เยาวชน “บ้านก้อม-หัวเสือ” รวมพลัง ชวนกันบวชป่าสานสัมพันธ์ชุมชน



เยาวชน “บ้านก้อม-หัวเสือ” รวมพลัง

ชวนกันบวชป่าสานสัมพันธ์ชุมชน

 


          ทันทีที่เสร็จสิ้นพิธีสงฆ์ ผ้าเหลืองร่วม 150 ชิ้น ได้แจกจ่ายให้กลุ่มเยาวชนจิตอาสาและชาวบ้าน ช่วยกันนำไปผูกต้นไม้ในป่าชุมชนบ้านก้อม ต.หัวเสือ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ด้วยความรวดเร็ว ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ก็บวชต้นไม้ได้อย่างครบถ้วน ก่อนลงจอบปลูกต้นไม้เสริมในพื้นที่อย่างขะมักเขม้น

            นัชมินทร์ ตันเรือน หรือ “น้องไม้” หัวหน้าโครงการปลูกป่าสร้างสานสัมพันธ์ที่ดีสู่สังคม ซึ่งเป็นหนึ่งในชุดโครงการฮักบ้านเกิด ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. เล่าว่า ที่ผ่านมาพื้นที่สาธารณะของหมู่บ้านถูกชาวบ้านบุกรุกเข้ามาตัดต้นไม้ และทำไร่ทำสวน ซึ่งพอชาวบ้านคนอื่นเห็นว่าเพื่อนบ้านทำได้ ก็ทำตาม จนพื้นที่สาธารณะลดลงเรื่อยๆ เมื่อผู้นำหมู่บ้านประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อป้องปรามชาวบ้านให้หยุดบุกรุก ก็ได้ผลเพียงระยะสั้นๆ ผ่านไปอีกช่วงหนึ่ง ก็กลับมาบุกรุกทำกินเหมือนเดิม

            ขณะเดียวกันในรัศมี 5 กิโลเมตรใกล้หมู่บ้าน ก็มีการให้สัมปทานโรงโม่หินถึง 6 ราย ส่งผลให้แรงสั่นจากการระเบิดหินสะเทือนมาถึงหมู่บ้าน และพบฝุ่นละอองฟุ้งกระจายรอบๆ บริเวณที่ระเบิด จึงเชื่อว่าหากไม่มีต้นไม้  ฝุ่นละอองจะฟุ้งไกลมาถึงชุมชนแน่นอน

            เหตุดังกล่าวกลายเป็นที่มาของการหารือกับผู้ใหญ่ในท้องถิ่น และเกิดกิจกรรมบวชป่า-ปลูกป่า อย่างต่อเนื่องหลายครั้ง โดยอาศัยวาระโอกาสสำคัญต่างๆ เช่น 12 สิงหาคม วันแม่แห่งชาติ, 5 ธันวาคม วันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพราะเป็นแนวทางด้านจิตวิทยาที่ใช้ได้ผลกับคนในชุมชนที่ล้วนเป็นชาวพุทธทั้งหมด เมื่อเห็นว่าไม้ต้นใดผูกผ้าเหลืองผ่านการบวชมาแล้ว และมีพระสงฆ์เข้ามาร่วมทำพิธีด้วย ย่อมไม่ตัดทำลาย

 

เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน ฟื้นฟูป่า-สิ่งแวดล้อมชุมชน

          “เมื่อมีกิจกรรม ก็ระดมพลังเยาวชนในพื้นที่ตำบล ที่มีทั้งหมด 12 หมู่บ้าน ให้มาช่วยกัน ซึ่งปกติแล้ว จะแตกตัวออกเป็นหลายกลุ่ม บางกลุ่มสนใจกีฬา ใช้เวลาหลังเลิกเรียนรวมตัวกันที่โรงเรียน เพื่อเล่นกีฬา ในช่วง 17.30-20.00 น. และทาง อบต.หัวเสือก็สนับสนุน จัดแข่งขันกีฬาเยาวชนประจำตำบลปีละครั้ง ขณะที่เยาวชนอีกกลุ่มหนึ่งยังติดเกม ทั้งในโทรศัพท์มือถือ และร้านเกม ก็ต้องค่อยๆ ชักจูงให้มาร่วมกิจกรรม คนไหนยอมมาร่วม ก็จะชักชวนให้ใช้เวลาว่างเล่นกีฬาตามความถนัด จะได้หันเหความสนใจให้ออกห่างจากเกม” น้องไม้ อธิบาย

            นอกจากนี้ ยังมีเยาวชนอีกกลุ่มหนึ่งที่เสพยา กลุ่มนี้ค่อนข้างมีอายุย่างเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เมื่อถูกชักชวนมักจะไม่ให้ความสนใจ ดังนั้นจึงต้องเกาะเกี่ยวในส่วนของเด็กและเยาวชนที่ชักชวนให้มาร่วมกิจกรรมในโครงการปลูกป่าสร้างสานสัมพันธ์ที่ดีสู่สังคมได้ให้เหนียวแน่น จะได้เติบโตอย่างมีอนาคต โดยให้เข้ามาเป็นคณะกรรมการสภาเด็กและเยาวชนตำบลหัวเสือ จุดประกายเชิงบวก ให้นำความคิดสร้างสรรค์ มาร่วมกันพัฒนา ขับเคลื่อนชุมชน สังคม

            น้องไม้ เล่าว่า เยาวชนตำบลหัวเสือได้รับความเอื้อเฟื้อจากผู้ใหญ่ สนับสนุนทั้งด้านการทำงาน และงบประมาณ เช่น กิจกรรมนี้เริ่มต้นจากงบประมาณของ สสส. ระหว่างทำงาน ทาง อบต., ผู้ใหญ่บ้าน, แกนนำชุมชน ก็ร่วมมือช่วยเหลือตลอด บางครั้งต้องเข้าไปปลูกป่าบนภูเขาที่อยู่ห่างไกลจากหมู่บ้าน ผู้นำหมู่บ้านก็จะจัดรถมาช่วยขนคน มีชาวบ้านไปช่วยปลูก ช่วยแนะนำด้วย และเมื่อหมดงบประมาณโครงการ ทาง อบต. กับคนในชุมชนที่ไปทำงานในกรุงเทพฯ ก็ยังพร้อมสานต่อ ทำให้เยาวชนได้เรียนรู้จากการทำงานจริง เกิดความรับผิดชอบ รู้จักแบ่งหน้าที่ แบ่งงานกันอย่างชัดเจน

 

เยาวชนคือแรงกระตุ้นให้ชาวบ้านตื่นตัวรักษาป่า

          ถนอม คำเป็ง ผู้ใหญ่บ้านก้อม หมู่ 1 บอกว่า ดีใจมากที่เห็นเด็กรุ่นใหม่สนใจชุมชน และสิ่งแวดล้อม เพราะมีพื้นที่หลายแห่งในหมู่บ้าน ที่เคยถูกชาวบ้านบุกรุกแล้วยึดคืนได้ แต่มีสภาพเสื่อมโทรม เมื่อกลุ่มเยาวชนเข้ามาปรึกษาว่าควรทำอะไร หรือจัดการอย่างไร เกี่ยวกับสถานที่เหล่านี้บ้าง จึงหารือกับกลุ่มแกนนำหมู่บ้าน และประชุมชาวบ้าน จนเห็นสมควรว่าจะพัฒนาป่าเสื่อมโทรมเพื่อยกระดับให้เป็นป่าชุมชนต่อไป

            ที่ผ่านมาเยาวชนกลุ่มนี้ ได้บุกเบิกขึ้นไปปลูกป่าบนม่อนแพะน้อย ป้องกันฝุ่นละอองจากโรงโม่หินไม่ให้ปลิวฟุ้งมาถึงหมู่บ้าน แต่เนื่องจากสถานที่ห่างจากหมู่บ้านออกไป 4-5 กิโลเมตร ซ้ำเป็นทางขึ้นเขา จึงขอความร่วมมือกับชาวบ้านให้นำรถมาช่วยเยาวชนลำเลียงกล้าไม้ และขนคนขึ้นไปปลูก ก็ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านที่มีรถหลายคนด้วยความเต็มใจ

            สำหรับป่าชุมชนบ้านก้อม ที่กลุ่มเยาวชนและชาวบ้านเข้ามาร่วมกันบวชป่า-ปลูกป่า ในครั้งนี้ มีพื้นที่รวมประมาณ 10 ไร่ เมื่อเด็กๆ เอาจริงเอาจัง เข้ามาเตรียมงานเพื่อปลูกป่า บวชป่า ชาวบ้าน ผู้ปกครองกับชาวบ้านก็เริ่มตื่นตัวเข้ามาช่วย ทั้งที่ตามปกติ ก็วุ่นกับการทำมาหากิน ส่วนใหญ่ทำไร่ ทำสวน บางคนรับจ้าง ไม่ค่อยมีเวลาว่างช่วงกลางวัน ยากที่จะหยุดงานมาทำกิจกรรมต่างๆ ถ้าไม่มีความสนใจจริง และมองไม่เห็นประโยชน์ที่จะได้รับ

          การบวชป่า ปลูกป่า จึงไม่ใช่แค่การสร้างความสามัคคี กระชับความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน หรือลดช่องว่างระหว่างวัยเท่านั้น หากที่สำคัญคือผลพลอยได้ จากการเกิดจิตสำนึกในการรักษาป่า มองเห็นผลกระทบที่จะตามมา ถ้าไม่มีป่าคนก็จะอยู่ลำบาก ขาดแหล่งอาหารตามธรรมชาติ หน้าฝนไม่มีหน่อไม้ให้ขุด ฤดูแล้งไม่มีไข่มดแดงให้สอย ไม่มีเห็ดนานาชนิดไว้บริโภคตามฤดูกาล พื้นที่ขาดความร่มรื่น ไม่มีตัวดูดซับมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองที่มาจากโรงโม่หินหลายแห่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนสืบไป

 

 

หมายเลขบันทึก: 644782เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2018 11:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2018 11:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท