ชาวบ้านหัวขัวร่วมใจแก้ไขจุดเสี่ยง ลดอุบัติเหตุบนท้องถนนในชุมชน


ชาวบ้านหัวขัวร่วมใจแก้ไขจุดเสี่ยง

ลดอุบัติเหตุบนท้องถนนในชุมชน

 

          เสียงล้อรถบดถนนที่เกิดจากการเบรคกระทันหัน ภาพของรถกะบะที่ท้ายสะบัดส่ายไปมายากต่อการควบคุม ตามมาด้วยเสียงโครมดังสนั่น มักเสียดลึกเข้าไปในความรู้สึกของชาวบ้านหัวขัว หมู่ 8 ต.แม่ใส อ.เมือง จ.พะเยา อยู่บ่อยครั้ง และทุกครั้งก็ต้องภาวนาในใจ ว่าอย่าให้มีคนบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตอีกเลย

            สมัย สุขยิ่ง ผู้ใหญ่บ้านหัวขัว เล่าว่า ทางหลวงสาย1193 พะเยา-แม่นาเรือ-แม่ใจ ช่วงที่ผ่านหมู่บ้านมีระยะทางไม่ถึง 1 กิโลเมตร แต่กลับเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เพราะเป็นทางโค้ง และมีทางแยก 2 จุด ตอนกลางคืนแสงไฟส่องสว่างไม่เพียงพอ คนต่างถิ่น หรือต่างตำบล มักจะขับผ่านด้วยความเร็ว พอพ้นทางโค้งก็จะเจอทางแยกทันที หลายชีวิตจึงถูกสังเวยอย่างน่าอนาถ และสร้างความหวาดผวาให้กับชาวบ้านมาโดยตลอด

            เมื่อทางผู้ใหญ่บ้านและกรรมการหมู่บ้าน ทราบว่าทางสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีโครงการจัดการจุดเสี่ยงเพื่อป้องกันอุบัติเหตุในชุมชน จึงสมัครเข้าร่วม และเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 โดยทุกฝ่าย ทั้งชาวบ้าน โรงเรียน องค์การบริหารส่วนตำบล มาร่วมกันทำกิจกรรม

            เริ่มจากการสำรวจจุดเสี่ยง ซึ่งพบว่าระยะทางที่ถนนสาย 1193 ผ่านหมู่บ้านแค่ 800 เมตร มีจุดเสี่ยงถึง 6 จุด อุบัติเหตุส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลารีบเร่ง ประมาณ 07.00-08.00 น. กับช่วงหัวค่ำ และผู้ใช้เส้นทางสัญจรประจำ คือคนใน 4 ตำบล ได้แก่ ต.บ้านสาง ต.แม่ใส ต.แม่ต๋ำ และ ต.บ้านตุ่น อ.เมืองพะเยา

            ข้อมูลที่ได้ ถูกนำมาพูดคุยในที่ประชุมของชาวบ้าน และนำไปสู่การจัดการ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุตามวิธีการที่แกนนำส่วนหนึ่งได้รับการอบรม เช่น ตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการ ที่มีความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินงาน วิเคราะห์จุดเสี่ยงได้ จำนวน 10 คน กับที่ปรึกษาอีก 3 คน, ทำแผนที่ชุมชนที่ระบุจุดเสี่ยงชัดเจน, เก็บข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในช่วง 3 ปี, นำข้อมูลเรื่องจุดเสี่ยงในชุมชนมาพูดคุยกับชาวบ้านที่เป็นตัวแทนของแต่ละครัวเรือน จำนวน 132 คน และให้ความรู้ความเข้าใจในการขับขี่อย่างปลอดภัย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ

            ที่สำคัญคือการหาแนวทางป้องกันอุบัติเหตุ และแก้ไขจุดเสี่ยงอย่างมีส่วนร่วมจากสมาชิกในชุมชน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง  โดยให้ อบต.ประสานกับทางหลวง ขอติดตั้งไฟกระพริบตามทางแยก ขอตัดต้นไม้ กิ่งไม้ที่กีดขวางการมองเห็น ทำป้ายเตือนทางโค้ง ทางแยก ให้ระมัดระวังในการขับขี่ รวมถึงทำป้ายจุดเสี่ยง ช่วยให้ความถี่ในการเกิดอุบัติเหตุลดลงอย่างชัดเจน แม้จะยังไม่กลายเป็นศูนย์ก็ตาม

            ด้าน ลออ มหาวรรณศรี ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม อบต.แม่ใส เล่าว่า การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนแต่ละครั้งนำมาซึ่งความสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นชีวิต ทรัพย์สิน หรือแม้แต่สุขภาพจิต ชาวบ้านจะเครียด บางรายโรคประจำตัวกำเริบ ความดันสูง และเมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ก็จะพบว่านอกเหนือจากความประมาท คึกคะนอง สาเหตุหลักมักจะเกิดจากเมาแล้วขับ ส่งผลให้การรับรู้ช้ากว่าปกติ หรือถ้าดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก อาจถึงขั้นขาดสติสัมปชัญญะ การรณรงค์ใน”โครงการจัดการจุดเสี่ยงเพื่อป้องกันอุบัติเหตุในชุมชนบ้านหัวขัว” จึงทำควบคู่กันทั้งอุบัติเหตุและเหล้า เช่นเดียวกับเมื่อมีการประชุมประจำเดือน หรือประชุมสัญจร ก็จะสอดแทรกเรื่องพวกนี้เข้าไปตลอด เพื่อให้ชุมชนเกิดความตระหนักและตื่นตัว

            สันติ สารเร็ว นายก อบต.แม่ใส กล่าวเสริมว่า กระบวนการจัดการจุดเสี่ยงที่แกนนำได้รับจาก สสส. นำมาขยายผลได้ เริ่มจากหมู่บ้านหัวขัว 97 ครัวเรือน 365 คน จากข้อมูลที่เก็บได้ย้อนหลังมากกว่า 3 ปี คือตั้งแต่ปี 2521 เป็นต้นมา มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในหมู่บ้าน 13 ศพ เกิดอุบัติเหตุเฉลี่ยปีละ 7-8 ครั้ง หรือช่วงไหนเกิดถี่ก็เดือนละ 2-3 ครั้ง โดย 3 ปีล่าสุด คือปี 2557 ตาย 1 ศพ ปี 2559 ช่วงก่อนเริ่มต้นโครงการตาย 2 ศพ แต่หลังจากนั้นก็ยังไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก ทำให้หมู่บ้านอื่นๆ สนใจ และนำวิธีการไปปฏิบัติด้วย เนื่องจากถนนหมายเลข 1193 ตัดผ่านเขต ต.แม่ใสถึง 6 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 2, 4, 8, 9,11, 12 ระยะทางที่ผ่านรวมกว่า 3 กิโลเมตร

            แม้ว่าอุบัติเหตุส่วนใหญ่จะเกิดจากคนนอกตำบล แต่ในการป้องกันแก้ไขต้องเริ่มจากคนในพื้นที่ เพราะจุดเสี่ยงอยู่ในชุมชน อย่างน้อยที่สุดนอกจากจัดการสภาพภูมิทัศน์ ให้สามารถมองเห็นป้ายเตือน และเส้นทางอย่างชัดเจนแล้ว ความรู้เรื่องกฎจราจรก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม บางครั้งผู้สูงอายุขับรถออกจากไร่นามาถึงทางแยก ไม่ทราบว่าใครควรไปก่อน-หลัง การสร้างความรู้ ความเข้าใจกฎจราจร จึงจำเป็นอย่างยิ่ง



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท