ชีวิตที่พอเพียง : 3174. รำลึกถึงคนดี ระพี สาคริก



          ผมได้รับเชิญให้เขียนถึง ศ. ระพี สาคริก ลงในหนังสือที่ระลึกเนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพของท่าน    จึงนำมา ลปรร.

 

ศ. ระพี สาคริก ครูของผม

วิจารณ์ พานิช

นายกสภาสถาบันอาศรมศิลป์

.............

 

ผมมีโอกาสใกล้ชิดและสังเกตวัตรปฏิบัติของ ศ. ระพี สาคริก นำมาเป็นครูของผม เป็นเวลาประมาณ ๑๐ ปี    จากการที่ท่านเป็นนายกสภาสถาบันอาศรมศิลป์ และผมร่วมเป็นกรรมการสภา    โดยผมเคยเขียนบันทึกลง บล็อก Gotoknow ยกย่องท่านเป็น “คนดี” ในบันทึกชุด “คนดีวันละคน” ที่นี่ 

 

การประชุมสภาสถาบันอาศรมศิลป์มีลักษณะพิเศษ ไม่เหมือนสภาสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ    ตรงที่ประธานมอบให้เลขานุการทำหน้าที่ดำเนินการประชุม    ท่านประธานคอยตั้งข้อสังเกต หรือเล่าเรื่องที่สัมพันธ์กับเรื่องที่กำลังประชุมกันอยู่    และบางครั้งท่านเล่าเรื่องเก่าๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการประชุมเลย     บางครั้งเรื่องที่ท่านเล่ายืดยาวจนเลขานุการต้องหาทางดำเนินการประชุมต่อ     เหตุการณ์เหล่านี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า    จนผมนำมาหาทางตีความทำความเข้าใจกระบวนการในสมองของท่านในขณะนั้น   

ข้อมูลสำหรับนำมาประกอบการตีความพลังสมองของท่านมาจากหนังสือที่ท่านเขียนหลายเล่ม    เช่น เมื่อ ๔ ปีที่แล้วท่านเอาหนังสือ “ระพี สาคริก  ๘๐ ปีมหาวิทยาลัยแม่โจ้  ประสบการณ์ชีวิตในโรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แม่โจ้” มาให้ผม ๑ เล่ม    ผมอ่านแล้วเขียนบันทึกความประทับใจเผยแพร่ ที่นี่ และไปถามท่านว่าเขียนจากความจำหรือจากบันทึก    ท่านตอบว่าเขียนจากความจำทั้งหมด    แสดงว่าความจำของท่านดีเยี่ยม โดยที่ตอนเขียนหนังสือเล่มนั้นท่านมีอายุกว่า ๙๐ ปีแล้ว    ทำให้ผมตีความว่า ท่านมีความจำเป็นภาพ (photographic memory)   

ข้อมูลประกอบอีกประการหนึ่งคือท่านเขียนภาพเก่งมาก    นั่งๆ อยู่ท่านก็ใช้ปากกาหมึกแห้งเขียนภาพด้วยจุด    ดังแสดงในเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการที่นี่    และท่านยังเป็นนักดนตรี ชอบเล่นไวโอลิน    ทำให้ผมคิดว่าท่านเป็นคนช่างสังเกต  และสมองซีกขวาของท่านแข็งแรงมาก     

เนื่องจากผมสนใจเรื่องการเรียนรู้    ผมจึงสนใจกิจกรรมในสมองของคนที่มีความพิเศษอย่าง ศ. ระพี สาคริก    ผมมีบุญจริงๆ ที่ได้มีโอกาสสังเกตพฤติกรรมของท่านอย่างใกล้ชิดโดยท่านไม่รู้ตัว    

เวลานี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าการเรียนรู้ของมนุษย์ในทุกมิติ ไม่ได้เกิดจากการรับถ่ายทอดความรู้จากบุคคลหรือตำรา     แต่เกิดจากการปฏิบัติของผู้นั้นเอง ตามด้วยการไตร่ตรองใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection) โดยตนเอง และ/หรือฟังคนอื่นที่ร่วมทำกิจกรรมด้วยกันสะท้อนคิดออกมา    

จากการสังเกตพฤติกรรมของท่าน ศ. ระพี สาคริก ผมตีความว่าสมองของท่านทำกิจกรรมใคร่ครวญไตร่ตรองสะท้อนคิดอยู่ตลอดเวลา      เมื่อประกอบกับการเป็นคนช่างสังเกต และจดจำไว้เป็นภาพ    การไตร่ตรองสะท้อนคิดจึงมีข้อมูลเอามาทบทวนไตร่ตรองได้มาก  มีความละเอียดอ่อนมาก 


คนที่มีสมองเช่นนี้ ย่อมมีความสามารถเรียนรู้จากชีวิตจริงกิจกรรมจริงของตนเองได้มากและลึก    ผมเชื่อว่าคุณภาพสมองเช่นนี้ช่วยหล่อหลอมบุคคลให้เป็น “คนจริง”  เป็นตัวของตัวเอง    คนที่มั่นใจตนเองเช่นนี้มีโอกาสเห็นอกเห็นใจคนอื่น และเห็นแก่สังคมส่วนรวมได้มาก    ดังที่ท่าน ศ. ระพี สาคริก เห็นอกเห็นใจคนยากคนจน    และเป็นคนที่ยึดมั่นในความสัตย์จริง  

คุณสมบัติพิเศษของคนเช่น ศ. ระพี สาคริก คือสามารถมองทะลุไปเห็นคุณค่าและโอกาสที่คนอื่นมองไม่เห็น    ดังกรณีเรื่องการพัฒนากล้วยไม้    ที่ทำให้ท่านได้รับยกย่องให้เป็นบิดาของวงการกล้วยไม้ไทย    

    

หลายปีมาแล้ว  สมัยที่ผมทำหน้าที่นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล    และมีกรณีอาจารย์ท่านหนึ่งยื่นขอตำแหน่งศาสตราจารย์แต่ได้รับการตัดสินให้ไม่ผ่านเกณฑ์คุณภาพ    อาจารย์ท่านนั้นยื่นอุทธรณ์ต่อสภามหาวิทยาลัย    ในช่วงนั้นท่าน ศ. ระพี สาคริก ได้เอ่ยกับผมว่า อาจารย์ท่านนั้นได้เสนอให้ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญพิจารณา    และได้ติดต่อขอให้ท่านช่วยเหลือ   ท่านเอ่ยในทำนองว่าท่านไม่ชอบการวิ่งเต้นแบบนั้น    ผมเดาว่าท่านต้องการหยั่งใจผมว่าต้องการให้ช่วยเหลืออาจารย์ผู้นั้นหรือไม่    ผมได้ตอบท่านไปตามแบบของผมว่า ขอให้ท่านให้ความเห็นตามความเป็นจริง ไม่ต้องเห็นแก่ใครทั้งสิ้น    ซึ่งเข้าใจว่ายิ่งทำให้ท่านรักและเมตตาผมมากยิ่งขึ้น   

เป็นธรรมดาโลก ทุกชีวิตมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป    ชีวิตของท่าน ศ. ระพี สาคริกยืนยาวมากถึง ๙๕ ปี    ด้วยความสามารถและความดีงามของท่าน   ชีวิตที่ยืนยาวนี้จึงก่อคุณประโยชน์แก่สังคมอย่างประมาณค่ามิได้ ในหลากหลายด้าน   โดยผมเชื่อว่าด้านที่มีคุณค่าที่สุดคือ การสร้างแรงบันดาลใจแก่อนุชนรุ่นหลัง ในการยึดมั่นในคุณธธรม และการทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคม   

วิจารณ์ พานิช

๑๔ เมษายน ๒๕๖๑

......................................


 

 

 

หมายเลขบันทึก: 647215เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2018 20:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2018 20:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท