พลังแห่งวัยเยาว์ : 5. เรียนรู้ไร้มาตรฐาน



บันทึกชุด พลังแห่งวัยเยาว์ นี้ ตีความจากหนังสือ The Importance of Being Little : What Young Children Really Need from Grownups ซึ่งเป็นหนังสือ New York Times Bestseller  เขียนโดย Erika Christakis ผู้เคยทำงานเป็นครูเด็กเล็ก  ได้รับใบรับรองคุณวุฒิครูก่อนอนุบาลถึง ป. ๒ ของรัฐแมสซาชูเซทส์  สหรัฐอเมริกา     และเคยเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยเยล ที่ The Yale Child Study Center    หนังสือเล่มนี้สื่อสารว่า เด็กเล็กมีพลังของการเรียนรู้มากกว่าที่เราคิด    โดยที่เด็กจะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา     หากผู้ใหญ่ทำความเข้าใจเด็ก และรู้วิธีส่งเสริมการเรียนรู้    เด็กจะเติบโตเต็มศักยภาพและเป็นคนดีมีประโยชน์ต่อสังคม มากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้มากมาย

ตอนที่ ๕ เรียนรู้ไร้มาตรฐาน ตีความจากบทที่ 4  The Search for Intelligent Life : Un-standard Learning 

หากให้ความเป็นอิสระ เด็กวัยสี่ขวบมีความสามารถในการเรียนรู้มากกว่าที่เราคิดอย่างมากมาย    โดยที่เป็นการเรียนรู้จากการทดลองปฏิบัติ

หากให้โอกาสอย่างเหมาะสม เด็กเล็กสามารถทำ และเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่มีความยากและซับซ้อนได้    อย่างที่ผู้ใหญ่มักไม่คิดว่าเด็กเล็กขนาดนั้นจะทำได้  

แต่อุปสรรคต่อโอกาสเช่นนั้นคือ “มาตรฐาน” (standards) ที่กำหนดตายตัวให้จัดกิจกรรมในชั้นเด็กเล็กอย่างนั้นอย่างนี้    และต้องวัดและบันทึกสิ่งนั้นสิ่งนี้ จนครูมีโอกาสมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กลดลงจนเกือบไม่เหลือเลย   

 

สมองเด็ก

ผู้เขียน (Erika Christakis) บอกว่า  ตนรู้สึกอยู่ตลอดว่าลูกๆ สามคนของตนฉลาดกว่าตนสมัยเป็นเด็ก    และคิดว่านี่คือธรรมชาติของมนุษย์ ที่คนรุ่นหลังสมองดีกว่าคนรุ่นก่อน   แต่นั่นอาจเกิดจากการตีความหรือเข้าใจเด็กผิดของคนสมัยก่อน ที่ประเมินขีดความสามารถของเด็กต่ำกว่าความเป็นจริง    ดังที่ปราชญ์ใหญ่ด้านพัฒนาการเด็กอย่าง ฌอง เปียเจต์ (Jean Piaget) กล่าวว่าเด็กมี “ความเห็นแก่ตัว  ไร้เหตุผล และไร้คุณธรรม” 

การที่นักวิทยาศาสตร์ด้านเด็กในอดีตประเมินขีดความสามารถของเด็กต่ำกว่าความเป็นจริงก็เพราะ ไม่สามารถวัดสิ่งที่เกิดในสมองเด็กได้    แต่ปัจจุบันศาสตร์ด้านจิตวิทยาพัฒนาการและประสาทวิทยาศาสตร์ก้าวหน้ามาก    มีการทดลองในเด็กมากมายที่ยืนยันว่า สมองเด็กมีความสามารถคิดซับซ้อน เข้าใจเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันมากกว่าที่เราเข้าใจกันอย่างไม่น่าเชื่อ (, )    

เด็กที่เข้าเรียนชั้นเด็กเล็กจึงมีพื้นฐานความรู้เดิม และความสนใจใคร่รู้เป็นสมบัติอันมีค่าติดตัวมา   

ผลของการวิจัยด้านพัฒนาการเด็กที่บอกว่าเด็กมีความสามารถในการเรียนรู้สูง นอกจากมีคุณด้านช่วยให้ผู้ใหญ่เข้าใจเด็กแล้ว    ยังก่อโทษด้วย โดยเฉพาะด้านการยกระดับมาตรฐานการเรียนของชั้นเด็กเล็กสู่การเรียนเชิงวิชาการ    หรือพ่อแม่ตั้งความคาดหวังสูงเกินจริงต่อลูก    ทำให้ชีวิตวัยเยาว์หมดสภาพความเป็นเด็ก    เพื่อสนองความต้องการของผู้ใหญ่

สภาพที่เด็กเล็กกำลังเผชิญ เป็นสภาพย้อนแย้ง    คือสังคมเข้าใจศักยภาพเด็กดีขึ้น    แต่ในขณะเดียวกันก็ตั้งความหวังและระบบการศึกษาเด็กเล็กที่ทำลายโอกาสต่อยอดศักยภาพนั้น โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์    โดยเร่งให้เด็กเล็กเรียนวิชา  และทดสอบผลลัพธ์การเรียนรู้ที่การรู้วิชา อ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น    โดยใช้แบบทดสอบที่ให้เด็กเขียนตอบในกระดาษ   

การคลั่งทดสอบนี้ ทำให้เด็กต้องเสียเวลาไปกับการทดสอบ    แทนที่จะใช้เวลาที่มีคุณค่ากว่าต่อพัฒนาการของเด็ก คือการเล่น และปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ และครู   ผู้เขียนบอกว่าตรงกับหนังสือปฏิรูปการศึกษา    ที่ระบุข้อหลงผิดด้านการจัดการศึกษา ว่าวงการศึกษามักหลงการวินิจฉัยแทนที่จะบำบัดโรค     “การวินิจฉัย” ในที่นี้คือการทดสอบ    และ “การบำบัดโรค” หมายถึงการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เด็ก  

มาตรฐานการศึกษา  และแบบทดสอบแต่ละทักษะ ดึงวงการศึกษาชั้นเด็กเล็กเข้าสู่กับดักของการจัดการแบบแยกส่วน    และการประยุกต์ใช้มาตรฐานแบบไม่เข้าใจสาระเชิงลึก    จึงดำเนินการแบบผิดๆ

 

เล่นกับตัวเลข

เด็กเล็กสามารถเรียนรู้ความหมายของตัวเลขในชีวิตจริงได้จากการเล่น    เป็นการเรียนแบบใช้งานการบวกลบเลขไปในตัว    เพราะในการเล่นนั้น เด็กมีเป้าหมายทำกิจกรรมที่ตนจินตนาการไว้ให้สำเร็จ    นอกจากต้องเข้าใจจำนวนสิ่งของที่ต้องการใช้ และหามาเพิ่มให้ครบ (บวกเลขภาคปฏิบัติ) แล้ว    เด็กยังต้องฝึกแยกแยะ และจัดกลุ่มประเภทสิ่งของ  เป็นต้น   คือการเรียนตามธรรมชาติของเด็กเป็นการเรียนแบบซับซ้อน    ไม่ใช่เรียนแบบแยกส่วน  

เมื่อผู้ใหญ่เขียนเลข 4 ลงบนกระดาษ (หรือกระดาน) แล้วบอกเด็กให้อ่านว่า สี่   และจำไว้   คราวหลังเมื่อผู้ใหญ่เขียนเลข 4  และถามเด็กว่าอะไร    หากเด็กตอบว่า สี่  ก็อย่าหลงตีความว่าเด็กเข้าใจความหมายของจำนวน “สี่”   การสอนแบบถ่ายทอดความรู้เช่นนี้เด็กจำได้ แต่ไม่เข้าใจความหมาย    นี่คือข้อจำกัดของการเรียนแบบแยกส่วน ตามมาตรฐาน    แต่หากเด็กเล่นสิ่งของที่มีหลายชิ้น เด็กจะเข้าใจความหมายของจำนวน โดยที่อาจยังบอกคำว่า “สี่” ไม่เป็น   ดังกรณีล้อรถ เด็กจะต้องหาล้อมาประกอบให้ครบ ๔ ล้อ   สำหรับเป็นรถของเล่นบรรทุกสิ่งของได้      

ข้อผิดพลาดหลักของการศึกษาชั้นเด็กเล็ก (และการศึกษาระดับอื่นๆ) คือ มุ่งบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้เป็นส่วนๆ    โดยไม่เข้าใจเป้าหมายภาพใหญ่ของการเรียนรู้  

การเรียนให้รู้จักชื่อสิ่งของ กับเรียนให้เข้าใจสิ่งของนั้นเป็นคนละการเรียนรู้    นี่คือสัจธรรมของการเรียนรู้ในทุกระดับ ไม่เฉพาะในระดับเด็กเล็ก   การเรียนจำชื่อ เป็นการเรียนขั้นต่ำสุด ตื้นที่สุด

การเรียนตามตำราหรือคู่มือมาตรฐานมักได้ผลเพียงระดับจำได้   เพราะเมื่อครูนำเอาคู่มือไปใช้สอนจริง ก็จะทำตามพิธีกรรมที่ระบุในคู่มือ    โดยไม่เข้าใจเป้าหมายภาพใหญ่ของกิจกรรมนั้นๆ       

ตรงกันข้าม ครูสามารถสอนด้วยการให้เด็กเล่นหรือทำกิจกรรม  แล้วได้ผลลัพธ์การเรียนรู้ตรงตามเป้าหมายของมาตรฐาน    แต่จะทำเช่นนั้นได้ ครูต้องมีความสามารถสูง    และกล้าจัดเวลาให้เด็กได้ออกไปเล่นนอกห้องเรียน

ผู้เขียนบอกว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่คู่มือ   แต่อยู่ที่การนำคู่มือไปใช้   ผู้เขียนยกตัวอย่างรายละเอียดในคู่มือมากมาย    ที่อ่านแล้วเห็นได้ชัดว่ามันชวนให้ครูมองกิจกรรมต่างๆ แบบแยกส่วน   รวมทั้งบริษัทจัดทำและขายคู่มือก็ต้องการทำธุรกิจจากการสอนแบบแยกส่วนนี้    

ประเทศที่เป็นตัวอย่างได้คือ ฟินแลนด์    ที่ไม่ใช้คู่มือที่ระบุรายละเอียดของกิจกรรม   มีเพียงเอกสารบอกเป้าหมายพัฒนาการเด็กที่ต้องการ    แล้วให้อิสระครูในการจัดการเรียนรู้แบบให้อิสระแก่เด็ก    และครูประเมินได้ว่า เด็กบรรลุเป้าหมายพัฒนาการที่กำหนดไว้    จะทำเช่นนี้ได้ ครูต้องมีความสามารถสูง 

 

เชื่อมชิ้นส่วน

แทนที่จะมีคู่มือครู ประเทศฟินแลนด์มีเพียง ข้อกำหนดหลักสูตรสำหรับการศึกษาและดูแลเด็กเล็ก    โดยมีเป้าหมาย ๓ ประการคือ

  • ส่งเสริมสุขภาวะส่วนตัวของเด็ก
  • ส่งเสริมนิสัยและพฤติกรรมที่เอื้อเฟื้อเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
  • ค่อยๆ พัฒนาความสามารถในการดูแลตนเอง (autonomy) 

ฟินแลนด์ให้เด็กเรียนวิชาเมื่ออายุ ๗ ขวบ  ในชั้น ป. ๑   ซึ่งถือว่าช้ามาก    แต่ผลการทดสอบสมรรถนะของเด็กอายุ ๑๕ ปี ของ PISA  ของฟินแลนด์อยู่ในระดับแนวหน้าของโลก    ดีกว่าของสหรัฐอเมริกา (และของไทย) อย่างมากมาย  

หัวใจของการสอนที่ดีคือ กระบวนการ ไม่ใช่สาระความรู้    เด็กเล็กในฟินแลนด์ไม่ได้รับการสอนและทดสอบ   ไม่มีหลักสูตรมาตรฐาน ไม่มีคู่มือ   มีเอกสารแนวทาง ECEC (Early Childhood Education and Care)    ว่า “กิจกรรมในชั้นเด็กเล็กเน้น การเล่น, การเคลื่อนไหว, การสำรวจ, และการแสดงออก ผ่านศิลปะที่หลากหลาย”    โดยที่เป็น “วิธีการคิดและกระทำที่แปลกและจำเพาะสำหรับเด็ก”   และช่วยส่งเสริม “สุขภาะและความมีตัวตนของเด็ก”   

ฟินแลนด์เรียกวิชา เช่นคณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์ สำหรับเด็กเล็ก ว่า orientations    และระบุว่า

“เด็กไม่เรียนหรือดูดซับเนื้อหาของวิชาต่างๆ    และไม่คาดหวังวัดสมรรถนะ    ตัววิชาเป็นตัวช่วยบอกครูด้วยกรอบงานว่าครูควรจัดประสบการณ์ สถานการณ์ และสภาพแวดล้อมแบบใดบ้าง เพื่อช่วยให้เด็กได้มีการเจริญเติบโตและพัฒนาการอย่างสมดุล”  

วิชา (orientation) สำหรับเด็กเล็กของฟินแลนด์    แต่ละวิชามีลักษณะจำเพาะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking),  ด้านความริเริ่มสร้างสรรค์ (creativity)  ด้านการฝึกจินตนาการ,  การทำให้มีความรู้สึกละเอียดอ่อน,  และด้านการดำเนินกิจกรรม    โดยครูคำนึงถึงประเด็นดังกล่าว นำมาสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะเหล่านั้น  

ความคาดหวังสมรรถนะเหล่านั้น พุ่งเป้าผู้รับผิดชอบการประเมินไปที่ครู ไม่ใช่ไปที่นักเรียน

นี่คือ การเรียนรู้มาตรฐานสูง ที่ไร้เอกสารกำหนดมาตรฐานในรายละเอียด    เพราะเน้นการเรียนรู้บูรณาการ หรือ “เชื่อมชิ้นส่วน”   

 

มาตรการและกิจกรรมที่ไร้ความหมาย

การศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม    และในหลายกรณีถูกแสวงหาผลประโยชน์โดยคนบางกลุ่มบางกิจการ    ในนามของเจตนาดี  อ้างเป้าหมายคุณภาพของการศึกษาของเด็กเล็ก    เด็กที่มักตกเป็นเหยื่อคือเด็กจากครอบครัวที่ฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจต่ำ    สารพัดมาตรการและวิธีการถูกนำมาใช้ โดยไร้ผลดีต่อพัฒนาการเด็ก   หรือในบางกรณี ก่อผลร้าย

ไม่มีมาตรการและวิธีการใดที่ให้ผลสูงกว่าครูดีมีความสามารถและรับผิดชอบ        

 

ประเมิน ไม่ใช่สอบ

สิ่งที่เด็กต้องการไม่ใช่การทดสอบ แต่คือการท้าทาย    และได้กล่าวแล้วในตอนที่ ๓ ว่า สิ่งที่ครูที่ดีทำคือ calibration และ scaffolding

การท้าทายต่อเด็กอาจหมายถึงการทำสิ่งที่ยาก หรือเสี่ยงอันตรายสำหรับเด็ก

Calibration เป็นการกำหนดทักษะที่คาดหวังให้เด็กฝึกออกเป็นขั้นตอน    สำหรับใช้สังเกตเพื่อประเมินพัฒนาการหรือความก้าวหน้าของเด็ก   แล้วให้ความช่วยเหลือ (scaffolding)  และการโค้ช ให้เด็กฝึกปฏิบัติกิจกรรม หรือเล่น  โดยไม่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ   หรือในภาษาการศึกษากล่าวว่า ช่วยให้เด็กค้นพบ learning zone ของตน   เพื่อยกระดับพัฒนาการขึ้นสู่ระดับที่สูงขึ้น

สิ่งที่ไม่ควรทำคือ ห้ามเด็กทำหรือเล่นสิ่งที่เสี่ยงอันตราย    ควรให้เด็กได้ฝึกทำโดยคำนึงถึงอันตราย    และมีมาตรการป้องกันการบาดเจ็บ            

พ่อแม่ก็ควรทำอย่างเดียวกัน  

พ่อแม่และครูควรคิดสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้เด็กได้ใช้พลังเรียนรู้ของตนได้เต็มที่    โดยพ่อแม่อาจรวมตัวกันเป็น CoP (Community of Practice) เพื่อพัฒนาทักษะการสังเกต  การตั้งคำถาม  และทักษะการแก้ปัญหา ในการใช้เวลาว่างกับลูก  ในการตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของลูก,  สังเกตว่าลูกชอบเล่นกับใคร,  ลูกชอบทำอะไรในยามว่าง    ทั้งหมดนั้นเป็นข้อมูลสำหรับปรึกษาหารือกันสร้างพื้นที่เรียนรู้ให้แก่ลูกที่บ้าน    และอาจจัดร่วมกันหลายบ้าน  

ผมขอเพิ่มเติมว่า ครูก็ควรรวมตัวกันเป็น CoP   แลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อสังเกต และข้อเรียนรู้    สำหรับจัดพื้นที่เรียนรู้ให้แก่เด็กที่โรงเรียน    และเพื่อใช้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพ่อแม่    อ่านรายละเอียดเรื่อง CoPได้จากหนังสือ บันเทิงชีวิตครูสู่ชุมชนการเรียนรู้ ซึ่งดาวน์โหลดได้ฟรี    CoP ของครูมักเรียกว่า PLC – Professional Learning Community

จะเห็นว่า การประเมินเป็นส่วนย่อยในภาพใหญ่ ของการสนับสนุนการเรียนรู้อย่างมีพลังของเด็ก    ช่วยให้เด็กได้ใช้พลังแห่งวัยเยาว์เรียนรู้และสร้างพัฒนาการให้แก่ตนเองอย่างเต็มศักยภาพ     

วิจารณ์ พานิช        

๙ เม.ย. ๖๑


 

 

หมายเลขบันทึก: 648165เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2018 21:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2018 21:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

This TV documentary may be interesting in learning what children can learn:

www.abc.net.au/local/stories/2...
Jan 29, 2015 - The Longitudinal Study of Australian Children (LSAC), has provided researches ... To really find out what it takes for children to be well adjusted and resilient it's important to follow their lives over time. ... Copies of this documentary can be found at ABC Shops, and on the 'Life At' Series website and some of the episodes are still available on ABC iview.

A day later I picked a Time magazine (May 28, 2018) and spotted (on page 18) a study published in the Journal Cognition,,, it says something like this:

Why Kids learn languages more easily than you do by Jamie Ducharme
...'nearly impossible' for language learners to reach native level fluency if they start learning a second language after age of 10 ...ability to learn starts dropping at 17 or 18 years old ...children's brains are more plastic than those of adults, they are better able to adapt and respond to new information. Kids may also be more willing to try new things (and to potentially look foolish in the process) than adults are.  ...

I think the Australian study [ABC documentary] points to EQ learning [personality development]. Both give insight into 'child development'. 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท