“สูงวัย” สุขภาพดีบนวิถีมุสลิมที่ “บ้านบางค้างคาว” ใส่ใจ-จับคู่-ดูแล ใช้หลักศาสนาแก้ปัญหาสุขภาวะผู้สูงวัย


ช่องว่างระหว่างวัยเป็นปัญหาในทุกระดับสังคมไม่เว้นเชื้อชาติศาสนา ความเจริญทางเทคโนโลยีในปัจจุบันยิ่งทำให้ช่องว่างดังกล่าวถ่างกว้างขึ้น การตามไม่ทันข่าวสารและเทคโนโลยีที่มีพร้อมกับความรวดเร็ว ยิ่งทำให้การพูดคุยของคนต่างรุ่นต่างวัยกลายเป็นการคุยต่างเรื่องต่างภาษาเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ

ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยจะนิ่งเกิดขึ้นมากในสังคมชนบทที่คนหนุ่มสาววัยทำงานออกไปทำงานต่างพื้นที่ ทิ้งไว้แต่ลูกเล็กหรือวัยรุ่นอยู่กับคนรุ่นปู่ย่าตายาย เมื่อขาดตัวเชื่อมตรงกลางคือรุ่นพ่อและแม่ ช่องว่างระหว่างผู้สูงอายุกับบุตรหลานก็ยิ่งถ่างกว้างและมีระยะห่างกันมากขึ้นยิ่งไปอีก

“บางค้างคาว” เป็นหมู่บ้านชุมชนชายทะเลฝั่งอันดามันแห่งอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง มีสภาพเป็นป่าชายเลนสลับกับสวนยางสวนปาล์ม เป็นชุมชนใช้ชีวิตเรียบง่ายตามหลักศาสนาอิสลาม แต่ก็เหมือนกับชุมชนในชนบทส่วนใหญ่ ที่เมื่อคนวัยแรงงานออกไปทำงานนอกพื้นที่ ผู้สูงอายุในหมู่บ้านบางส่วนปลีกตัวแยกออกไปใช้ชีวิตตามลำพังไม่ยอมอยู่ร่วมกับลูกหลาน

เมื่อลูกหลานในวัยแรงงานหลักต้องออกไปทำงานภายนอกชุมชน จึงไม่ค่อยมีคนตามไปดูแลผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด เกิดปัญหาผู้สูงอายุมากถึง 30 คนแยกตัวไปอยู่ตามลำพังโดยไม่มีคนไปดูแล และแม้ว่ามีผู้สูงอายุที่อยู่กับครอบครัว แต่กำลังหลักของบ้านก็ต้องออกไปทำงานไม่ค่อยมีเวลาดูแลผู้สูงอายุถึง 20 ครอบครัว

การแยกตัวและขาดการดูแลของผู้สูงอายุในหมู่บ้านบางค้างคาวเกิดเป็นปัญหาของชุมชนโดยเฉพาะปัญหาทางด้านสุขภาพ เพราะโดยปกติ ผู้สูงอายุต้องการการดูแลอย่างมากอยู่แล้ว เมื่อขาดการดูและแยกตัวออกไปอยู่ลำพัง ก็เกิดปัญหาทางสุขภาวะในด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้นอีก

 “เราทำเวทีประชาคมหมู่บ้าน พบว่าเรื่องผู้สูงอายุไม่ได้รับการดูแลเป็นปัญหาอันดับหนึ่ง” เสถียร ทิพย์ทอง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบางค้างคาว กล่าวพร้อมทั้งอธิบายต่อว่า “เราจึงคิดทำโครงการดูแลผู้สูงอายุขึ้นมาโดยเริ่มจากการใช้สภาผู้นำเป็นตัวขับเคลื่อนในระยะแรกโดยมีเป้าหมายที่จะให้มีการจับคู่ระหว่างผู้สูงอายุและผู้ดูแลประจำตัวผู้สูงอายุที่แน่นอนอย่างน้อย 1 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน”

สภาผู้นำที่ผู้ช่วยเสถียรกล่าวถึงคือ “สภาผู้นำชุมชน” ซึ่งจัดตั้งเมื่อทำโครงการอนุรักษ์ป่าชายเลนซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้ทำให้เกิด กระบวนการมีส่วนร่วมและสร้างความเข้มแข็งของสภาผู้นำ จนส่งผลดีทางด้านการอนุรักษ์ป่าชายเลนและการปลุกจิตสำนึกและสร้างความร่วมมือกันในชุมชนมาแล้ว

และต่อมาเมื่อสมาชิกภายในหมู่บ้านหันมาสนใจดูแลผู้สูงอายุ ก็ได้รับการสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรมอีกครั้งภายใต้ “โครงการสร้างเสริมให้ครอบครัวเกิดความอบอุ่น” (การดูแลผู้สูงอายุ)

“เราใช้สมาชิกสภาผู้นำที่มีอยู่แต่เดิม 20 คนเป็นตัวขับเคลื่อน และภายหลังจากการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการปัญหาครอบครัว เราได้แกนนำเพิ่มอีก 10 คนซึ่งมีความรู้เฉพาะด้านสุขภาพผู้สูงอายุถ่ายทอดความรู้การดูแลเรื่องอาหารและการออกกำลังกาย และแกนนำทั้งสิบคนจะออกดูแลผู้สูงอายุที่ติดบ้านและติดเตียงด้วย” ผู้ช่วยเสถียรกล่าว

หน่วยงานสำคัญที่เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ทางด้านสุขภาพคือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านแหลมมะขาม และมีความร่วมมือจากหลายฝ่าย เช่น ศอบต. และหน่วยงานการปกครองท้องถิ่นหลายระดับ จนได้มาเป็นโครงการดูแลผู้สูงอายุที่มีการจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่ผู้สูงอายุในทุกๆ เดือน

วิภาดา กั่วพานิช พยายาลวิชาชีพชำนาญการ รพ. สต. บ้านแหลมมะขาม เล่าว่า “นอกจาก อสม. ที่ทำหน้าที่ร่วมกับโรงพยาบาลมาโดยตลอดแล้ว เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและสมาชิกสภาผู้นำ รวมทั้งผู้นำศาสนาก็ร่วมมือกันอย่างดี และล่าสุดได้มีอาสาสมัครพิเศษของหมู่บ้านที่ได้รับการอบรมโดยเฉพาะเพื่อเข้าไปดูและผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถออกมาภายนอกได้ด้วยการไปตรวจสุขภาพและการทำกายภาพบำบัดถึงบ้านอีกด้วย”

นอกจากกิจกรรมให้ความรู้และร่วมกันออกกำลังกายร่วมกันทั้งผู้สูงอายุและผู้ดูแลที่จัดเป็นประจำทุกเดือนแล้ว ยังมีกิจกรรมการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยซึ่งเป็นร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เป็นการเน้นย้ำความรู้ทางสุขภาวะของทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลอีกด้วย ที่สำคัญที่ถือว่าเป็นโอกาสดีอย่างมากที่บ้านบางค้างคาวมีอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านเป็นผู้นำทางศาสนาด้วย จึงได้มีการประสานความเชื่อทางศาสนาเข้ากับหลักของการดูแลรักษาสุขภาพได้อย่างลงตัว

“การดูแลสุขภาพสอดคล้องกับศาสนา ต้องสะอาดทั้งในบ้าน นอกบ้านและตัวเอง มุสลิมทุกคนถ้าไม่รักษาความสะอาดจะไม่เป็นที่รักของอัลเลาะห์และจะเป็นโรค” มะริหย้อ ศรีชาย อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านและครูสอนศาสนา แห่งบางค้างคาว หมู่บ้านที่นับถือศาสนาอิสลามแทบทั้งหมด ผู้เป็นกำลังสำคัญทางด้านบูรณาการความเชื่อทางศาสนาและสุขภาพอธิบายถึงหลักศาสนาที่สอดคล้องกับการรักษาสุขภาพ

 นอกจากเป็นอสม.ดีเด่นของภาคใต้ มะริหย้อครูสอนศาสนาที่เชี่ยวชาญ ดังนั้นจึงสามารถใช้หลักศาสนาจูงใจให้ผู้สูงอายุสนใจดูแลตนเอง ยอมกินยา ยอมไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ และรับการตรวจรักษามากกว่าจะปล่อยตนเองไปตามยถากรรม โดยกล่าวอ้างถึงหลักศาสนาในการดูและตนเอง รักษาชีวิตและสุขภาพที่อัลเลาะห์มอบให้อย่างดี และนอกจากนั้นยังส่งเสริมให้ครอบครัวละหมาดพร้อมกันอย่างน้อยวันละหนึ่งครั้งตามหลักศาสนาและเพื่อเสริมสร้างความอบอุ่นในครอบครัว

จากทุนทางสังคมของหมู่บ้านและการสนับสนุนของ สสส. ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือ การมีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งในรูปแบบสภาผู้นำ ที่มีระบบการจัดการที่ดี จนสามารถสร้างความสำเร็จให้แก่ชุมชนโดยมุ่งเป้าหมายที่สุขภาวะและการดูแลผู้สูงอายุ นอกจากนั้นยังสามารถสร้างเสริมทุนทางวัฒนธรรมและประเพณีได้อีกด้วย

“คนจะเชื่อในหลักศาสนาอิสลามมากกว่าหลักกฎหมาย ดังนั้นหากจะจัดกิจกรรมหรือคำแนะนำด้านสุขภาพด้านใดๆ หากเชื่อมโยงกับศาสนาได้ คนก็จะปฏิบัติตามเข้าร่วมได้ง่าย เพราะสอดคล้องกับหลักที่เขาต้องปฏิบัติอยู่แล้ว” เสถียร ทิพย์ทอง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบางค้างคาว ผู้รับผิดชอบโครงการสร้างเสริมให้ครอบครัวเกิดความอบอุ่น (การดูแลผู้สูงอายุ) กล่าวสรุป

การสนับสนุนกระบวนการสร้างความเข้มแข็งของสภาผู้นำชุมชน นอกจากจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในด้านจิตสำนึกในด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นกับชุมชนแห่งนี้แล้ว ยังสามารถใช้กระบวนการดังกล่าวไปเชื่อมโยงกับทุนทางวัฒนธรรม ที่สอดคล้องกับหลักศาสนา จนสามารถขยายผลไปสู่การสร้างเสริมสุขภาวะให้เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุได้อย่างลงตัว.

หมายเลขบันทึก: 645477เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2018 15:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มีนาคม 2018 15:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท