๗๘๘. จรรยาบรรณวิชาชีพ


จรรยาบรรณวิชาชีพ

ในโลกของการทำงาน...ทุก ๆ อาชีพ เรียกได้ว่า มีจรรยาบรรณในวิชาชีพเป็นของตนเองทั้งนั้น ไม่ว่าอาชีพใด ๆ...จรรยาบรรณจะฝังอยู่ในตัวตนของตัวเอง...เรียกได้ว่า จรรยาบรรณ คือ องค์ความรู้ + จิตสำนึก + การตระหนักรู้ของตนเองว่า "ควรหรือไม่ควรกระทำ"...สิ่งใดดี สิ่งใดไม่ดี...หากคนเรามีจิตที่สามารถแยกแยะได้ว่า สิ่งใดดี สิ่งใดควรกระทำ นั่นล่ะ จะสามารถบ่งบอกได้ถึง การมีจรรยาบรรณเป็นของตนเอง...แม้จะเป็นการยากที่บอกว่า...จรรยาบรรณวัดได้จากตรงไหน...จรรยาบรรณวัดได้จากสิ่งที่จะกระทำออกมา เพราะจรรยาบรรณจะเกี่ยวเนื่องกับ "จิตสำนึก" ของตนเอง เป็นการยาก แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป...สิ่งที่จะบ่งบอกได้ นั่นคือ วัดจากการกระทำ เช่น การคิดดี พูดดี และกระทำดี ตัวกระทำจะเป็นพฤติกรรมการแสดงออกของคน ๆ นั้น ว่า "คน ๆ นั้น มีจรรยาบรรณหรือไม่?

ทุก ๆ อาชีพ มีจรรยาบรรรณทั้งนั้น หลักในการกำหนดจรรยาบรรณในการทำงานและการประกอบอาชีพ คือ

๑. ยึดมั่นและยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง

๒. ซื่อสัตย์ สุจริตและรับผิดชอบ

๓. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้

๔. ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

๕. มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน

๖. ไม่มีอำนาจครอบงำ ทำผิดทำนองคลองธรรมต่อผู้อื่น

สำหรับจรรยาบรรณในการทำงานที่คนทำงานต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ นั่นคือ

๑. จรรยาบรรณต่อตนเอง วิชาชีพและการปฏิบัติงาน ได้แก่

     ๑.๑ พึงกระทำตนเป็นผู้มีศีลธรรมอันดีและประพฤติตนให้เหมาะสมกับการทำงานนั้น ๆ

     ๑.๒ พึงใช้วิชาชีพในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตว์ และไม่แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ในกรณีที่วิชาชีพใดมีจรรยาบรรณวิชาชีพกำหนดไว้ก็พึงปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพนั้นด้วย

     ๑.๓ พึงมีทัศนคติที่ดีและพัฒนาตนเองให้มีคุณธรรม จริยธรรม รวมทั้งเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถและทักษะในการทำงานเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่มีประสิทธิภาพและได้ประสิทธิผลยิ่งขึ้น

     ๑.๔ พึงปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบและแบบธรรมเนียมของส่วนราชการและหน่วยงานที่ตนเองได้สังกัดอยู่

๒. จรรยาบรรณต่อหน่วยงาน

    ๒.๑ พึงยึดมั่นในปณิฐานของหน่วยงานนั้น ๆ

    ๒.๒ พึงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต เสมอภาคและปราศจากอคติ

    ๒.๓ พึงปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ รอบคอบ รวดเร็ว ขยันหมั่นเพียร ถูกต้อง สมเหตุสมผล โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของทางราชการ หน่วยงานที่ตนสังกัดและประชาชนเป็นสำคัญ

    ๒.๔ พึงปฏิบัติตนเป็นผู้ตรงต่อเวลา และใช้เวลาราชการให้เป็นประโยชน์ต่อทางราชการหรือหน่วยงานที่ตนเองได้สังกัดอย่างเต็มที่

    ๒.๕ พึงดูแล รักษาทรัพย์สินของทางราชการหรือหน่วยงานที่ตนเองได้สังกัดอย่างประหยัด คุ้มค่า โดยระมัดระวังมิให้เสียหาย หรือสิ้นเปลืองเยี่ยงวิญญูชนจะพึงปฏิบัติต่อทรัพย์สินของตนเอง

๓. จรรยาบรรณต่อผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชาและผู้ร่วมงาน

     ๓.๑ พึงมีความรับผิดชอบในการปฏิบัติงาน การให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือกลุ่มงานของตนทั้งในด้านการให้ความคิดเห็น การช่วยทำงาน และการแก้ปัญหาร่วมกัน รวมทั้งการเสนอแนะในสิ่งที่เห็นว่าจะมีประโยชน์ต่อการพัฒนางานในความรับผิดชอบด้วย

     ๓.๒ ผู้ที่ปฏิบัติตนเป็นผู้บังคับบัญชาพึงประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีและพึงดูแลเอาใจใส่ผู้ใต้บังคับบัญชา ทั้งในด้านการปฏิบัติงาน ขวัญกำลังใจ สวัสดิการและยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้ใต้บังคับบัญชา ตลอดจนปกครองผู้ใต้บังคับบัญชา ด้วยหลักการและเหตุผลที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

     ๓.๓ พึงช่วยเหลือเกื้อกูลกันในทางที่ชอบ รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ ร่วมแรงร่วมใจในบรรดาผู้ร่วมงานในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อพัฒนากิจการต่าง ๆ ของหน่วยงานและมุ่งประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ

     ๓.๔ พึงปฏิบัติต่อผู้ร่วมงาน ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องด้วยความสุภาพ มีน้ำใจ มีมนุษยสัมพันธ์และมีความสัมพันธ์ที่ดี

     ๓.๕ พึงละเว้นจากการนำผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตน

     ๓.๖ พึงส่งเสริมให้เพื่อนผู้ร่วมงานปฏิบัติตามจรรยาบรรณของหน่วยงาน

นี่คือ หลักพื้นฐานของการมีจรรยาบรรณในโลกของคนที่ทำงาน ยังมีอาชีพอื่นอีกที่ต้องมีจรรยาบรรณของอาชีพนั้น ๆ เช่น อาชีพครู อาจารย์ ควรมีจรรยาบรรณต่อนักศึกษา ผู้รับบริการ ประชาชนและสังคม...จรรยาบรรณของอาจารย์ เป็นต้น...สำหรับคนทำงานควรเรียนรู้และฝึกตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพราะจรรยาบรรณ คือ การแสดงถึงภายในจิตใจของคน ๆ นั้น ที่ควรต้องตระหนักรู้ สำนึกรู้ว่าสิ่งใดควรทำและไม่ควรทำ เรียกว่า การมี "จรรยาบรรณวิชาชีพ"...ควรฝึกให้ได้ เพราะ นี่คือ กฎ เกณฑ์ กติกาของการมีคุณธรรมของคน บนโลกของการทำงาน...เพราะการสร้างค่าในตนเอง คือ การมีจรรยาบรณวิชาชีพของตนเองและพึงกระทำให้ติดเป็นนิสัย...

ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติเข้ามาอ่านบันทึกนี้

บุษยมาศ  แสงเงิน

๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๑

หมายเลขบันทึก: 647696เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2018 11:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2018 11:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท