พลังแห่งวัยเยาว์ : 4. พลังสร้างสรรค์ของเด็ก



บันทึกชุด พลังแห่งวัยเยาว์ นี้ ตีความจากหนังสือ The Importance of Being Little : What Young Children Really Need from Grownups ซึ่งเป็นหนังสือ New York Times Bestseller  เขียนโดย Erika Christakis ผู้เคยทำงานเป็นครูเด็กเล็ก  ได้รับใบรับรองคุณวุฒิครูก่อนอนุบาลถึง ป. ๒ ของรัฐแมสซาชูเซทส์  สหรัฐอเมริกา     และเคยเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยเยล ที่ The Yale Child Study Center    หนังสือเล่มนี้สื่อสารว่า เด็กเล็กมีพลังของการเรียนรู้มากกว่าที่เราคิด    โดยที่เด็กจะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา     หากผู้ใหญ่ทำความเข้าใจเด็ก และรู้วิธีส่งเสริมการเรียนรู้    เด็กจะเติบโตเต็มศักยภาพและเป็นคนดีมีประโยชน์ต่อสังคม มากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้มากมาย  

ตอนที่ ๔ พลังสร้างสรรค์ของเด็ก  ตีความจากบทที่ 3 Natural Born Artists : The Creative Power of Childhood  

ผู้เขียน (Erika Christakis) เล่าการสนทนาของตนกับเด็กชายอายุสี่ขวบครึ่งชื่อ Trevor    ที่กล้ามเนื้อมัดเล็กพัฒนาช้า  แต่พัฒนาการด้านการพูดล้ำหน้ามาก    การสนทนาเริ่มจากภาพวาดที่ดูไม่รู้เรื่อง    แต่เมื่อบอกให้อธิบาย  Trevor ก็อธิบายยืดยาวเรื่องไดโนเสาร์    ปนกันระหว่างเรื่องจริงและเรื่องจากจินตนาการ    เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า  หากเปิดช่องให้เด็กแสดงออก    เด็กมีความรู้และพลังสร้างสรรค์มากกว่าที่เราคิด   

 

เรียนจากไก่งวง

วันขอบคุณพระเจ้าเป็นวันสำคัญของอเมริกา    ต้องมีการกินเลี้ยงไก่งวง     และเป็นธรรมเนียมว่าเด็กเล็กจะได้รับมอบหมายให้ทำชิ้นงานศิลปะไก่งวงกระดาษ จากการวาดมือตัวเองโดยทาบมือกับกระดาษแล้วใช้ปากกาลากเส้นตามขอบนิ้วทั้งห้า    แล้วตกแต่งให้เป็นไก่งวง โดยหัวแม่มือเป็นหัวไก่    เด็กในชั้นเด็กเล็กมีการทำไก่งวงกระดาษในวันขอบคุณพระเจ้ามาช้านาน จนกลายเป็นธรรมเนียม   

จนเกิดคำถามว่าเด็กได้อะไรจากการทำชิ้นงานนี้    เด็กที่ทำสวย ได้เรียนรู้มากกว่าเด็กที่ทำได้ไม่สวยใช่ไหม   

นำไปสู่หลักของการเรียนรู้ว่า  กระบวนการ (process) สำคัญกว่าผลงาน (product)    กล่าวใหม่ว่า อย่าหลงคิดว่าเด็กที่ทำชิ้นงานคุณภาพดี จะได้เรียนรู้ครบถ้วนตามเป้าหมาย   

การให้เด็กอายุ ๔ ขวบทำชิ้นงาน  แล้ววัดการเรียนรู้ที่คุณภาพของผลงาน  เป็นวิธีจัดการเรียนรู้ที่ผิดพลาด    เพราะเป็นการละเลยเป้าหมายที่สำคัญกว่าสำหรับการเรียนรู้ของเด็กเล็ก  คือการเรียนรู้ด้านสังคมหรือปฏิสัมพันธ์  

 

จากวัตถุ สู่การเรียนแบบเห็นได้ชัด (visible learning)

การเรียนแบบลงมือปฏิบัติ เป็นการเรียนรู้ที่ดี    แต่ก็ยังอาจมีความเข้าใจผิดว่าวัดผลการเรียนได้จากผลงานจากการปฏิบัติของนักเรียน    ในขณะที่ผลการเรียนรู้ที่แท้จริงอยู่ที่การอธิบายความหมายของการเรียนนั้น  

การให้เด็กสะท้อนคิดอธิบายความหมายของการเรียนของตน  อย่างที่ Trevor อธิบายให้ผู้เขียนฟังในการสนทนา    เป็นการทำให้ “มองเห็นการเรียนรู้” (learning visible)    ทั้งทำให้เด็กมองเห็นการเรียนรู้ของตน    และครูมองเห็นการเรียนรู้ของศิษย์    ช่วยให้ครูหาทางเติมเต็มส่วนที่ขาด   และส่งเสริมส่วนที่เด็กชอบและถนัด

ข้อผิดพลาดอย่างหนึ่งของผู้ใหญ่ในการเลี้ยงดูเด็กเล็กคือ ชมเด็กที่ทำสิ่งต่างๆ ได้เร็ว     ชมว่าหัวไว เรียนรู้เร็ว    ในขณะที่ตามหลักการเรียนรู้สมัยใหม่ ผู้ใหญ่ต้องชวนเด็กไตร่ตรองสะท้อนคิดคุณค่าของการทำสิ่งนั้น  และวิธีการที่ตนทำสิ่งนั้น     อย่างที่ผู้เขียนทำกับเด็กชาย Trevor    

ผมขอเพิ่มเติมว่า การชมเด็กหัวไว มีส่วนทำร้ายเด็กโดยเราไม่คาดคิด เพราะเป็นการสร้าง กระบวนทัศน์หยุดนิ่ง (fixed mindset) ให้แก่เด็ก ว่าการจะทำอะไรได้สำเร็จ ขึ้นกับความสามารถที่มีติดตัวเด็ก    ในขณะที่ กระบวนทัศน์พัฒนา (growth mindset) หรือความเชื่อในความมานะพยายามไม่ย่อท้อ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าทั้งต่อเด็ก และต่อทุกคนตลอดชีวิต ()      

ระบบการศึกษาชั้นเด็กเล็กอาจถูกทำลายโดยความเข้าใจผิดแบบ “วัตถุอยู่เหนือใจ” (matter over mind)    คือตัดสินผลการสอนของครูที่ผลงาน (ชิ้นงาน) ของเด็ก    ตามแบบ การศึกษาในระบบมาตรฐาน ซึ่งครูต้องทำรายงานผลงานของตน (portfolio) เพื่อเป็นหลักฐานให้แก่ศึกษานิเทศก์    มีผลให้ “ครูทิ้งศิษย์”  ใช้เวลาทำรายงาน แทนที่จะใช้เวลาคุยกับศิษย์    ให้เด็กได้ไตร่ตรองสะท้อนคิด ทำให้ “มองเห็น” การเรียนรู้ของตน    และช่วยให้ครู “มองเห็น” การเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน

พ่อแม่ก็ต้องไม่หลงผิดอยู่กับผลงานเป็นชิ้นๆ ของลูก    ต้องชวนลูกคุยเรื่องผลงานของลูก เพื่อทำความเข้าใจข้อเรียนรู้ที่อยู่ในสมองของลูก    ข้อเรียนรู้ไม่ได้อยู่ในวัตถุที่ลูกทำ   

สำนักพัฒนาการศึกษาเด็กเล็กที่เป็นผู้นำด้านการเรียนโดยให้เด็กแสดงออก  หรือ “การเรียนรู้แบบมองเห็น” (visible learning) คือสำนักโรงเรียน Regio Emilia ที่อิตาลี ()    และยังมีแนวทางใหม่ๆ ในการจัด “วงจรเรียนรู้ด้วยการคิดใคร่ครวญ” (reflective learning cycle)    และเวลานี้มีการพัฒนาเพิ่มเติม มีสำนัก High Scope (ใช้กระบวนการ plan – do - review) ()   สำนัก Tools of the Mind ให้เด็กเขียน “แผนการเล่น” (play plan) ก่อนเล่น ()       

กลับไปที่การเรียนรู้จากไก่งวง     แทนที่จะทำตามๆ กันมาหลายสิบปี ในการให้เด็กทำศิลปะไก่งวงกระดาษ    ครูสามารถออกแบบการเรียนรู้ที่น่าสนใจกว่า  ตรงตามหลักการเรียนรู้ของเด็กเล็กมากกว่า    เช่น พาเด็กไปเรียนรู้สภาพการเลี้ยงไก่งวงที่ฟาร์มไก่งวง    หรือเชิญเจ้าของฟาร์มไก่งวงมาเล่าเรื่องไก่งวงให้เด็กฟังและซักถาม    อาจพาไปดูการเลี้ยงไก่งวงของชาวบ้านในชนบท    ทำความรู้จักไข่ของไก่งวง เปรียบเทียบกับไข่ไก่ที่เด็กรู้จักดี    หรืออาจเปรียบเทียบไข่ของสัตว์ปีกชนิดต่างๆ    อาจศึกษาขนไก่งวง ส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ เปรียบเทียบกับขนนกอื่นๆ    เป็นต้น    เป็นการเรียนรู้ที่ดีกว่าใช้ตำรามาตรฐานอย่างเทียบกันไม่ติด    แต่ครูต้องทำการบ้านมาก 

 

เรียนจากการฝีมือ

โรงเรียนต้นแบบที่ใช้การฝีมือเป็นกุศโลบายสู่การเรียนรู้ครบด้านของเด็กเล็ก คือโรงเรียนกลุ่ม              วอลดอร์ฟ (Waldorf schools) ()   เรียกหลักสูตรแนว วอลดอร์ฟ ว่า deeply imaginative and story-driven curriculum    ใช้การสร้างชิ้นงานศิลปะเพื่อการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม  

แต่อุดมการณ์ และกุศโลบายดังกล่าว เมื่อมีการนำไปปฏิบัติกว้างขวาง มักเพี้ยน    ไปเน้นที่การอวดผลงาน  ประกวดผลงาน    คือเน้นเฉพาะที่ผลงาน    ทำให้ละเลยกระบวนการ    เป็นการตกหลุม “วัตถุเหนือสมอง” (material over mind)    

 

ลูกไม่ได้มีไว้อวด

ปัญหาใหญ่ของโรงเรียนเด็กเล็กคือพ่อแม่    ที่ต้องการให้ลูกสนองอัตตาความต้องการของตนเอง    แทนที่จะเน้นให้ลูกได้มีพัฒนาการอย่างถูกต้องเหมาะสม   

สิ่งที่พ่อแม่และครูพึงเอาใจใส่คือกระบวนการภายในสมองเด็ก ที่เรียนรู้จากสภาพแวดล้อมรอบตัว    โดยการสร้างความหมายของสิ่งและเหตุการณ์ที่พบเห็นขึ้นในสมอง    เป็นชีวิตในมิติที่ลึกภายในตัวเด็ก    และนี่คือหัวใจของการศึกษาแบบ child centered education    ซึ่งหมายถึงผู้ใหญ่มีหน้าที่สนองต่อโลกทัศน์ของเด็ก    เอาโลกทัศน์ของเด็กเป็นตัวตั้ง  ไม่ใช่เอาโลกทัศน์ของผู้ใหญ่เป็นตัวตั้ง   

เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ สิ่งสำคัญคือ การสร้างสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก ให้เอื้อต่อการพัฒนาทักษะที่ซับซ้อน ผ่านการแสดงออกของเด็ก    โดยผู้ใหญ่ทำหน้าที่รับฟัง เสวนาด้วย และคอยสร้าง “หลักสูตรสภาพแวดล้อม” เพื่อการเรียนรู้ของเด็ก ตามหลักการ สภาพแวดล้อมคือหลักสูตร (environment is curriculum)   

สิ่งที่พึงหลีกเลี่ยงคือ การเรียนแบบท่องจำ  การฝึกเฉพาะด้าน  หนังสือฝึกเด็ก  และแผ่นเอกสารฝึกเด็ก    เพราะเป็นสิ่งตายตัว    และเป็นการเรียนแบบชั้นเดียว    ไม่เป็นการเรียนในมิติที่ลึกและซับซ้อน   

 

แก้เบื่อ

เมื่อเด็กแสดงท่าทีเบื่อเรียน   วิธีแก้ที่ผิดคือครูเป็นผู้ทำกิจกรรมเพื่อกระตุ้นความสนใจของเด็ก    วิธีแก้ที่ถูกต้องคือ ให้เด็กทำกิจกรรม   

โดยครูต้องรู้ขั้นตอนการเรียนรู้ของเด็ก  

อย่าหลงเข้าใจผิด ว่าการเรียนแบบทำกิจกรรมแนว “เด็กเป็นศูนย์กลาง” หมายถึงให้เด็กลองผิดลองถูก หรือค้นคว้าเอาเองทั้งหมด

ตัวอย่าง บทเรียนปั้นรูปจากดิน   เขาแนะนำให้ใช้ดินเหนียวจริง ดีกว่าใช้ดินน้ำมัน    เริ่มจากการสอนให้เด็กทำความรู้จักดินเหนียว    ได้สัมผัส ได้พิจารณา  ได้รู้ว่าดินเหนียวแห้งได้   ได้รู้ว่าเมื่อเติมน้ำแล้วขยำให้เข้ากันดินเหนียวอ่อนตัวลง    ได้รู้ว่าใช้น้ำช่วยให้ดินเหนียวสองชิ้นติดกันได้   ทำความรู้จักเครื่องมือที่ใช้ในการปั้นดินเหนียว    ฝึกใช้เครื่องมือแต่ละชิ้น  ฯลฯ    

ในหนังสือระบุว่า ช่วงเวลาทำความรู้จักดินเหนียวอาจยาว ๑ - ๒ สัปดาห์    โดยที่เป้าหมายลึกๆ คือการเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ ซึ่งจะใช้ได้ต่อการเรียนรู้ทุกเรื่อง   และเรียนรู้ที่จะเคารพต่อสิ่งของที่ตนเข้าไปกระทำ หรือเข้าไปเรียนรู้    เด็กจะซึมซับขั้นตอนการเรียนรู้ ว่าได้แก่ การสังเกต  ตั้งคำถาม  สำรวจ  ไตร่ตรอง  และลองทำซ้ำวงจรเดิม

เด็กจะไม่เบื่อ หากได้แสดงออก    เด็กต้องการเครื่องมือและพื้นที่เพื่อการแสดงออก   เพื่อการเรียนรู้ของตนเอง         

 

ศิลปินตัวน้อย

สำนักพัฒนาเด็กเล็กสองสำนักเกิดขึ้นในประเทศอิตาลี    สำนักแรกให้กำเนิดโดย Maria Montessori  เน้นการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อพัฒนาการเด็ก   สำนักหลังก่อตั้งโดย Reggio Emilia เน้นการเรียนจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์  และการเรียนจากการแสดงออกทางศิลปะของเด็ก  เด็กใช้งานศิลปะในการค้นคว้าหาความรู้    โดยมองการแสดงออกทางศิลปะเป็นภาษาเพื่อการสื่อสาร   หนึ่งชิ้นงานศิลปะสื่อออกมาหลายภาษา หรือเป็นการสื่อสารที่ซับซ้อน   

งานศิลปะอาจเป็นงานแกะสลัก  งานระบายสี  งานทอ  งานงานวาด  งานก่อสร้าง  งานปั้น  งานตัดแปะ  เป็นช่องทางสื่อสารความฝัน  ความหวัง  และความกลัว ของเด็ก   เป็นการ “ส่งเสียง”  บอกเรื่องราวที่ไม่สามารถบอกได้ด้วยเสียง      

การเรียนหรือฝึกงานศิลปะ จึงเป็นรูปแบบหนึ่งของการศึกษา    สำหรับใช้สื่อสารความคิดและอารมณ์    ถือเป็นมิติสำคัญมิติหนึ่งของการเรียนรู้ เช่นเดียวกันกับการคิดอย่างมีวิจารณญาณ  

Vygotsky ปราชญ์ด้านพัฒนาการเด็ก กล่าวว่าการเล่นเป็นแหล่งของการเรียนรู้    ผู้เขียนเชื่อว่า ศิลปะก็เป็นแหล่งของการเรียนรู้เช่นเดียวกัน      

 

โอกาสสร้างหลักสูตรที่ได้ผล

ของดีๆ เมื่อมีผู้นำไปใช้  มักมีการอ้างชื่อเสียงของของดีนั้น   แต่เอาไปใช้แบบเพี้ยน    เรื่องนี้เป็นจริงกับการศึกษาเด็กเล็กแนว Reggio Emilia และแนวก้าวหน้าอื่นๆ เช่น วอลดอร์ฟ  และ มอนเตสซอรี่    ที่เพี้ยนคือ กลายเป็นหลักสูตรมาตรฐานแข็งทื่อ  

หลักการสำคัญของหลักสูตรชั้นเด็กเล็กที่ถูกต้องคือ เคารพตัวตนของเด็ก  และเข้าใจระดับพัฒนาการของเด็ก    หรือกล่าวใหม่ว่า รู้จักเด็ก และเคารพเด็ก   

ผู้เขียนอ้างข้อเขียนของ Robert Pianta คณบดีคณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย ()  ดังนี้ 

“การสอนที่ได้ผลในการศึกษาของเด็กเล็ก เหมือนกับประถมศึกษาตรงที่ต้องการส่วนผสมของ การสอน  ปฏิสัมพันธ์ การสื่อสารป้อนกลับ  การพูดคุย  และการกระตุ้น ... แต่ที่ไม่เหมือนเด็กโตคือ ครูชั้นเด็กเล็กต้องตั้งใจและใช้ยุทธศาสตร์ผสานการสอนเข้ากับกิจกรรม ที่เปิดให้เด็กได้เลือกค้นหาและเล่น .... ที่อยู่ในพื้นที่ธรรมชาติที่สบายและคาดหวังได้ถูกต้อง    ครูเด็กเล็กเป็นนักฉวยโอกาส ที่รู้จักพัฒนาการเด็ก   และใช้ความสนใจและปฏิสัมพันธ์ ในการส่งเสริมพัฒนาการของศิษย์    ด้วยกระบวนการที่บางส่วนเป็นบทเรียนที่มีโครงสร้างกำหนดไว้ชัดเจน   แต่ส่วนใหญ่เป็นบทเรียนตามสถานการณ์ ...” 

การโยนความรับผิดชอบไปไว้ที่ครูเท่านั้น จะหวังความสำเร็จได้ยาก    หุ้นส่วนที่สำคัญยิ่งคือพ่อแม่หรือผู้ปกครองเด็ก   โดยพ่อแม่จะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้ในชั้นเด็กเล็กตรงตามหลักการโดย  (๑) เลิกถามลูกว่าวันนี้เรียนอะไร  (๒) สื่อสารกับผู้บริหารโรงเรียนว่าตนอยากเห็นร่องรอยของการเรียนรู้แบบไหน ที่อาจไม่เห็นชัดในชั้นเรียน   วิธีการอาจเริ่มโดยเข้าไปดูเว็บไซต์ของโรงเรียน หาข้อความที่มีหลักฐานว่าส่งเสริมการเรียนของเด็กเล็ก เช่น (ก) ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพี่เลี้ยงกับเด็กที่ใกล้ชิดและแสดงความรัก รวมทั้งมีเสียงหัวเราะบ่อยๆ  มีการกอดกันบ่อยๆ  (ข) มีการสนทนากันตามธรรมชาติ ระหว่างครูกับนักเรียน  (ค) โอกาสเรียนรู้ผ่านกระบวนการทางสังคมกับเพื่อนๆ  ไม่ใช่มีแต่การสอนแบบถ่ายทอดความรู้  (ง) ทีมครูที่รู้จักเด็กแต่ละคน สามารถเชื่อมโยงหลักสูตรเข้ากับเป้าหมายพัฒนาการเด็ก  และความเป็นจริงในชีวิต   ไม่ใช่แค่จัดชั้นเรียนให้สนุกเท่านั้น  (จ) วัสดุในชั้นเรียนที่ส่งเสริมการเล่นและค้นคว้าแบบปลายเปิด ไม่ใช่แบบปลายปิด  (ช) ตารางเรียนที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ทำสิ่งที่เด็กทำได้เองด้วยตนเอง

พ่อแม่ควรตรวจสอบว่า สิ่งที่ระบุในเว็บไซต์ กับที่เกิดขึ้นจริงในห้องเรียนตรงกันไหม    หากพบว่าไม่ตรงกัน ควรตั้งคำถามจนได้คำตอบที่พอใจ ว่ามีความยืดหยุ่นอย่างไรในการดำเนินการ    ตัวช่วยสำหรับพ่อแม่อยู่ในเว็บไซต์ของ National Association for the Education of Young Children ()

การจัดการเรียนการสอนในชั้นเด็กเล็กที่เป็นแบบสนองพฤติกรรมในขณะนั้นของเด็ก เป็นเรื่องยากมากในท่ามกลางความคาดหวังผิดๆ ของพ่อแม่ และระบบการศึกษาแบบแข็งทื่อ   จะทำได้ก็ต่อเมื่อพ่อแม่ทำตัวเป็นแนวร่วมที่เข้มแข็งของโรงเรียนและครู         

 

การเลี้ยงดูที่บ้าน

มีผลการวิจัยบอกว่า ไม่ว่าโรงเรียนเด็กเล็กจะดีอย่างไร ผลต่อพัฒนาการเด็กก็ยังน้อยกว่าปัจจัยทางบ้าน อันได้แก่ พันธุกรรม  ครอบครัว  และสภาพแวดล้อมนอกโรงเรียน  

สภาพการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ  ได้มีส่วนย้ายความรับผิดชอบในการให้การศึกษาแก่เด็กเล็กจากบ้านไปยังโรงเรียนเด็กเล็ก   แต่การคาดหวังว่าโรงเรียนต้องรับผิดชอบต่อพัฒนาการเด็กทั้งหมดเป็นสิ่งที่ผิด  

การเรียนรู้ที่แท้จริงของเด็กเล็กไม่จำเป็นต้องเรียนที่โรงเรียน    แต่ที่ต้องมีโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็กก็เพราะความจำเป็นทางสังคมและเศรษฐกิจที่พ่อแม่ต้องไปทำงาน    การเรียนรู้ของเด็กเล็กในสมัยก่อน (รวมทั้งของตัวผมเอง) เกิดขึ้นที่บ้าน ในครอบครัว (ซึ่งเป็นครอบครัวขยาย มีพี่น้อง และผู้ใหญ่หลายรุ่นอยู่ด้วยกัน)  และในชุมชน (ซึ่งคนมีความเอื้ออาทรต่อกัน และเอ็นดูเด็ก เปิดโอกาสให้เด็กมาเล่นกับลูกที่บ้าน)    รวมทั้งเกิดขึ้นจากการทำหน้าที่เลี้ยงน้อง และช่วยงานบ้าน  

เด็กเล็กในสมัยก่อนเรียนรู้จากการเล่น  เล่นกับเพื่อน หรือพี่น้อง    มองในมุมหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กเล็กในปัจจุบัน  ที่ต้องไปเข้าโรงเรียน เป็นแนวทางที่ผิด   

เด็กเรียนได้ดีที่สุดจากชีวิตประจำวัน     

วิจารณ์ พานิช        

๘ เม.ย. ๖๑


 

 

หมายเลขบันทึก: 647958เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2018 22:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2018 22:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท