3 กำลัง ส โมเดล : นวัตกรรมการเรียนรู้


ปัจจุบันมีนวัตกรรมทางการเรียนรู้หรือทางการศึกษามีหลากหลาย โดยเฉพาะรูปแบบการสอน และเทคนิคการสอนเเบบต่างๆ ซึ่งหากเราศึกษาดูจะมองเห็นว่า "มีอยู่จำนวนมาก" โดยมีพื้นฐานทางปรัชญาที่เเตกต่างกัน บางนวัตกรรมเชื่อความเป็นสารัตนิยม บางนวัตกรรมเชื่อความเป็นปฏิรูปนิยม และบางนวัตกรรมเชื่อเรื่องอัตถิสภาวะนิยม เป็นต้น ทั้งนี้ท่ามกลางรูปแบบการการเรียนรู้และเทคนิคที่หลากหลายนั้น มีส่วนที่ใช้ได้จริงในพื้นที่หนึ่ง แต่ไม่อาจใช้ได้ในอีกพื้นที่หนึ่ง หรืออาจใช้ไม่ได้เลย เนื่องจากไม่เหมาะสมกับบริบทของผู้เรียนในเเต่ละท้องถิ่น 

ฐานความเชื่อในยุคการศึกษาแบบ 4.0 และ การศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ มีความเชื่อเรื่องความเป็นมนุษย์นิยม ปฏิรูปนิยม อัตถิสภาวะนิยม และพิพัฒนาการนิยม เพราะเริ่มมองที่เด็กเป็นตัวตั้ง(Student center) รูปแบบการเรียนรู้ที่นำไปสู่ทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ มีหลากหลายรูปแบบมาก แต่ถึงกระนั้นเองรูปแบบการเรียนรู้ที่ดีที่สุดนั้นไม่มี เพราะไม่มีรุปแบบใด๋จะเหมาะสมกับเด็กได้ทุกพื้นที่ ทุกโอกาส ทุกบริบท ฉะนั้นเเล้วรูปแบบการเรียนรู้แบบผสมผสาน(Blended Learning) จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยการจับเอาข้อดีของเเต่ละรูปแบบมาออกแบบเป็นชุดกระบวนการหรือนวัตกรรมทางการเรียนรู้ของผู้จัดการเรียนรู้

ท่ามกลางความหลากหลายเหล่านั้น ที่สำคัญ คือ การสร้างให้เด็กเกิดความรู้ที่สำคัญยิ่งยวด(Critical Knowledge) ผ่านการเรียนรู้ที่เเท้(Mastery Learning) เรียนรู้แบบลงมือกระทำ(Active Learning) เน้นทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ ๒๑ เป็นเป้าหมายสำคัญ ของรูปแบบหรือโมเดลการพัฒนากระบวนการเรียนรู้เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ดังกล่าว

โมเดล 3 กำลัง ส ถูกออกแบบตามฐานความเชื่อเรื่องมนุษย์นิยม ปฏิรูปนิยม อัตถิสภาวะนิยม และพิพัฒนาการนิยม โดยมีความผสมผสานของเเนวคิดหลายทฤษฎี เช่น การสอนแบบเกม การสอนแบบสถานการณ์จำลอง การสอนแบบลงมือปฏิบัติ(Learning by doing) การสอนแบบร่วมมือ(Cooperative) การสอนแบบสร้างความรู้ใหม่(Construct) การสอนแบบกราฟฟิก และการสอนแบบอุปนัย-นิรนัย เป็นต้น เพื่อนำไปสู่ความเหมาะสมกับผู้เรียนโดย ปรารถนาเป็นนวัตกรรมเชิงกระบวนการเรียนรู้ อย่างเหมาะสมกับการศึกษาของไทย ที่สามารถใช้ได้ทั้งในห้องกิจกรรมแและห้องเรียน โดยพัฒนามาจากการสังเคราะห์บทเรียนจากประสบการณ์การจัดกิจกรรมกับเยาวชน การทดลองสอน ของผู้เขียนโดยตรง 

โมเดล 3 กำลัง ส คือ เลข 3 ยกกำลัง ส หมายความว่า จะมี ส. อยู่ 3 ตัวที่เป็นขั้นและอีก 9 ตัวที่เป็นส่วนแยกย่อย ได้แก่ ขั้นสนุก(สติ สัมพันธ์ ส่วนร่วม) ขั้นสุข(สร้างแรงจูงใจ สิกขา เสริมไอเดีย) และขั้นสร้างสรรค์(สร้างชิ้นงาน สะท้อนผล สรุปผล) โดยแต่ละขั้น มีรายละเอียด ดังนี้ 

1.ขั้นสนุก  เป็นขั้นในการสร้างทัศนคติ(Attitude) เพื่อเปิดใจเด็กให้พร้อมที่จะเรียนรู้ เน้นฐานใจ เป็นขั้นเตรียมความพร้อมก่อนเรียนรู้ ที่ต้องเกิดบรรยากาศการเรียนรู้ที่ "สนุก" ให้เด็กอยากเรียน โดยมี 3 ขั้นย่อย ดังนี้ 
1.1) ขั้นสติ : เน้นการสร้างความระลึกชอบ ให้เด็กกลับมาอยู่กับเนื้อหาวิชาเรียน ที่จะเรียนต่อไป โดยใช้กิจกรรมสันทนาการเข้าช่วย ซึ่งใช้เกมอะไรก็ได้แบบสั้นๆดึงความจดจ่อ ได้แก่ ปรบมือแกะแพะ ปรบสัตว์ตามขา ปรบมือบวก-ลบ ปรบมือตามโค้ด สัตว์บก-สัตว์น้ำ กลมและเหลี่่ยม ตัวเลขประกอบท่า ตัวเลขมรณะ แก้ว กะลา ขัน เจ้าดอกลั่นทม นิทานจิ้มจับ หนอนใบชา แอวเเละจีบ เส้นเดียวไม่ยก Check in เป็นต้น
1.2) ขั้นสัมพันธ์ : เน้นการสร้างสัมพันธ์ 2 คนขึ้นไป ให้เกิดสภาวะแบบมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง(Face to Face) มีการเดิน การวิ่งเพิ่มมากขึ้น ขั้นนี้ใช้ได้อย่างดีเยี่ยมในห้องกิจกรรม โดยใช้กิจกรรม ได้แก่ แลกป้ายชื่อ เพลงแนะนำชื่อ (ท่าใหญ่,อวัยวะ) แตะอะไรดีจ๊ะ ลมกลับทิศ ดอกไม้ ๕ กลีบ ขอลายเซ็น ผีเปลี่ยนโลง กระโดดตามเลข สปีชีสเปลี่ยน ท่องสูตรคุณ ประตูมังกร เรียงตามคำบอก ดราก้อนไฟซ์ รถไฟลอดอุโมงค์ ซามูไร ฟันต้นไม้ เป็นต้น
1.3) ขั้นส่วนร่วม : เน้นการมีส่วนร่วม โดยผู้จัดกระบวนการจะเป็นผู้นำ ส่วนเด็กจะเป็นผู้ตาม ลักษณะการนำกิจกรรมแบบเดี่ยว(One man show) ให้เส้นอารมณ์การเรียนรู้ไปถึงจุดสูงสุด โดยกิจกรรม ได้แก่ ลาไปตลาด มะละกอสีสัน โอ้เเม่ระกำ สุภาษิตไทย จังหวัดสระอี ไม้ไผ่มีประโยชน์ รถตุ๊กๆขนถ่าน  จำ จำ จำ หมีแพนด้า ไปเที่ยวทะเล AB เช้าวันนั้น แม่มดเวทย์ ลูกช้าง ลูกไก่ ผีเสื้อแสนดี หัว เอว ไหล่ สันสนีช้ำทรวง

2.ขั้นสุข เป็นขั้นของความรู้(Knowledge) ลงมือเรียนรู้ผ่านประสบการณ์(Learning by Experience) โดยเรียนรู้ 3 ส่วนด้วยกัน คือ การเรียนรู้จากการเข้าใจตนเอง(intrapersonal Intelligence) การเรียนรู้มิตรภาพหรือเพื่อนแบบทักษะชีวิต(Life skills) และการเรียนรู้ชุมชน(Social Intelligence) ในขั้นนี้ขึ้นอยู่กับเนื้อหาและวัตถุประสงค์ในการจัดการเรียนรู้ ซึ่งจำเป็นต้องเลือกเพื่อพัฒนาอย่างเหมาะสม การเรียนรู้ 3 แบบ ดังกล่าวเพียงเป็นประสบการณ์การณ์เดิมของผู้เขียน ซึ่งขั้นนี้จะสามารถยืดหยุ่นได้ ไม่ตายตัว โดยมี 3 ขั้นย่อย ดังนี้ 
2.1) ขั้นสร้างแรงใจในการเรียนรู้ : เน้นการทำให้เด็กเห็นภาพที่ช่วยกระตุ้นการคิด การนำเข้าสู่บทเรียน โดยมีกิจกรรมตัวอย่าง ได้แก่ ตั้งคำถามนำเปิด VDO เสนอประเด็น อธิบายตุ๊กตา การเขียนความคาดหวัง ในขั้นนี้สำคัญ คือ เด็กเกิดการตั้งคำถามกับสิ่งที่จะเรียน 
2.2) ขั้นสิกขา : เป็นขั้นศึกษาเรียนรู้ โดยเรียนรู้ 3 ส่วน ได้แก่ การเรียนรู้จากการเข้าใจตนเอง(intrapersonal Intelligence) การเรียนรู้มิตรภาพหรือเพื่อนแบบทักษะชีวิต(Life skills) และการเรียนรู้ชุมชน(Social Intelligence) โดยผู้จัดกระบวนการมีบทบาทสำคัญในการเป็นครูฝึก(Coach) กระตุ้นการเรียนรู้ เช่น การตั้งคำถาม การชวนคุย การชวนสรุปบทเรียน ผ่านชุดกิจกรรมที่สนุกสนาน เน้นความเป็นทีม และทักษะสำคัญในศตวรรษที่ ๒๑ โดย อธิบายแต่ละส่วน ดังนี้ 
2.2.1) การเรียนรู้ตนเอง(intrapersonal Intelligence) เป็นเชาว์ปัญญาตัวที่ 4 ตามทฤษฎีพหุปัญญาของ ฮาวาร์ด  การ์ดเนอร์   เป็นลำดับความต้องการขั้นสูงสุด(ขั้นที่5)ตามทฤษฎีลำดับความต้อการพื้นฐานของมนุษย์ ของอับบราฮัม  มาสโลว์ และเป็นฐานความเชื่อของปรัชญาการศึกษาแบบพุทธิปรัชญา ที่ต้องรู้จักเเละเข้าใจตนเอง ซึ่งในโมเดลนี้ ยกตัวอย่างกิจกรรม ได้แก่ สามเหลี่ยมความฝัน Timeline อนาคต MI test ผู้นำ ๔ ทิศ ภาวนาเลือกตัวตน และBody Scan เป็นต้น 
2.2.2) การเรียนรู้เพื่อน เป็นทักษะชีวิต(Life skills)และการทำงาน เป็นทักษะสำคัญที่ทำให้เด็กอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้ในอนาคต อย่างมีภูมิคุ้มกันที่ดี โดยมีกิจกรรมในการพัฒนาทักษะดังกล่าว ได้แก่ ปมมือมุนษย์ วิศวะสร้างตึก สะพานกระดาษ เป็ดเจ้าปัญหา ยานอวกาศ ลวดไฟฟ้า ต่อเรือยอร์ด ประกอบหลอด โยนไข่ไดโนเสาร์ ประกอบร่าง กิจกรรม ๕ ฐาน ใคร ทำอะไร เลียนแบบท่า บอกต่อๆไป ใบ้ได้ให้แต้ม วิ่งตอบคำถาม ซ้ายยกขึ้นชู เป็ดอาบน้ำ เป็นต้น
2.2.3) การเรียนรู้ชุมชน เป็นการพัฒนาทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะชีวิตและการทำงาน ทักษะด้าน ICT อย่างครบถ้วน โดยในส่วนนี้ มีกิจกรรมตัวอย่าง ได้แก่ แผนที่เดินดิน ๔มิติ แผนภาพปัญหา แผนภาพต้นทุน เครื่องมือ ๗ ชิ้น ชุดถอดบทเรียน ในการช่วยพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ ๒๑ 
2.3) ขั้นเสริมไอเดีย : เน้นการให้แนวคิดใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่การสร้างชิ้นงานในขั้นต่อไป โดยมีกิจกรรม ได้แก่ ขยะอวกาศ ของสองสิ่ง Landmark กลไกลูกโป่ง นิทานตัดแปะ สีสันธรรมชาติ วงกลมไร้ขอบ ละครสื่อสาร ทั้งนี้เป็นการเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ นำกระบวนการทางศิลปะเข้ามาใช้เพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการคิดสร้างสรรค์ในกิจกรรมการเรียน

3.ขั้นสร้างสรรค์  เป็นขั้นของทักษะและกระบวนการ(Skills and Process/Practice) โดยการเน้นที่ความคิดสร้างสรรค์(Creative thinking) การสร้างนวัตกรรม(Innovation) และการสะท้อนผลบทเรียน(Feedback) โดยเป็นการองค์ความรู้ใหม่(Construct) ขั้นนี้เป็นขั้นตอนสำคัญมากในการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ ยุค 4.0 โดยมี 3 ขั้นย่อย ดังนี้  
3.1) ขั้นสร้างชิ้นงาน : เน้นการสร้างสรรค์ ปลายเปิด เพื่อให้เด็กมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการนำเสนอ แต่ก็สามารถวางขอบเขตการนำเสนอได้ โดยมีกิจกรรม ได้แก่ เขียน ๕ ภาพละคร Land line อนาคต ออกแบบสร้างสรรค์ กิจกรรมกระดาษ และศิลปะธรรมชาติ เป็นต้น โดยให้ชิ้นงานนั้นๆออกมาเป็นรูปธรรม จับต้องได้ สำคัญ คือ ชุดคำถามประกอบกิจกรรมที่เน้น ทำไม(Why) และ อย่างไร(How to) 
3.2) ขั้นสะท้อนผลบทเรียน : เน้นภายในตนเอง(ปัจเจก)เพื่อเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง(Transformative Learning) เริ่มตั้งแต่ศึกษา-สร้างชิ้นงานจนสำเร็จ โดยดูที่กระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ ซึ่งมีกิจกรรมที่ช่วยในการสะท้อนผลตนเอง ได้แก่ เครื่องมือจิตตปัญญา lesson Scan คำถามสะท้อนผล ความรู้สึก,บทเรียนและการเปลี่ยนแปลง Story Telling เป็นต้น 
3.3) ขั้นสรุปผล : เน้นการสรุปผลให้เห็นภาพรวม หรือความเป็นอุปนัย จากการเรียนรู้ทุกทิศทาง ทุกสื่อ ให้มองเห็นภาพรวมของเนื้อหาและเนื้องาน เป็นขั้นตอนการสะท้อนผลป้อนกลับ(Peer feedback) โดยการสรุปผลนั้น มีกิจกรรมทั้งมีรูปแบบและไม่มีรูปแบบ ได้แก่ เล่า KPA ละครเร่ เปิดตลาด ฉายหนัง รายการทีวี งานตากผ้า จัดฐานเวียน สุนทรียสนทนา ดนตรีสนทนา การแชร์ประสบการณ์ให้กันฟัง สุดท้ายผู้จัดกระบวนการสรุปผล


บรรณานุกรม

หนังสือ

ชวลิต ชูกำแพง. (2559). การวิจัยและพัฒนาหลักสูตรแนวคิดและกระบวนการ. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ลักขณา สริวัฒน์. (2557). จิตวิทยาสำหรับครู. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.

วิจารณ์ พานิช. (2560). ศาสตร์และศิลป์ของการสอน. กรุงเทพมหานคร: บริษัทภาพพิมพ์จำกัด.

เว็บไซต์

วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี. (20 มิถุนายน 2559). การจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน (BLENDED LEARNING). เข้าถึงได้จาก www.snc.ac.th: http://www.snc.ac.th/KM/index....2015-05-25-04-27-16/2015-05-25-04-28-58/145-blended-learning

 

หมายเลขบันทึก: 644577เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2018 21:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2018 21:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ละเอียดดีมากครับ ขอขอบคุณอย่างยิ่ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท