พัฒนากระบวนการคิด มีจิตสาธารณะ : ครูมาเรียนรู้จากศิษย์ ศิษย์จึงเป็นครู


หยุดสงกรานต์ผมไม่ได้กลับภูมิลำเนา ครูชินกร พิมพิลา (ครู ตต.) เดินทางจากสกลนครมาขอนแก่น มาพำนักด้วย แล้วลูกศิษย์ของครู ตต. จากน้ำโสม ที่ตอนนี้อยู่ชั้นปีที่ 4 สาขาพืชสวน ก็อาสาไปรับที่ท่ารถมาส่งที่หอพักผม เราสามคนจึงได้เจอหน้ากัน แล้วชักชวนกันออกจากห้องไปที่ใดที่หนึ่ง ไวน์ผู้เป็นลูกศิษย์จึงแจ้งว่าต้องไปที่ไร่ก่อน เพื่อจัดการงานทดลองวิจัย เราจึงบึ่งรถไปที่ไร่ยิว หมวดพืชผัก เพื่อไปเรียนรู้ดูชมงานวิจัยของลูกศิษย์ ที่ทำโปรเจคจบ

ไวน์เลือกทำเรื่องผักอควาโปนิก โดยใช้ระบบน้ำวนหมุนเวียน และเลี้ยงปลากับกุ้ง และใช้หินกรวดลูกรัง/ศิลาแลงแทนดินปลูก เพื่อให้ผักปลอดสารเคมีหรือมีตกต้างน้อยในระดับที่ปลอดภัย ใช้สารอาหารจากน้ำเลี้ยงปลา/กุ้งขึ้นมาให้พืชแล้วกรองน้ำกลับลงบ่อ เป็นเรื่องที่น่าสนใจ มีระบบกาลักน้ำที่เป็นภูมิปัญญา รอบบริเวณนั้นยังมีการทำระบบน้ำหมุนเวียนอีกหลายแบบที่เกิดจากงานวินัยของอาจารย์และนักศึกษา เห็นแล้วก็คิดในใจว่า ระบบเกษตรบ้านเรา ต้องการสิ่งเหล่านี้แหละ สำหรับการพัฒนาและนำไปใช้ในระบบฟาร์มเพื่อยกระดับการผลิต ไม่ใช่เพื่อหวังเงินเป็นที่ตั้ง แต่การใช้ภูมิปัญา ผนวกงานวิจัยและเทคโนโลยีบางอย่าง จะช่วยให้เกษตรกรมีกิน มีใช้ เหลือก็ขาย ในขนาดที่เหมาะสมกับครัวเรือนและกำลัง 

ไวน์ก็ให้ดูตู้ปลูกและเลี้ยงปลาที่เพิ่งผ่านเวทีการประกวดมาพร้อมรางวัลการันตี เป็นโปรเจคที่ทำร่วมกับเพื่อนคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นตู้ขนาดเท่าตู้เย็นหรือคู้แช่เครื่องดื่มตามร้านค้าทั่วไป แต่มีระบบอินเตอร์เน็ตเชื่อมต่อแอปพลิเคชั่น สั่งงานและตรวจสอบระบบผ่านสมาร์ทโฟนได้ นี่แหละเกษตรยุค 4.0 

มุมมองหนึ่ง ไวน์ เขาเรียนพืชสวน ก็ดูเขาสนุกดี แต่ผมก็บ่นเชิงแซวเล่นตลอดว่า ทำไมไม่เรียนประมง เพราะไปที่ห้องพักทีไร เขาก็จะนำเสนอตู้ปลาและสัตว์เลี้ยงในตู้ปลาไม่ซ้ำชนิด ทั้งการจัดตู้ปลา พรรณไม้น้ำ และปลาเลี้ยงเพื่อบันเทิงเริงใจ วันนี้จึงได้ประจักษ์แก่ใจอีกเรื่อง เมื่อเราพูดถึงการเรียนรู้ผ่านความถนัดหรือความชอบส่วนบุคคล ย่อมส่งผลให้การเรียนรู้เรื่องนั้น ๆ เป็นผลที่ดี มีความรู้ อันเกิดจากความถนัดหรือความสนใจส่วนตัว ผสานความสุขขณะเรียนรู้ เพราะเวลาเราได้ทำอะไรที่เราสนุกและสุขใจ มันจะเกิดสมาธิ แล้วนำไปสู่ปัญญา ไวน์จึงทำให้เห็นถึงข้อยี้ได้ดี เมื่อได้ฟังการเล่าเรื่องราวของโปรเจคอย่างมีความสุขและภูมิใจที่จะเล่าให้ครูชินกรฟัง

เมื่อเห็นครู ตต. ตั้งใจฟังลูกศิษย์ ทั้งซักถามเพื่อเป็นข้อมูล ทั้งเดินดูไปรอบ ๆ พื้นที่สาธิต ยิ่งตื่นตากับระบบน้ำ พืชผัก และปลา ที่แหวกว่ายดุจเชื่อเชิญให้เยี่ยมชมนวัตกรรมการเกษตร วันนี้ครูกับศิษย์จึงแลกหน้าที่กัน เพื่อเรียนรู้ ก็เป็นอีกวิถีหนึ่งที่น่าสนใจในการสร้างบรรยากาศหรือการสร้างกระบวนการเรียนรู้ เมื่อครูและศิษย์เรียนรู้ร่วมกัน เพราะจริง ๆ แล้ว ครูเองก็ได้ประสบการณ์มากมายจากชั้นเรียนในทุก ๆ ปี จากนักเรียน...  “ไม่มีการเดินทางครั้งใดที่สูญเปล่า” (พี่รุจ เดอะสตาร์ )

ณ มอดินแดง

13-14 เมษายน 2561

หมายเลขบันทึก: 646457เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2018 00:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2018 00:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท