ธุรกิจ Startup ไทย ต้องใช้หัวใจสร้าง: กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล


หลายครั้งต้องนึกถึงคำสอนของแม่ที่ว่าถ้าคนอื่นเก่งกว่าก็ต้องพยายามให้เหมือนเขา และให้คิดเหมือนกระทิง เมื่อเจอปัญหาก็ต้องวิ่งเข้าใส่

ธุรกิจ Startup ไทย ต้องใช้หัวใจสร้าง

กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล

 อรรถการ สัตยพาณิชย์

                ชีวิตเด็กหนุ่มที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายจากโรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม ก่อนจะสานฝันให้เป็นจริง ด้วยการสอบเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนทางด้านวิศวกรรมศาสตร์อันดับ 1 ของประเทศ ที่แต่ละปีมีเด็กมัธยมจำนวนมากแข่งขันกันเพื่อให้ตนเองได้มีโอกาสเข้าไปศึกษาต่อ

                ความฝันนี้ อาจไม่ง่ายในชีวิตของใครหลายๆ คน แต่สำหรับ เรืองโรจน์ พูนผล หรือ “กระทิง” เขาได้กล่าวไว้ว่าแม้เขาจะเรียนที่โรงเรียนในจังหวัดกำแพงเพชร ในต่างจังหวัด และบรรยากาศของ “ความเป็นไปไม่ได้” มีค่อนข้างมาก  แต่ก็ไม่จำเป็นว่าจังหวัดเล็กๆ จะมาจำกัดความฝันของคนให้ฝันใหญ่ๆ ได้

                                                          

จาก ป.ตรี วิศวะ สู่ถนนสาย MBA

                ชีวิตของกระทิง หลังจากจบปริญญาตรี เขาเริ่มต้นการทำงานที่ P&G และได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโทการตลาด ภาคภาษาอังกฤษ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนจะก้าวสู่การเป็นนักเรียน MBA ในมหาวิทยาลัยสแตนด์ฟอร์ด สหรัฐอเมริกา

                เขาเล่าว่า ในครั้งนั้น แม้เขายื่นคะแนน GMAT ที่ทำได้สูงถึง 750 ก็ตาม แต่เมื่อต้องเรียนกับเพื่อนร่วมชั้นระดับหัวกะทิ ก็สร้างความกดดันให้เขาไม่น้อย จนหลายครั้งต้องนึกถึงคำสอนของแม่ที่ว่าถ้าคนอื่นเก่งกว่าก็ต้องพยายามให้เหมือนเขา และให้คิดเหมือนกระทิง เมื่อเจอปัญหาก็ต้องวิ่งเข้าใส่ 

                แต่การปรับตัว และความอดทน ทั้งในเรื่องการเรียน และการใช้ชีวิตในสแตนฟอร์ดก็ส่งผลดีต่อกรอบวิธีคิดแบบผู้ประกอบการของเขาในเวลาต่อมา ทั้งการเป็นคนที่กล้าเสี่ยง กล้าได้ กล้าเสีย มุ่งมั่น และเชื่อในความฝัน แม้คนอื่นบอกว่าไม่ได้ แต่ถ้าเขาเชื่อว่าทำได้ ทุกอย่างก็ย่อมจะเป็นจริงได้

                หลังจากสำเร็จการศึกษาที่สแตนฟอร์ด ไฮไลท์ในชีวิตการทำงานของเขาในช่วงนั้นก็คือ ทั้ง แอปเปิล” และ “กูเกิล” ยื่นข้อเสนอรับเขาเข้าทำงาน แต่ในที่สุดเขาก็เลือก “กูเกิล” บริษัทที่เขาต้องใช้เวลาเกือบ 6 เดือน ในการสัมภาษณ์ถึง 9 ครั้ง

           เขาบอกว่า “กูเกิล” จะเลือกคนที่เข้ากับองค์กรจริงๆ ต่อให้เก่งแค่ไหน ถ้าไม่เข้ากับองค์กร สุดท้ายก็จะทำให้องค์กรเสีย ดังนั้นคนที่ถูกเลือก จะต้องมีความเป็น "กูเกิล"  และตำแหน่งแรกที่เข้าเริ่มต้นงานก็คือ Quantitative Marketing Manager ในสำนักงานใหญ่ ที่ซิลิคอน วัลเล่ย์ ดูแลในส่วนของทวีปเอเซียและลาตินอเมริกา ก่อนที่จะมารับตำแหน่ง ผู้จัดการฝ่ายการตลาด Google Earth และหลังจากบอกลากับ “กูเกิล” เขาก็ออกมาเปิดบริษัทของตัวเองในซิลิคอน วัลเลย์ ซึ่งเขาใช้เวลา 7 ปีเต็มในการเก็บเกี่ยววิชาความรู้ และประสบการณ์จากที่นั่น ก่อนที่จะหอบหิ้วกระเป๋ากลับประเทศไทย

จุดเริ่มต้นเจ้าพ่อ Startup เมืองไทย

                นอกจากเขาจะตั้งสถาบัน Disrupt  University ขึ้นมาเพื่อสอนผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจในแนว Startup  แล้ว ปัจจุบัน เขายังเป็นผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายผลิตภัณฑ์ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ควบคู่กันไปด้วย แต่สิ่งที่เขาสะท้อนให้เห็นความสำเร็จในการสอนผู้ประกอบการ Startup จนจบหลักสูตรไปมากกว่าพันคนแล้ว นั่นก็คือ บรรดาลูกศิษย์ของเขากำลังเติบโต ทั้งในทางธุรกิจ และความสามารถในการจัดการ บางแห่งยังได้รับรางวัลจากสถาบันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Taamkru ที่ได้รางวัล Eche-lon Most Promising Startup 2014, StockRadars, Flow Account ที่ชนะ AIS Startup และ Skootar ที่ชนะ dtac Accelerate

                แม้ Startup ที่ชั่วโมงนี้ใครๆ ก็พูดกันจนคุ้นหู โดยเฉพาะจากรัฐบาลชุดนี้ที่เน้นในเรื่อง 3S คือ SMEs-Startup และ Social Enterprises โดยธุรกิจ Startup ก็เป็นหนึ่งใน 3S นั้น แต่ถึงกระนั้นเขาก็เชื่อว่าหลายคนยังเข้าใจผิดกับคำๆ นี้

                "Startup คือ SMEs ประเภทหนึ่ง แต่เป็น SMEs หรือเป็นธุรกิจใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องอิงกับเทคโนโลยีก็ได้ แต่ส่วนมากมันจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ไม่อย่างนั้นจะโต 10 เท่าต่อปีไม่ได้ อย่างเช่น ร้านกาแฟมันโต 10 เท่าต่อปีไม่ได้ แต่ Grab Taxi โต 10 เท่าต่อปี กูเกิลบริษัทใหญ่ขนาดนั้นล่าสุดยังโต 35 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เพราะมันรันเหมือน Startup นั่นคือความมหัศจรรย์ของ Startup หัวใจของ Startup คือการสร้าง Business Model ที่ทำซ้ำได้ และขยายขนาดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนมากเป็นการใช้เทคโนโลยี พอได้สูตรแล้วใช้เทคโนโลยีทำซ้ำไปเรื่อยๆ คีย์ของ Startup คือหาสูตรให้เจอ"  เจ้าพ่อแห่ง Startup ของไทยได้ย้ำถึงคำนิยามที่ถูกต้อง

                เขายังกล่าวถึง Key Success Factors ให้ผู้ที่อยากเป็น Startup ว่าคุณสมบัติที่พึงมีอย่างแรกก็คือ Passion  จะต้องหลงใหลในสิ่งที่ตนเองทำ ซึ่งสำคัญมากกว่าความคิดสร้างสรรค์ หลังจากนั้นสิ่งที่ Startup ต้องมีก็คือ 1) ความสามารถในการสื่อสาร ควรเก่งภาษาอังกฤษ 2) ออกแบบกระบวนการภายในบริษัทให้ดี 3) มีการออกแบบการบริการหลังบ้านที่ดี ให้ผู้ใช้บริการประทับใจ 4) ต้องมีความเป็นผู้นำ และ 5) จำเป็นต้องหาคนให้คำปรึกษาที่เก่งจริงๆ

              นอกจากนี้เขายังสะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการ Startup ที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่เกิดขึ้นง่ายๆ และต้องพร้อมก้าวข้ามเรื่องราวแย่ๆ ที่จะถั่งโถมเข้ามาอย่างรอบด้าน จนบางครั้งอาจจะตั้งตัวไม่ทัน

                "ไม่ใช่ทุกคนที่เหมาะเป็น Founder ของ Startup บางคนอาจเหมาะเป็นพนักงานของ Startup หลายคนเหมาะกับการเป็น SMEs เพราะ Business Model ของ SMEs มันรู้อยู่แล้ว มันมีข้อมูล มีคนทำมาเยอะแล้ว มีความแน่นอนกว่า Startup เยอะ Startup เสี่ยงมาก เราต้องให้ความรู้ที่ถูกต้องว่า Startup ทั่วโลกที่สำเร็จน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ ทุกคนคิดกันหมดว่าวันหนึ่งจะเป็นเดอะ เน็กท์ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก แต่คุณพร้อมจะเจอเรื่องแย่ๆ ไหม ถ้าคุณพลาดแล้วได้ลงพันทิปแต่เรื่องแย่ๆ คุณจะก้าวข้ามมันได้ไหม ไม่ใช่จะเห็นแต่ด้าน Glory หลักคิดของ Startup เหมือนการกระโดดลงจากเหว แล้วต้องประกอบเครื่องบินให้เสร็จก่อนจะตกถึงก้นเหว คุณพร้อมหรือเปล่า"

เปิด 500 Tuk Tuks เป็น Venture Capital Fund

                เจ้าพ่อ Startup ได้เล่าความเป็นมาของ Startup เมืองไทยว่ามีจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2013 แล้วมาเติบโตมากขึ้นในปี 2014 เมื่อเขาได้ทำงานร่วมกับ dtac ทำ dtac Accelerate ซึ่งเป็นโครงการเร่งเครื่อง และบ่มเพาะผู้ประกอบการที่ดีที่สุดของเมืองไทย จนทำให้ Startup 70 เปอร์เซ็นต์ที่เข้าร่วมโครงการนี้สามารถระดมทุนได้ และมูลค่าบริษัทได้เพิ่มขึ้นถึง 15 เท่าภายในหนึ่งปี

                วิธีการสร้าง Startup ขึ้นมาในเมืองไทยคือ การบ่มเพาะจาก Startup ที่มีศักยภาพ แม้จะมีโครงการเร่งเครื่องผ่าน Disrupt University แต่สิ่งที่ยังขาดก็คือ การระดมทุน จึงทำให้เขาเปิด 500 Tuk Tuks เป็น Venture Capital Fund ระดมทุนจากซิลิคอน วัลเลย์ และทุนส่วนตัวมาตั้งกองทุนสำหรับลงทุนกับ Startup โดยวางแผนที่จะสร้าง Venture Builder คือ Startup ที่มีผลิตภัณฑ์เป็น Startup เพื่อรองรับนักเรียนที่จบจาก Disrupt และจะเปิดกองทุนที่ 2 มีทุนประมาณ 1 พันล้านบาท

                 เขามองว่า Startup โตปีละ 10 เท่า แต่ก็เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ Startup ของไทยตอนนี้เริ่มอยู่ในวงการ Startup ระดับโลกแล้ว และเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นทิศทางการเดินที่ถูกต้อง สำหรับอนาคต เขาคาดการณ์ว่าจะมี Startup เกิดขึ้นอีกมาก แต่สิ่งที่น่าห่วงก็คือ อาจเกิดภาวะฟองสบู่แตก  อันเนื่องจากทุกคนจะใช้คำว่า Startup โดยไม่เข้าใจ และถ้ามีเงินสนับสนุนที่ไม่ถูกต้องเข้ามามาก มันจะเป็นการดึงคนที่ไม่ควรเป็น Startup เข้ามา ในที่สุดก็จะทำให้ตลาดเสีย และฟองสบู่ Startup ก็จะแตกในที่สุด

           นักปั้นฝันให้ผู้ประกอบการ Startup ยังเล่าถึงการเสริมแรงหรือ Synergy ระหว่าง Disrupt University กับกองทุน 500 Tuk Tuks อีกว่า

                  “ตอนนี้กองทุน 500 Tuk Tuks ได้ขยายกองทุนจากเดิม 300 ล้านบาทเป็น 360 ล้านบาท และล่าสุดต้องขยับเป็น 450 ล้านบาท โดยได้ลงทุนกับธุรกิจ Startup ไปแล้ว 23 บริษัท นับแต่กรกฎาคม 2015 ซึ่งสะท้อนถึงการเติบโตของ Startup อย่างรวดเร็วและน่าดีใจมาก ยกตัวอย่างเช่น Claim Di บริษัทที่ให้บริการเคลมประกันผ่านแอพพลิเคชั่นที่เติบโตถึง 15 เท่า สามารถระดมทุนในซีรี่ส์เอที่ 70 ล้านบาทและมีมูลค่าบริษัท 350 ล้านบาท อีกทั้งเป็นบริษัทที่ผมแปลงจาก SMEs มาเป็น Startup ในยุคที่ผมเป็นผู้ก่อตั้ง dtac Accelerate และยังได้ลงทุนกับทีมนี้ต่อ หรือ Omise บริษัทที่ให้บริการด้าน Payment Gateway และเป็นธุรกิจบัตรเครดิตเสมือน (Virtual Credit Card) ที่วันนี้สามารถระดมทุนได้ 525 ล้านบาท ส่วนมูลค่าบริษัทขึ้นหลักพันล้านบาทแล้ว ซึ่งเราก็ร่วมลงทุนด้วยตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นบริษัทเล็กๆ

                   เราลงทุน Batch 1 – 10 บริษัทรวมทั้ง Claim Di และ Omise ส่วน Batch 2 ก็ลงทุนอีก 10 บริษัทเช่นกัน แต่ที่ดีใจคือ เงินที่ลงทุนไปแล้ว 1 ปียังไม่มีตัวไหนตาย ถือเป็นความโชคดีของผม และดีกว่าที่คิดเอาไว้มาก เพราะปกติ  Business Model ของ Venture Capital (VC) จะพบว่า 50% ของ Startup ที่ลงทุนด้วยจะตาย ส่วนที่ประสบความสำเร็จมากๆ จะมีประมาณ 20% ซึ่ง 500 Tuk Tuks ลงทุน 10 บริษัทประสบความสำเร็จ 2 บริษัทก็ถือว่าใช่ เพราะยังไม่มีบริษัทไหนตาย ขณะที่จะมี ‘ซอมบี้’ หรือพวกที่ไม่ได้ใหญ่มาก หรือพวกที่ไม่ตาย แต่ก็เลี้ยงไม่โต อีกประมาณ 30% ซึ่งพวกนี้บางทีทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่จะง่ายกว่า ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า พอร์ตการลงทุนของ 500 Tuk Tuks ดีกว่าที่เราคาดเสียอีกและได้ผลเป็นที่น่าพอใจ”

                   สำหรับความฝันของเจ้าพ่อ Startup เมืองไทยคงไม่มีอะไรมากไปกว่าการได้เห็น Startup สักบริษัทที่คนพูดถึงประเทศไทยแล้วนึกถึงบริษัทนี้ เหมือน Line, Instagram ซึ่งเขาฝันว่าอีก 10 ปีข้างหน้าให้ประเทศไทยเป็น Startup Ecosystem 1 ใน 10 ของโลก

                    แต่ฝันของเขาจะเป็นจริงได้แค่ไหน ก็คงต้องติดตามกันต่อไป.....

 


หมายเหตุ: ตีพิมพ์ในนิตยสาร B-Connect


หมายเลขบันทึก: 644787เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2018 13:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2018 00:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท