๗๓๒. สังคมไทย..วัตถุและจิตใจ..ควรก้าวไปพร้อมกัน


อันนี้..ก็ควรคิดติดตัวไว้..ให้เป็น”ความฝันอันสูงสุด” ดังในบทเพลงพระราชนิพนธ์ ของรัชกาลที่ ๙...ที่ท่านทรงสอนให้แน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด..พัฒนาตนเอง พัฒนางาน แม้ว่าจะต้องทำงานแบบปิดทองหลังพระก็ตาม

              สังคมไทย..ในสายคนทั่วไป มองว่าเริ่มจะไร้ทิศทาง อันเนื่องมาจากความเจริญรุ่งเรืองและพัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว..

            ทุกวงการ มีการแข่งขันกันสูง มุ่งผลประโยชน์ ต้องการเป็นที่หนึ่ง เป็นผู้ชนะ และต้องการเติบโตเร็ว สำเร็จก่อนคนอื่น

            แล้วผลที่สุด คนในสังคมและครอบครัว จึงอยู่กันแบบไม่สงบสุข

            ผมจะบอกครูอยู่เสมอว่า เราเป็นครู เป็นคนในครอบครัวเดียวกัน เปรียบเหมือนสังคมเล็กๆ และที่สำคัญที่สุด..คือเป็นองค์กรทางการศึกษา ที่จำเป็นต้องมีหลักคิด..กล่าวคือ

           ๑.  มีความเห็นในเรื่องสำคัญหรือนโยบายหลักตรงกัน

           คุยกัน..ให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน ว่าเราจะก้าวไปในทิศทางใด จับหลักให้ได้

           มีเป้าหมายร่วมกัน มุ่งสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน จับแก่นของเรื่องที่สำคัญสูงสุดให้ได้

           เมื่อทุกคนมีความคิดตรงกันแล้ว..ทุกอย่างก็จะง่าย ก้าวเดินไปได้อย่างราบรื่น

           ๒.  เมื่อลงมือทำงานตามนโยบาย ก็คิดอ่านตรงกัน สนับสนุนส่งเสริมกัน

           การทำงานร่วมกัน ต้องทำความคิดให้ตรงกันก่อน เห็นต่างได้แต่มิใช่ขัดขวางงานของส่วนรวม  ช่วยเหลือเอื้ออาทร เมื่อลงเรือลำเดียวกันแล้ว ก็ต้องช่วยกันพาย..

             เราจะพบเห็นกันอยู่เสมอว่า..มือไม่พายแต่เอาเท้าราน้ำ..แต่เชื่อว่าไม่เป็นกันทุกคน

            ๓.  แต่ละคนที่ได้รับมอบหมายงานไปทำ ต่างพูดจริง รักษาคำพูด มีสัจจะต่อหน้าที่

            มีความรับผิดชอบ คือรู้หน้าที่ ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น แต่ยอมเสียเปรียบเพื่อให้งานสำเร็จ เพื่อองค์กรจะได้เข้มแข็ง

            เราจะพบเห็นอยู่เสมอ คนที่ทำงานแบบไม่มีสัจธรรม หลอกลวงไปวันๆ สุดท้ายแล้ว..ชีวิตก็จบลงแบบไม่สวยงาม เพราะตั้งตนอยู่ในความประมาทเลินเล่อ คิดว่าจะปิดบังความชั่วไว้ได้ ..ที่สุดแล้ว..เวรกรรมมีอยู่จริง

           ๔.     ทำจริงไม่ทิ้งงาน ทำให้ดีมีประสิทธิภาพ

           คนดีมีคุณค่า..พิสูจน์กันที่ผลแห่งการทำงาน หลายคนก้าวหน้าเป็นลำดับ เพราะทำงานจริงๆ ทำอย่างมีแผนงาน คือเป็นระบบมีระเบียบ มีวิธีคิดที่รอบคอบ

                  คนที่จริงจังและให้ความสำคัญกับงานที่ต้องรับผิดชอบ มักจะประสบความสำเร็จเสมอ..ผิดกับคนที่ชอบ..เลี่ยงงาน..นอกจากงานจะไม่มีประสิทธิภาพแล้ว..ยังขาดความน่าเชื่อถือด้วย

            ๕..ทำอาชีพสุจริต เสียภาษีถูกต้อง

             มีลูกสอนลูก มีหลานสอนหลาน ว่าการเป็นพลเมืองดีของแผ่นดินเกิด ประเสริฐที่สุดแล้ว ด้วยการประกอบอาชีพสุจริต งานทุกงานมีเกียรติเสมอ อย่าเลือกงาน

            เมื่อมีงาน มีอาชีพ และมีรายได้ ก็จงเสียภาษีให้ครบถ้วนและถูกต้อง นี่คือหน้าที่พื้นฐานของการเป็นพลเมืองของชาติ

            ๖ พากเพียร เรียนรู้ สู้งาน

            หนักไม่เอา เบาไม่สู้ ..มีให้พบเห็นอยู่มากมาย ชอบมักง่าย ทำตัวสบายๆ ไม่ใช่วิถีทางที่ถูกต้อง ครอบครัว สังคม และองค์กรใด มีคนที่พร้อมจะทำงานหนักและสู้ชีวิต ก็ถือว่ามีโอกาสที่ดีจดจ่อรออยู่ ให้ไขว่คว้าหาความสำเร็จ

            ความขยันหมั่นเพียร เป็นสิ่งที่ดี ที่ควรมีติดตัว การศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ และสู้กับปัญหาและอุปสรรค..มีแต่คำว่าชนะ..มากกว่าความพ่ายแพ้

            ๗. ไม่ทำอะไรแบบประมาทขาดสติ

            ที่ดูเหมือนจะขาดสติ ก็คือ รีบเร่ง เอาเร็วเข้าว่า ใจร้อน พูดเร็ว ขับรถเร็ว อารมณ์หุนหันพลันแล่น ก็ถือว่า ประมาทขาดสติ

            ควรทำงานด้วยเหตุด้วยผล พินิจพิจารณา หมั่นไตร่ตรองตรวจสอบ ยึดกฎระเบียบ ไม่ยึดติดอัตตา ว่า ตัวกู ของกู..ไม่ยอมรับฟังใคร อันนี้ถือว่า..ไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริง

            ๘. มีความตั้งใจแน่วแน่แก้ไข พัฒนางานที่ทำนั้นให้เจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้น

            อันนี้..ก็ควรคิดติดตัวไว้..ให้เป็น”ความฝันอันสูงสุด” ดังในบทเพลงพระราชนิพนธ์ ของรัชกาลที่ ๙...ที่ท่านทรงสอนให้แน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด..พัฒนาตนเอง พัฒนางาน แม้ว่าจะต้องทำงานแบบปิดทองหลังพระก็ตาม

            ในขณะเดียวกัน..ผู้เขียนมองว่า..ทุกข้อที่กล่าวมา เป็นเพียงแนวทางปฏิบัติ ที่นำไปสู่ความสุขสงบ บนเส้นทางแห่งทางสายกลาง.....

            อย่ามองว่า..คร่ำครึ หรือ ไม่ทันสมัย..นี่คือวิถีทางง่ายๆ แห่งความเจริญก้าวหน้าของสิ่งทั้งปวง และเป็นการพัฒนาแบบ..วัตถุและจิตใจ ก้าวไปพร้อมๆกัน...

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๓  มิถุนายน  ๒๕๖๑


หมายเลขบันทึก: 647891เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2018 21:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2018 21:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท