ยาหมดอายุ


ยาหมดอายุ

นายอานนท์ ภาคมาลี (คนหาปลา ข้าราชการบำนาญ)

ยาหมดอายุ หลายคนซื้อยามาทานเองตามร้านขายยาต่างๆ หรืออาจจะเป็นวิตามิน อาหารเสริมที่สามารถซื้อได้ตามร้านทั่วไป แต่ก็มีหลายคนเช่นกันที่ซื้อโดยไม่ได้สังเกตวันเดือนปีที่ผลิต และวันหมดอายุ อย่างไรก็ตาม ลักษณะที่ผิดปกติของยาอาจบอกได้ว่า ยาที่อยู่ในมือของคุณหมดอายุแล้วหรือยัง ซึ่งยาแต่ละชนิดหากเก็บรักษาไม่ดีพอ อาจทำให้ยาเสื่อมคุณภาพได้เช่นกัน

 

วิธีสังเกตยาหมดอายุ

  • ยาที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ของบริษัทผู้ผลิต สามารถสังเกตได้จากวันหมดอายุที่ระบุไว้บนฉลากหรือบรรจุภัณฑ์ เช่น ที่แผงยา ซองยา เป็นต้น กรณีที่ระบุเฉพาะเดือนและปีที่หมดอายุ วันหมดอายุจะเป็นวันสุดท้ายของเดือน
  • ยาที่มีการแบ่งบรรจุออกจากบรรจุภัณฑ์เดิมของบริษัทผู้ผลิต ทั้งในรูปแบบของแข็งและของเหลว ให้มีอายุไม่เกิน 1 ปีหลังจากวันที่แบ่งบรรจุ แต่หากวันหมดอายุที่กำหนดโดยบริษัทผู้ผลิตสั้นกว่า ให้กำหนดอายุตามช่วงที่สั้นกว่า
  • ยาน้ำที่มีสารกันเสียทั้งชนิดรับประทานและใช้ภายนอก ควรเก็บไว้ไม่เกิน 6 เดือนหลังจากเปิดใช้
  • ยาผงแห้งผสมน้ำ หลังจากผสมน้ำแล้ว อายุยาให้ยึดตามข้อมูลที่บริษัทระบุไว้บนฉลาก
  • ยาหยอดตา ยาป้ายตา หากเป็นชนิดที่ใส่สารต้านเชื้อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค (Preservative) จะมีอายุไม่เกิน 1 เดือนหลังการเปิดใช้ แต่หากเป็นชนิดไม่เติมสารต้านเชื้อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคควรใช้ให้หมดภายใน 1 วัน
  • ยาที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ของบริษัทผู้ผลิต ที่มีการเปิดใช้แล้ว ควรสังเกตลักษณะของยาควบคู่ไปด้วย หากลักษณะทางกายภาพของยา(สี กลิ่น รส)เปลี่ยนแปลงไป ไม่ควรใช้ยานั้นต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากการจัดเก็บยาไม่เหมาะสม หรือไม่เป็นไปตามแนะนำบนฉลาก โดยเฉพาะยาที่ไวต่อสภาวะแวดล้อม เช่น แสง อุณหภูมิ ความชื้น ยาจะเสื่อมสภาพหรือมีคุณภาพลดลงต่ำกว่ามาตรฐานกำหนดก่อนวันหมดอายุที่ระบุได้

 

วิธีการสังเกตการเสื่อมสภาพของยา

  • ยาน้ำแขวนตะกอน เมื่อตั้งทิ้งไว้จะสังเกตเห็นว่ามีการแยกชั้น และเมื่อเขย่าขวดยาจะกลับมาเป็นเนื้อเดียวกัน แต่ถ้ายาแขวนตะกอนนั้นเสื่อมสภาพ เมื่อเขย่าขวดแรง ๆ ยาจะไม่กลับมาเป็นเนื้อเดียวกันหรือตะกอนยังเกาะติดแน่นกัน
  • ยาน้ำบางประเภท อย่าง ยาน้ำที่มีตะกอนเบา ๆ เช่น ยาแก้ไอน้ำดำ ยาน้ำแผนโบราณ ยาน้ำสตรี จะรู้ได้อย่างไรว่ายาเสื่อมสภาพหรือไม่ ต้องสังเกต สี กลิ่น และรสที่เปลี่ยนไป ส่วนยาน้ำที่เป็นน้ำใส เช่น ยาน้ำขับลมเด็ก หรือยาน้ำเชื่อม หากพบว่ามีตะกอนเกิดขึ้น หรือขุ่น เหมือนมีเยื่อเบาๆ ลอยอยู่ หรือกลิ่นสีรสเปลี่ยนไป แสดงว่ายาเสื่อมสภาพหรือเสียแล้วให้ทิ้งทันที
  • ยาเม็ด จะมีลักษณะเยิ้ม เม็ดแตก ชื้น บิ่น เปลี่ยนสี
  • ยาแคปซูล จะมีลักษณะแตกออกจากกัน บวม ชื้น หรือสีแคปซูลเปลี่ยนไป

 ฉะนั้น เพื่อความปลอดภัย ก่อนใช้ยาทุกครั้งควรสังเกตลักษณะยาว่ามีการเปลี่ยนไปหรือไม่ เพื่อให้การทานยาของคุณไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และยาทุกเม็ดที่ทานให้ประสิทธิภาพในการรักษาอย่างเต็มที่จริงๆ

 

คำสำคัญ (Tags): #ยา#ยาหมดอายุ
หมายเลขบันทึก: 648246เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2018 10:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2018 10:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท