A Min
คุณ จำรัส จันทนาวิวัฒน์

พลังของวัฒนธรรมพื้นบ้าน...เพื่อการเปลี่ยนแปลง อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน


เอ่ยถึงโรงเรียนวัดสวนส้ม ตำบลสำโรงใต้ เชื่อว่าหลายคนแม้นึกไม่ออกว่าหน้าตาโรงเรียนนี้จะเป็นเช่นไรก็ตาม แต่คงพอเดาได้ เพราะตำบลสำโรงใต้คือถิ่นท้องที่เต็มไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรมจักรกลหนักและเคมีฟอกย้อมของจังหวัดสมุทรปราการ ใช่แล้ว โรงเรียนวัดสวนส้มคือโรงเรียนเล็กๆ ในย่านปู่เจ้าสมิงพราย ในพื้นที่ตำบลสำโรงใต้ ซึ่งจัดเป็นพื้นที่ซึ่งมีโรงงานแออัดที่สุดของจังหวัด ดังนั้น จึงพออนุมานได้ว่าชุมชนในย่านนี้ จะต้องมีสมาชิกส่วนใหญ่ทำงานโรงงานอุตสาหกรรม และมีรายได้จำกัด

โรงเรียนวัดสวนส้ม จึงแตกต่างกว่าโรงเรียนอื่นๆ เพราะไม่อาจเลือกนักเรียนได้มากนัก ทั้งโรงเรียนก็ยังมีข้อจำกัดของโรงเรียนอยู่มาก ส่วนใหญ่นักเรียนก็คือสมาชิกของชุมชน ซึ่งพ่อและแม่ทำงานโรงงานวันละหลายชั่วโมง นักเรียนเก่งๆที่เป็นดาวเด่นด้านการศึกษาจึงไม่ต้องพูดถึง นอกจากนั้น ยังมีนักเรียนจำนวนมาก มาจากครอบครัวที่ต้องโยกย้ายระหว่างปีเพราะพ่อหรือแม่ต้องโยกย้ายถิ่นที่อยู่เพราะเปลี่ยนงาน หรือเปลี่ยนโรงงาน

นอกจากนี้ นักเรียนเหล่านี้จึงมีภาวะทุพโภชนาการเพราะครอบครัวส่วนใหญ่ในชุมชนล้วนเป็นครอบครัวค่อนข้างยากจน เด็กนักเรียนจึงตัวเล็ก ไม่ใคร่ได้กินอาหารเช้า หากจะได้กินก็เป็นอาหารสำเร็จ เป็นกับข้าวถุงพลาสติกที่ซื้อตามตลาดริมทางตามอย่างพ่อและแม่ ซึ่งอาหารเหล่านี้ส่วนใหญ่จึงเป็นอาหารประเภทปิ้ง ย่าง ทอด ทั้งใส่สี ปรุงรสจัดและไมใคร่ใส่ใจเรื่องคุณภาพเพราะต้องขายในราคาถูก อีกทั้งนักเรียนผู้มาเรียนก็มักจะง่วงเหงาหาวนอน เพลียง่าย บางคนอ้วนก็เหนือยง่าย บางคนอยากลดความอ้วนก็ทำผิดวิธี นอกจากนี้ ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีความรู้น้อย และมีเวลาให้ครอบครัวจำกัดเพราะต้องทำงานในโรงงาน  ครูเป็นเหมือนพ่อแม่ที่สอง และโรงเรียนจึงบ้านที่สองของลูกหลานหลายของครอบครัว อีกสถานะหนึ่ง

เป็นเรื่องเล่ากันเป็นเรื่องขำๆ ว่า ครอบครัวใดก็ตามที่ลูกหลานได้เข้าเรียนที่นี้ เหมือนถูกหวย เพราะลูกหลานจะมีโอกาสได้กิน ได้เรียน ได้นอนดีกว่าอยู่ที่บ้านเสียอีก แต่ทว่าสำหรับครูและโรงเรียนแล้ว เรื่องเล่าขำๆ นี้กลับเป็นเรื่องขมๆ เพราะโรงเรียนไม่เพียงมีภาระในการสอนให้รู้หนังสือ ให้อ่านเป็นเขียนเป็นเท่านั้น แต่ครูยังต้องรับงานดูแลเรื่องอาหารการกิน สุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันพ่วงเพิ่มอีกด้วย ไม่เช่นนั้นแล้ว เด็กๆ ที่มีปัญหาเรื่องกินอยู่ ก็จะมีปัญหาเรื่องสุขภาพและเกิดปัญหาการเรียนไม่สัมฤทธิ์ผล ตามมาเป็นลูกโซ่ เรื่องขมๆ นี้ไม่ขมแล้ว แต่กลายเป็นขมปี๋ เชียวแหละ

เมื่อผู้อำนวยการรับทำโครงการ "อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน ลดกินหวาน มัน เค็มและอาหารทอด" เป็นกิจกรรมนำร่องของโรงเรียน ด้วยหวังว่า โครงการนี้น่าจะส่งเสริมเรื่องการกินอย่างถูกต้อง และช่วยลดภาวะทุโภชนาการในเด็กนักเรียนได้บ้าง จึงมอบหน้าที่สำคัญนี้แก่ครูโภชนาการ  ครูโภชนาการผู้นี้เล่าให้ฟังว่า เมื่อทราบหน้าที่แล้ว ก็หนักใจ เพราะตนเองทำกิจกรรมแบบโครงการเช่นนี้ไม่เป็นแม้แต่น้อย เพราะความรู้เต็มสมองของตนเองก็คือ โภชนาการ ยิ่งเรื่องการทำสื่อผลิตสื่อตามข้อกำหนดของโครงการด้วยนั้น ยิ่งแล้วใหญ่ ไม่ประสาแม้แต่นิดหนึ่ง แล้วจะรอดได้หรือ ?

แต่ ผอ. ก็ให้กำลังใจและสนับสนุน ด้วยการตั้งคณะทำงานขึ้นชุดหนึ่งมาช่วยคิด ช่วยทำ จัดทำ "แผนงาน" ขึ้น จากนั้นงานแรกจึงเกิดขึ้น เริ่มต้นจากความคิดแรกของครูคือ คนจะเปลี่ยนแปลงได้ ต้อง "รู้" ก่อน จึงได้เชิญวิทยากร จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ตำบลสำโรงใต้ มาช่วยให้ความรู้แก่ คณะครูผู้จะทำโครงการนี้ และให้ความรู้แก่นักเรียนที่จะร่วมโครงการ พร้อมกับเชิญผู้ปกครองของนักเรียนกลุ่มนี้มาร่วมฟังด้วย  การเชิญผู้ปกครองมาร่วมด้วยนี้นับเป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย แต่เพราะครู รู้จากประสบการณ์ในการสอนว่า หากโรงเรียนจะทำงานอะไรสักอย่างหนึ่งแล้ว ถ้าผู้ปกครองไม่รู้ก็ยากที่จะสำเร็จ เพราะเด็กอยู่บ้านมากกว่าอยู่โรงเรียน ดังนั้น งานใดก็ตามถ้าบ้านหรือครอบครัวรับรู้และร่วมทำด้วย งานนั้นก็จะสำเร็จมากกว่าครึ่ง

เมื่อ "เติมความรู้" ให้แก่กลุ่มผู้เกี่ยวข้องแล้ว ก้าวที่สอง ก็คือทำสื่อเกี่ยวกับความรู้นี้ ครูได้ริเริ่มให้ เด็กและผู้ปกครองที่บ้าน ช่วยกันเอาความรู้ที่ได้จากการอบรมนี้ ไปทำ "หนังสือเขียนเอง" คือเขียนเองและทำเป็นเล่มง่าย ๆ ด้วยมือของตน โดยขอให้ช่วยกันระหว่างพ่อ แม่และนักเรียน จะเขียนแบบไหนก็ได้ จะมีรูปแปะติดหรือไม่ก็ตามใจชอบขอแต่ให้เขียนขึ้นมาด้วยตัวของตัวเอง ไม่คัดลอกของใครมาและช่วยกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว และให้ชื่อกิจกรรมนี้ว่า "อ่านปรับ-ขยับเปลี่ยน" โดยครูใช้กลยุทธ์ว่า จะเอาหนังสือนี้มาประกวดกัน หนังสือของใครดี น่าสนใจ อ่านสนุกและเป็นที่นิยม ก็จะมอบรางวัลเป็นเงินจำนวนหนึ่ง เพื่อนำไปซื้อเครื่องแบบนักเรียนมอบให้ครอบครัวเจ้าของหนังสือที่ได้รับคำชื่นชม แม้รางวัลจะไม่มากนักแต่ก็ทำให้ "หนังสือเขียนเอง" นี้เป็นกิจกรรมที่นักเรียนและครอบครัว ร่วมกันทำอย่างสนุกสนาน

หนังสือที่แต่งเอง เมื่อเสร็จแล้วก็นำมาอ่านกัน อ่านแล้วก็สนุกเพราะเป็นเรื่องสุขภาพใกล้ๆ ตัว เรื่องอาหารการกินที่พบเห็นประจำวัน อ่านไปพลางก็ออกกำลังไปด้วย มีหนังสือเล่มหนึ่งเขียนบนกระดาษติดบนยางยืด ปกติหนังสือจะพับเล่มไว้อย่างดี แต่หากต้องการจะอ่าน ก็จะต้องยืดหนังสือออก แต่เมื่อยืดหนังสือแล้วยางที่ถูกดึงก็จะรั้งให้หนังสือกลับมาปิดเหมือนเดิม ดังนั้น ถ้าจะอ่านหนังสือให้จบ ก็จะต้องดึง ค้างไว้อย่างนั้นชั่วครู่ ความสนุกก็เกิดขึ้นตรงนี้เอง เพราะบางคนดึงแล้วรั้งไว้ไม่อยู่ สู้แรงยางไม่ได้ หนังสือก็เด้งปิดกลับคืน จะอ่านก็ต้องดึงให้หนังสือกางออก ค้างไว้ ยิ่งค้างยิ่งเมื่อย แรงตกเมื่อไร ยางก็จะรั้งกลับ หนังสือก็ปิดอีก ยื้อกันไปเย้อกันมา เปิดๆ ปิดๆ อย่างนี้อยู่เป็นนาน กว่าจะอ่านจบเล่ม ทุกคนที่ได้อ่านก็จะหัวเราะกับท่าที งกๆเงินๆ จะอ้าแขน หุบแขน หัวร่อกันครื้นเครง กลายเป็นเกมประลองกันอีกชั้นว่าใครจะอ่านได้จบก่อนกัน ใครกางแขนอ่านหนังสือได้นานกว่ากัน เป็นต้น  (ต่อมาภายหลังจึงทราบว่า เทคนิคการดึงหนังสือให้กางออก และรั้งให้หนังสือปิดนี้ ช่วยให้เกิดการออกกำลังแขน ได้อย่างวิเศษ)  

มีหนังสือบางเล่ม เขียนติดต่อกันยาวๆ จนสามารถใช้วัดรอบพุงได้เลยก็มี ใครพุงใหญ่ (อ้วน) ก็มีเรื่องให้อ่านมาก

หลังจากทำหนังสือนี้ ผลปรากฏว่านักเรียนและครอบครัวกลุ่มเป้าหมายตอบรับดีเกินคาดคิด ผู้ปกครองและนักเรียนช่วยกันทำกิจกรรมนี้อย่างดี พ่อแม่ที่แม้จะมีงานในโรงงานหนัก ก็ยังปลีกเวลามาช่วยลูกเขียนนิทานทำมือนี้ จริงอยู่ในตอนแรกบางครอบครัวอาจมาเพราะรางวัลเล็กๆ นั้น แต่เมื่อมาร่วมแล้ว พ่อแม่หลายคนก็บอกได้ว่า มันดี ดีเพราะได้ช่วยลูกทำการบ้าน ดีเพราะได้ร่วมกิจกรรมกับโรงเรียน บางครอบครัวแม่สละเวลามาร่วมกิจกรรมที่บ้านแล้ว ยังมาร่วมกิจกรรมที่โรงเรียนติดต่อกันในระยะต่อมา อีกด้วย

จาก "อานปรับ-ขยับเปลี่ยน" ครูก็เริ่มกิจกรรมที่๒ ด้วยการให้นักเรียนและครอบครัว ช่วยกันออกแบบ "เมนูสุขภาพ" ครอบครัวละ ๑ เมนู พร้อมกับเขียนบอกวิธีปรุงอาหารตามเมนูนั้น ถ่ายรูปด้วยมือถือด้วยนะ เรียกว่าคิดสูตรอาหารสุขภาพฉบับครอบครัว ใครได้แล้วก็ส่งผ่าน line หรือ Face book ของโรงเรียน โดยมีรางวัลครั้งนี้ เป็นเมล็ดพันธ์ผัก ผู้ที่ได้รับรางวัลต้องให้คำมั่นว่าจะนำกลับไปปลุกที่บ้าน เมื่อมันโตพอจะกินได้ ก็จะต้องนำผักนี้กลับมาปรุงอาหารที่โรงเรียน อีกครั้ง  คราวนี้ครูและโรงเรียน ก็ได้เมนูอาหารสุขภาพประจำครอบครัวแบบง่าย ๆ เพิ่มเติมอีกหลายเมนู

ครูและคณะทำงานของโรงเรียนจึงได้คิดต่อ อยากทำให้ทุกๆ คนได้รู้จักเมนูของผู้อื่นๆ บ้าง และได้ลิ้มลองรสชาติ ได้เห็นการปรุงอาหารเมนูสุขภาพต่างเหล่านี้จริงๆ  อีกทั้ง เดิมโรงเรียนก็จัดกิจกรรมอาหารกลางวัน "Thai School Lunch" ให้นักเรียนเป็นประจำอยู่แล้ว หากผู้ปกครองได้รู้และสนใจนำเมนูเหล่านี้ไปทำกินที่บ้าน น่าจะเป็นประโยขน์  จึงได้คิดกิจกรรม "วันประกวดเมนูอาหาร" ขึ้น โดยผู้ปกครองและโรงเรียน มาร่วมกันออกร้านอาหาร มาปรุงอาหารและจัดแสดงอาหารเมนูสุขภาพของตน และประกวดกัน ผลปรากฏว่ามีผู้ปกครองมาร่วมกิจกรรมมากมาย ทำให้ครูและพ่อแม่ ได้เมนูอาหารที่จะปรุงให้ลูกกินได้มาก นักเรียนก็ได้ลิ้มรสอาหารสุขภาพที่อร่อย และน่ากิน ปรุงได้จริงๆ กลายเป็นเมนูแนะนำอีกหลายจาน

ความร่วมมือของครูและผู้ปกครอง โรงเรียนและครอบครัวเกิดขึ้นมาก เมื่อครูประเมินแล้วว่า หลายๆ คนเริ่มมีความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ การกินอาหารอย่างถูกต้องมากขึ้นแล้ว ครูจึงเริ่มหันมาสนใจกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องอ้วนและไม่ออกกำลัง โดยจัดกิจกรรม "ออกกำลังกาย" วันละ ๑ ชั่วโมงทุกวัน และยังสร้างเครื่องมือใหม่ๆ ทำให้การออกกำลังกาย ๑ ชั่วโมงนั้น สนุก ครูนำการละเล่นพื้นบ้านมาประดิษฐ์ใหม่ ใส่ความรู้เรื่องสุขภาพเข้าไป ทำให้นักเรียนออกกำลังแล้วยังได้ความรู้เรื่องสุขภาพไปพร้อมกันด้วย เช่น "ลูกช่วงสุขภาพ"

ลูกช่วง คือลูกกลมๆ ที่เกิดจากการขมวดผ้าเป็นก้อนๆ มีหางไว้ถือ วิธีเล่นแบบเดิม คือโยนลูกช่วงนี้ขึ้นฟ้า แล้วเปล่งเสียงเรียกชื่อผู้ร่วมเล่น คนใดคนหนึ่ง คนนั้น จะต้องรีบวิ่งมารับลูกช่วงนี้ให้ได้ ถ้ารับได้ ก็สามารถจะขว้างไปถูกใครก็ได้ในกลุ่มผู้เล่น โดนใครก็จะต้องถูกลงโทษ หรือไม่ก็โยนขึ้นฟ้าพร้อมกับเรียกชื่อคนต่อไป แต่ถ้ารับไม่ได้ก็ถูกปรับแพ้และต้องถูกลงโทษจากกลุ่ม ส่วนใหญ่ผู้เล่นก็จะเลือกเอ่ยเรียกผู้ที่อยู่ห่างจากวงที่สุด เป็นคนที่ต้องรับลูกช่วง  ครูได้นำมาปรับโดยแทนเขียนความรู้เรื่องสุขภาพและอาหารลงไปในลูกช่วงนี้ ใครรับได้ก็ต้องอ่านข้อความที่บันทึกนี้ให้จบ และมีข้อความที่ระบุถึงผู้รับลูกช่วงคนต่อไปที่จะต้องรับลูกช่วงจากฟ้าให้ได้ ลูกช่วงกลายเป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน เด็กๆ ชอบมาก ถึงชนาดยืมกลับไปเล่นต่อที่บ้าน และมีหลายครอบครัวที่ยืมไปให้ลูกหลานในชุมชนได้เล่นกัน กลายเป็นการละเล่น อ่านได้รู้ วิ่งได้กำลัง ที่นิยมในชุมชนอย่างรวดเร็วแบบไม่น่าเชื่อ

สะบ้าทอย  ก็เป็นการละเล่นของมอญ เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ครูนำมาใช้เป็นเกมสุขภาพของโรงเรียน สะบ้าเป็นไม้กลึง มีลักษณะเป็นวงแหวนเหมือนขนมโดนัท ขนาดโตสักสองสามกำปั้น ผู้เล่นจะแบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายรุกและฝ่ายรับ ฝ่ายรุกจะเอาลูกสะบ้า เรียกว่า "แก่น" มาวางบนหลังเท้าและเดินไปหาฝ่ายรับที่อยู่ตรงข้าม ฝ่ายรับจะตั้งลูกสะบ้าของตนตรงหน้า เมื่อฝ่ายรุกก้าวมาถึงเขตที่กำหนดไว้ ฝ่ายรุกจะต้องทอยสะบ้าด้วยหลังเท้าของตน (เหมือนการเตะเบาะๆ) ให้ลูกสะบ้าของฝ่ายรับที่ตั้งไว้และตนหมายตานั้น ล้มลง ถ้าล้มก็ชนะ และจะบังคับให้ฝ่ายรับทำอะไรก็ได้ ตามคำสั่ง  แต่ถ้าไม่โดน หรือโดนแต่ไม่ล้ม ฝ่ายรุกก็แพ้ ก็ต้องถูกปรับโทษ ทำตามคำสั่งของฝ่ายรับ   การเล่นสะบ้านี้โดยมากจะเล่นระหว่างหนุ่มสาวในเทศกาลสำคัญของชาวมอญ เช่น สงกรานต์ แต่ครูได้นำมาปรับใช้ โดยเอาประเด็นเรื่องสุขภาพมาใช้เป็น "แก่นสะบ้า" การปรับโทษระหว่างฝ่ายรุกและฝ่ายรับก็เป็นประเด็นคำถามเรื่องสุขภาพแทน เกมทอยสะบ้า ก็กลายเป็นกิจกรรมสนุกสนานที่เด็ก ๆนิยมเล่นอย่างมาก สะบ้าทอยกลายเป็นสะบ้าสุขภาพที่นิยมในหมู๋เด็กชาววัดสวนส้ม

นอกจากนี้ โรงเรียนยังจัดโปรแกรมชั่งน้ำหนักนักเรียนเดือนละครั้ง เป็นเวลา ๓ เดือน หากใครน้ำหนักลดมากที่สุดและยังมีสุขภาพแข็งแรง ก็จะมีรางวัลเป็นทุนการศึกษา แต่ทุนการศึกษานี้ไม่ได้จ่ายเป็นเงินสดแต่จ่ายในรูปของบัญชีเงินฝากที่โรงเรียนจะมอบให้แก่นักเรียน ไว้ใช้จ่ายเพื่อการศึกษาเท่านั้น จึงไม่ต้องห่วงว่าเงินจะหมดในกับกิจกรรมอบายมุข หรือการลดน้ำหนักผิดวิธี

กิจกรรมต่างๆ ที่คณะกรรมการของโรงเรียนวัดส่วนส้มช่วยกันคิดขึ้นนี้ ถูกบันทึกเป็น วิดีโอ  และนำมาเปิดชมกันเป็นระยะๆ ตั้งแต่ การอ่านหนังสือทำเอง เมนูอาหาร กิจกรรมประกวดอาหารสุขภาพ เกมพื้นบ้าน ฯลฯ  วิดีโอเหล่านี้ นักเรียนนำไปเปิดที่บ้าน พ่อแม่ขอยืมไปเปิดในชุมชน ทำให้เรื่องสุขภาพของโรงเรียนวัดส้วนส้ม กระจายออกไปในชุมชน อย่างกว้างขวางและกลายเป็นประเด็นร่วมที่ทำให้ครูและครอบครัว เปิดใจพูดคุยกันง่ายขึ้น ความร่วมมือที่โรงเรียนขอจากผู้ปกครองก็ได้รับความร่วมมือมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ แต่เดิมในชุมชนเคยได้รับความช่วยเหลือจากโรงงานโตโยต้า สำโรงใต้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต โรงจักรพระนครใต้ จุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย(วิทยาลัยสงฆ์) สนับสนุนกิจกรรมชองชุมชน เช่น สนับสนุนเครื่องออกกำลังกายให้ชุมชน การแข่งกีฬา งานประจำปีของชุมชนเป็นประจำอยู่แล้ว เมื่อเกิดกิจกรรมสุขภาพนึ้ขึ้น ความร่วมมือของชุมชนก็แน่นแฟ้นขึ้น  กิจกรรมสุขภาพแพร่ขยายออกไปถึงชุมชน ชุมชนไม่เพียงมีกิจกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้น แต่ยังได้ความรู้เรื่องสุขภาพตามไปด้วย

ผลโดยตรงอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ เด็กมีน้ำหนักลดลง ชอบออกกำลังกายด้วยการเล่นเกมและการละเล่นมากขึ้น และสนุกสนาน ผลโดยอ้อมคือความรักภายในครอบครัวชัดเจนขึ้น พ่อแม่และลูก มีโอกาสใช้เวลาร่วมกันในหนึ่งวัน มากขึ้น  โรงเรียน-ครอบครัวนักเรียน มีกิจกรรมร่วมกันมากกว่าแต่ก่อน

ด้วยกิจกรรม "อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน" เล็ก ๆ ของโรงเรียนวัดสวนส้มเพียง ๓ เดือน ในชุมชนละเวกโรงเรียนของตำบลสำโรงใต้ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ จากความคิดของครูโภชนาการและคณะครูชุดหนึ่งที่แม้ไม่ได้มีความถนัดเรื่องสื่อ เรื่องการสื่อสารมากนัก แต่ความคิดที่ไม่หยุดปรับ ไม่หยุดสร้างสิ่งใหม่ ทำให้การประยุกต์ใช้ของที่มีอยู่ เพิ่มเติมให้มีเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพกลายเป็นเครื่องมือขยับร่างกายเพื่อออกกำลังกายเกิดขึ้นได้จริงๆ โดยไม่มีต้นทุนเรื่องค่าใช้จ่ายมากนัก โดยเฉพาะวิธีการที่นำการละเล่นพื้นบ้าน ที่ทุกคนคุ้นเคยอยู่แต่เดิม มาปรับใช้ในรูปแบบและเนื้อหาใหม่ถือเป็นแนวคิดอันโดดเด่นที่น่าประทับใจ อาจเรียกได้ว่า นี่คือพลังของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้วจริง ๆ ด้วยแบบแผนชีวิตหรือวัฒนธรรมเดิมของชุมชน

หมายเลขบันทึก: 647753เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2018 11:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2018 11:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท