๖๙๔. บุพเพสันนิวาส..ละครน้ำดี ปี ๒๕๖๑


ผมชื่นชมผู้ประพันธ์..ในแง่ของจินตนาการ ผสมผสานความรู้..”โดนใจ”ผู้คนที่กำลังคิดถึง”อุ่นไอรัก” ส่วนคนเขียนบทก็เขียนแต่พองาม ไม่มีตบจูบ..เพียงแค่ให้คู่พระคู่นางใกล้ชิด..แล้วถ่ายทอดอารมณ์บนใบหน้าและดวงตาก็..พอเพียง..

        ถ้าไม่บันทึกไว้ให้เป็นที่ระลึก  ก็อาจจะตกเทรนได้ เพราะไม่มีใครไม่รู้จักชื่อละครย้อนยุค..”บุพเพสันนิวาส” ที่กำลังโด่งดังอยู่ ณ เพลานี้..

        ต้องยอมรับว่า “ครบเครื่อง”จริงๆ ที่อิงประวัติศาสตร์ได้ค่อนข้างตรง ทั้งตัวบุคคลที่กล่าวอ้าง สถานที่และประเพณีศิลปวัฒนธรรม...

        พอมาเจอคนเขียนบทมืออาชีพที่ชื่อ”ศัลยา” ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้บทละครดูแนบเนียน สลับกลับไปกลับมา แต่ไม่น่าเบื่อ..ชวนให้ติดตามทุกตอน..

        ยิ่งมาได้พระเอกนางเอกสวยหล่อ ผู้แสดงสบทบเจ้าบทบาทมากมาย ทำให้ละครมีเสน่ห์ลงตัว..เพลงประกอบและฉากยอดเยี่ยมมาก แสง สีสัน เครื่องแต่งกายสวยงามไปหมด.. 

        ตอนแรกก็ไม่คิดว่า..จะดูได้นานทนทานเช่นนี้..พอติดแล้วก็เลิกยาก..ตอนนี้ผมเริ่มจะเพ่งพิศพิจารณาหาสาระประโยชน์จากละคร..ในฐานะที่เป็น”ครู”

       เก็บสาระ..ได้ทุกตอน..มากบ้างน้อยบ้าง..เหมือนกับดูละครแล้วย้อนดูตัวเอง..แต่ผมจะบูรณาการกับองค์ความรู้มากกว่า..หรือวิเคราะห์ในเชิงบูรณาการนั่นเอง..

        คุณธรรมของมิตรแท้และมิตรเทียม..ดูจากพี่ผินกับพี่แย้ม..บ่าวผู้จงรักภักดีนายเก่าอย่างแม่การะเกด..ก็เลยติดความรุนแรงมามิใช่น้อย..นี่คือวัฒนธรรมการอบรมเลี้ยงดู

       แต่ก็น่ายกย่องที่เป็นได้ทุกอย่าง..ยามสุขก็สุขด้วย ยามทุกข์ก็ทุกข์ด้วย ไม่ทิ้งกัน..ตัวอย่างของมิตรภาพ..ที่หาได้ยากในทุกยุคทุกสมัย..

        ละครเดินทางมาตั้งแต่ต้นเรื่อง..ถึงกลางเรื่องแล้ว..พอมองเห็นได้ลางๆ ถึงผลแห่งการกระทำ(กรรม) ที่ละครจะสื่อให้เรารู้ว่า..ต้องทำความดีชนะความชั่ว..เอาธรรมะชนะอธรรม..แม้จะมีอุปสรรคบ้างก็ต้องอดทน..

        บุพเพสันนิวาส..ในค่ำคืนนี้..ออเจ้าที่อดหลับอดนอน ก็คงรู้แล้วว่า..แม่การะเกด..เป็นตัวเดินเรื่อง..และเป็นแม่เหล็กของละครเรื่องนี้..ความสวยที่เฉียบขาดบาดใจ แต่ไม่ไร้ปัญญา..สะกดทั้งคนดูและพี่ขุน..ให้พูดไม่ออก..บอกได้คำเดียวว่า..เอาที่สบายใจ...

       ศัพท์แสงในถ้อยคำที่ใช้..บ่งบอกวิวัฒนาการของภาษา..เมื่อถูกใช้แล้ว ต่อไปก็เสื่อมถอยและปรับเปลี่ยนไป ภาษาสแลงในวันนี้..ก็ไม่ต้องไปเดือดร้อนกับมัน ล้วนไม่จีรังยั่งยืน..พูดพอให้สนุกปาก ฟังให้พอรู้จัก..สักวันอาจต้องไปเกิดใหม่ และย้อนยุคไปเหมือนการะเกด..จะได้ไม่เป็นงงสงสัย..

       ละครเรื่องนี้..นอกจากจะมีการละเล่นพื้นบ้านให้ชมแล้ว..ยังสื่อให้เข้าถึงสำนวนไทยและคำพังเพย..ในทุกช่วงของละคร..ที่พบมากก็คือ..นายว่าขี้ข้าพลอย..ปากปราศัยน้ำใจเชือดคอ..บ่างช่างยุ..ยุให้รำตำให้รั่ว..แทงข้างหลัง ฆ้องปากแตก และ หูเบา..เป็นต้น

       ผมชื่นชมผู้ประพันธ์ "รอมแพง"..ในแง่ของจินตนาการ ผสมผสานความรู้..”โดนใจ”ผู้คนที่กำลังคิดถึง”อุ่นไอรัก” ส่วนคนเขียนบทก็เขียนแต่พองาม  ไม่มีตบจูบ..เพียงแค่ให้คู่พระคู่นางใกล้ชิด..แล้วถ่ายทอดอารมณ์บนใบหน้าและแววตาก็..พอเพียง..

       ละครจะกร่อยไปทันที..ถ้ามีการชิงรักหักสวาท..พอดีแม่การะเกดไม่มีเวลา “เล่นรัก” ออเจ้าห่วงแต่ "เล่นลิ้นกับความรู้ประวัติศาสตร์”เท่านั้น..เรื่องนี้จึงสอนให้รู้ว่า..ถ้ารักในความรู้..รับรองก้าวหน้าทุกคน..

       ผมเองก็พอจะมีความรู้ด้านการละครอยู่บ้าง จึงสังเกตทั้งภาษาและเรื่องราว..มีอยู่ตอนหนึ่งน่าสนใจ..การะเกดไปเที่ยวงานวัด..สนใจและตื่นตากับละครนอก..พี่ขุน..จึงอธิบายให้ฟังว่า...

       ละครนอก เป็นละครพื้นบ้าน ใช้ผู้แสดงเป็นชายล้วน ใช้ถ้อยคำธรรมดาสามัญ ใช้แสดงสำหรับประชาชน และแสดงได้ทุกเรื่อง ยกเว้น อิเหนา อุณรุท และรามเกียรติ์

       ละครใน แสดงในพระราชฐาน ใช้ผู้หญิงแสดงล้วน ยึดศิลปะการร่ายรำเป็นหลัก และแสดงเพียง ๓ เรื่อง คือ อิเหนา อุณรุท และ รามเกียรติ์

       อันนี้คุณ”ศัลยา”เขียนบทไว้ ถูกต้องที่สุด..แต่ผมก็แปลกใจขึ้นมา เหมือนมีอะไรมาสะดุดที่ต่อม..เอ๊ะ..ที่เคยเรียนจากครูบาอาจารย์ทั้ง ๓ เรื่องอิเหนา อุณรุท และ รามเกียรติ์.น่าจะเกิดในสมัยรัตนโกสินทร์...มากกว่า

      ผมรีบสืบค้นทันที..ก็พบว่ารามเกียรติ์ “เป็นวรรณคดีสำคัญเรื่องหนึ่งของไทย โดยมีต้นเค้าจากวรรณคดีอินเดีย คือมหากาพย์รามายณะ แต่งขึ้นเป็นภาษาสันสกฤต  เชื่อว่าน่าจะเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ จากอิทธิพลของลัทธิพราหมณ์ฮินดู สำหรับเรื่องรามเกียรติ์ ของไทยนั้น มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ...

      เรื่องอุณรุท..ก็เช่นเดียวกัน มีตำนานบอกเล่าแน่นอน..ย้อนไปถึงสมัยอยุธยาโน่น...

      แต่อิเหนา..หาข้อพิสูจน์ยากมาก..ไม่น่าจะเกิดขึ้นในสมัยพระนารายณ์มหาราช แต่พอพูดถึงดาหลัง ก็คืออิเหนาใหญ่  และอิเหนา คืออิเหนาเล็ก ก็เลยพอเข้าใจได้  

      ยิ่งบอกว่าอิเหนาเป็นตำนานของชวามาตั้งแต่โบราณแล้ว..ก็เลยอนุโลมให้เทียบเคียงกับสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็ไม่น่าจะแปลกกระไร..

     แต่คืนวันพฤหัสบดีนี่สิ..ถ้าไม่รอดู..น่าจะแปลกที่สุดแล้ว

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๒  มีนาคม  ๒๕๖๑

คำสำคัญ (Tags): #บุพเพสันนิวาส
หมายเลขบันทึก: 645905เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2018 20:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2018 07:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท