หลักสูตรท้องถิ่น : นวัตกรรมแห่งทุนท้องถิ่น (นสพ.มติชน อังคารที่ ๑๒ มิ.ย.๒๕๖๑ หน้า ๒๑)


สกว.สนับสนุนงานวิจัยของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน


https://www.matichon.co.th/edu...

.......ระบบการศึกษาของไทยทุกวันนี้ประสบปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะเป็นการศึกษาที่แปลกแยกจากชุมชน ขาดการร่วมทุกข์ร่วมสุขกับชุมชน เด็กไทยยิ่งเรียนสูง ยิ่งห่างไกลจากชุมชน ไม่รู้จักรากเหง้าของตนเอง ดังที่คุณหมอประเวศ วะสี กล่าวไว้ว่า “การศึกษาในบ้านเราทุกวันนี้มีปัญหาอยู่สองส่วนใหญ่ๆ ส่วนที่หนึ่ง คือ การแยกชีวิตออกจากการศึกษา ทำให้คนลืมรากเหง้าของตัวเอง และทำให้สังคมไม่เกิดความสมดุล หากการศึกษาถูกตัดแยกออกจากชีวิต ก็เหมือนกับสังคมไทยถูกตัดรากเหง้าทางวัฒนธรรมออกไป”

........การที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.๒๕๕๑ มีประเด็นสำคัญคือ การระบุสิ่งที่ผู้เรียนพึงรู้และปฏิบัติได้เมื่อสำเร็จการศึกษา นับว่าเป็นเจตนาที่จะให้เสรีภาพแต่ละท้องถิ่นสามารถจัดการศึกษาของตนเอง นอกจากนี้ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕ กำหนด “ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตรในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชน สังคม และภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะอันพึงประสงค์ เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ” ถือเป็นการกระจายอำนาจและเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตร ประกอบกับในปัจจุบันสภาพสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกๆ ด้าน  ส่งผลกระทบโดยตรงต่อทรรศนะและการดำเนินชีวิตของคนไทยทั้งในเมืองและชนบท 

ปรากฏการณ์หลักสูตรท้องถิ่นแห่งเมืองบางขลัง   

........งานวิจัย “การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อการท่องเที่ยวมรดกวัฒนธรรมเมืองบางขลัง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย”  ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มีนักวิจัย ๒๙ คน (ผอ.ทุกแห่ง, ครูทุกโรงเรียน, ปราชญ์ชาวบ้าน, ทีมวิจัย สกว, ข้าราชการเทศบาล) โดยมีผู้เขียนเป็นหัวหน้าโครงการ มี ผศ.ดร.ชุลีรัตน์ จันทร์เชื้อ,  ผศ.ดร.ศุภลักษณ์ วิริยะสุมน, ผศ.วาลิกา โพธิ์หิรัญ, ดร.ขวัญชนก นัยจรัญ, กมลรัตน์ บุญอาจ จาก ม.ราชภัฏพิบูลสงคราม คอยให้คำปรึกษา  อีกทั้งยังมีผู้ทรงคุณวุฒิจาก สกว. ได้แก่ ผศ.ดร.บัญชร แก้วส่อง, ผศ.ดร.ชูพักตร์ สุทธิสา, ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, รศ.ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์, ดารารัตน์  โพธิ์รักษา ให้คำแนะนำ

........การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นในครั้งนี้  ได้นำกระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นมาใช้ในกระบวนการออกแบบการจัดกิจกรรม เพื่อสร้างการเรียนรู้ในเรื่องราวต่างๆ ที่มีอยู่ในชุมชน โดยหลักคิดสำคัญว่า “ชุมชน ครู และผู้เรียนควรจะเป็นผู้กำหนดประเด็นที่อยากเรียนรู้ รวมถึงวิธีการศึกษาหาความรู้ตามความสนใจเอง”  โดยมีครูเป็นพี่เลี้ยงในทุกกระบวนการ และมีภาคีเครือข่ายในชุมชนเป็นผู้สนับสนุนให้การพัฒนาหลักสูตรไปสู่เป้าหมาย เน้นเตรียม “ครู” ให้เป็นนักจัดกระบวนการเรียนรู้ เน้นรูปแบบการเรียนรู้นอกห้องเรียน พาเด็กไปสัมผัสเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกปฏิบัติให้ทำได้  คิดเป็น ทำเป็น และสามารถจัดการเรียนรู้ให้เกิดได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ เน้นให้เด็กเรียนรู้สิ่งที่มีคุณค่าและความหมายกับการดำรงชีวิตในท้องถิ่น เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนในทุกๆ ด้าน

พลังแห่งเครือข่ายสถาปนาหลักสูตรท้องถิ่น

........หลักสูตรท้องถิ่นที่ได้จากงานวิจัยนี้  เป็นการริเริ่มโดยการรวบรวมภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน พัฒนาหลักสูตรในรูปแบบของการวิจัยและพัฒนา สนับสนุนและควบคุมดูแลโดย สกว. ทำให้หลักสูตรที่ได้มีความน่าเชื่อถือและยอมรับตามไปด้วย  อีกทั้งยังเป็นหลักสูตรที่เกิดจากความต้องการของหลายๆ ฝ่าย ได้แก่ ตัวเด็กเอง ผู้ปกครอง ครูผู้สอน ผู้นำชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารโรงเรียน คณะสงฆ์ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของเขตพื้นที่  ที่ได้มาจากการสัมภาษณ์/สอบถาม/พูดคุย/ จัดเวทีประชุม ทำให้ได้หลักสูตรและหน่วยการเรียนรู้ที่หลายฝ่ายเห็นว่ามีความสำคัญ เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับท้องถิ่น ในขณะที่ตัวเด็กเองก็อยากที่จะเรียนรู้ 

........มีการจัดอบรมให้ความรู้กับทีมวิจัยโดยอาจารย์ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นจาก ม.ราชภัฏพิบูลสงคราม     ก่อนนำหลักสูตรท้องถิ่นไปทดลองสอน  ได้นำร่างหลักสูตรไปให้ผู้เชี่ยวชาญ  ๓ ท่าน ตรวจสอบความเหมาะสมของหลักสูตรอย่างละเอียด และได้นำกลับมาแก้ไข ปรับปรุง รวมถึงได้นำเสนอต่อผู้ทรงวุฒิของ สกว. แล้วนำมาปรับปรุงอีกครั้งเพื่อให้หลักสูตรมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

........โครงสร้างหลักสูตรมีความสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม มีโครงสร้าง ดังนี้  ชั้น ป. ๔  จำนวน ๒๐ ชั่วโมง มี ๓ หน่วยการเรียนรู้ ได้แก่ ประวัติศาสตร์, บายศรี ๕ ชั้น, แกงหยวก ชั้น ป. ๕ จำนวน 20 ชั่วโมง มี ๓ หน่วยการเรียนรู้ ได้แก่ ประวัติศาสตร์, บายศรี ๗ ชั้น, ขนมลูกปรง ชั้น ป. ๖ จำนวน ๒๐ ชั่วโมง มี ๓ หน่วยการเรียนรู้ ได้แก่ ประวัติศาสตร์, บายศรี ๙ ชั้น, ยาตำ

เสียงสะท้อนจากหลักสูตรท้องถิ่นเมืองบางขลัง

........เป็นหลักสูตรที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่เกิดจากความต้องการของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง คนใดคนหนึ่ง ทำให้ได้หลักสูตรที่เป็นที่ยอมรับ เมื่อนำไปสอนก็ได้เสียงยอมรับจากเด็กนักเรียนผ่านแววตาและกิริยาที่กระตือรือร้น  สนุกสนาน มีความสุข  ส่งผลให้การประเมินผลระหว่างเรียนและหลังเรียนออกมาดี  ส่วนผู้ปกครองก็มีความสุขที่ได้เห็นลูกหลานเอาใจใส่ต่อกิจกรรมการเรียนการสอน สามารถสัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เด็กมีความผูกพันกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ผูกพันกับวิถีชีวิตและมีสังคมกับเพื่อนๆ มากขึ้น

........ผลการศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อกิจกรรมการเรียนการสอน ทั้งในภาพรวม และรายชั้นปีพบว่า  นักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากนั้น อาจเป็นเพราะหลักสูตรมีความสอดคล้องกับความต้องการของนักเรียน   นอกจากนี้ วิทยากรท้องถิ่นยังเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ในเรื่องนั้น ๆ เป็นอย่างดี จึงสามารถบอกเล่าและถ่ายทอดความรู้ และภูมิปัญญาอันมีค่าของชุมชนให้กับนักเรียน ประกอบกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้มีความหลากหลายมีการใช้สื่อที่น่าสนใจ และมีการนำนักเรียนไปเรียนรู้ในแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน จึงทำให้นักเรียนสนใจ สนุกในการเรียนรู้และลงมือทำกิจกรรมร่วมกัน นอกจากนี้ นักเรียนยังสามารถนำความรู้ที่ได้จากหลักสูตรท้องถิ่นนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้นักเรียนมีความสุขในการเรียน

........หลักสูตรท้องถิ่นไม่ว่าจะท้องถิ่นใดก็ตาม มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เรื่องราวที่เกี่ยวกับท้องถิ่นของตน ได้รู้จักตนเอง รู้จักวิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรม และทรัพยากรที่มีค่าในชุมชนของตน ก่อเกิดความรัก ความสามัคคี ความผูกพัน เกิดความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน นำไปสู่ความรับผิดชอบที่จะมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์  สืบทอด และสานต่อเจตนาของชุมชนไปพร้อม ๆ กับการรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ทำให้ผู้เรียนดำเนินชีวิตในท้องถิ่นได้อย่างมีความสุข และเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่ดี มีคุณภาพของประเทศสืบไป.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท