความคิดแบบแยกส่วน    มีผลทำให้มองไม่เห็นตัวเด็กเป็นรายคน

 

วัยเด็กที่โกลาหล

ความคิดแบบแยกส่วน  แยกวัยเด็ก แยกตัวเด็ก ออกเป็น “ลักษณะ” หลากหลายลักษณะ    ทำให้มองไม่เห็น หรือละเลยตัวเด็กในภาพรวม    และมีแนวโน้มที่จะมองไม่เห็นพลังและศักยภาพของเด็ก    เห็นแต่ด้านที่เปราะบาง    หมอเห็นแต่ความผิดปกติ เช่น ความผิดปกติในการพูดของเด็ก ไม่เห็นตัวเด็ก    นักจิตวิทยาเห็นแต่โรค ADHD  ไม่เห็นตัวเด็ก ที่เป็นคนทั้งคน   

เรามีแนวโน้มที่จะสนใจ “ความผิดปกติ” ในตัวเด็ก    แทนที่จะสนใจตัวเด็กเอง  

นอกจากนั้นพฤติกรรมของผู้ใหญ่ในสังคมยังมีผลต่อเด็กในภาพรวม     ทำให้เด็กมีมุมมองต่อตนเอง โดยเฉพาะด้าน “คุณค่าของตนเอง” (self-esteem) ลดลง    

ในด้านลบ เด็กกลายเป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์ของผู้ใหญ่  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ของธุรกิจ หรือของระบบทุนนิยม    โดยที่หลายส่วนมีผลทำร้ายเด็ก    เช่นตราว่าเด็กเป็นโรคนั้นโรคนี้มากเกินจริง เพื่อขายยาหรือผลิตภัณฑ์    ตัวอย่างคือโรค ออทิสซึ่ม  โรค ADHD  และความผิดปกติในการเรียน    มีงานวิจัยเรื่องโรคเหล่านี้มากมาย    และพบปรากฏการณ์การวินิจฉัยโรคมากเกินจริง    การที่บริษัทยาใช้กโลบายลดเกณฑ์วินิจฉัยโรคให้เด็กเป็น ADHD มากขึ้น เพื่อขายยา    เรื่องการปั่นวงวิชาชีพสุขภาพ ให้สมรู้ร่วมคิดกับกลุ่มผลประโยชน์เพื่อแสวงประโยชน์โดยมีชอบจากเด็กนี้มีความซับซ้อนและกว้างขวางมาก    มีรายละอียดมาก  รับรู้แล้วเศร้าใจ   ว่าความโลภทำให้มนุษย์ทำอาชญากรรมได้ถึงเพียงนี้

นอกจากนั้น ตัวระบบช่วยเหลือเด็กเอง  เมื่อมีการใช้อย่างแยกส่วน ไม่คำนึงถึงตัวเด็ก    คำนึงแต่เรื่องความผิดปกติ (ที่วินิจฉัยผิดๆ) ของเด็ก    ก่อผลทำร้ายตัวเด็กดังกรณีเด็กชาย Tom ที่ผู้เขียนเอามาเล่าในตอนต่อไป

ข้อท้าทายในการจัดการต่อพัฒนาการเด็กคือ    พัฒนาการเด็กมีความแตกต่าง (variation) มีการกระจายเป็นเส้นโค้งปกติ (normal curve)    การจะระบุว่าเด็กผิดปกติในด้านนั้นๆ หรือไม่  ขึ้นกับการกำหนดจุดตัด    แต่ไม่ว่าจะกำหนดอย่างไร ย่อมมีข้อผิดพลาด (error) เสมอ   โดยในทางสถิติจำแนกข้อผิดพลาดเป็น error type 2 (วินิจฉัยว่าปกติ โดยที่ความเป็นจริงผู้นั้นผิดปกติ หรือเป็นโรค)   กับ error type 1 (วินิจฉัยว่าผิดปกติ  โดยที่ในความเป็นจริงผู้นั้นปกติ)    การวินิจฉัยโดยใช้การวัดหรือตรวจที่ “ลักษณะ” เดียว ขึงย่อมมีโอกาสผิดพลาดเสมอ    และหากพยายามลด error แบบหนึ่ง  ก็จะมีผลเพิ่ม error อีกแบบหนึ่ง   

การวินิจฉัยโรคหรือความผิดปกติของพัฒนาการเด็กจึงต้องใช้หลายๆ “ลักษณะ” ประกอบกัน    และที่ดีที่สุดใช้ข้อมูลจากการสังเกตพฤติกรรมเด็กระยะยาว เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ    ไม่ใช่เชื่อผลการตรวจเพียงครึ่งชั่วโมง ในสภานการณ์ที่ไม่เป็นธรรมชาติ    ด้วยเหตุผลนี้ ผู้มองเห็นเด็กทั้งคน  เห็นจากพฤติกรรมที่เป็นธรรมชาติอย่างซับซ้อน คือพ่อแม่และครู    โดยทั้งพ่อแม่และครูต้องฝึกทักษะการสังเกตพฤติกรรมด้านพัฒนาการเด็ก  

มีหลักฐานจากการวิจัยมากมายว่า ส่วนหนึ่งของเด็กที่ถูกตราหรือวินิจฉัยว่าผิดปกติ ในด้านใดด้านหนึ่งของพัฒนาการเด็ก   เมื่อโตขึ้น ความผิดปกตินั้นหายไป    คือเป็นอาการชั่วคราวเท่านั้น  

การดูแลและส่งเสริมพัฒนาการเด็กเล็กจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน   โดยต้องระมัดระวังไม่เข้าไปจัดการมากเกินควร (overdo/overcorrect)

    

ส่วนที่หายไป

เมื่อผู้เขียนไปพบเด็กชาย Tom นั้น เธอเรียนชั้น ป. ๒   มีประวัติจากชั้นเด็กเล็กว่าเป็นเด็กก้าวร้าว  ทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กของมือไม่ดี  กล้ามเนื้อส่วนบนของร่างกายอ่อนแอ

ในชั้น ป. ๒ ทอม มีประวัติว่า เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา  นั่งนิ่งๆ ไม่ได้  บางครั้งหยาบคายต่อครู  เป็นเด็กที่ต้องเอามือไปถูกตัวเพื่อนอยู่ตลอดเวลา  จับดินสอไม่มั่น  นั่งตัวตรงไม่ได้  ไวต่อเสียงและการสัมผัสที่รบกวนการเรียน    กฎหมายในสหรัฐอเมริกากำหนดให้ต้องมีผู้เชี่ยวชาญทำ IEP (Individual Education Plan) แก่เด็กที่มีสภาพเช่นนี้      และทอมได้รับการรักษาด้วยอาชีวบำบัด (occupation therapy) สัปดาห์ละ ๒ ครั้ง

แต่ครูประจำชั้นของทอมที่ผู้เขียนไปพบบอกว่า ทอมเป็นเด็กที่มีความอยากรู้อยากเห็นสูงเป็นพิเศษ  เป็นเด็กพูดจาดี  เอาใจใส่งานการเรียน  และสร้างปัญหาแก่เพื่อนๆ น้อยมาก   และเมื่อเข้าไปสังเกตก็ไม่พบลักษณะที่ส่อว่าทอมไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกายส่วนบนแต่อย่างใด    และผลการเรียนของทอมสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเด็กทั่วไปในทุกด้าน ยกเว้นด้านการขีดเขียน    แต่ผู้เขียนก็สังเกตเห็นท่าทีรังเกียจของเหล่าครูในโรงเรียนต่อทอม    

อาชีวบำบัดอย่างหนึ่งที่ทอมได้รับคือการเอา “แผ่นป้องกันการเตะ” (kick plate) วางรองพนักเก้าอี้   เพื่อป้องกันไม่ให้ทอมเตะเพื่อนที่นั่งข้างหน้า    ซึ่งเมื่อผู้เขียนไปนั่งสังเกต ก็ไม่เห็นพฤติกรรมการเตะเพื่อนที่นั่งข้างหน้าแต่อย่างใด         

เพื่อย่อให้เรื่องสั้น ผู้เขียนไม่พบความผิดปกติด้านพฤติกรรมใดๆ ของทอม   นอกจากมีครูบางคนบอกว่าเวลาทำงาน ทอมพูดดังๆ กับตัวเองมากกว่าเด็กคนอื่นๆ    ซึ่งเรื่องนี้ในทางทฤษฎีถือเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ดี หรือเป็นร่องรอยความเป็นเด็กฉลาด    เรื่องนี้ผมเคยเขียนไว้ที่ ()     

สรุปได้ว่า ทอมเป็นเหยื่อของการดูแลเด็กเล็กแบบแยกส่วน    จับเอาข้อมูลจากเพียงบางช่วงของชีวิตมาเป็นตรา และในการดำเนินการต่อเด็ก   ไม่มีการทบทวนข้อมูลหลักฐาน    ไม่ฟังข้อมูลจากครูคนปัจจุบัน

และที่เลวร้ายสุดๆ คือ กิจกรรมที่ทำให้แก่เด็กแบบทอมนั้น   จ้างคนมาทำงานได้ก็เพราะมีเด็กแบบทอมเข้ามาใช้บริการ   หากมีเด็กมาใช้บริการน้อย คนเหล่านี้ก็ตกงาน      

 

ปัญหาในทุกแห่งหน

เป็นธรรมชาติของการฝึกอบรมครู แพทย์ และนักวิจัย ที่เน้นการศึกษาส่วนที่กระเด็นออกไปจากเกณฑ์ปกติ    เขาใช้คำภาษาอังกฤษว่า pathology bias    จารีตนี้มีผลให้วงการศึกษาเด็กเล็กสนใจเด็กที่ “มีปัญหา”  มากกว่าสนใจเด็กปกติ    

คำถามสำคัญเวลาพบเด็กผิดปกติคือ สภาพที่เห็นอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ (อย่างกรณีของทอม)    เพราะเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า พัฒนาการและพฤติกรรมของเด็กปกติมีการปรวนแปร (variation) สูงมาก   ในบางเรื่อง มีการขยายความปรวนแปร ไปเป็นการจัดกลุ่มเด็ก   เช่นเรื่องสไตล์การเรียนรู้ (learning style / cognitive orientation)    มีการจัดกลุ่มเด็กที่มีสไตล์การเรียนรู้แบบเน้นใช้สายตา  แบบเน้นใช้หู  แบบเน้นการเคลื่อนไหว  ฯลฯ    นำไปสู่การจัดการเรียนรู้แบบ learning style – based instruction    แต่น่าเสียดายที่ “กระบวนทัศน์เจ้าปัญหา”    ได้ชักนำให้ใช้ learning style – based instruction ในทางลบ    คือเน้นแก้ไขสิ่งที่เด็กทำไม่ได้ดี    แทนที่จะใช้ learning style – based instruction ในทางบวก คือส่งเสริมวิธีการเรียนรู้ตามที่เด็กคนนั้นทำได้ดี หรือมีความถนัด    

แทนที่จะเน้นปัญหา ควรเน้นทักษะในตัวเด็ก    การเรียนทักษะเน้นการฝึกฝน      

 

มุมมองที่ผิดต่อเด็ก

การมองเด็กแบบแยกส่วน นำไปสู่การมองเด็กผิดๆ    คือหลงมองเป็น “ผู้ใหญ่ที่ตัวยังเล็กอยู่”   เพราะเราจะเอาส่วนที่เด็กคล้ายผู้ใหญ่เป็นตัวตั้ง    ไม่มองลักษณะจำเพาะของความเป็นเด็ก    เราจึงเอากระบวนทัศน์ของผู้ใหญ่ไปตีความพฤติกรรมของเด็ก    ก่อความวุ่นวายใหญ่โต   อย่างกรณีเด็กผู้ชายอายุ ๕ ขวบ จูบเพื่อนผู้หญิง    ครูมองว่าเป็นพฤติกรรมคุกคามทางเพศ    มองการที่เด็กใช้ปืนเด็กเล่นเล็งไปยังเพื่อนเป็นพฤติกรรมเดียวกันกับที่ผู้ใหญ่ใช้ปืนขู่ผู้อื่น

ในสหรัฐอเมริกา มีข่าวกรณีเด็กเล็กอาละวาด  และครูและผู้บริหารศูนย์เด็กเล็กโทรศัพท์เรียกตำรวจมาใส่กุญแจมือเด็กไม่ให้อาละวาดทำลายสิ่งของ    นี่คือกรณีตัวอย่างแบบสุดโต่งของการหลงมองเด็กเป็นผู้ใหญ่ตัวเล็ก  

มุมมองที่ผิดต่อเด็ก นอกจากมองเป็นผู้ใหญ่ตัวเล็กแล้ว    ยังมีกระบวนทัศน์แบบหยุดนิ่ง    มองว่าเด็กที่มีความประพฤติบางอย่างไม่เหมาะสมก็จะต้องเป็นเช่นนั้นตลอดไป (ดังกรณีเด็กชายทอม)    ไม่มองว่าช่วงชีวิตความเป็นเด็กเป็นช่วงของการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง  

  ผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งบอกว่า ร้อยละ ๑๐ ของเด็กเล็กที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น ออทิสซึ่ม   หายได้เองเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่   

อีกผลงานวิจัยหนึ่งบอกว่า พฤติกรรมที่มีปัญหาของเด็กเล็กไม่สัมพันธ์กับผลการเรียนตอนเรียนจบชั้นประถมศึกษา    บ่งชี้ว่า ที่เรียกว่า “ปัญหา” นั้น เป็นของผู้ใหญ่  ไม่ใช่ของเด็ก  

มุมมองที่ผิดประการที่ ๓ คือการใช้ “กฎของค่าเฉลี่ย” (the law of average) เป็นตัวตั้ง    เด็กที่มีพฤติกรรมใดไม่อยู่ในค่าเฉลี่ยถือว่าผิดปกติ   ซึ่งที่จริงแนวคิดแบบนี้ก็ย้อนกลับไปที่แนวคิดแบบแยกส่วน    ไม่มองเด็กทั้งคน

 

ของขวัญจากความทันสมัย

ของขวัญสำคัญที่สุดของความทันสมัยคือ เด็กรอดชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย    อุบัติเหตุในเด็กก็ลดลงอย่างมากมาย    รวมทั้งการที่เด็กมีพื้นที่และเวลาสำหรับการเรียนรู้ได้มาก    นอกจากนั้น เรายังเข้าใจความแตกต่างของเด็ก ว่าเด็กปกติมีความแตกต่างกันได้มาก  

แต่สิ่งที่ไม่ควรทำคือ การปกป้องเด็กมากเกินไป   จนเด็กขาดโอกาสเป็นตัวของตัวเอง ในการฝึกฝนและเรียนรู้จากสถานการณ์จริง    และการสร้างนิสัยการดำรงชีวิตแบบนั่งๆ นอนๆ ขาดการเคลื่อนไหวและการออกกำลังกาย    นำไปสู่การเป็นรังโรคเรื้อรังเมื่อสูงอายุขึ้น

ของขวัญจากความทันสมัยที่ไม่ควรรับคือโรคเรื้อรังยามสูงอายุที่เกิดจากการปลูกฝังนิสัยการดำรงชีวิตผิดๆ ยามเป็นเด็ก 

ชีวิตเด็กไม่ได้แยกส่วนจากชีวิตยามเป็นผู้ใหญ่ และยามชรา     

วิจารณ์ พานิช        

๑๐ เม.ย. ๖๑


 

 

หมายเลขบันทึก: 648381เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2018 22:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2018 22:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท