มาฝึกจิตให้ว่างตามวิถีทางแห่งไตรสิกขา


     วันนี้ข้าขอแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับออเจ้า เรื่อง"กระบวนการสร้างปัญญาตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามวิถีทางแห่งไตรสิกขา"  จากประสบการณ์และปัญญาอันน้อยนิดของข้า ผิดถูกเช่นไรขอออเจ้าโปรดอภัยให้ข้าด้วยเถิด...
      กระบวนการสร้างปัญญาตามหลักพุทธศาสนา มี 3 ขั้นตอนด้วยกัน คือ สุตมยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดจากการได้อ่าน  ได้ฟังจากคนอื่นบอกเล่ามา  จินตามยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดจากการพินิจพิจารณาจากปัญญาประเภทที่ 1 อย่างแยบคาย ว่าสมควรเชื่อถือได้หรือไม่ สามารถนำปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ได้หรือไม่  จนกระทั่งยอมรับศรัทธา   และ   ภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติจนรู้แจ้งเห็นจริงด้วยตนเอง   จะเห็นว่าที่เราเรียนรู้หลักคำสอนกันอยู่ในปัจจุบันไน่าจะได้เพียงขั้นที่ 1 (สุตตมยปัญญา)กันเป็นส่วนใหญ่
         หากเรายอมรับในหลักธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาพระพุทธเจ้าที่ทรงตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ว่าเป็นหลักวิทยาศาสตร์ อันเป็นหลักสากล  ที่เรียกว่าอริยสัจ 4  ตามที่เราสวดมนต์เป็นภาษาบาลีกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันว่า “สวากขาโต  ภะคะวะตาธัมโม(พระธรรม เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว) สันทิฏฐิโก(เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง)  อะกาลิโก(เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล)   เอหิปัสสิโก(เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่า  ท่านจงมาดูเถิด)  โอปะนะยิโก(เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว)  ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิติ(เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน)...”
        ดังนั้นการเรียนรู้เรื่องหลักธรรมคำสอนจึงต้องเชื่อมโยงให้เกิดปัญญาทั้ง สุตตมยปัญญา  จินตามยปัญญา และภาวนามยปัญญา ที่มีความต่อเนื่องเกี่ยวพันกันด้วย  โดยเฉพาะขั้น จินตามยปัญญา ควรได้ใช้ปัญญาคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ให้เกิดความเข้าใจอย่างชัดเจน
       เริ่มตั้งแต่การทำความเข้าใจเรื่องอริยสัจ 4   ก็ควรนำความรู้จากข้อมูลที่ได้อ่าน ได้ฟังจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ(สุตตมยปัญญา) มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ เชื่อมโยงให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง
        


        เราสามารถวิเคราะห์เชื่อมโยงกับกระบวนการเชิงระบบ หรือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  ให้เห็นภาพและตัวอย่างที่ชัดเจน  เริ่มจากความหมายของทุกข์ในแง่มุมต่างๆ  เทียบกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ก็คือปัญหาที่เกิดจากความไม่สมดุลระหว่างสภาพที่เป็นอยู่กับสภาพที่ต้องการ  รวมทั้งเชื่อมโยงสู่การอธิบายขันธ์ 5(รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ) ด้วย  เพื่อให้เกิดความเข้าใจเรื่องนี้อย่างชัดเจน เราอาจศึกษาหรือทบทวนกรณีตัวอย่างที่พบจริง ให้เห็นเป็นรูปธรรมก็ได้              
              สมุทัย หรือเหตุแห่งทุกข์ เทียบกับกระบวนการเชิงระบบก็คือการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา  ให้เห็นต้นตอที่แท้จริงของทุกข์ที่มาจาก กิเลส(ความโลภ  ความโกรธ  ความหลง) และตัณหา(ความทะยานอยาก)  ซึ่งท่านพุทธทาส บอกว่า ต้นตอจริงๆก็คือ ตัวอวิชชา (ขาดปัญญา) นั่นเอง   การทำให้เกิดความกระจ่างในเรื่องนี้  เราอาจตั้งคำถามในใจ เช่น “ทำไมเด็กเกิดมาจึงต้องร้องไห้”  โดยวิเคราะห์ในทางการแพทย์ แล้วโยงไปสู่ “อยากได้อากาศหายใจ”  พอโตขึ้นมาก็อยากได้โน่นอยากได้นี่ก่อกิเลสและตัณหาพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ เป็นต้น  ข้าขอเล่านิทานย่อๆสัก 2 เรื่องอาจทำให้เข้าใจเรื่องสมุทัยได้ชัดเจนมากขึ้น คือ
         เรื่องแรก   วิธีดักจับลิงของชาวสวนที่มาทำลายพืชผล  เขาจะนำกะลามะพร้าวมาเจาะรู  ขูดเนื้อมะพร้าวหรือใส่ถั่วที่ลิงชอบไว้ในกะลา   เจ้าลิงพอได้กลิ่นของที่ชอบก็วิ่งมา  ล้วงมือเข้าไปในลูกมะพร้าว  กำของโปรดของมันไว้แน่น  แต่พอมันจะดึงมือออกมา  มันกลับดึงออกมาไม่ได้  นั่งรอจนชาวสวนมาจับตัวไป   มนุษย์เรามากมายหัวเราะเยาะลิงว่า โง่จริงๆ  ถ้าอยากให้มือหลุดออกไป  ก็แค่ปล่อยถั่วที่มันกำไว้แน่นเท่านั้น            เรื่องที่ 2 มีชายหนุ่มคนหนึ่ง  ขับรถเบนซ์สปอร์ตคันใหม่  ฉวัดเฉวียนไปบนถนนด้วยความเร็วสูง  ทันใดนั้นรถของเขาเกิดเสียหลักพุ่งเข้าชนเกาะกลางถนนอย่างแรง ตัวของเขาหลุดกระเด็นออกมานอกรถ  ทันทีที่เขาฟื้นคืนสติ  แล้วหันไปพบซากรถที่พังยับเยิน  เขาก็ร้องครวญครางว่า  “ เบนซ์สปอร์ตของฉัน  เบนซ์สปอร์ตของฉัน”  คุณลุงขายผลไม้ข้างถนนก็รีบตะโกนบอกเขาว่า  “ คุณ…มัวร้องไห้เสียดายรถอยู่ได้ยังไง  ดูโน่นสิ  แขนของคุณกระเด็นไปอยู่ฟากโน้นแน่ะ ”   ทันทีที่เขาหันไปเห็นแขนของตนเองที่ฉีกขาดยับเยิน  เขาก็ร้องเสียงดังโหยหวนว่า  “ โธ่…นาฬิกาโรเล็กซ์ของฉัน  โรเล็กซ์ของฉัน…
           เมื่อรู้สาเหตุของปัญหาที่แน่ชัดแล้ว  ก็จะต้องแก้ที่สาเหตุของปัญหาเพื่อให้ทุกข์หมดไป ก็คือ นิโรธ(การดับทุกข์)  แต่จะทำอย่างไรให้ทุกข์ดับไป  ก็ต้องใช้มรรค 8(ทางดับทุกข์)  คราวนี้ถึงตอนสำคัญที่จะต้องเชื่อมโยงให้เห็นวิธีปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับประสบการณ์เดิม วิธีที่อยากแนะนำก็คือการวิเคราะห์มรรค 8 แต่ละข้อ จัดกลุ่มให้สอดคล้องกับหลักไตรสิกขา (ศีล  สมาธิ  ปัญญา) ให้เห็นจริงว่าตนเองได้ปฏิบัติตามอริยมรรคอย่างครบถ้วน ในวิถีชีวิตจริงทุกอิริยาบท
           

   
         จะเห็นได้ว่า หลักอริยมรรคทั้ง 8 ข้อ เชื่อมโยงกับหลักไตรสิกขาได้อย่างเหมาะเจาะ  และเป็นลำดับขั้นตอน ซึ่งต้องทำความเข้าใจในมรรคแต่ละข้อให้กระจ่างก่อน  ผมจะไม่อธิบายความหมายของมรรคแต่ละข้อในที่นี้  แต่จะเสนอแนะว่า  การนำไปสู่การเรียนรู้ตามอริยมรรคทั้ง 8 ข้อ  เราสามารถใช้หลักไตรสิกขา  อธิบายให้เห็นความสอดคล้องกันของวิธีปฏิบัติที่จะทำให้พ้นทุกข์  ว่า  ลำดับแรกต้องรักษาศีลให้บริสุทธิ์อย่างน้อย 5 ข้อให้ได้ซึ่งถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในการสร้างสมาธิและก่อให้เกิดปัญญา   ซึ่งทั้งศีล สมาธิ  และปัญญา จะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน             ผมคงไม่แนะนำวิธีสอนหรือฝึกสมาธิ และสร้างปัญญาในที่นี้ตรงๆ  เพราะแต่ละท่านคงมีอุบายในการเรียนรู้ด้วยตนเอง  โดยต้องลงมือฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง  ดังที่ว่า ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิติ(เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน) และต้องเข้าใจพื้นฐานของคำว่า กรรมฐาน และ วิปัสสนามาก่อน  รวมทั้งการต่อยอดสุตตมยปัญญา และ จินตามยปัญญา สู่การสร้างปัญญาชั้นสูงหรือภาวนามยปัญญา ซึ่งเป็นทางแห่งการดับทุกข์ หรือขจัดอวิชชา ที่เป็นตัวก่อให้เกิดกิเลสและตัณหาทั้งหลาย นั้น   ต้องได้รับการฝึกจิตอย่างต่อเนื่อง  นั่นคือการเจริญสติวิปัสสนา
           

  
          การสร้างปัญญาขั้นภาวนามยปัญญา ด้วยการการเจริญสติวิปัสสนานั้น หลักจริงๆก็คือ  การพิจารณาจากขันธ์ 5 หรือกาย(รูป) กับจิต(นาม) นั่นเอง            
            โดยส่วนตัวของข้า มีวิธีฝึกจิตให้ว่างตามวิถีทางแห่งไตรสิกขา  โดยพยายามรักษาศีล 5 ให้บริสุทธิ์อย่างต่อเนื่อง  แล้วฝึกสมาธิด้วยอานาปานสติ  โดยดูลมหายใจเข้าออกตรงสามเหลี่ยมใต้จมูก  ไม่มีการบริกรรมใดใด  ให้มีสติอยู่กับปัจจุบัน จนกระทั่งรู้สึกว่าจิตนิ่งไม่คิดฟุ้งซ่านหรือปรุงแต่งออกไปข้างนอก  แล้วปฏิบัติวิปัสสนา(ภาวนามยปัญญา)ต่อเนื่อง  โดยใช้จิตพิจารณาดูกาย(นาม-รูป)  ตั้งแต่ศีรษะลงมาทุกจุดอย่างช้าๆจนถึงปลายเท้า  แล้วจากปลายเท้ามาถึงศีรษะ เคลื่อนลงอยู่เช่นนี้  เมื่อเกิดเวทนา(ความรู้สึก)ตรงจุดใดจะดีหรือไม่ดีก็ตาม ก็จะพยายามไม่ปรุงแต่ง(สังขาร)ให้เกิดกิเลส  จะพยายามวางอุเบกขา ดูความเปลี่ยนแปลงไปเฉยๆ ปล่อยให้ธรรมะจัดการเอง ฝึกบ่อยๆจะรู้สึกตัวว่าอารมณ์ที่เคยโกรธ ความโลภอยากได้โน่นได้นี่ด้วยแรงกิเลสที่เราสะสมไว้นานเริ่มน้อยลง ใจที่อยากจะให้จะปล่อยวางเริ่มเข้ามาแทนที่ ความเบาโล่งโปร่งสบายเกิดขึ้น  มีสติรู้สึกตัวนานขึ้น ตรงนี้กระมังที่เรียกว่า ปัญญา(ขจัดอวิชชา หรือความไม่รู้) ที่เห็นด้วยตนเองเข้าใจในไตรลักษณ์ คือความเป็นอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา มากขึ้น           
         ยอมรับว่าการฝึกเช่นนี้บ่อยๆ  ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในจิต  รู้จักตัวเองมากขึ้น  รู้ว่าเรายังสะสมกิเลสไว้อย่างหนาเตอะ  การจะขจัดกิเลสซึ่งเป็นสมุทัย(ต้นเหตุ)ของความทุกข์ให้หมดไปไม่ใช่เรื่องง่าย  เพราะเราสะสมการปรุงแต่งกิเลสเก็บไว้ในสัญญา(ความจำ)มายาวนาน                                    ข้าก็คงต้องฝึกต่อไปอีกจนถึงวันตายนั่นแหละ...
                  ข้าลองเขียนแผนภูมิมาแลกเปลี่ยนกับออเจ้าตามความเข้าใจข้องข้าด้วยนะ                                

หมายเลขบันทึก: 646462เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2018 11:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2018 11:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

Thank you.

This is a useful summary for me.

[I am learning about 'tisikkhā' (Pālī). Some people say if we practiced 'sīla' and meditation (samādhi) then 'paññā' (wisdom) would be the fruit of our practice. But 'ti-sikkha' means '3 practices'. Therefore wisdom is 1 of the practice and so we must also learn 'wisdom' too. Is this also 'your view'? ]

Thank you for your interested in my passage. 'sīla' and samādhi are the basis. we have to be good in both of them before learning 'paññā' otherwise we cannot access 'paññā'

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท