ชีวิตที่พอเพียง 3117. PMAC 2018 : 2. การบรรยายของผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล



วันที่ ๓๐ มกราคมผู้ได้รับพระราชทานรางวัลไปเยี่ยมคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลในตอนเช้า   รับเลี้ยงอาหารเที่ยง (ที่อร่อยสุดๆจากโรงแรมเลอบัว)   แล้วไปบรรยายเล่าเรื่องผลงานที่ได้รับการยกย่องในตอนบ่ายเวลา ๑๓.๓๐ - ๑๕.๐๐ น. 

การไปฟังการบรรยายนี้ให้ความสุขความพึงพอใจแก่ผมอย่างที่สุด

เนื่องจากปีนี้รางวัลด้านสาธารณสุขมีผู้ได้รับพระราชทานรางวัลถึง๔ คน   เขาจึงตกลงกันว่าพูดเพียง ๒ คน คือด้านการผลิตวัคซีน (Hib)   กับด้านการนำวัคซีนไปใช้ทั่วโลก    ส่วนรางวัลด้านการแพทย์ ได้แก่ HumanGenome Project  และมีคนมารับแทนคนเดียวคือ Eric Green   รวมมีผู้บรรยาย ๓ คน

Eric Green, Director, NCGRI,NIH พูดเป็นคนแรก   เรื่อง TheHuman Genome Project and Beyond : A Journey to AdvanceHuman Health    บอกว่า คำว่า Genomicsเริ่มใช้โดยวารสารใหม่ที่เปิดตัวในปี ค.ศ. 1987    ชื่อว่าวารสาร Genomics   หลังจากนี้นสี่ปีจึงเกิดโครงการ Human Genome Project เพื่อหาลำดับเบสของดีเอ็นเอมนุษย์ทั้งจีโนม  และค้นหายีน   และใช้เวลา ๑๓ ปี งานนี้จึงเสร็จสมบูรณ์ ในปี ค.ศ. 2003   คือเสร็จก่อนกำหนด ๒ ปี    และมีการนำข้อมูลทั้งหมดไว้ใน publicdomain ให้ผู้คนค้นเอาไปใช้ประโยชน์ได้ฟรี    ก่อความก้าวหน้าในศาสตร์ต่างๆ มากมายหลากหลายด้านรวมทั้งด้านพัฒนาการของการประยุกต์ใช้ทางสุขภาพของมนุษย์ 

พัฒนาการดังกล่าว ส่วนหนึ่งเกิดจากค่าใช้จ่ายในการทำ whole genomesequencing ลดลงหนึ่งล้านเท่า   จากในช่วง HGP ใช้เงิน หนึ่งพันล้านดอลล่าร์   เดี๋ยวนี้ใช้เงินเพียง ๑,๐๐๐ ดอลล่าร์ และกำลังลดลงไปอีก    มีการทำ whole genome sequencing ของมนุษย์ไปแล้วหลายหมื่นคน   เพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจอย่างมากมายว่าจีโนมมนุษย์ทำหน้าที่อย่างไร  เป็นต้นเหตุของโรคอย่างไร   นำไปสู่การก่อตัวของการแพทย์ยุคใหม่ ที่เรียกว่า genomicmedicine   หรือ precision/ individualized medicine  ซึ่งหมายความว่า ในไม่ช้าผู้ป่วยไม่ว่าโรคใดจะมีข้อมูลลักษณะของจีโนมของเขาเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลผู้ป่วยสำหรับให้การบำบัดที่เหมาะสมเป็นรายบุคคล   


สาขาที่กำลังก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของGenomicmedicine คือ มะเร็ง,  การใช้ยา,  โรคพันธุกรรมหายาก,  ชุดตรวจวินิจฉัยโรค,  การตรวจวินิจฉัยก่อนคลอด,  และโรคเรื้อรังที่มีปัจจัยจากสภาพแวดล้อมและลีลาชีวิต   


การบรรยายเรื่องที่ ๒เป็นเรื่อง การพัฒนา Hib conjugate vaccine โดย Dr. RachelSchneerson    ท่านอายุ๘๖ แล้ว แต่ท่าทางแข็งแรง เดินเหินลุกนั่งคล่องแคล่ว     แต่บรรยายแบบสมัยโบราณ และพูดแบบให้นักวิชาการฟัง    ผมจึงตามได้ไม่ถึง ๓๐%    วัคซีนไข้สมองอักเสบจากเชื้อHaemophilus influenzae นี้ตัวแรกพัฒนาขึ้นจากเยื่อหุ้มตัวแบกทีเรียที่เป็นโมเลกุลน้ำตาลที่ต่อตัวกันเป็นสายยาว เรียกว่า polysaccharides    เป็นวัคซีนที่ใช้ได้ดีในผู้ใหญ่และเด็กโต    แต่ไม่ได้ผลในเด็กอายุต่ำกว่า ๒ ขวบ    จึงมีการคิดวัคซีนที่มาจากการเอาโปรตีนเข้าไปต่อกับโมเลกุลของpolysaccharides    จึงเรียกว่าpolysaccharides protein conjugatevaccine   เรียกย่อๆ ว่า  conjugate vaccine  

ผู้บรรยายที่ให้แรงบันดาลใจแก่ผู้ฟังมากที่สุดคือศาสตราจารย์MathuramSantoshamแห่งมหาวิทยาลัย จอห์นส ฮ็อปกิ้นส    ผู้เป็นคนอินเดีย  แต่เวลานี้เป็นพลเมืองสหรัฐ    บรรยายเรื่อง From India to NativeLands : Lessons Learnt and Inspirations    เล่าประสบการณ์ชีวิตวัยเด็กที่ได้เห็นความยากจนและยากลำบากของผู้คนในอินเดีย    และมีคนบอกเด็กชายมธุรามว่า “โตขึ้นเธอควรเป็นหมอจะได้ช่วยเหลือเด็กเหล่านี้”    แต่เมื่อไปเรียนหนังสือที่อังกฤษครูบอกว่าอย่างเก่งก็เป็นได้แค่ช่าง    แต่ก็มีครูผู้หญิงให้กำลังใจว่าต้องมีความมั่นใจในตนเอง และมานะพยายาม   

ในที่สุดท่านก็ได้เป็นแพทย์และไปทำงานอยู่ในดินแดนชนเผ่านาวาโฮ และ อะปาเช่ ในอเมริกา ถึง ๓๖ ปี    ดินแดนนี้อยู่รอยต่อของรัฐ ยูท่า  อะริโซน่า และนิวเม็กซิโก    ผมเคยไปเที่ยวเมื่อสามปีที่แล้ว และเล่าไว้ที่()  

โรคไข้สมองอักเสบ Hib ระบาดหนักในเด็กของชนเผ่าเหล่านี้ด้วย    ทำให้ท่านสนใจ และนำไปสู่การนำวัคซีนไปใช้    จนในที่สุดได้เป็นหัวหน้าโครงการ HibInitiative   และประสบความสำเร็จในการชักชวนให้ใช้วัคซีนนี้ในเกือบทุกประเทศทั่วโลก

ข้อน่าเสียดายคือประเทศไทยยังไม่ได้ใช้   ผมสอบถามผู้รู้ว่าเกิดจากอะไร   ได้ความว่าเพราะมีนักวิชาการในกระทรวงสาธารณสุขทบทวนเอกสารแล้วบอกว่าวัคซีนนี้ไม่ได้ผล    เป็นตัวอย่างของความผิดพลาดทางนโยบายจากข้อมูลที่ผิดพลาด

วิจารณ์ พานิช

๒๙ ม.ค. ๖๑  เพิ่มเติม ๑๗ ก.พ. ๖๑


1 Eric Green

2 Rachel Schneerson


3 Mathuram Santosham

หมายเลขบันทึก: 645117เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2018 11:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2018 11:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีใจกับผู้รับรางวัลทั้งหมดนะคะ

ชอบหมออินเดียค่ะ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท