​ “ชุมชนบ้านบางเทา” รวมพลังก่อตั้ง “ชมรมผู้สูงอายุ” พัฒนากลไกในระดับชุมชนเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย



บ้านบางเทา ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เป็นชุมชนชนบทกึ่งชุมชนเมืองที่ถูกความเจริญทางวัตถุคืบคลานเข้าไปอยู่อย่างใกล้ชิด แต่ชุมชนแห่งนี้ก็ยังสามารถรักษาวิถีชีวิตที่สงบและเรียบงายในแนวทางของชาวมุสลิมอย่างเหนียวแน่น ในพื้นที่ไม่มีร้านค้าใดๆ จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แม้แต่น้อย และทุกวันศุกร์สมาชิกผู้ชายจะมีกิจวัตรร่วมกันคือการละหมาดพร้อมกันที่มัสยิด

ในจำนวนประชากรของชุมชน 3,733 คน มีผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึง 1,039 คน หรือเกือบ 1 ใน 3จากการสำรวจข้อมูลพบว่าผู้สูงอายุในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีนัก มีผู้สูงอายุนอนติดเตียง 5 คน ผู้สูงอายุติดบ้าน 9 คน ผู้ป่วยติดเตียงบางรายถูกทอดทิ้งมีเพียงเพื่อนบ้านคอยช่วยดูแลให้อาหาร ขณะที่การรวมตัวของสมาชิกชุมชนเพื่อสร้างกลไกในการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาวก็ยังไม่เกิดขึ้น มีเพียงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ลงพื้นที่ดูแลความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชน

จากคำบอกเล่าของ นัฐริกา มานะบุตร ประธาน อสม.ตำบลเชิงทะเล บอกว่าว่าชุมชนบ้านบางเทาปัจจุบันจำนวนผู้สูงอายุมีมากขึ้น มีความพยายามจะตั้งชมรมผู้สูงอายุอยู่หลายครั้งเพื่อให้ผู้สูงอายุในชุมชนได้ทำกิจกรรมร่วมกันแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จึงได้ร่วมวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่โดยใช้กลไกของสภาผู้นำชุมชนร่วมกันจัดตั้ง “ชมรมผู้สูงอายุบ้านบางเทา” ขึ้นจนเป็นผลสำเร็จ และได้เริ่มดำเนินงาน “โครงการการสร้างเสริมให้เกิดครอบครัวอบอุ่นบ้านบางเทา (การดูแลผู้สูงอายุในชุมชน)” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อวางระบบ พัฒนากลไก อันจะเป็นรากฐานในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนอย่างยั่งยืน 

จากการลงพื้นที่สัมผัสกับผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด นัฐริกา มองเห็นว่าผู้สูงอายุแต่ละรายล้วนพำนักอาศัยอยู่กันอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ เกิดอุบัติเหตุในบ้านพักอาศัยบ่อยมาก โดยเฉพาะในห้องน้ำ บางรายถึงขั้นเสียชีวิต คณะทำงานซึ่งเป็น อสม.จึงได้เข้ารับการอบรมกับ กองทุนระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care) กับทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต และนำความรู้ได้รับกลับมาดูแลผู้สูงอายุแบบตัวต่อตัว โดยมี รพ.สต.เชิงทะเล เป็นพี่เลี้ยง

“ในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุโดยตรง ลูกหลานเองก็ไม่ค่อยได้ดูแลผู้สูงอายุในบ้านเท่าที่ควร ถ้าเจ็บป่วยสมาชิกในบ้านจะดูแลกันอย่างไร ลูกหลานเองก็จะเกิดความเครียด จึงได้ไปเข้าอบรมการดูแลผู้สูงอายุ ร่วมกับ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) มี อสม. สมาชิกสภาผู้นำ ช่วยกันดูแลในพื้นที่ใกล้บ้าน หากมีเหตุฉุกเฉินสามารถวัดความดัน เรียกรถ อบต. พาไปส่งโรงพยาบาลได้” ประธาน อสม.ตำบลเชิงทะเล กล่าว

หลังจากก่อตั้งชมรมผู้สูงอายุเป็นผลสำเร็จแล้ว นอกจากการลงพื้นที่เยี่ยมเยียนผู้สูงอายุอย่างสม่ำเสมอ ทางชมรมฯ ยังได้ดำเนินกิจกรรมด้านสุขภาวะ  เช่น กิจกรรมรำไม้พลอง หลังการละหมาดร่วมกัน เดือนละครั้ง และสมาชิกบางรายยังไปออกกำลังกายร่วมกับชมรมผู้สูงอายุบ้านหาดสุรินทร์ที่อยู่ใกล้กัน มีการการรณรงค์เรื่องการลดอาหารรสจัด หวาน มัน เค็ม โดยเฉพาะในแกงไตปลา และน้ำพริกที่ใส่ปลาเค็มซึ่งส่งผลให้เกิดความดันสูง พร้อมกันนี้ยังแนะนำให้ผู้ที่จะเข้าสู่วัยผู้สูงอายุให้หันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารให้ถูกต้อง

“เราจัดกิจกรรมแข่งขันทำน้ำพริก ทำขนมพื้นบ้าน นำเยาวชนนักเรียนมาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันด้วย ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี รวมทั้งการแข่งขันกีฬาผู้สูงอายุระหว่างสมาชิกชมรมผู้สูงอายุได้มาพบปะ ทำกิจกรรมร่วมกัน แม้ว่าในวันนี้โครงการที่ได้รับทุนจะสิ้นสุดลงไปแล้วก็ตาม แต่ชมรมผู้สูงอายุก็จะยังดำเนินงานต่อไป โดยขณะนี้ได้ปรีกษากับ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล ให้บรรจุโครงการในแผนพัฒนาท้องถิ่นของ อบต. เพื่อรับการสนับสนุนด้านงบประมาณและสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้น โดยมีเครือข่ายให้การสนับสนุนได้แก่ ชมรมมุสลิมในพื้นที่ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กองทุนสวัสดิการเพื่อคนพิการ, รพ.สต.เชิงทะเล กองสวัสดิการ อบต.  สมาชิก อสม. โรงเรียน และมัสยิด” นัฐริกา มานะบุตร กล่าวถึงการสร้างความยั่งยืนในพื้นที่

ทางด้าน สุธี เกาะกาวี ประธานชมรมผู้สูงอายุบ้านบางเทา กล่าวว่าผู้สูงอายุเสมือนไม้ใกล้ฝั่ง ต้องตระเตรียมเสบียงไว้ใช้บ้าง การมีชมรมผู้สูงอายุทำให้ผู้สูงอายุมีโอกาสได้มาพบปะทำกิจกรรมร่วมกัน ทั้งการละหมาด การออกกำลังกาย หรืองานที่สืบสานเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น เมื่อมีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมทำให้ชุมชนมีทิศทางขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุที่ชัดเจนขึ้น และยังสามารถนำศักยภาพของผู้สูงอายุที่มีอยู่มาใช้เป็นแบบอย่างให้คนรุ่นหลังได้สานต่ออีกด้วย

“ถ้าไม่มีชมรมผู้สูงอายุ โอกาสที่จะมาพบปะถามสารทุกข์สุกดิบกันจะไม่มีเลย ต่างคนต่างก็อยู่ ทำงานเลี้ยงหลานอยู่ที่บ้านบ้าง พอได้มาเจอกันก็ได้รู้ความเป็นอยู่ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนจุนเจือซึ่งกันและกัน เวลามีกิจกรรมก็พาเด็กเข้ามาร่วมด้วยเพื่อจะได้ให้ลูกให้หลานช่วยกันสานต่อ”

ขณะที่ ยุหลัก โหมดใหม่ ผู้สูงวัย อายุ 66 ปี ซึ่งมีจิตอาสาช่วยดูแลผู้สูงอายุติดเตียงเพื่อนบ้านที่ถูกทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพัง กล่าวว่าหลังจากมีชมรมผู้สูงอายุเกิดขึ้น ทำให้การช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุชัดเจนขึ้น สำหรับตนเองนั้นลูกหลานให้การดูแลอยู่ แต่ก็ได้รับคำแนะนำในเรื่องการรักษาสุขภาพจากชมรมผู้สูงอายุ โดยส่วนตัวก็ออกกำลังกายด้วยการเดินอยู่เป็นประจำและยินดีที่จะดูแลเพื่อนผู้สูงอายุที่อยู่บ้านติดกันตลอดไป

“ก็จะดูแลกันไป เพราะเห็นกันมานาน เขาก็ไม่มีใครดูแล พอมีชมรมผู้สูงอายุก็ดีขึ้นทำให้มีคนมาช่วยดูแลเพิ่มขึ้น ส่วนใครที่พอมีฐานะก็จะเอาของกินของใช้มาให้ เป็นการช่วยเหลือกัน”

หลังจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ก็ส่งผลให้สมาชิกในชุมชนบ้านบางเทาเกิดการรับรู้และตื่นตัวมากขึ้น เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมทั้งการออกกำลังกาย มีการลดการรับประทานอาหารรสจัดในหมู่ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงได้รับการดูแลและมีสุขภาพจิตดีขึ้น ปัญหาความตึงเครียดในครอบครัวก็ลดลง และการดำเนินงานดังกล่าวยังได้รับการต่อยอดและสนับสนุนให้เป็นหนึ่งในแผนพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุในชุมชนแห่งนี้ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน.

 

 

หมายเลขบันทึก: 645482เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2018 16:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มีนาคม 2018 16:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท