พัฒนากระบวนการคิด มีจิตสาธารณะ : ครูชินกร พิมพิลา กับนาสีนวลโมเดล



ในห้วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อทุกแขนงทั้งเพจเฟสบุ๊ค หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ หลากหลายค่าย ทั้งท้องถิ่นและส่วนกลาง ต่างให้ความสำคัญกับข่าวของครูที่ให้นักเรียนชั้น ป.6 ได้ที่ 1 ยกชั้น ทั้งใน IG หรือ twitter ศิลปินคนดังก็ยังได้เผยแพร่เรื่องราวของครูชินกร พิมพิลา แห่งโรงเรียนบ้านนาสีนวล จังหวัดสกลนคร

ใครจะรู้จะคิดว่าเรื่องราว ติส ติส ที่ครูตุ๊กติ๊ก สร้างขึ้นในชั้นเรียน จะโด่งดังชั่วข้ามคืน สื่อมวลชนมากหน้าหลายสำนักต่างสัมภาษณ์เจาะลึกถึงประเด็นที่สังคมให้รวามสนใจ ในเฟสบุ๊คต่างแสดงทัศนะให้ความเห็นในทางบวกอยู่มาก ที่เห็นด้วยกับการปรับห้องเรียนในชั้นให้กลายเป็น “ห้องเรียนไม่มีฝา”

หากใครตามติดชีวิตครูชินกร จะรู้ว่าเขาก็สร้างกระบวนการเรียนรู้ในแบบฉบับของเขามาโดยตลอด ทั้งการพานักเรียนทำโครงงานคุณธรรม  ทำกิจกรรมเปิดชั้นเรียน สร้างกระบวนการเรียนรู้หลากมิติ เช่น การลงชุมชน การเข้าป่าหาความรู้ การลงแม่น้ำข้ามคูดูเรียนธรรมชาติ การดำนาสร้างโอกาสการรักอาชีพ การนวดสปาเท้า ผลิตผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ “ศรีคูน” และโครงงาน “ฮักบ้านเกิด” รวมถึงการจัดโครงการใหญ่ ๆ อย่าง “นาสีนวลเกษตรแฟร์” อันปรับห้องเรียนไปสู้โลกกว้างของการเรียนรู้ ผ่านการลงมือปฏิบัติควบคู่กับหลักวิชาการ ผสานบ้าน วัด โรงเรียนอย่างแยบยล ทำให้ดอกผลของการศึกษาดูสง่างามตามวิถีวัฒนธรรมและท้องถิ่น

“นาสีนวลโมเดล” เป็นการกล้าเปลี่ยนรูปแบบการเรียนในห้องเรียนสี่เหลี่ยมที่มีเกณฑ์การประเมินตามแกนกลาง ทั้งการเรียนและประเมินรายวิชา การสอบวัดผลระดับชาติ อย่าง ONET และการมีหลักสูตรที่ถูกวางให้เหมือนกันทั่วประเทศ  ที่เสมือนเป็น “กรอบ” ของการเรียนรู้ แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป การอยู่เพียงในกรอบ มิใช่หนทางที่เีที่สุดสำหรับการเรียนรู้ เมื่อ “ครูนอกกรอบ” อย่างครูตุ๊กติ๊ก พยายามเรียนรู้แล้วปรับวิธีการเรียนรู้เพื่อเสริมการเรียนรู้ในกรอบด้วยการ “คิด” และ ลงมือ “ทำ” กิจกรรมเสริมการเรียนรู้ด้วยวิธี “นอกกรอบ” ที่จะช่วยสร้างและดึงศักยภาพของ “ผู้เรียน” เพื่อเสริมพลังจากภายในตามความถนัดหรือความสนใจของ “เด็ก” ด้วยมองเห็นความแตกต่างระหว่างบุคคล 

ทำให้คิดถึงตอนครูตุ๊กติ๊ก เป็นนักศึกษา แล้วพวกเราก็พากันทำกิจกรรมเสริมหลักสูตร เพื่อพัฒนาศักยภาพตนเองและเพื่อน ๆ นักศึกษา การส่งเสริมและดึงศักยภาพของนักศึกษาที่มีความถนัดหรือความชื่นชอบที่ต่างกันมาหลอมรวมเป็นพลังอันมหาศาลที่จะทำงานเพื่อส่วนรวม อันหมายถึงการมีจิตสาธารณะที่ถูกหล่อหลอมผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เป็นการเรียนรู้นอกหลักสูตร จนเกิดทักษะหลายอย่าง ทำให้เกิดการคิดและลงมือทำ “นอกกรอบ” เปรียบเสมือน “ห้องเรียนไม่มีฝา”

และวันนี้ ครูชินกร ทำให้สังคมเริ่มมองเห็นแล้วว่า การเรียนรู้ “นอกกรอบ” เป็นตัวหนุนเสริม “กรอบ” ให้เข้มแข็ง และเริ่มทำให้สังคมมองเห็นว่า การปฏิรูปการศึกษา ไม่ใช่รอส่วนกลางหรือกระทรวงศึกษาธิการเพียงเท่านั้น หากแต่การปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง อยู่ที่การที่ให้ทุกคนทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมและลงมือทำจากหน่วยเล็ก ๆ ในชั้นเรียน และในโรงเรียน และ “นาสีนวลโมเดล” ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาเพื่อเป็นอีก “ต้นแบบ” สำหรับการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา 

ณ มอดินแดง

8 เมษายน 2561



หมายเลขบันทึก: 646329เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2018 20:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2018 20:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท